วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 3)



สาขาวิชาวิศวสิ่งแวดล้อม
ชื่อเรื่อง : การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ของโรงงาน
คัดแยกมูลฝอยชุมชน กรณีศึกษาโรงงานคัดแยกมูลฝอยวงษ์พาณิชย์
จ.พิษณุโลก
ผู้วิจัย : นายพลภัทร สถาปนไชย
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติ เจียมไชยศรี
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการคัดแยกวัสดุมูลฝอยและพิจารณาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของโรงงานคัดแยกมูลฝอยชุมชนกรณีศึกษาโรงงานคัดแยกมูลฝอยเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (วัดจุฬามณี) จ.พิษณุโลก แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นข้อมูลตัวอย่างของโรงงานคัดแยกมูลฝอยเพื่อรีไซเคิลในประเทศไทย
วิธีการศึกษา ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการ
การจัดการกับวัสดุมูลฝอยแต่ละประเภท ได้แก่ แผนผังการไหลของวัสดุมูลฝอย (Material Flow Diagram) เส้นทางการไหลของวัสดุมูลฝอย (Plan Layout) สมดุลมวลสาร (Material Balance) และอัตราภาระบรรทุกของหน่วยน้ำหนักมูลฝอย (Loading Rate) เพื่อนำมาวิเคราะห์ หาประสิทธิภาพในการคัดแยกวัสดุมูลฝอยของหน่วยปฏิบัติการต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงค่าดัชนีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อัตราการคัดแยกวัสดุมูลฝอย (Picking Rate) และสัดส่วนร้อยละของวัสดุมูลฝอยที่คัดแยกได้ของแต่ละหน่วยปฏิบัติการ นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลอ้างอิงเพื่อหาจุดบกพร่อง และเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุง พร้อมทั้งวิเคราะห์หาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของการดำเนินการในรูปของค่าลงทุนค่าแรงงาน และค่าดำเนินการอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ ได้แก่มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (BCR) และอัตราผลตอบแทน ภายในของโครงการ (I) รวมทั้งพิจารณาความอ่อนไหวทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการโดยเปลี่ยนแปลงราคาผลผลิตและต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย
ผลการศึกษาพบว่า โรงงานมีการคัดแยกวัสดุมูลฝอยอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ แก้ว กระดาษ และพลาสติก ซึ่งมูลฝอยประเภทแก้ว มีสัดส่วนร้อยละของวัสดุมูลฝอยที่คัดแยกแล้วเป็น เศษแก้ว 58% และแก้วบรรจุภัณฑ์ 42% มีอัตราการคัดแยกเฉลี่ย 167.7 กก./คน-ชม. มูลฝอยประเภทกระดาษ มีสัดส่วนวัสดุมูลฝอยที่คัดแยกแล้วเป็น กระดาษสี 15% กระดาษถ่ายเอกสาร 24% และกระดาษคอมพิวเตอร์ 61%ส่วน
การสูญเสียมีน้อยมาก โดยมีอัตราการคัดแยก 8.4 กก./คน-ชม. และมูลฝอยประเภทพลาสติก มีสัดส่วนร้อยละของวัสดุมูลฝอยที่คัดแยกแล้วเป็น HDPE 20% LDPE 20% PET 18% PP 15% พลาสติกอื่น ๆ 8% PVC 5% ABS 5% PS 5% และถุงพลาสติก 2% มีการสูญเสีย 2% มีอัตราการคัดแยกวัสดุมูลฝอย 240.2 กก./คน-ชม.
จากผลการศึกษาพบว่า หน่วยปฏิบัติการคัดแยกวัสดุมูลฝอยประเภทแก้วและกระดาษ มีอัตราการคัดแยกที่ต่ำกว่าค่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว ส่วนหน่วยปฏิบัติการคัดแยกวัสดุมูลฝอยประเภทพลาสติก มีการนำสายพานคัดแยกเข้ามาช่วย จึงทำให้มีอัตราการคัดแยกใกล้เคียงกับข้อมูลอ้างอิง เมื่อใช้อัตราคิดลดร้อยละ 12 และพิจารณาระยะเวลาของโครงการ 10 ปี สามารถวิเคราะห์ค่าดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ ได้คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NP) เท่ากับ 434,002,393 บาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน () เท่ากับ 2.39 และอัตราผลตอบแทนภายในของโครงการ (I) เท่ากับ ร้อยละ 40.85 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าหากต้นทุนของโครงการเพิ่มขึ้นไปจนถึงร้อยละ 20 โครงการยังมีความเหมาะสม น่าลงทุนอยู่ แต่พบว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ผลต่างของราคาซื้อ-ขายวัสดุมูลฝอย ทุกชนิดลดลงถึง ร้อยละ 20 โครงการจะขาดทุน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อ-ขาย วัสดุมูลฝอย จะมีผลกระทบมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนของโครงการ
ชอเรื่อง : การกำจัดเหล็กในน้ำบาดาลบ่อตื้นโดยใช้วัสดุเหลือใช้จากการทำนา
ผู้วิจัย : นายวรชาติ พวงเงิน
ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิจการ พรหมมา
กรรมการที่ปรึกษา : ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
น้ำบาดาลบ่อตื้นมีปริมาณเหล็กมากซึ่งทำให้เกิดการเคลือบของสนิมเหล็กที่รากข้าว เมื่อรากข้าวปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาเพื่อป้องกันความเป็นพิษของเหล็ก ส่งผลให้ข้าวดูดซึมธาตุอาหารและปุ๋ยได้น้อย ผลผลิตจึงตกต่ำและเกษตรกรขาดทุน การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบบำบัดเหล็กในน้ำบาดาลบ่อตื้นโดยวิธีการเติมอากาศและการกรอง และเพื่อการศึกษาประสิทธิภาพของสารกรองซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการทำนา การทดลองมีขึ้นในภาคสนาม ณ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 2 บ่อ ซึ่งบ่อที่ 1 มีเหล็กกน้อยกว่า 10 มก./ล. โดยได้ทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดเหล็กของแกลบและฟางข้าว และใช้ทรายกรองและหินเกล็ดเป็นสารกรองอ้างอิง และบ่อที่ 2 มีเหล็กมากกว่า 10 มก./ล. โดยได้ทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดเหล็กของแกลบที่มีความหนา 20,30,40 และ 50 ซม.และผลของการเติมอากาศและการดูดซับโดยแกลบ
ผลการวิจัยพบว่า ในน้ำบาดาลที่มีเหล็กน้อยกว่า 10 มก./ล. แกลบสามารถกรองเหล็กในน้ำบาดาลได้ดีกว่าฟางข้าว (ความผิดพลาดชนิดที่ 1 (α เท่ากับ0.05) แกลบมีค่าประสิทธิภาพการกำจัดเหล็กเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 59.25 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เท่ากับร้อยละ 15.39 ซึ่งมีประสิทธิภาพฯ ใกล้เคียงกับทรายกรอง (ค่าเฉลี่ยร้อยละ 70.25 และ SD ร้อยละ 7.50 ) และหินเกล็ด(ค่าเฉลี่ยร้อยละ 56.50 และ SD ร้อยละ 3.11) ในขณะที่ฟางข้าวสามารถกรองเหล็กได้เพียงร้อยละ 19.00 และ SD ร้อยละ 4.16 ส่วนในน้ำบาดาลที่มีเหล็กมากกว่า 10 มก./ล. ความหนาของแกลบไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเหล็ก (α เท่ากับ 0.05) การเติมอากาศ, การดูดซับโดยแกลบ และการกรองทำให้ปริมาณเหล็กลดลงเฉลี่ยร้อยละ 10,15 และ 45 ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคิดเป็นเงิน 6,060 บาท และสามารถใช้งานได้นานไม่น้อยกว่า 20 ปี แกลบควรมีความหนา 20 ซม. ซึ่งสามารถใช้งานได้นาน 18 ชม. จึงสรุปได้ว่า การศึกษาวิจัยนี้ได้ระบบบำบัดเหล็กในน้ำบาดาลบ่อตื้นที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งเกษตรกรสามารถก่อสร้างเองได้โดยใช้วัสดุก่อสร้างในท้องถิ่นและสารกรองแกลบที่เหลือใช้จากการทำนา ควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลบ่อตื้นทำนาและศึกษาผลดีที่มีต่อข้าวและรายได้ของเกษตรกรต่อไป
ชื่อเรื่อง : ความเหมาะสมของการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน
เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมฝังกลบ
ผู้วิจัย : นายวินัย ทองชุบ
ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล
กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยสภาพปัจจุบัน เพื่อศึกษาทางเลือกในการกำหนดแนวทางการลดปริมาณขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองพระประแดง อันได้แก่
การรีไซเคิล การหมักปุ๋ยและการผสมผสานทั้ง 2 แนวทาง โดยทำการเปรียบเทียบคุณลักษณะสมบัติและปริมาณก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ตลอดจนวิเคราะห์ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้วิธี Numerical Environmental Total Standard (NETS) ร่วมกับการประมาณราคาเบื้องต้นในการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล
เพื่อเปรียบเทียบแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศจากหลุมฝังกลบ
ขยะมูลฝอย
ผลการวิเคราะห์พบว่า อัตราการเกิดของขยะมูลฝอยจากการจัดการสภาพปัจจุบันมีค่า 2.36 ก.ก./คน/วัน และในอนาคตปี พ.ศ. 2555 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.74 ก.ก./คน/วัน
โดยปริมาณขยะมูลฝอยฝังกลบ 83,832 ตัน ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนทั้งสิ้น 3,695 และ 1,340 ตัน และสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยด้วยแนวทางการรีไซเคิลร้อยละ 16.84 แนวทางการหมักปุ๋ยร้อยละ 20.27 และแนวทางการผสมผสานร้อยละ 37.11 ของปริมาณขยะมูลฝอยการจัดการสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบคุณลักษณะสมบัติทางเคมี ประกอบด้วยปริมาณความชื้น ปริมาณสารที่เผาไหม้ได้ ปริมาณเถ้า ปริมาณธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน และค่าความร้อนต่ำขององค์ประกอบขยะมูลฝอยทั้ง 4 แนวทาง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) แต่เมื่อประเมินปริมาณก๊าซชีวภาพ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนของตัวอย่างขยะมูลฝอยทั้ง 4 แนวทาง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และพบว่ามีแนวโน้มลดลงตามแนวทางการลดปริมาณขยะมูลฝอย โดยเมื่อดำเนินการตามแนวทางการผสมผสาน สามารถผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน จากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยมีปริมาณก๊าซแตกต่างกับการจัดการสภาพปัจจุบันโดยมีระดับนัยสำคัญ 0.027, 0.021 ตามลำดับ การประเมินต้นทุนรวมโดยรวมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากภาวะเรือนกระจก ตามการจัดการสภาพปัจจุบันมูลค่า 3.12 บาท/คน/วัน การรีไซเคิลมูลค่า 2.60 บาท/คน/วัน การหมักปุ๋ยมูลค่า 2.48 บาท/คน/วัน และการผสมผสาน (รีไซเคิลควบคู่กับหมักปุ๋ย) มีมูลค่าต่ำสุด 1.97 บาท/คน/วัน โดยมีต้นทุนค่าลงทุนและค่าดำเนินการการจัดการขยะมูลฝอยมีมูลค่า 1,255.45 บาท/ตัน ขยะมูลฝอย และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากภาวะเรือนกระจก 45.36, 44.18, 42.96 และ 46.12 บาท/ตัน ขยะมูลฝอย ตามการจัดการสภาพปัจจุบัน การรีไซเคิล การหมักปุ๋ยและการผสมผสาน ตามลำดับ ฉะนั้นการรณรงค์กิจกรรมการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยควบคู่กันไป สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอย รวมถึงต้นทุนรวมการจัดการขยะมูลฝอยและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ ปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศดีที่สุด แตกต่างจากการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยเพียงกิจกรรมเดียว ชื่อเรื่อง : การบำบัดน้ำเสียร้านอาหารโดยถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบขั้น ตอนเดียวและสองขั้นเดียว ผู้วิจัย : นายเสรี บูรณะชนอาภา ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ กรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล : ดร.ปาจรีย์ ทองสนิท ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของถึงปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบขั้นตอนเดียวและถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบสองขั้นตอนและเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียจากร้านอาหารในระบบเติมอากาศตลอดเวลาและการเติมอากาศ 1 ชั่วโมง หยุดเติมอากาศ 1 ชั่วโมง การทดลองนี้ใช้เกณฑ์ในการออกแบบถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบขั้นตอนเดียว ระยะเวลาในการเก็บกักน้ำเสีย ในส่วนเกรอะ ส่วนกรองเติมอากาศสัมผัส ส่วนตกตะกอน และส่วนสัมผัสคลอรีน เป็น 32 ชั่วโมง 32 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 15 นาที ตามลำดับ และเกณฑ์ในการออกแบบถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบสองขั้นตอน คือระยะเวลาในการเก็บกักน้ำเสีย ในส่วนเกรอะ ส่วนกรองไร้อากาศ ส่วนกรองเติมอากาศสัมผัส ส่วนตกตะกอน และส่วนสัมผัสคลอรีน เป็น 32 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 15 นาที ตามลำดับ โดยทั้ง 2 ระบบใช้ตัวกลางวงแหวนพลาสติก (pallring) เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 มม. X 90 มม.อัตราการเติมอากาศ 120 ลิตร / นาที ผลการศึกษาพบว่าระบบบำบัดที่มีการเติมอากาศ 2 ชั่วโมง หยุดเติมอากาศ 2 ชั่วโมง ไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียจากร้านอาหาร เมื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการบำบัดสารอินทรีย์ พบว่าถึงปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบสองขั้นตอนที่มีการเติมอากาศตลอดเวลา การเติมอากาศ 1 ชั่วโมง หยุดเติมอากาศ 1 ชั่วโมง และการเติมอากาศ 2 ชั่วโมง หยุดเติมอากาศ 2 ชั่วโมงมีประสิทธิภาพในการบำบัด สารอินทรีย์ (BOD5) เท่ากับ 79.16% 73.49% และ 75.82% ตามลำดับ สำหรับประสิทธิภาพในการบำบัดทีเคเอ็นพบว่าถังปฏิกรณ์ฟิล์มก ชีวภาพแบบขั้นตอนเดียวที่มีการเติมอากาศตลอดเวลา และการเติมอากาศ 1 ชั่วโมง หยุดเติมอากาศ 1 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการบำบัดทีเคเอ็นเท่ากับ 74.79% และ 65.35% ตามลำดับ ส่วนถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบสองขั้นตอนที่มีการเติมอากาศตลอดเวลาการเติมอากาศ 1 ชั่วโมงหยุดเติมอากาศตลอดเวลาการเติมอากาศ 1 ชั่วโมงหยุดเติมอากาศ 1 ชั่วโมง และการเติมอากาศ 2 ชั่วโมงหยุดเติมอากาศ 2 ชั่วโมงมีประสิทธิภาพในการบำบัดทีเคเอ็นเท่ากับ 81.04% 74.05% และ 74.54% ตามลำดับและค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียจากร้านอาหารของถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพแบบสองขั้นตอนที่มีการเติมอากาศตลอดเวลา และระบบที่มีการเติมอากาศเป็นจังหวะ มีค่าเป็น 17.08 บาท/ลบ.ม.และ 14.68 บาท/ลบ.ม. ตามลำดับ ชื่อเรื่อง : ผลของเวลากักแอนออกซิก/แอโรบิกที่มีต่อการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์ม เลี้ยงสุกร ผู้วิจัย : นายหัสดิน ขวัญคง ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวลิต รัตนธรรมสกุล ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม.(วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความเหมาะสมในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกรโดยใช้ระบบแอนออกซิก/แอโรบิก โดยทำการทดลองในห้องปฏิบัติการผ่านแบบจำลองระบบ ซึ่งในการวิจัยจะใช้น้ำเสียจากฟาร์มสุกรที่มีค่าซีโอดีที่ผ่านการกรองประมาณ 500 มก./ล. โดยมีอัตราส่วนระหว่าง BOD:N:P ประมาณ 100: 8.1 : 2.0 และอัตราส่วนระหว่าง sCOD:TKN เป็น 11.6:1 โดยจะทำการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการเติมอากาศ(Aerobic) เป็น 2 ค่า คือ 8 และ 12 ชั่งโมง และเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในช่วงขาดอากาศ(Anoxic)เป็น 2 ค่า คือ 2 และ 4 ชั่วโมง ระยะเวลาในการตกตะกอนเป็น 2 ชั่วโมง มีอัตราการหมุนเวียนสลัดจ์ภายใน 200% และอัตราการหมุนเวียนสลัดจ์ภายนอก 100% ของอัตราการไหลเข้าของน้ำเสีย และมีอายุตะกอนเป็น 20 วัน จากผลการทดลองพบว่าระยะเวลาการเก็บกักที่สภาวะแอนออกซิก-แอโรบิกที่ 2-8, 2-12, 4-8, 4-12 สามารถกำจัดซีโอดีทั้งหมดได้ร้อยละ 87.5, 90.7, 88.1 และ 92.9 ตามลำดับ การกำจัดเจลดาร์ไนโตรเจนสามารถกำจัดได้ร้อยละ 83.6, 84.1, 88.9 และ 91.8 ตามลำดับ และการกำจัดค่าฟอสฟอรัสทั้งหมดสามารถกำจัดได้ร้อยละ 25.0, 35.4, 30.8 และ 42.0 ตามลำดับ เมื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ผลทางสถิติในการบำบัดค่าซีโอดีทั้งหมด, ค่าเจลดาร์ไนโตรเจน และค่าฟอสฟอรัสทั้งหมด พบว่าระยะเวลาเก็บกัก 4-12 ให้ผลการบำบัดสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.5) และผลการทดลองยังชี้ให้เห็นว่าระบบแอนออกซิก-แอโรบิกสามารถช่วยป้องกันการเกิดสลัดจ์อืดที่จะเกิดขึ้นในระบบได้อีกด้วย จากการหาค่าสัมประสิทธิ์จลนศาสตร์ของระบบพบว่า ค่า Y ที่ได้มีค่า 0.626 มก./มก., ค่า Kd ของระบบมีค่า 0.0041 ชม.-1, ค่า K ของระบบมีค่า 0.255 ชม.-1 และค่า Ks ของระบบมีค่าเป็น 909 มก./ล. ชื่อเรื่อง : การกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสทางชีวภาพในน้ำเสียสังเคราะห์ โรงงานแหนม และหมูยอด้วยถังปฏิกรณ์เอสบีอาร์ ผู้วิจัย : นายธเนศ หวังเรืองสถิตย์ ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.จินต์ อโณทัย ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม.(วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมของปฏิกิริยาช่วงออกซิกและ แอน็อกซิกที่ช่วงแอนแอโรบิกคงที่ที่ 2.5 ชั่วโมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัส และศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อสมรรถนะของระบบเอสบีอาร์แบบอีบีพีอาร์ประเภทโพสต์ดีเอ็น โดยแบ่งการทดลองเป็น 3 ชุดการทดลอง โดยสร้างแบบจำลองระบบเอสบีอาร์ขนาดโต๊ะทดลอง ควบคุมอายุตะกอน 15 วัน มีวัฏจักร 12 ชั่วโมง โดยเปลี่ยนเวลาช่วงออกซิกและแอน็อกซิก (ออกซิก:แอน็อกซิก) ตามลำดับดังนี้ (7:1),(6:2) และ(5:3) ชั่วโมง เพื่อกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียสังเคราะห์ที่มีค่าซีโอดี ทีเคเอ็นและฟอสฟอรัสให้ใกล้เคียงกับน้ำเสียของโรงงานผลิตแหนมและหมูยอที่ผ่านการดักไขมันมาแล้ว โดยซีโอดี 600 มก./ล. ทีเคเอ็น 160 มก./ล. และฟอสฟอรัส 30 มก./ล. ผลการวิจัยพบว่า 1. การกำจัดซีโอดี ประสิทธิภาพได้ร้อยละ 94.8,92.8 และ 89.9 ตามลำดับ การกำจัดประมาณร้อยละ 40 เกิดขึ้นในช่วงแอนแอโรบิกซึ่งเป็นเพราะจุลชีพกลุ่มพีเอโอดูดสารอิทรีย์เข้าเซลล์และคายฟอสฟอรัสในเซลล์ออกมา ส่วนที่เหลือจะถูกอีกประมาณร้อยละ 60 ถูกกำจัดในช่วงออกซิกโดยจุลชีพกลุ่มโอเฮชโอ ชุดทดลองที่ 1 มีประสิทธิภาพในการกำจัดสูงสุดเพราะมีช่วงระยะเวลาออกซิกนานที่สุด 2. การกำจัดไนโตรเจน ประสิทธิภาพของระบบดูที่ค่าที่เปลี่ยนแปลงของทีเคเอ็นได้ร้อยละ 84.7,81.2 และ 66.3 ตามลำดับ ค่าไนเตรตที่เหลืออยู่เมื่อสิ้นปฏิกิริยาแอน็อกซิกเท่ากับ 3.6,2.0 และ 1.1 มก./ล.ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าชุดทดลองที่ 1 มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการกำจัดทีเคเอ็นเป็นเพราะเติมอากาศนานสุด จุลชีพกลุ่มไนตริไฟเออร์มีเวลานานพอที่จะเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนเตรตได้สูง แต่เหลือจุลชีพกลุ่มดีไนตริไฟเออร์ถูกผลกระทบจากออกซิเจนและสารอินทรีย์ที่เหลือจากช่วงออกซิกทำให้ค่าไนเตรตเมื่อสิ้นปฏิกิริยาแอน็อกซิกมีค่าสูงสุด ชุดทดลองที่ 2 มีประสิทธิภาพในการกำจัดทีเคเอ็นสูงพอกับชุดที่ 1 แต่ไนเตรตเหลือในระบบน้อยกว่าเพราะมีช่วงเวลาแอน็อกซิกนานขึ้น และชุดทดลองที่ 3 มีประสิทธิภาพในการกำจัดทีเคเอ็นต่ำที่สุดเพราะมีช่วงออกซิกน้อยสุด แต่ไนเตรตเหลือในระบบน้อยที่สุดเพราะมีช่วงเวลาแอน็อกซิกนานสุด 3. การกำจัดฟอสฟอรัส ประสิทธิภาพได้ร้อยละ ร้อยละ 90.9,98.1 และ 94.3 ตามลำดับ จะพบว่าระบบสามารถกำจัดฟอสฟอรัสได้สูง และการกำจัดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงออกซิกและพบว่ามีการกำจัดฟอสฟอรัสน้อยมากในช่วงแอน็อกซิก แสดงว่าจุลชีพกลุ่มที่กำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเป็นคน ละกลุ่มกัน และไม่เกิดจุลชีพกลุ่มดีเอ็นพีเอโอขึ้นในระบบ อีกทั้งยังพบว่าที่ปลายช่วงแอน็อกซิกของชุดทดลองที่ 3 มีแนวโน้มว่าค่าฟอสฟอรัสจะสูงขึ้น แสดงว่าอาจเกิดภาวะแอนแอโรบิกที่ช่วงท้ายของแอน็อกซิกทำให้มีการคายฟอสฟอรัสออกมา สรุปว่า ชุดทดลองที่ 2 เป็นระบบเอสบีอาร์แบบอีบีพีอาร์ประเภทโพสต์ดีเอ็นที่มีเวลาช่วงออกซิกและแอน็อกซิกที่ 6 และ 2 ชั่วโมงตามลำดับเป็นค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสโดยที่ค่าน้ำทิ้งไม่เกินค่าสูงสุดตามมาตรฐานไนโตรเจนและฟอสฟอรัสทั้งหมดในน้ำทิ้งของมาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานอุตสาหกรรม ชื่อเรื่อง : การบำบัดน้ำเสียอาคารสูงโดยระบบอีบีพีอาร์-เอสบีอาร์ แบบโพสต์ดีไนตริฟิเคชัน ผู้วิจัย : นายอุกฤษฏ์ เนื่องไชยยศ ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้จากการทดลองทำการเปรียบเทียบการบำบัดน้ำเสียอาคารสูงโดยระบบ อีบีพีอาร์-เอสบีอาร์ แบบโพสต์ดีไนตริฟายอิง โดยแปรค่าอายุของสลัดจ์ 3 ค่าคือ 5 วัน 10 วัน และ 15 วันเพื่อศึกษาผลกระทบและประสิทธิภาพของอายุสลัดจ์ SRT ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ผลวิจัยพบว่าสามารถบำบัดค่าซีโอดีได้ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 97.88, 98.28 และ 98.52 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุสลัดจ์เท่ากับ 5, 10 และ 15 วัน ตามลำดับ ในกระบวนการบำบัด น้ำเสียสามารถบำบัดค่าฟอสฟอรัส ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 56.01, 72.59 และ 76.00 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุสลัดจ์เท่ากับ 5, 10 และ 15 วัน ตามลำดับ กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถบำบัดค่าทีเคเอ็นประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 75.87, 86.42 และ 94.02 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุสลัดจ์เท่ากับ 5, 10 และ 15 วัน ตามลำดับ กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถบำบัด ค่าแอมโมเนีย ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 79.05, 86.39 และ 94.63 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถบำบัดค่าไนเตรทประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 70.0, 81.29 และ 94.40 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุสลัดจ์เท่ากับ 5, 10 และ 15 วัน ตามลำดับ ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพดีที่สุดของอายุสลัดจ์ ที่อายุ 15 วัน เนื่องจากประสิทธิภาพของการบำบัดสูงที่สุด กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถกำจัดค่าซีโอดีได้ไม่แตกต่างมากนักซึ่งประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 98.17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 4 : 1 97.23 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 3 : 2 และ 96.22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 2 : 3 กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถกำจัดค่าฟอสฟอรัส ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 83.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 4 : 1 79.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 3 : 2 และ 70.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 2 : 3 กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถกำจัดค่าทีเคเอ็น ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 94.59 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 4 : 1 92.23 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 3 : 2 และ 86.48 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 2 : 3 กระบวนการบำบัดน้ำเสียสามารถกำจัดค่าแอมโมเนียประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 94.60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 4 : 1 92.50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 3 : 2 และ 83.20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 2 : 3 กระบวนการบำบัด น้ำเสีย สามารถกำจัดค่าไนเตรท ประสิทธิภาพของระบบเท่ากับ 74.90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 4 : 1 87.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 3 : 2 และ 92.06 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาเติมอากาศ : เวลาขาดอากาศ เท่ากับ 2 : 3 ซึ่งประสิทธิภาพการบำบัดที่เหมาะสมในการบำบัดทุกพารามิเตอร์เท่ากับ 3 : 2 ชื่อเรื่อง : การบำบัดตะกั่วที่ปนเปื้อนในน้ำดิบโดยใช้ระบบหลายชั้นกรอง ของดิน ผู้วิจัย : นางศิริลักษณ์ บุญมา ที่ปรึกษา : ดร. ธนูชัย กองแก้ว ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2547 บทคัดย่อ การศึกษาการบำบัดตะกั่วที่ปนเปื้อนในน้ำดิบโดยการกรองผ่านชั้นดินเผา ทำการทดลองในน้ำปนเปื้อนสังเคราะห์ของสารละลายตะกั่ว โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ศึกษาการดูดติดสารตะกั่วที่มีความเข้มข้น 10 มิลลิกรัม/ลิตร โดยดินชุดท่าเรือที่เผาโดยใช้อุณหภูมิ 100, 200, 300, 400, 500, 600, 700, 800, 900, 1000, 1100, 1200 และ 1300 องศาเซลเซียส พบว่าดินเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เป็นช่วงอุณหภูมิที่ทำให้ดินชุดท่าเรือดูดติดตะกั่วได้ดีที่สุดและดินไม่ละลายในสารละลาย 2. ศึกษาการดูดติดสารตะกั่วโดยใช้ชุดกรองดินเหนียวเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เป็นตัวดูดติดและใช้ค่าเปอร์เซ็นต์การดูดติดที่วิเคราะห์ปริมาณตะกั่วที่หายไปจากการดูดติดในสารละลายและวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของตะกั่วในชั้นกรองดินเผาเป็นดัชนีวัดประสิทธิผลโดยทำการทดลองแบบระบบไหลต่อเนื่อง ด้วยอัตราการไหล 600 มลลิลิตร/ชั่วโมงผ่านคอลัมน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 7.5 ซม. จัดกรรมวิธีการทดลองแบบ factorial 7x 5 x 5 ในแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Designโดยมี รูปแบบของชุดกรองดินเผา 7 รูปแบบคือ A, B, C, D, E, F,G ความเข้มข้นของสารละลายตะกั่ว 5 ความเข้มข้น คือ 10, 20, 40, 80 และ 100มิลลิกรัม / ลิตร และระยะเวลาในการเก็บตัวอย่าง5ระยะเวลา คือ 30, 60, 120 ,180 และ 240 นาที ผลการทดลองพบว่ารูปแบบชุดกรองที่สามารถดูดติดสารละลายตะกั่วได้มากที่สุดทั้งในการวิเคราะห์จากสารละลายและวิเคราะห์จากการเพิ่มขึ้นในดินเผาคือรบแบบAและBตามลำดับโดยดูดติดตะกั่วได้ 98.93 และ 47.65 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาในการเก็บน้ำตัวอย่างที่ผ่านการดูดติดที่เพิ่มขึ้นทำให้เปอร์เซ็นต์การดูดติดตะกั่วเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(P ≤ 0.05) เวลาในการดูดติดสารละลายตะกั่วของดินเผาในชุดกรองมากที่ สุดจากการวิเคราะห์ในสารละลายและวิเคราะห์จากการเพิ่มขึ้นในดินเผาคือ 60 และ 120 นาทีตามลำดับโดยดูดติดตะกั่วได้ 97.32 และ 46.00เปอร์เซ็นต์ ส่วนความเข้มข้นเป็นส่วนที่มีผลต่อการดูดติดที่มากสุดผลการทดลองพบว่าเมื่อสารละลายมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นดินเผาสามารถดูดติดตะกั่วเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญ (P ≤ 0.05) ความเข้มข้นที่มีผลต่อการดูดติดมากที่สุดคือ 80 มิลลิกรัม/ลิตร ทั้งในการวิเคราะห์จากสารละลายและจากการดูดติดและวิเคราะห์จากการเพิ่มขึ้นของตะกั่วในดินเผา โดยดูดติดตะกั่วได้ 97.46 และ 45.79 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์การดูดติดจากสารละลายมีความน่าเชื่อถือกว่าการวิเคราะห์จากการเพิ่มขึ้นในดิน อย่างไรก็ตามทุกปัจจัยมีผลทำให้ชั้นกรองดินเผาดูดติดสารละลายตะกั่วให้ลดลงได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานน้ำทิ้งและน้ำดื่ม ชื่อเรื่อง : ประสิทธิภาพของการลดซีโอดี และสี ออกจากน้ำเสียด้วย ระบบดูดติดผิวโดยใช้ถ่านกัมมันต์ชนิดเปลือกมะคาเดเมีย ผู้วิจัย : นายกรกช ธิวงศ์คำ ที่ปรึกษา : ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมจำนวนมาก ส่วนใหญ่ใช้ถ่านกัมมันต์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศในการดูดติดซีโอดีและสี ซึ่งมีราคาสูง งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาประสิทธิภาพของถ่านกัมมันต์ ที่ผลิตจากเปลือกหุ้มเมล็ด มะคาเดเมีย เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ได้ทำการทดลองโดยใช้น้ำเสียจริงจากอุตสาหกรรมฟอกย้อมที่มีซีโอดีระหว่าง 1600-1800 mg/l และมีค่าสีระหว่าง 40-60 su ผ่านการทดลองแบบแบทซ์ และถังกรองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 cm ยาว 30 cm ผลการทดลองเมื่อใช้ถ่านกัมมันต์ชนิดเปลือกมะคาเดเมียดูดซับซีโอดีนและสีแล้ว ได้ผลทดลองคือ 1. ประสิทธิภาพของถ่านกัมมันต์ชนิดเปลือกมะคาเดเมีย ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพของถ่านกัมมันต์จากท้องตลาด 2. เมื่อเปลี่ยนความเข้มข้นเริ่มต้นของน้ำเสีย พบว่าความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการดูดติดจะเพิ่มขึ้นด้วย 3. เมื่อเปลี่ยนแปลงพีเอช พบว่าแนวโน้มประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เมื่อพีเอชเพิ่มจาก 3 ถึง 5 แต่พบว่าแนวโน้มประสิทธิภาพลดลงหลังจากพีเอชมากกว่า 7 4. จากการทดลองแบบถังกรอง พบว่าเมื่อใช้อัตราภาระบรรทุกน้อยกว่าจะทำให้ความสามารถในการดูดติดสูงกว่าเมื่อใช้อัตราภาระบรรทุกที่มากกว่า ถ่านกัมมันต์ชนิดเปลือกมะคาเดเมีย ได้จากวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร จึงช่วยลดดุลการค้าระหว่างประเทศ และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถ นำไปประยุกต์ใช้ในการดูดติดสารปนเปื้อนอื่นด้วย ชื่อเรื่อง : ประสิทธิภาพและแนวทางการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของ โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นายนวพันธ์ เอื้อคณิต ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ และแนวทางการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลพุทธชินราช โดยทำการวิเคราะห์พารามิเตอร์ อาทิ อุณหภูมิ , pH , DO , SS, MLSS, SV30 , BOD, COD, TKN, NH3-N, TP และอัตราการไหลของน้ำเสีย รวมถึงรายละเอียดโครงสร้างของระบบบำบัด เพื่อเสนอแนวทางการปรับปรุงการควบคุมระบบ จากการเพิ่ม หรือลดการระบายตะกอนสลัดจ์ด้วยการควบคุมระบบแบบ manual ให้มีค่า F/M Ratio ที่เหมาะสมใกล้เคียงตามค่าออกแบบที่อยู่ในเกณฑ์ 0.2 – 0.45 และจากการพิจารณาควบคุมการระบายตะกอนสลัดจ์ที่ถังตกตะกอนควบคู่กัน จากการทดลองและการเก็บข้อมูลน้ำเสียเข้าระบบบำบัด ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2547 – 25 มีนาคม 2546 พบว่ามีอัตราการไหลของน้ำเสียอยู่ในช่วง 687-1,592 ลบ.ม./วัน อัตราการไหลเฉลี่ยเท่ากับ 1,114 ลบ.ม./วัน และมีค่า BOD เฉลี่ยเท่ากับ 158 mg/l, ค่า COD เฉลี่ยเท่ากับ 254.94 mg/l ตลอดการทดลอง ค่า BOD Loading เฉลี่ย เท่ากับ 176 kg/day จากการออกแบบประสิทธิภาพของระบบขึ้นอยู่กับระบบเติมอากาศ ถ้าเติมด้วย Cage Rotor อย่างเดียวจะสามารถรับน้ำเสียที่มีค่า BOD เท่ากับ 158 mg/l ได้เพียง 568 m3/ day เท่านั้น แต่ถ้าใช้ Submerged Jet ในการเติมอากาศด้วย ความสามารถรับน้ำเสียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,226 m3/day ก็จะพอต่อความต้องการของระบบ แต่จากการศึกษาพบว่าระบบเดิมสามารถทำงานได้ปกติโดยมีการเติมอากาศด้วย Cage Rotor คือมีออกซิเจนละลายน้ำ อยู่ในช่วง 0.40-1.60 mg/l การควบคุมระบบในปัจจุบันควบคุมโดยใช้ลานตากตะกอน เมื่อตะกอนที่ตากแห้งจะเก็บรวบรวม รวมทั้งสูบตะกอนสลัดจ์สู่ลานตากสลัดจ์ เพื่อระบายตะกอนสลัดจ์ทิ้ง โดยไม่พิจารณาพารามิเตอร์ของระบบเลย ทำให้ระบบมีค่า F/M Ratio ไม่เหมาะสม จากการเฝ้าระวังโดยการทดลองวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำเสียแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการเฝ้าระวังระบบบำบัดน้ำเสียในปัจจุบัน ในการทดลองวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำเสียครั้งที่ 1-15 ช่วงที่ 2 เป็นการเฝ้าระวังระบบที่มีการควบคุมการระบายตะกอนสลัดจ์โดยพิจารณาจาก F/M Ratio ให้อยู่ในช่วง 0.2-0.45 โดยประมาณ และการพิจารณาการระบายตะกอนสลัดจ์ ในกรณีที่มีตะกอนสลัดจ์ที่ไหลปนออกมาจากถังตกตะกอน ซึ่งอยู่ในช่วงการทดลองที่ 16-20 จากการเฝ้าระวังผลการทดลองที่ 1-15 พบว่า การทดลองที่ 5, 6 และการทดลองที่ 8 น้ำทิ้งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีค่า F/M Ratio เท่ากับ 0.38, 1.06 และ 0.74 ตามลำดับ ซึ่งมีค่า F/M Ratio ไม่เหมาะสม และในการทดลองที่ 2, 3 และ 15 มีแนวโน้มจะไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งมีค่า F/M Ratio เท่ากับ 0.28 , 0.10 และ 0.30 ส่วนน้ำทิ้งมีค่า BOD เท่ากับ 15, 15 และ 18 mg/l ตามลำดับ ส่วนจากการเฝ้า ระวังระบบที่มีการควบคุมค่า F/M Ratio ให้เหมาะสมในการทดลองที่ 16-20 พบว่ามีค่า F/M Ratio เท่ากับ 0.28, 0.24, 0.22 และ 0.15 ตามลำดับ น้ำเสียเข้าระบบมีค่า BOD เฉลี่ยเท่ากับ 158 mg/l และน้ำทิ้งมีค่า BOD เฉลี่ยเท่ากับ 3.44 mg/l คิดเป็นประสิทธิภาพการกำจัด BOD เท่ากับ 98% ซึ่งมีค่าน้อยกว่าน้ำทิ้งที่มีค่า BOD เฉลี่ยจากการเฝ้าระวังเท่ากับ 21.8 mg/l คิดเป็นประสิทธิภาพการกำจัด BOD เท่ากับ 85 % ประสิทธิภาพกำจัด BOD เพิ่มขึ้น 13 % และในน้ำทิ้งมีค่า SS อยู่ในช่วง 8-18 mg/l น้ำทิ้งมี SS เฉลี่ยเท่ากับ 2.9 mg/l ประสิทธิภาพกำจัด SS เพิ่มขึ้น 67 % ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนประสิทธิภาพของน้ำทิ้งในการกำจัด COD เพิ่มขึ้นเป็น 25 % จากการทดลองค่า F/M Ratio ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 0.10-0.32 ที่ระบบบำบัดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการปรับปรุงระบบโดยการควบคุม F/M Ratio ทำให้น้ำทิ้งมีคุณภาพสูงกว่าจากการควบคุมระบบแบบเดิม คือ มีค่า SS, BOD, COD, TKN และ TP น้อยกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำทิ้งมาก ทำให้น้ำทิ้งมีการปนเปื้อนน้อย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งสรุปได้ว่าการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียด้วย F/M Ratio สามารถทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมีการบำบัดน้ำเสียที่สูงขึ้น ชื่อเรื่อง : การบำบัดน้ำเสียโลหะแคดเมียมโดยใช้เมล็ดแมงลัก ผู้วิจัย : นายศุภะชัย ชัยกิจวัฒนะ ที่ปรึกษา : ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ จุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้ เพื่อพัฒนาเทคนิควิธีและวัสดุชนิดใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียโลหะหนัก เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันการออกแบบระบบบำบัดและดำเนินระบบที่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของวัสดุหรือวิธีการที่จะนำมาใช้ ซึ่งถ้าสามารถหาวิธีการหรือวัสดุชนิดใหม่ในราคาที่ไม่แพงนัก และมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียโลหะดังกล่าว จะทำให้สามารถลดต้นทุน และเป็นแนวทางใหม่ในการบำบัดน้ำเสียโลหะหนักซึ่งจะส่งผลทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าในสถานการณ์ขณะนี้ การวิจัยนี้ ศึกษาเรื่องการใช้เมล็ดแมงลักบำบัดน้ำเสียสังเคราะห์แคดเมียม โดยทำการศึกษาวิเคราะห์ไอโซเทอมของเมล็ดแมงลักในการดูดซับแคดเมียมทางชีวะ จากน้ำเสียสังเคราะห์ โดยจะควบคุมค่า pH และทำการทดลองที่อุณหภูมิห้อง และแปรเปลี่ยนความเข้มข้นแคดเมียมของสารละลายระหว่าง 2-1,000 มก./ล. และปริมาณตัวดูดซับเมล็ดแมงลักระหว่าง 1-20 กรัม และศึกษาพฤติกรรมการดูดซับแคดเมียมของเมล็ดแมงลักที่เวลาสัมผัสต่าง ๆ กัน ผลการวิจัยพบว่า อัตราการดูดซับทางชีวะจะเพิ่มขึ้นเป็นนัยสำคัญแปรตามเวลาสัมผัส โดยเวลาสัมผัสที่ 60 นาที เป็นเวลาที่สัมผัสที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาสัมผัสยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารละลายแคดเมียมที่จะดูดซับและประมาณตัวดูดซับน้อย นอกจากนี้ผลของการทดลองสามารถนำมาใช้ทำนายความจุของเมล็ดแมงลัก ที่จะใช้ในการขจัดแคดเมียมในน้ำเสียจนกระทั่งมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง ผลการทดลองศึกษาฟื้นฟูสภาพการและการนำเมล็ดแมงลักกลับมาใช้ใหม่ พบว่าเมล็ดแมงลักมีความเหมาะสมที่จะถูกนำมาใช้ดูดซับเพียงครั้งเดียว และถ้าต้องการจะสกัดแคดเมียมออกจากเมล็ดแมงลักพบว่า สารละลายแคลเซีมคลอไรด์ 0.01 โมลต่อลิตร มีความเหมาะสมที่สุด โดยสามารถสกัดแคดเมียมออกจากเมล็ดแมงลักได้เฉลี่ยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ชื่อเรื่อง : ความรู้และการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบ มุ่งเน้นผลงานของผู้บริหารและครูโรงเรียนในโครงการนำร่องการ ปรับปรุงระบบการจัดการงบประมาณ ผู้วิจัย : นางวาทินี ตันติวีระวงศ์ ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา จันทร์บรรจง กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา จันทร์ศิลา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและเปรียบเทียบความรู้และการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานของผู้บริหารและครูโรงเรียนในโครงการนำร่อง การปรับปรุงระบบการจัดการงบประมาณสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ มีกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน 32 คน และครู 234 คน รวมทั้งสิ้น 266 คน เครื่องมือวิจัยเป็นแบบทดสอบและแบบสอบถามซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentile) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าทดสอบที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการของ เชฟเฟ่ (Scheffe’ s Method) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ผู้บริหารโรงเรียน และครู มีความรู้ระดับปานกลาง ในภาพรวมทุกด้าน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความรู้ระดับปานกลางในด้านการวางแผนกลยุทธ์ระดับสถานศึกษา และด้านการวางแผนงบประมาณระยะปานกลาง แต่มีความรู้น้อยในด้านการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี 2. การเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ของ ผู้บริหารโรงเรียนและครู จำแนกตามตำแหน่ง พบว่า ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และเมื่อเปรียบเทียบตามวุฒิการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า และผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า มีความรู้แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. สภาพการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทั้งด้านการวางแผนกลยุทธ์ระดับสถานศึกษา ด้านการวางแผนงบประมาณระยะปานกลาง และด้านการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี อยู่ในระดับมาก 4. การเปรียบเทียบสภาพการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้น ผลงานตามขนาดโรงเรียน พบว่า ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน ผู้บริหารและครูในโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนแบบมุ่งเน้นผลงาน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ชื่อเรื่อง : บทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหาร โรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ผู้วิจัย : นางสาวจันทิมา เฉลิมสุข ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ฉันทนา จันทร์บรรจง กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา จันทร์ศิลา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีจุดม่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาบทบาทที่รับรู้ในการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ตามความคิดเห็นของ ผู้บริหาร 2) เพื่อศึกษาบทบาทที่คาดหวังในการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน 3) เพื่อเปรียบเทียบ บทบาทที่รับรู้ในการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร จำแนกตามประสบการณ์การบริหารการศึกษาระดับปฐมวัย และขนาดของโรงเรียน และ4) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทที่คาดหวังในการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน จำแนกตามประสบการณ์การสอนระดับปฐมวัย และขนาดของโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารและครูผู้สอนโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐในภาคเหนือตอนล่าง ปีการศึกษา 2545 จำนวนทั้งหมด 370 คน จำแนกเป็นผู้บริหาร จำนวน 185 คน และครูผู้สอน จำนวน 185 คน โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนของขนาดโรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 2 ชุด ในแต่ละชุดประกอบด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัย 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารหลักสูตร ด้านการนำแผนการสอนไปใช้ ด้านการจัดหาและผลิตสื่อ ด้านการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ด้านการจัดตารางกิจกรรมประจำวัน ด้านการนิเทศ และด้านการวัดผลและประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามโดยการหา ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) t – test และ F – test ผลการศึกษา พบว่า 1. ผู้บริหารโรงเรียนมีการรับรู้ในบทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัย แต่ละด้านและโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก 2. ครูผู้สอนมีความคาดหวังต่อบทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหาร โรงเรียน แต่ละด้านและโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก 3. เมื่อเปรียบเทียบการรับรู้บทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหาร โรงเรียน พบว่า 3.1 ผู้บริหารที่มีประสบการณ์การบริหารระดับปฐมวัยตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป มีการรับรู้ บทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัย ด้านการบริหารหลักสูตร ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ด้านการนิเทศ และโดยภาพรวม ดีกว่าผู้บริหารที่มีประสบการณ์การบริหารระดับปฐมวัยต่ำกว่า 4 ปี ส่วนด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน 3.2 ผู้บริหารในโรงเรียนขนาดต่างกัน มีการรับรู้บทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัย โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า แตกต่างกันในด้าน การนำแผนการสอนไปใช้ ด้านการจัดหาและผลิตสื่อ ด้านการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และด้านการจัดตารางกิจกรรมประจำวัน ส่วนด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน 4. เมื่อเปรียบเทียบบทบาทที่คาดหวังต่อการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียน ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน พบว่า 4.1 ครูผู้สอนที่มีประสบการณ์การสอนต่ำกว่า 4 ปี กับ ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป มีความคาดหวังต่อบทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียน แต่ละด้านและโดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน 4.2 ครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดต่างกัน มีความคาดหวังต่อบทบาทการบริหารงานวิชาการระดับปฐมวัยของผู้บริหารโรงเรียน โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า แตกต่างกันในด้านการจัดสภาพแวดล้อม และด้านการจัดตารางกิจกรรมประจำวันส่วนด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : การศึกษาการบริหารแบบมีส่วนร่วมในงานวิชาการของบุคลากร ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร ผู้วิจัย : นายธรรมเนียม เพ็ชรพงษ์ ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถลิงศก โสมทิพย์ กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.สำราญ มีแจ้ง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร ด้านหลักสูตรและการบริหารหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการนิเทศภายใน ด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา จำแนกตามตำแหน่ง และขนาดสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร ปีการศึกษา 2545 กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Krejcie and Morgan จำแนกบุคลากรตามขนาดสถานศึกษา เป็นผู้บริหาร 244 คน ครูผู้สอน 691 คน ทำการสุ่มโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) วิธีการดำเนินการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Reseach) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ (Scheffe ‘s method) ผลการวิจัยพบว่า 1. การศึกษาการบริหารแบบมีส่วนร่วมในงานวิชาการของบุคลากรในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร ในภาพรวมทั้ง 5 ด้าน มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา อยู่ในระดับมาก ด้านหลักสูตรและการบริหารหลักสูตร และด้านการนิเทศภายใน อยู่ในระดับปานกลาง 2. ผลการเปรียบเทียบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในงานวิชาการของบุคลากรใน สถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร จำแนกตามตำแหน่งผู้บริหาร และ ครูผู้สอน โดยภาพรวม ทั้ง 5 ด้าน มีส่วนร่วมในงานวิชาการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ผลการเปรียบเทียบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในงานวิชาการของบุคลากร ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร จำแนกตามขนาดสถานศึกษา พบว่า บุคลากรในสถานศึกษาขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยภาพรวม ทั้ง 5 ด้าน มีส่วนร่วมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ พบว่า บุคลากรในสถานศึกษาขนาดกลาง มีส่วนร่วมในงานวิชาการมากกว่าบุคลากรในสถานศึกษาขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ชื่อเรื่อง : รูปแบบการบริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่มีประสิทธิผล เพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา : พหุกรณีในจังหวัดอุทัยธานี ผู้วิจัย : นางสาวตรีนาถ กลิ่นชั้น ที่ปรึกษา : ดร.มานิตย์ ไชยกิจ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การบริหารการศึกษา). มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547. บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่มี ประสิทธิผล และปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการบริหารเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษา ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ แบบพหุกรณี โดยคัดเลือกโรงเรียนประถม-ศึกษาในจังหวัดอุทัยธานี 2 โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในคุณภาพของครู นักเรียน ผู้บริหารและโรงเรียน ผู้วิจัยฝังตัวในพื้นที่วิจัยเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดปีการศึกษา 2544 โดยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการและศึกษาจากเอกสาร แล้วตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยวิธีการแบบสามเส้า และวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปมานและใช้ทฤษฎีระบบ ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการบริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่มีประสิทธิผลเพื่อการประกันคุณภาพ การศึกษา คือ การประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (SBM) และผนวกระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารงานปกติ 1 ปีการศึกษา โดยการดำเนินการแบบทีมงาน เทคนิค เดมมิ่งและยุทธศาสตร์คลิบ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากร การวางแผน ดำเนินการ ประเมินผล ปรับปรุงงานและรายงาน โดยคณะกรรมการที่ชุมชนมีส่วนร่วมทุกโครงการทุกภาคเรียน และตลอดปีการศึกษา 2) ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษา ทั้ง 2 แห่ง คือ (1) ภาวะผู้นำที่ซื่อสัตย์ ขยัน มุ่งอนาคต เสียสละ กล้าตัดสินใจ ติดตามงาน และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน (2) ประสานสัมพันธ์อันดีกับชุมชนและการใช้ การเมืองเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาโรงเรียน (3) วิธีการอบรมและการมอบหมายงานที่สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และลักษณะของครูซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนางานและการประสบ-ความสำเร็จของบุคลากรในโรงเรียน (4) วิธีการบริหารเพื่อการประกันคุณภาพโรงเรียน ต้องเป็นการทำงานเป็นทีมและปรับปรุงงานตลอดเวลาและทุกขั้นตอนโดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ชื่อเรื่อง : การศึกษาแบบภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นายอำนวย แดงโสภณ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา จันทร์ศิลา ประเภทของบทนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การบริหารการศึกษา), มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาแบบภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแบบภาวะผู้นำกับระดับที่ สถานศึกษาเปิดสอนของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก และเพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างแบบภาวะผู้นำกับวุฒิการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก ตามทฤษฎีภาวะผู้นำ 3 มิติ ของ เรดดิน ซึ่งแบ่งภาวะผู้นำออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ในแต่ละแบบยังแบ่งผู้นำออกเป็น 4 แบบ คือ ภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลมาก 4 แบบ ได้แก่ 1) ผู้นำแบบผู้นำทีม 2) ผู้นำแบบนักพัฒนา 3) ผู้นำแบบผู้คุมกฎเกณฑ์ 4) ผู้นำแบบ ผู้บุกงาน และภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลน้อย 4 แบบ ได้แก่ 1) ผู้นำแบบผู้ประนีประนอม 2) ผู้นำแบบผู้ใจบุญ 3) ผู้นำแบบผู้หนีงาน 4) ผู้นำแบบผู้เผด็จการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้บริหารที่สถานศึกษาเปิดสอนระดับประถมศึกษา จำนวน 226 คน และเป็นผู้บริหารที่สถานศึกษาเปิดสอนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 92 คน โดยใช้อำเภอในจังหวัดพิษณุโลก เป็นกลุ่มเพื่อทำการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำ MSDT (The Management Style Diagnosis Test) สร้างโดย เรดดิน จำนวน 64 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ และ การทดสอบไคสแควร์ (Chi-Square) ผลการวิจัย พบว่า 1. ผู้บริหารที่สถานศึกษาเปิดสอนระดับประถมศึกษา และผู้บริหารที่สถานศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา ทั้งวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและวุฒิการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลมาก มากกว่า ภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลน้อย และจาก แบบภาวะผู้นำทั้ง 8 แบบ เป็นผู้นำแบบนักพัฒนา มากที่สุด 2. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลมากและภาวะผู้นำแบบมี ประสิทธิผลน้อย ตามแบบผู้นำทั้ง 8 แบบของเรดดิน กับระดับที่สถานศึกษาเปิดสอนของ ผู้บริหารสถานศึกษา ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. ความสัมพันธ์ระหว่างการมีภาวะผู้นำแบบมีประสิทธิผลมากและภาวะผู้นำแบบ มีประสิทธิผลน้อย ตามแบบผู้นำทั้ง 8 แบบของเรดดิน กับวุฒิการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษา ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ชื่อเรื่อง : สภาพการลงโทษนักเรียนประถมศึกษาที่กระทำผิดวินัย ของ โรงเรียนสังกัด สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นายวิเชียร ปานอยู่ ที่ปรึกษา : ดร.มานิตย์ ไชยกิจ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547. บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1) ศึกษาสภาพการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยในโรงเรียนของผู้บริหาร (2) ศึกษาสภาพการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยในชั้นเรียน ของครู (3) ศึกษาความคาดหวังในการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยของผู้ปกครอง และ (4) เปรียบเทียบสภาพการใช้การลงโทษและความคาดหวังในการใช้วิธีการลงโทษของกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครองในโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก อัตราส่วน 1:2:2 คน ต่อโรงเรียน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน จำนวน 1040 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามมีความเชื่อมั่นระหว่าง 0.80-0.91 ได้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.34 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที การทดสอบไค-สแควร์ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ของเชฟเฟ่ ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้บริหารใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยในโรงเรียน โดยใช้ (1) การว่ากล่าวตักเตือนในระดับมาก (2) ใช้ทำกิจกรรมระดับปานกลาง และ (3) ใช้ทำทัณฑ์บนระดับน้อย โดยมีค่าเฉลี่ย 3.47 2.14 และ 1.47 ตามลำดับ 2. ครูใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยภายในชั้นเรียน โดยใช้ (1) การว่ากล่าวตักเตือน (2) การดุ,ตำหนิ และ (3) การขู่,คาดโทษ ร้อยละ 92.80 52.90 และ 40.70 ตามลำดับ 3. ผู้ปกครองมีความคาดหวังในการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดวินัยโดย (1) การว่ากล่าวตักเตือน (2) การทำทัณฑ์บน และ (3) การเฆี่ยนตี ร้อยละ 76.30 55.90 และ 44.60 ตามลำดับ 4. ผู้บริหารของโรงเรียนที่มีขนาด ที่ตั้ง และประเภทของโรงเรียนต่างกัน ใช้วิธีการลงโทษไม่แตกต่างกัน 5. ครูในโรงเรียนที่มีขนาด ที่ตั้ง และประเภทของโรงเรียนต่างกัน ใช้วิธีการลงโทษ ภายในชั้นเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 6. ผู้ปกครองนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาด ที่ตั้ง และประเภทของโรงเรียนต่างกัน มีความคาดหวังให้โรงเรียนใช้วิธีการลงโทษไม่แตกต่างกัน สาขาวิชาการวัดผลการศึกษา ชื่อเรื่อง : การเปรียบเทียบภูมิหลังทางการศึกษา อัตราการออกกลางคัน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติที่มีต่อมหาวิทยาลัยนเรศวร ของนิสิต ที่ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีรับตรงกับวิธีของทบวงมหาวิทยาลัย ผู้วิจัย : นางสาวมีนา สุนันตา ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.สำราญ มีแจ้ง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวัดผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2546 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบภูมิหลังทางการศึกษา อัตรา การออกกลางคัน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติที่มีต่อมหาวิทยาลัยนเรศวร ของนิสิตที่ ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีรับตรงกับวิธีของทบวงมหาวิทยาลัย โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ระดับปริญญาตรี รุ่นปีการศึกษา 2539 – 2541 จำนวนทั้งสิ้น 730 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบวัดเจตคติและแบบบันทึกข้อมูล และวิเคราะห์โดยใช้สถิติทดสอบที สถิติทดสอบซี และสถิติทดสอบไคสแควร์ ผลการศึกษาพบว่า 1. นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีที่ต่างกันมี ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย , มารดามีระดับการศึกษาและอาชีพ และมีเจตคติ ต่อมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน 2. นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผ่านการคัดเลือก โดยวิธีที่ต่างกันมีอัตราการออก กลางคัน, มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปัจจุบัน และบิดามีระดับการศึกษาและอาชีพที่แตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการดำเนินงานประเมินผลภายในของผู้บริหาร สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นางสาวริณนา นามวิจิตร ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เกษม สาหร่ายทิพย์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(การวัดผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1) วิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ (Enter Multiple Regression Analysis) ของแรงจูงใจในการดำเนินงานประเมินผลภายในของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) วิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) ของแรงจูงใจในการดำเนินงานประเมินผลภายในของผู้บริหาร สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก ปีการศึกษา 2545 จำนวนทั้งหมด 224 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนของสังกัดและขนาดของสถานศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย เพศ (X1) ระดับการศึกษา (X2) และประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (X3) แบบสอบถาม เกี่ยวกับทัศนคติต่อการประเมินผลภายใน (X4) ความวิตกกังวลในการประเมินผลภายใน (X5) ความรู้ความสามารถและทักษะในการประเมิน (X6) และความสนใจในการประเมินผลภายใน (X7) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความพร้อมในการทำงาน (X8) ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน (X9) โอกาสได้รับความก้าวหน้า (X10) การได้รับการยอมรับ (X11) และการนิเทศ ติดตาม (X12) และแบบสอบถามแรงจูงใจในการดำเนินงานประเมินผลภายใน (Y) ผลการวิจัยพบว่า 1. เมื่อใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ (Enter Multiple Regression Analysis) พบว่า ตัวแปรทั้งหมด 12 ตัว มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจในการดำเนินงาน ประเมินผลภายในของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) เท่ากับ .6370 มีอำนาจในการพยากรณ์ (R2) ร้อยละ 40.50 มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการพยากรณ์ (SEest) เท่ากับ 3.2805 และได้สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบ และคะแนนมาตรฐาน ตามลำดับดังนี้ = -.2820X1 +.2190X2 +.0364X3 +.2760X4 -.0948X5 +.0154X6 +.2910X7 +.0121X8 +.2780X9 +.0225X10 +.0747X11 .2840X12 + 5.9970 = -.0230Z1 + .0270Z2 + .0790Z3 + .2670Z4 -.1550Z5 + .0190Z6 +.2160Z7 + .0100Z8 + .1830Z9 + .0100Z10 + .0510Z11 + .1890Z12 2. เมื่อใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) พบว่า มีตัวแปรพยากรณ์ที่สามารถพยากรณ์แรงจูงใจในการดำเนินงานประเมินผลภายในของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวน 5 ตัว ตามลำดับ คือ ทัศนคติต่อการประเมินผลภายใน ความสนใจในการประเมินผลภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน การนิเทศติดตาม ซึ่งมีอิทธิพลในทางบวก และ ความวิตกกังวลในการประเมินผลภายใน ซึ่งมีอิทธิพลในทางลบ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) เท่ากับ .6290 มีอำนาจในการพยากรณ์ (R2) ร้อยละ 39.50 มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการพยากรณ์ (SEest) เท่ากับ 3.2522 และได้สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบ และคะแนนมาตรฐาน ตามลำดับดังนี้ Y = .2690X4 +.3160X7 +.3050X9 +.3100X12 -.0908X5 + 7.5480 = .2600Z4 + .2350 Z7 + .2000Z9 + .2070Z12 -.1490Z5 ชื่อเรื่อง : ความคิดเห็นและการรับรู้เกี่ยวกับแอดมิชชันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอน ปลาย ครู และผู้ปกครองในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสามัญศึกษา จังหวัดสุโขทัย ผู้วิจัย : นางสาวปั้นหยา สุขโรจน์บัณฑิตย์ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตนะ บัวสนธ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวัดผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1) ศึกษาความคิดเห็นและการรับรู้เกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (3) เพื่อ (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 709 คน ครู 27 คน และผู้ปกครอง 90 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stages Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามความคิดเห็นและการรับรู้เกี่ยวกับการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าและตรวจสอบรายการ วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของนักเรียน ครู และผู้ปกครองโดยหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และเปรียบเทียบความคิดเห็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชัน โดยการทดสอบวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test) และเปรียบเทียบการรับรู้เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชัน โดยการทดสอบ ไค-สแควร์ ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการศึกษาความคิดเห็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม โดยภาพรวมเห็นด้วยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผลการศึกษาการรับรู้เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบและยังรับรู้ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการและจุดมุ่งหมายของแอดมิชชันในเป็นจำนวนมาก 2. การเปรียบเทียบความคิดเห็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันของนักเรียน คณะครูและผู้ปกครองพบว่าในภาพรวมแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีการแอดมิชชันกับนักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ชื่อเรื่อง : การติดตามผลมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวัดผลการศึกษา มหาวิทยาลัย นเรศวร ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2538 - 2544 ผู้วิจัย : นายเผด็จ บุญมาทัน ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เกษม สาหร่ายทิพย์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวัดผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความคิดเห็นของมหาบัณฑิตสาขาวิชาการวัดผลการศึกษาที่มีต่อหลักสูตรในด้านปรัชญาของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตร การดำเนินงานของสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล และการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน (2) ศึกษาความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ของมหาบัณฑิตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของมหาบัณฑิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ มหาบัณฑิตหลักสูตร การศึกษามหาบัณฑิตสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา ระบบทวิภาค (ปริญญาโทภาคปกติ) และหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวัดผลการศึกษา ระบบไตรภาค (ปริญญาโทภาคพิเศษ) ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2538 – 2544 รวม 7 รุ่น จำนวน 36 คน และผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหาบัณฑิตจำนวน 36 คน รวม 72 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามจำนวน 2 ฉบับ คือ (1) แบบสอบถามสำหรับมหาบัณฑิต เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคอร์ท (Likert) มีระดับ ความสำคัญ 5 ระดับ และคำถามปลายเปิด แบ่งเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา ตอนที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดผลและการประเมินผล และการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอื่น ๆ เกี่ยวกับ หลักสูตรสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา (2) แบบสอบถามสำหรับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหา บัณฑิต เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคอร์ท (Likert ) มีระดับความสำคัญ 5 ระดับ และคำถามปลายเปิด แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพผู้ตอบ แบบสอบถาม ตอนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหาบัณฑิต เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของมหาบัณฑิต ตอนที่ 3 ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของมหาบัณฑิต การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยใช้วิธีส่งแบบสอบถามไปให้มหาบัณฑิตและผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวัดผลการศึกษาทางไปรษณีย์ ได้แบบสอบถามกลับคืนมาจำนวน 72 ฉบับ แยกเป็น มหาบัณฑิต 36 ฉบับ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหาบัณฑิต 36 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม ของมหาบัณฑิตและผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ใช้ความถี่และค่าร้อยละ ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็น ของมหาบัณฑิตสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา ที่มีต่อหลักสูตรในด้านปรัชญาของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตร การดำเนินงานของสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล การนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน และความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ของมหาบัณฑิตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของมหาบัณฑิต ใช้ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความคิดเห็นของมหาบัณฑิตสาขาวิชาการวัดผลการศึกษาที่มีต่อหลักสูตรในด้านปรัชญาของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตร การดำเนินงานของสาขาวิชาการวัดผลการศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน พบว่านำไปใช้ได้มาก 2. ความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของมหาบัณฑิตเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ของมหาบัณฑิต พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ชื่อเรื่อง : การเปรียบเทียบผลการแปลงเกรดเฉลี่ยเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกเข้า ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับ ตำแหน่ง เปอร์เซ็นไทล์ต่างกัน ผู้วิจัย : นายมานะ กวางทอง ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. สำราญ มีแจ้ง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(การวัดผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1) เปรียบเทียบผลการแปลงเกรดเฉลี่ยช่วงเดียวกันเป็นคะแนนการสอบคัดเลือก ของโรงเรียนขนาดต่างกันเมื่อใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์เดียวกันโดยใช้ F-test และ (2) เปรียบเทียบผลการแปลงเกรดเฉลี่ยช่วงเดียวกันเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกของโรงเรียนรวมทุกขนาด เมื่อใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ต่างกันโดยใช้ F –test แบบวัดซ้ำ(Repeated Measures) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคปลาย ปีการศึกษา 2543 ในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 2,444 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยขอความอนุเคราะห์คัดลอกข้อมูลจากสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ผลการวิจัยพบว่า 1. การเปรียบเทียบผลการแปลงเกรดเฉลี่ยช่วงเดียวกันเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกของโรงเรียนขนาดต่างกัน เมื่อใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์เดียวกัน 1.1 สำหรับผู้ที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.00 – 2.50, 2.51 - 3.00 และ 3.01 – 3.50 พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษมีค่าเฉลี่ยของผลการแปลงเกรดเฉลี่ยเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็ก 1.2 สำหรับผู้ที่ได้เกรดเฉลี่ย 3.51- 4.00 พบว่าโรงเรียนขนาดต่างกันมีค่าเฉลี่ยของผลการแปลงเกรดเฉลี่ยเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกไม่แตกต่างกัน 2. การเปรียบเทียบผลการแปลงเกรดเฉลี่ยช่วงเดียวกันเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกของโรงเรียนรวมทุกขนาดเมื่อใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ต่างกัน 2.1 สำหรับผู้ที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.00 – 2.50 และ 2.51 – 3.00 พบว่าค่าเฉลี่ยของผลการแปลงเกรดเฉลี่ยเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกของโรงเรียนรวมทุกขนาดมีค่าสูงขึ้นตามอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นของตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ 2.2 สำหรับผู้ที่ได้เกรดเฉลี่ย 3.01 – 3.50 และ 3.51 – 4.00 พบว่าโรงเรียนรวมทุกขนาด เมื่อใช้อัตราส่วนระหว่างเกรดเฉลี่ยกับตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ต่างกัน มีค่าเฉลี่ยของผลการแปลงเกรดเฉลี่ยเป็นคะแนนการสอบคัดเลือกไม่แตกต่างกัน สาขาวิชาการวิจัยและพัฒนา การศึกษา ชื่อเรื่อง : รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อการคิด วิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัย : นางสาวเพ็ญศิริ อาจจุฬา ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. สำราญ มีแจ้ง กรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตนะ บัวสนธ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ ส่งผลต่อการคิดวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบตามสมมติฐานกับรูปแบบตามข้อมูลเชิงประจักษ์ รูปแบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย ตัวแปรแฝง 7 ตัว คือ การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย บรรยากาศการเรียนรู้ แรงจูงใจภายใน ความเชื่ออำนาจภายในตน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความเครียด และการคิดวิจารณญาณ โดยมีตัวแปรสังเกตได้ 22 ตัว กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2546 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 701 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบสองขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows ในการหาค่าสถิติพื้นฐาน และใช้โปรแกรมลิสเรล Version 8.3 ในการวิเคราะห์เส้นทางประเภทมีตัวแปรแฝง (Latent Variable) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อการคิดวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ รูปแบบ ที่สร้างขึ้นอธิบายความแปรปรวนในตัวแปรการคิดวิจารณญาณได้ร้อยละ 8 ผลการตรวจสอบความกลมกลืนสอดคล้องของข้อมูลได้ค่าดัชนีวัดระดับความสอดคล้อง (GFI) เท่ากับ 0.98 ค่าดัชนีวัดระดับความสอดคล้องที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 0.97 ค่าไค-สแควร์ (Chi-square Statistic) เท่ากับ 130.89 ระดับขั้นความเสรี 129 ที่ระดับนัยสำคัญ 0.44 ตัวแปรที่ส่งผลต่อการคิดวิจารณญาณของนักเรียน ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย แรงจูงใจภายใน บรรยากาศการเรียนรู้ ความเชื่ออำนาจ ภายในตน และความเครียด ตัวแปรที่ส่งผลทางตรงต่อการคิดวิจารณญาณของนักเรียน ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน บรรยากาศการเรียนรู้ การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ความเชื่ออำนาจภายในตน และความเครียดตัวแปรที่ส่งผลทางอ้อมต่อการคิดวิจารณญาณของนักเรียน ได้แก่ บรรยากาศการเรียนรู้ ความเชื่ออำนาจภายในตน แรงจูงใจภายใน การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่ส่งผลต่อวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้วิจัย : นางสาวศรีภาวรรณ ไสโสภา ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เกษม สาหร่ายทิพย์ กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.สำราญ มีแจ้ง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย (1) เพื่อวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติของตัวแปรพยากรณ์กับวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (2) เพื่อวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอนของตัวแปรพยากรณ์กับวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ปีการศึกษา 2546 จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 961 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ (1) แบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้น (2) แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย (3) แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน (4) แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (5) แบบวัดความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว (6) แบบวัดการเป็นแบบอย่างด้านวินัยของครู (7) แบบวัดการปฏิบัติด้านวินัยของกลุ่มเพื่อนสนิท (8) แบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (9) แบบวัดการจัดกิจกรรมเสริมสร้างวินัยในโรงเรียน (10) แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (11) แบบวัดเจตคติต่อวินัย (12) แบบวัดวินัยในตนเอง และ (13) แบบสำรวจผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ พบว่า ตัวแปรพยากรณ์ทั้งหมด 13 ตัว ร่วมกันพยากรณ์วินัยในตนเองของนักเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) .518 มีค่าอำนาจในการพยากรณ์ได้ร้อยละ 26.9 (R2=.269) ค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการพยากรณ์ ±2.7753 ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของ ตัวแปรพยากรณ์มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จำนวน 3 ตัว คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (X3) เจตคติต่อวินัย (X9) และการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (X13) ซึ่งส่งผลทางบวก นอกจากนี้ ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของตัวแปรพยากรณ์มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 2 ตัว คือ การอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (X7) ซึ่งส่งผลทางลบ และ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างวินัย ในโรงเรียน (X10) ซึ่งส่งผลทางบวก ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของตัวแปรพยากรณ์ไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติ จำนวน 8 ตัว คือ เพศ (X1) ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว (X2) ความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว (X4) การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย (X5) การอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน (X6) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (X8) การเป็นแบบอย่างด้านวินัยของครู (X11) และการปฏิบัติด้านวินัยของกลุ่มเพื่อนสนิท (X12) โดยสร้างเป็นสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบและคะแนนมาตรฐาน ตามลำดับดังนี้ 13).085(Z+12).023(Z + 11).019(Z- 10).082(Z + 9).243(Z +8).057(Z + 7).083(Z - 6).056(Z + 5).020(Z - 4).040(Z + 3).188(Z + 2).033(Z - 1).016(Z =Z1.329 + 13)X.04116000(+12)X.01100000( +11)X.01111000( -9)X.06674000( +8)X.01580000( + 7)X.03725000( - 6)X.03793000(+4)X.02322000( + 3)X.01149000( + 2)X.00001633( - 1)(X.103000000=Y^^ 2. การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า มีตัวแปรพยากรณ์ 5 ตัว ร่วมกัน พยากรณ์วินัยในตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) .510 มีอำนาจในการพยากรณ์ได้ร้อยละ 26.0 (R2=.260) ค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน ของการพยากรณ์ ±2.7802 ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของตัวแปรพยากรณ์มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 จำนวน 4 ตัว คือ เจตคติต่อวินัย (X9) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (X3) การจัดกิจกรรมเสริมสร้างวินัยในโรงเรียน (X10) การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (X13) ซึ่งส่งผลทางบวก และ ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยของตัวแปรพยากรณ์มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 1 ตัว คือ ความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว (X4) ซงส่งผลทางบวก โดยสร้างเป็นสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบและคะแนนมาตรฐาน ตามลำดับดังนี้ )4Z(073.+)13Z(091.+)10Z(102.+)3Z(204.+)9Z(266. =Z.+)13X(04403.+)10X(06027.+)3X(01245.+)9X(07323.=Y^^ ชื่อเรื่อง : การพัฒนาเครื่องมือและวิธีการวัดตัวบ่งชี้คุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม ผู้วิจัย : นายนิคม สิงห์สูตร ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตนะ บัวสนธ์ กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.สำราญ มีแจ้ง กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อ่อนสวัสดิ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและหาคุณภาพของเครื่องมือและวิธีการวัดตัวบ่งชี้คุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 2 ปีการศึกษา 2546 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนรวมทั้งสิ้น จำนวน 625 คน เครื่องมือที่สร้างมี 4 ฉบับ ได้แก่ แบบทดสอบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม แบบสังเกต พฤติกรรม แบบสอบถามพฤติกรรม และแบบสังคมมิติ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ หาค่าอำนาจจำแนก ความเที่ยง ตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้าง 2 วิธี คือ 1) การวิเคราะห์ องค์ประกอบด้วยการวิเคราะห์เงา แล้วทำการหมุนแกนแบบออโธกอนอล ด้วยวิธีวาริแม๊กซ์ และ 2) การวิเคราะห์ลักษณะหลากวิธีหลาย สรุปผลได้ดังนี้ ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเครื่องมือวัดคุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวกับความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ตัวประกอบที่สำคัญของเครื่องมือแต่ละฉบับดังนี้ 1. แบบทดสอบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม อธิบายได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 1 องค์ประกอบ ชื่อองค์ประกอบ ความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม 2. แบบสอบถามพฤติกรรม อธิบายได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 องค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบตั้งชื่อองค์ประกอบ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 การละความเห็นแก่ตัว องค์ประกอบที่ 2 ความมีจิตใจโอบอ้อมอารี และองค์ประกอบที่ 3 ความมีน้ำใจต่อพ่อแม่ 3. แบบสังคมมิติ อธิบายได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 องค์ประกอบ แต่ละ องค์ประกอบตั้งชื่อองค์ประกอบ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 ความเสียสละและมีน้ำใจต่อผู้อื่น องค์ประกอบที่ 2 ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข ผลการวิเคราะห์ลักษณะหลากวิธีหลาย พบว่า เครื่องมือและวิธีการวัดตัวบ่งชี้ คุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม ความตรงเชิงคล้อยตาม มีค่าค่อนข้างต่ำ และค่า ความตรงจำแนกบางค่ามีค่ามากกว่าค่าความตรงคล้อยตาม เมื่อพิจารณาผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบและลักษณะหลากวิธีหลาย พบว่า ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้งสองวิธีมีความสอดคล้องกัน เนื่องจากการสกัดองค์ประกอบ ได้องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ด้านความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม และจากการวิเคราะห์ลักษณะหลากวิธีหลายให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่มีค่าความตรง เชิงคล้อยตามค่อนข้างต่ำ และค่าความตรงจำแนกไม่เป็นไปตามหลักของการวิเคราะห์ ลักษณะหลากวิธีหลาย ซึ่งแสดงว่าคุณธรรมจริยธรรมทั้ง 3 ด้านมีความสัมพันธ์และมีพฤติกรรม การแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน เช่น ถ้ามีความเมตตากรุณา แล้วจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความเสียสละด้วย ทำให้การวัดตัวบ่งชี้ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวมนั้น สามารถเลือกวัดตัวบ่งชี้ใดตัวบ่งชี้หนึ่งก็ได้ ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการสอนของครูโรงเรียนสังกัด สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายสมชาย โคตรภูงา ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนะ บัวสนธ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการสอนของครู โรงเรียนสังกัดสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร ปีการศึกษา 2546 จำนวน 748 คน จาก 64 โรงเรียน ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ส่วนที่ 1 แบบวัดความมุ่งมั่นในการสอนของครู ส่วนที่ 2 แบบวัดตัวแปรอิสระระดับบุคคล ส่วนที่ 3 แบบวัดตัวแปรอิสระระดับโรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าสถิติภาคบรรยายด้วยโปรแกรม SPSS for Windows version 9.01 และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ด้วยโมเดลเชิงเส้นตรงระดับลดหลั่น (Hierarchical Linear Model) โดยใช้โปรแกรม HLM version 4.04 ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1. ตัวแปรระดับบุคคลที่มีอิทธิพลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความมุ่งมั่นในการสอนของครู ได้แก่ การปฏิบัติการสอนปีที่ผ่านมาและทัศนคติต่อการสอน 2. ตัวแปรระดับโรงเรียนไม่มีอิทธิพลต่อค่าเฉลี่ยความมุ่งมั่นในการสอนของครู ชื่อเรื่อง : รูปแบบของปัจจัยที่ส่งผลต่อเชาวน์อารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้วิจัย : นายมนตรี หาทรัพย์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.สำราญ มีแจ้ง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบของปัจจัยที่ส่งผลต่อเชาวน์อารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบที่สร้างขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ รูปแบบที่สร้างขึ้นประกอบด้วยตัวแปรแฝง 6 ตัว ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดู ความวิตกกังวล แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความภาคภูมิใจในตนเอง และเชาวน์อารมณ์ มีตัวแปรสังเกตได้จำนวน 13 ตัว กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ ปีการศึกษา 2544 จำนวน 460 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows ในการหาค่าสถิติพื้นฐาน และใช้โปรแกรม LISREL Version 8.30 ในการวิเคราะห์เส้นทางประเภทมีตัวแปรแฝง (Latent Variable) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า รูปแบบของปัจจัยที่ส่งผลต่อเชาวน์อารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ รูปแบบที่พัฒนาขึ้นอธิบายความแปรปรวนในตัวแปร เชาวน์อารมณ์ได้ร้อยละ 64 ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของข้อมูล ได้ค่าดัชนีวัดระดับความสอดคล้อง (GFI) เท่ากับ 0.99 ค่าดัชนีวัดระดับความสอดคล้องที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 0.98 ค่าไค – สแควร์ (Chi-square) เท่ากับ 24.25 มีระดับนัยสำคัญ 0.87 ที่องศาอิสระเท่ากับ 33 เส้นกราฟคิวพล๊อตในผลการวิเคราะห์มีความชันมากกว่าแนวเส้นทแยงมุม ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการ เปรียบเทียบว่ารูปแบบมีความสอดคล้องกับข้อมูสอดคล้องกับข้อ มูวแปรที่มีอิทธิพลโดยรวมต่อเชาวน์อารมณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ ความภาคภูมิใจในตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ส่วนการอบรมเลี้ยงดูและความวิตกกังวลมีอิทธิพลอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อเชาวน์อารมณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความวิตกกังวล และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ส่วนความภาคภูมิใจในตนเอง และการอบรมเลี้ยงดูมีอิทธิพลอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อเชาวน์อารมณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ ความภาคภูมิใจในตนเอง และความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่การอบรมเลี้ยงดูมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความวิตกกังวล มีอิทธิพลอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ชื่อเรื่อง : การพัฒนาชุดกิจกรรมทักษะชีวิตเรื่องยาเสพติด สำหรับเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้วิจัย : นางสาวจันทร์เพ็ญ ไทยปาน ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (การวิจัยและพัฒนาการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมทักษะชีวิต เรื่องยาเสพติดสำหรับเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ ดังนี้ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมทักษะชีวิต เรื่องยาเสพติดสำหรับเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2) เพื่อทดลองใช้ชุดกิจกรรมทักษะชีวิตเรื่องยาเสพติดสำหรับเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 3) เพื่อประเมินชุดกิจกรรมทักษะชีวิตเรื่อง ยาเสพติด สำหรับเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมทักษะชีวิต เรื่อง ยาเสพติดสำหรับเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้วิจัยนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของชุดกิจกรรม แบบทดสอบ และแบบประเมิน แล้วทำ การปรับปรุงแก้ไข จากนั้นนำไปใช้กับเยาวชน จำนวน 3 คน เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของ ภาษา อักษร เนื้อหา เวลาทำกิจกรรม และทดลองใช้กับเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 20 คน เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมตามเกณฑ์ 80/80 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมทักษะชีวิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ เยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพิษณุโลก ที่ทำความผิดคดียาเสพติด และถูกคุมประพฤติในสถานพินิจอย่างน้อย 1 เดือน ในปี พ.ศ. 2546 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย ชุดกิจกรรมทักษะชีวิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (Dependent t-test) ขั้นตอนที่ 3 การประเมินชุดกิจกรรมทักษะชีวิต กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ร่วมกิจกรรม จำนวน 30 คน และผู้นำกลุ่มที่ได้ใช้ชุดกิจกรรมในการนำกลุ่ม จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบประเมินชุดกิจกรรมทักษะชีวิต สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยนเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. ชุดกิจกรรมทักษะชีวิต เรื่อง ยาเสพติด มีประสิทธิภาพ 80.31/81.94 2. เยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพิษณุโลก มีความรู้เรื่อง ยาเสพติดสูงกว่าก่อนการใช้ชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 มีเจตคติต่อยาเสพติดทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ความตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่น ความภูมิใจในตนเอง และความรับผิดชอบต่อสังคมสูงกว่าก่อนการใช้ชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีทักษะเรื่องยาเสพติดในองค์ประกอบด้านทักษะการ ตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาสูงกว่าก่อนการใช้ชุดกิจกรรมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีทักษะเรื่องยาเสพติดในองค์ประกอบด้าน การสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร และการจัดการกับอารมณ์และความเครียด สูงกว่าก่อน การใช้ชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ความคิดเห็นของเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพิษณุโลก และผู้นำกลุ่ม เกี่ยวกับชุดกิจกรรมทักษะชีวิตเรื่องยาเสพติดในด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต มีความเหมาะสมอยู่ในระดับปานกลางและมาก สาขาวิชาจิตวิทยาการแนะแนว ชื่อเรื่อง : ผลการใช้กลุ่มสัมพันธ์ที่มีต่อมนุษยสัมพันธ์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้วิจัย : นางพัชรีย์ สัมพันธ์อภัย ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์บุหงา วชิระศักดิ์มงคล กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เกษม สาหร่ายทิพย์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(จิตวิทยาการแนะแนว) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาผลการใช้กลุ่มสัมพันธ์ที่มีต่อมนุษยสัมพันธ์ของ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทอลองเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านทุ่งนาวิทยา อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ปีการศึกษา 2545 จำนวน 3 ห้องเรียน นักเรียน 90 คน จัดเป็นกลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม ตามสภาพห้องเรียนเดิม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่มเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มสัมพันธ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยมีผู้วิจัยและครูที่ปรึกษาอีก 2 คน เป็นผู้นำกลุ่ม ๆ ละคน โดยเข้าร่วมกลุ่มสัมพันธ์ จำนวน 12 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที เประยะเวลา 6 สัปดาห์ เหมือนกันทั้ง 3 กลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมกลุ่มสัมพันธ์และแบบวัดความมีมนุษยสัมพันธ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การทดสอบแบบที (t - test) และการทดสอบแบบเอฟ (F - test) ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่มมีค่าเฉลี่ยของความมีมนุษยสัมพันธ์หลัง การทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.001 กลุ่มตัวอย่างที่มีครูที่ปรึกษาคนที่ 1 และครูที่ปรึกษาคนที่ 2 เป็นผู้นำกลุ่ม มีค่าเฉลี่ยของความมีมนุษยสัมพันธ์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยภาพรวมพบว่า กลุ่มทดลองรวมทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของความมีมนุษยสัมพันธ์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างครูที่ปรึกษาคนที่ 1 เป็นผู้นำกลุ่ม และกลุ่มตัวอย่างครูที่ปรึกษาคนที่ 2 เป็นผู้นำกลุ่ม มีค่าเฉลี่ยของความมีมนุษยสัมพันธ์หลัง การทดลองไม่แตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : การเปรียบเทียบพฤติกรรมสนใจเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เจตคติ ต่อการเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่างการเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่ม และเป็นรายบุคคล ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผู้วิจัย : นางสาวสุธิษณา ราชสีห์ ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์อารี ตัณฑ์เจริญรัตน์ กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์สมชาย ธัญธนกุล ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (จิตวิทยาการแนะแนว) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมสนใจเรียน ผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน เจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่างการเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนอนุบาลงาว (ภาณุนิยม) อำเภองาว จังหวัดลำปาง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 16 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ 1 ให้การเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่ม จำนวน 8 คน ใช้แบบแผนการทดลองแบบ ABAB วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การทดสอบของแมน-วิทนีย์ (Mann-Whitney U test) และการทดสอบของวิลคอกซัน (Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks Test) ผลการวิจัยพบว่า 1. นักเรียนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลมีพฤติกรรม สนใจเรียนไม่แตกต่างกัน 2. นักเรียนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนวิชาภาษาไทยไม่แตกต่างกัน 3. นักเรียนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยกิจกรรมเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลมีเจตคติต่อ การเรียนวิชาภาษาไทยไม่แตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : ผลการใช้กิจกรรมกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผู้วิจัย : นางสาวฐานิดา คำอินทร์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์อารี ตัณฑ์เจริญรัตน์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (จิตวิทยาการแนะแนว) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มและเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงพฤติกรรมของนักเรียนก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 50 คน โดยทำแบบวัดพฤติกรรมเชิงจริยธรรมแล้ว ตรวจคะแนนเรียงลำดับเป็นคู่โดยจับคู่นักเรียนที่มีคะแนนเท่ากันหรือใกล้เคียงกันได้ 25 คู่ สุ่มตัวอย่างแต่ละคู่โดยวิธีการจับฉลากมาจัดเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จะได้กลุ่มทดลอง 25 คน และกลุ่มควบคุม 25 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบวัดพฤติกรรมเชิงจริยธรรมที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 และโปรแกรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม จำนวน 12 โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมเชิงจริยธรรมก่อนการทดลองและหลัง การทดลองสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยพบว่าภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม 2. นักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคะแนนพฤติกรรมเชิงจริยธรรมหลัง การทดลองสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยนักเรียนกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม มีคะแนนสูงกว่ากลุ่มควบคุม สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสาร การศึกษา ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่สำคัญในการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ในโรงเรียนมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 7 ผู้วิจัย : นายคณิน อุดมความสุข ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด จิระวรพงศ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อปัจจัย ที่สำคัญในการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยในโรงเรียนมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 7 จำนวน 5 ด้าน คือ 1. ด้านนโยบายการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย 2. ด้านบริหารจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย 3. ด้านวัสดุ เครื่องมือของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย 4. ด้านบริการการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย 5. ด้านกิจกรรมของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหาร ผู้ควบคุมเครือข่ายและครูอาจารย์โรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตการศึกษา 7 จำนวน 37 โรงเรียน รวมจำนวน 185 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามใช้วิธีเติมคำ ตรวจสอบรายการและประมาณค่า 4 ระดับ รวมทั้งสิ้น 45 ข้อ ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหาร ผู้ควบคุมเครือข่าย และครูอาจารย์ให้ระดับความสำคัญระดับมากในปัจจัยด้านนโยบายการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยเป็นลำดับที่ 1 ส่วนปัจจัยด้านอื่น ๆ อีก 4 ด้าน คือ ด้านบริหารจัดการ, ด้านวัสดุ เครื่องมือ, ด้านบริการการใช้เครือข่าย และด้านกิจกรรมของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ให้ระดับความสำคัญระดับปานกลาง ยกเว้นครูอาจารย์ให้ระดับความสำคัญระดับน้อยที่สุดในปัจจัยด้านการบริการการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับระดับความสำคัญในปัจจัยทุกด้านและแต่ละด้านพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ชื่อเรื่อง : การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง สัญญาณจราจรและ เครื่องหมายจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับนิสิตระดับ ปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้วิจัย : นายฤทธิเดช สิงห์อาจ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ถาวร สายสืบ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา), มหาวิทยาลัยนเรศวร,2546 บทคัดย่อ การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของบทเรียน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับนิสิตระดับ ปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ขั้นตอนการวิจัยดังนี้ การสำรวจสภาพปัญหา, การสร้างและหาประสิทธิภาพของบทเรียน, ขั้นการทดลองใช้บทเรียน, โดยมีการทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไขตามขั้นตอนดังนี้ ทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง, ทดลองกลุ่มเล็ก,ทดลองแบบภาคสนาม, ประชากร คือ นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2546 จำนวน 4,462 คน กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2546 ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มแบบ Snowball Sampling เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร พร้อมแบบฝึกหัด วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ระหว่างเรียน และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (E1/E2) ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีประสิทธิภาพ 83.76/88.07 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ คือ 80/80 ชื่อเรื่อง : สภาพ ความต้องการ ปัญหาและความคิดเห็นต่อการใช้เครือข่าย อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของอาจารย์และพระนิสิต ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ สังกัดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้วิจัย : นางเพ็ญศรี โตเทศ ที่ปรึกษา : ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพ ความต้องการ ปัญหา และความคิดเห็นต่อการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของอาจารย์ผู้สอนและพระนิสิต ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ สังกัดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในสังกัดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีห้องเรียนและให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่อาจารย์และพระนิสิตในมหาวิทยาลัย ได้จำนวนอาจารย์ 151 คน/รูป พระนิสิต 380 รูป เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก ผลการวิจัยพบว่า 1) อาจารย์ผู้สอนและพระนิสิตส่วนใหญ่มีประสบการณการใช้อินเทอร์เน็ต และมีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้เพื่อการศึกษา โดยใช้การสืบค้นข้อมูลข้อมูลเพื่อประกอบการเรียนการสอน เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือใช้เพื่อการสื่อสาร และเพื่อความบันเทิง เหตุผลที่เลือกใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตคือสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตามต้องการ และมีความสะดวกรวดเร็ว การใช้เพื่อการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิก รองลงมาคือการสนทนาด้วยข้อความ เว็บไซต์ที่เข้าบ่อยที่สุดเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษา ข้อมูลที่สืบค้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลวิชาการทางโลกมากกว่าทางศาสนา สาเหตุที่ทำให้อาจารย์ผู้สอนไม่ใช้อินเทอร็เน็ตเพราะยังขาดประสบการณ์การใช้ ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถสอนได้ดีอยู่ แล้ว ส่วนพระนิสิตไม่ใช้เพราะยังไม่มีเครื่องส่วนตัว ขาดทักษะการใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเห็นว่าการสนับสนุนของสถาบันยังมีไม่มากพอ 2) ด้านความต้องการการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา พบว่า อาจารย์ผู้สอนและพระนิสิตมีความต้องการมากที่สุดในเรื่องการเพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย มีความต้องการน้อยที่สุดในเรื่องการจัดให้มีการเรียนการสอนทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน 3) ปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของอาจารย์ผู้สอนและพระนิสิต 3 อันดับแรกคือความช้าของการเข้าถึงข้อมูล นโยบายการนำอินเทอร์เน็ตไปใช้เพื่อการศึกษายังไม่ชัดเจน และขาดบุคลากรที่คอยให้คำปรึกษาในการใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4) ด้านความคิดเห็นต่อการนำอินเทอร์มาใช้เพื่อการศึกษาอาจารย์และพระนิสิตมีความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วย โดยเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องอินเทอร์เน็ตช่วยเปิดโลกกว้างทางการศึกษา และมีความไม่แน่ใจในประเด็น สื่ออินเทอร์เน็ตทำให้เกิดปัญหาของสังคมปัจจุบัน ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตขาดความน่าเชื่อถือไม่เหมาะนำมาใช้อ้างอิง อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่ล่อแหลมต่อการทำผิดพระวินัยของสงฆ์ มีประโยชน์ต่อการศึกษาน้อยกว่าด้านอื่น มีประโยชน์ต่อการศึกษาทางโลกมากกว่าทางศาสนา และการเรียนการสอนในห้องเรียนมีด้านคุณภาพสูงกว่าการเรียนการสอนทางอินเทอร์เน็ต ชื่อเรื่อง : ผลการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเสริมภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีระดับ ความวิตกกังวลแตกต่างกัน ผู้วิจัย : นางสาวบุญศรี เห็นโสภา ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ประหยัด จิระวรพงศ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเสริมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 และเพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีระดับความวิตกกังวลแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 45 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน คือ นักเรียนที่มีระดับความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษสูง ปานกลาง และต่ำ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเสริมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แบบวัดความวิตกกังวลในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 และแบบประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และหาความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการของ เชฟเฟ่ (Scheffe) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัยพบว่า 1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเสริมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 93.51/83.30 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2. ความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีระดับความวิตก กังวลสูง ปานกลาง และต่ำ ไม่มีความแตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายวิชาการเสริมสร้าง คุณภาพชีวิตเรื่อง “ชีวิตกับนันทนาการ” สำหรับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้วิจัย : นายออมสิน ช้างทอง ที่ปรึกษา : ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนาสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ตรายวิชาการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เรื่อง “ชีวิตกับนันทนาการ” สำหรับนิสิต ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตที่เรียน บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกับนิสิตที่เรียนตามปกติ ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รายวิชาการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เรื่อง “ชีวิตกับนันทนาการ” สำหรับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อ การเรียนด้วยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยมีขั้นตอนการวิจัยดังนี้ 1) ขั้นตอนการสำรวจสภาพปัญหา หาและความจำเป็นในการใช้สื่อมัลติมีเดีย ของบทเรียนบน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และความจำเป็นในการใช้สื่อมัลติมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน 2) การสร้างและหาประสิทธิภาพของสื่อมัลติมีเดีย 3) การทดลองใช้สื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อปรียบเทียบผลการเรียนรู้ก่อนและหลังการเรียน ผลการวิจัยปรากฏดังนี้ 1. ผลของการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิต ที่เรียนตามปกติ กับผู้เรียนที่เรียนด้วยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีกว่านิสิตที่เรียนในห้องเรียนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 2. นิสิตมีความคิดเห็นต่อสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รายวิชาการ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เรื่อง “ชีวิตกับนันทนาการ” อยู่ในระดับมาก ดังนี้ การเรียนโดยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถค้นคว้า เพิ่มเติมได้มากขึ้น สื่อมัลติมีเดียสามารถให้ความรู้ และความเพลิดเพลิน การเรียนโดยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ความรู้กว้างขวางกว่าการเรียนปกติ มีกระดานข่าวที่สามารถฝากข้อความถามเพื่อนในชั้นและผู้สอนได้สะดวก สามารถเรียนได้กลุ่มใหญ่ ผู้เรียนสามารถรับรู้สื่อได้อย่างชัดเจนกว่าในการเรียนปกติ การเรียนโดยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนได้ด้วยตัวเอง การเรียนโดยสื่อมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้เรียนไม่เครียดจนเกินไป ผู้เรียนมีความตั้งใจในการเรียนมากขึ้น ผู้เรียนกล้าแสดงออกมากขึ้น ชื่อเรื่อง : ผลการใช้กิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีต่อพฤติกรรม การทำงานเป็นทีมของนักเรียนในช่วงชั้นที่ 4 ผู้วิจัย : นายวีระศักดิ์ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา : ดร.สุภาณี เส็งศรี ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีต่อพฤติกรรมการทำงานเป็นทีมของนักเรียนในช่วงชั้นที่ 4 โดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา จังหวัดพิษณุโลก ที่ศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 80 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบเจาะจง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 คน กลุ่มควบคุม 40 คน กลุ่มทดลองคือ กลุ่มที่ได้ทำกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง 6 สัปดาห์ รวม 12 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนกลุ่ม ควบคุม ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครื่องมือที่ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดพฤติกรรมการทำงานเป็นทีม และโปรแกรมกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย สวนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test ผลการวิจัยพบว่า 1.นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีพฤติกรรมการทำงานเป็นทีมสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 2. ภายหลังการทดลองนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีพฤติกรรมการทำงานเป็นทีมสูงกว่าก่อนการเข้าร่วม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ชื่อเรื่อง : ลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนจากอินเทอร์เน็ตโดยวิธีการค้นพบ แบบแนะนำและไม่แนะนำ ผู้วิจัย : นายอุเทน วิยา ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ถาวร สายสืบ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา), มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนจากอินเทอร์เน็ตโดยวิธีการค้นพบแบบแนะนำและไม่แนะนำ และเพื่อศึกษา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการเรียนจากอินเทอร์เน็ตโดยวิธีการค้นพบแบบแนะนำและไม่แนะนำกับลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพิษณุโลกศึกษา จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 48 คน โดยใช้แบบวัดระดับ ความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (SDLRS) แบ่งลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองเป็น 3 ระดับคือ ระดับสูง ระดับปานกลางและระดับต่ำ ได้ระดับละ 16 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองโดย วิธีการสุ่มอย่างง่ายจากการแบ่งชั้น โดยจับคู่กระจายเข้ากลุ่มจำนวนเท่ากันตามลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 24 คน แล้วสุ่มกลุ่มเข้ารับการทดลองด้วยวิธีการสอนโดยการค้นพบแบบแนะนำและวิธีการสอนโดยการค้นพบแบบไม่แนะนำ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดระดับความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (SDLRS) แผนการสอนโดยวิธีการค้นพบแบบแนะนำ และแผนการสอนโดยวิธีการค้นพบแบบไม่แนะนำ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ สองทาง (Two-way ANOVA) ผลการวิจัย พบว่า 1. ไม่พบความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากอินเทอร์เน็ตโดยวิธีการค้นพบแบบแนะนำ และนักเรียนที่เรียนจากอินเทอร์เน็ตโดยวิธีการค้นพบแบบไม่แนะนำ 2. มีความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากอินเทอร์เน็ต โดยวิธีการค้นพบแบบแนะนำและไม่แนะนำ ที่มีลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองแตกต่างกัน โดยนักเรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองในระดับต่ำ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างจากนักเรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองในระดับสูง และระดับปานกลาง อย่างมี นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ส่วนนักเรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองในระดับสูงและระดับปานกลาง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกัน ชื่อเรื่อง : ผลการใช้บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยของ นิสิตระดับปริญญามหาบัณฑิต ที่มีแบบการคิดแตกต่างกัน ผู้วิจัย : นายเสน่ห์ อิ่มอุระ ที่ปรึกษา : ดร.สุภาณี เส็งศรี ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา), มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลการใช้บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายวิชาระเบียบวิธีวิจัย ของนิสิตระดับปริญญาการศึกษามหาบัณฑิตที่มีแบบการคิดแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้มาจากการสุ่มนิสิตระดับปริญญามหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 30 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน คือผู้เรียนที่มีแบบการคิดแบบฟิลด์ อินดิเพนเดนท์ (Field Independent) และฟิลด์ ดิเพนเดนท์ (Field Dependent) กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเรียนจากบทเรียนบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ตรายวิชาระเบียบวิธีวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ . แบบทดสอบ เดอะ กรุป เอมเบดเดด ฟิกเกอร์ เทสท์ (The Group Embedded Figures Test) บทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายวิชาระเบียบวิธีวิจัย และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วิชาระเบียบวิธีวิจัย โดยนำผลที่ได้จากการทดลองมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐานและทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัยของกลุ่มตัวอย่างที่มีแบบการคิดต่างกัน เมื่อเรียนบทเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ชื่อเรื่อง : บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องอิเหนา สำหรับนักเรียนที่มีรูปแบบ การคิดต่างกัน ผู้วิจัย : นางสาวเก็จสกุล จิระวรพงศ์ ประธานที่ปรึกษา : ดร.สุภาณี เส็งศรี กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิช สิทธิสมบูรณ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ สร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องอิเหนา (ตอนศึกกะหมังกุหนิง) ศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักเรียน โดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม การคิดแบบพึ่งพาและกลุ่มการคิดแบบอิสระ จำนวน 60 คน ซึ่งเลือกมาด้วยวิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratefied Random Sampling) ในการเก็บข้อมูลใช้เครื่องมือ 4 ชนิด คือบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน แบบทดสอบ แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและแบบสอบถาม ความพึงพอใจของนักเรียน ผลการวิจัย 1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.70/82.17 มีคุณภาพระดับดีมาก มีประสิทธิผลทางการเรียนเพิ่มขึ้น 55.51 2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างกลุ่มความคิดที่ต่างกันมีความ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ผลการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อยู่ในระดับดีมากทั้งสองกลุ่มและมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ชื่อเรื่อง : การสร้างโปรแกรมประกันคุณภาพภายในสำหรับโรงเรียน สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต 1 ผู้วิจัย : นางสิวลี ใจผ่องใส ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด จิระวรพงศ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโปรแกรมประกันคุณภาพภายในสำหรับโรงเรียน และศึกษาความคิดเห็นของผู้ใช้ที่มีต่อโปรแกรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน และกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้ จำนวน 11 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง มีกระบวนการในการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม 5 ขั้นคือ ขั้นการวิเคราะห์ ขั้นออกแบบ ขั้นสร้างและพัฒนา ขั้นทดลองใช้ และขั้นประเมินผล เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบ มาตราส่วนประมาณค่า การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า 1. การสร้างโปรแกรมประกันคุณภาพภายในสำหรับโรงเรียน มีคุณภาพอยู่ในระดับดี องค์ประกอบของการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม มี 6 ส่วน คือ ส่วนข้อมูลนำเข้า ส่วนประมวลผล ส่วนผลลัพธ์ การประเมินผลภายใน การใช้โปรแกรม และกระบวนการทำงานของโปรแกรม 2. การศึกษาความคิดเห็นของผู้ใช้ที่มีต่อโปรแกรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นอยู่ในระดับดี ความคิดเห็นที่อยู่ในระดับดีมาก คือ ทำให้ประเมินตนเองได้ครอบคลุมทุกด้าน ประหยัดและ คุ้มค่าทั้งเวลาและวัสดุ และการนำไปใช้มีผลดีมากกว่าผลเสีย ชื่อเรื่อง : การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อพัฒนาการคิดอย่างมี วิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระที่ 2 : ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ผู้วิจัย : นายเด่นพงษ์ บุญเรือง ประธานที่ปรึกษา : ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อ พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อพัฒนา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระที่ 2 : ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะคือ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 2) เพื่อเปรียบเทียบการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนที่เรียนโดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนชนแดนวิทยาคม อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระที่ 2 : ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม แบบวัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยสถิติทดสอบที ( t-test ) ผลการวิจัย พบว่า 1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 82.34/80.43 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2. นักเรียนที่เรียนโดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. นักเรียนที่เรียนโดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ชื่อเรื่อง : การพัฒนาเว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน ผู้วิจัย : นางสาววิยะดา วชิราภากร ที่ปรึกษา : ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาเว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน โดยมี จุดมุ่งหมายเฉพาะคือ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของเว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้เว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน 3) เพื่อประเมินเว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูประจำการ จำนวน 20 คน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว เขต 2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการฝึกอบรมด้วยเว็บฝึกอบรม วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบที (t-test) ผลการวิจัย พบว่า 4. เว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมี ประสิทธิภาพ 87.07/88.50 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 5. ครูประจำการที่เข้ารับการฝึกอบรมด้วยเว็บฝึกอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 6. ความคิดเห็นของครูประจำการ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บฝึกอบรม ในด้านปัจจัย นำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ชื่อเรื่อง : การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาสุโขทัย เขต 2 ผู้วิจัย : นายพินิจ สุขลักษณ์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ถาวร สายสืบ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและหัวหน้างานทั้ง 6 งาน ของโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 จำนวน 84 คน ผลการวิจัย พบว่า 1. การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 ปรากฏว่าโรงเรียนต่าง ๆ มีการ จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบเอกสาร โดยจัดเก็บเป็นแฟ้มรายงานต่าง ๆ การจัดเก็บจะจัดแยกเป็นงาน ๆ มีเจ้าหน้าที่ในงานต่าง ๆ เป็นหัวหน้างานนั้น ๆ มีการเก็บข้อมูลบางอย่างไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น แบบรายงานต่าง ๆ แต่ ไม่อยู่ในรูปแบบของ ฐานข้อมูล ข้อมูลส่วนใหญ่มีความซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถเรียกใช้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม พบว่าความต้องการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนประถมศึกษาอำเภอ ทุ่งเสลี่ยม ในด้านรวมอยู่ในระดับมาก และทุกรายการมีความต้องการอยู่ในระดับมาก และความต้องการข้อมูลสารสนเทศที่ต้องการให้มี ในทุกรายการที่มีความต้องการมากกว่าร้อยละ 50 ควรนำมาพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับโรงเรียน ประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 ทั้งหมด 2. การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 ปรากฏว่า การเข้าสู่โปรแกรมระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 สามารถทำได้โดยพิมพ์ Address หรือที่อยู่ของเว็บไซต์ซึ่งได้จากการที่โรงเรียนได้ทำการจดโดเมนและเช่าพื้นที่ เพื่อที่จะได้ Upload ข้อมูลขึ้นไปไว้บนเซิร์ฟเวอร์ เช่น Address ของโรงเรียนอนุบาล ทุ่งเสลี่ยม คือ http://www.anubanthungsaliam .com สามารถใช้เมาส์เลือกเข้าสู่รายการที่ต้องการ ซึ่งโปรแกรมจะมีเมนูให้เลือก 12 เมนู คือ ข้อมูลทั่วไป งานวิชาการ งานกิจการนักเรียน งานบุคลากร งานธุรการ การเงิน และพัสดุ งานอาคารสถานที่ งานความสัมพันธ์ชุมชน เว็บบอร์ด ห้องสนทนา ติดต่อผู้สอน และเข้าสูระบบแก้ไข ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 2 สามารถใช้งานได้สะดวกการเพิ่ม ลบ แก้ไขข้อมูล และค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย เพราะระบบมีการออกแบบมาให้เป็นฐานข้อมูล และมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทุกโรงเรียนสามารถนำระบบไปใช้ได้ 3. การประเมินการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ต สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอทุ่งเสลี่ยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สุโขทัย เขต 2 ในส่วนของเนื้อหา ปรากฏว่า ในด้านรวมทั้งหมดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และในด้านรวมแต่ละด้านมีความเหมาะสมในระดับมาก โดยเรียงลำดับ 3 รายการแรก คือ ทะเบียนนักเรียน(งานวิชาการ) รองลงมาคือข้อมูลบุคลากร (งานบุคลากร) และข้อมูลทั่วไป ในส่วนของระบบสารสนเทศ ปรากฏว่า ในด้านรวมทั้งหมดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และในด้านรวมส่วนที่ 1(คุณสมบัติของระบบสารสนเทศ) และ ส่วนที่ 3 (การออกแบบ ปฏิสัมพันธ์) มีความเหมาะสมในระดับมาก ส่วนที่ 2 (มัลติมีเดีย) มีความเหมาะสมในระดับ ปานกลาง ในรายการของแต่ละด้านส่วนใหญ่มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับ 3 รายการแรก คือ ระบบสารสนเทศง่ายต่อการใช้งาน รองลงมา คือ การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเพื่อเป็นปัจจุบันได้ง่าย และระบบสารสนเทศมีความถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 1)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 2)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 3)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 4)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น