วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 4)



สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
ชื่อเรื่อง : การพัฒนากระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของ
โรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7
ผู้วิจัย : นางสาววรรณภา โพธิ์ศรี
ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารีรัตน์ แก้วอุไร
กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(หลักสูตรและการสอน)
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 โดยมี วัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้
1. เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7
2. เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7เกี่ยวกับความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่สร้างขึ้น
วิธีดำเนินการวิจัยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การสำรวจสภาพการพัฒนา หลักสูตรสถานศึกษา เป็นการศึกษาสภาพการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามความคิดเห็นของ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 โดยการสนทนากลุ่มกับผู้บริหารและหัวหน้ากลุ่มสาระ 8 กลุ่มและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวน 24 ท่าน ขั้นตอนที่ 2 นำผลการสนทนากลุ่มและการศึกษาเอกสารการพัฒนาหลักสูตรมาสร้างกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร จำนวน 5 ท่าน พิจารณาความเหมาะสม ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา และการใช้ภาษา ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาความคิดเห็นของครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 เกี่ยวกับความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร สถานศึกษาที่สร้างขึ้น ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 451 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน
(Multi – stage Sampling ) แล้ววิเคราะห์ข้อมูลหา ค่ามัธยฐาน ( Median ) ค่าฐานนิยม ( Mode ) และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ( Interquartile Range )
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการสนทนากลุ่มเกี่ยวกับสภาพการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตาม ความคิดเห็นของผู้บริหารและครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 พบว่า โรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 ได้มีการปฏิบัติตามภารกิจ 7 ภารกิจของกรมวิชาการ ใน 5 ภารกิจ ค 1) การเตรียมความพร้อม 2) การจัดทำสาระหลักสูตรสถานศึกษา 3) การวางแผนดำเนิน การใช้หลักสูตร 4) การดำเนินการใช้หลักสูตร 5) การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล
2. ผลการพัฒนากระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ระบบ คือ ระบบการจัดทำหลักสูตร ระบบการใช้หลักสูตร และระบบการประเมินหลักสูตร ซึ่งระบบการจัดทำหลักสูตร ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ค 1) ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนจัดทำหลักสูตร 2) ขั้นตอนการออกแบบหลักสูตร 3) ขั้นตอนการสรุปผลการดำเนินงานจัดทำ หลักสูตร 4) ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร 5) ขั้นตอนการปรับปรุง แก้ไขหลักสูตรก่อนนำไปใช้ ระบบการใช้หลักสูตร ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน คือ1) ขั้นตอนการวางแผนการใช้ หลักสูตร 2) ขั้นตอนการดำเนินการใช้หลักสูตร 3) ขั้นตอนการตรวจสอบการใช้หลักสูตร 4) ขั้นตอนการรายงานผลการใช้หลักสูตร 5) ขั้นตอนการปรับปรุง แก้ไขหลักสูตรระหว่างการใช้ ระบบการประเมินหลักสูตร ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล 2) ขั้นตอนการสรุปรายงานผลการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ 3) ขั้นตอนการปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
3. ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 สรุปผลว่า ครูในโรงเรียนเครือข่ายการบริหารจัดการ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตการศึกษา 7 มีความเห็นว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ใน กระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่สร้างขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ระบบ คือ ระบบ การจัดทำหลักสูตร ระบบการใช้หลักสูตร และระบบการประเมินหลักสูตร ส่วนใหญ่มี ความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ เมื่อพิจารณาในแต่ละระบบ พบว่า มีเพียง 1 รายการในระบบการใช้หลักสูตร ที่ไม่เหมาะสมและเป็นไปไม่ได้ในการนำไปปฏิบัติ คือ การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการจากครูทั้งในและนอกสถานศึกษา
สาขาวิชาอุตสาหกรรมการศึกษา
ชื่อเรื่อง : สภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรม
ตามทรรศนะของผู้บริหารและ ครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7
ผู้วิจัย : นายธีรเดช มั่นยุติธรรม
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ถาวร สารวิทย์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย (1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมตามทรรศนะของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัด กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 (2) เพื่อศึกษาปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรม ตามทรรศนะของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัด กรมสามัญศึกษาเขตการศึกษา 7 (3) เพื่อเปรียบเทียบทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 (4) เพื่อเปรียบเทียบทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 จำแนกตามขนาดของโรงเรียน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ผู้บริหารและครูผู้สอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 จำนวน 299 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามมี 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม แยกเป็นผู้บริหารและครูผู้สอน ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามทรรศนะเกี่ยวกับสภาพปฏิบัติ / ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมของ ผู้บริหารและครูผู้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) เกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรม เพื่อต้องการทราบทรรศนะของผู้บริหารและครูผู้สอนใน 5 ด้าน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าที (t - test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – Way ANOVA)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า
1. ผู้บริหารมีทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่าง อุตสาหกรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผลอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหาการจัดการเรียนการสอนตามทรรศนะของผู้บริหารด้านที่มีปัญหาในระดับน้อย คือ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและด้านการวัดและประเมินผล
2. ครูผู้สอนมีทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนกการสอนวิชาโครงงานช่าง อุตสาหกรรม ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางทั้ง 5 ด้าน ยกเว้นปัญหาที่ครูผู้สอนพบอยู่ในระดับมาก คือ ด้านการวางแผนการสอน
3. เปรียบเทียบทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 โดยภาพรวมทรรศนะของผู้บริหารและครูผู้สอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทุกด้าน
4. เปรียบเทียบทรรศนะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานช่างอุตสาหกรรมของผู้บริหารและครูผู้สอน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7 จำแนกตามขนาดโรงเรียน ในภาพรวมทรรศนะของผู้บริหารและครูผู้สอนพบว่าแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อปรากฏว่า ด้านการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนวิชาโครงงาน นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนค่อนข้างน้อยไม่มีอิสระในการวางแผนการปฏิบัติงาน ในโรงเรียนขนาดใหญ่มากกว่าโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็ก ด้านการใช้สื่อและอุปกรณ์การสอนโรงเรียนขนาดเล็กจะมีปัญหามากกว่าโรงเรียนขนาดกลาง สื่อและอุปกรณ์ที่มีอยู่ขาดความพร้อมและความปลอดภัย ด้านการจัดและบริหารโรงฝึกงาน โรงเรียนขนาดเล็ก มีโรงฝึกงานและเครื่องมือไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
ชื่อเรื่อง : การศึกษากระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำภาชนะเครื่องเงินของช่างเครื่องเงิน ในเขตเมืองเชียงใหม่
ผู้วิจัย : นายภาณุพงศ์ จงชานสิทโธ
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำภาชนะเครื่องเงินของช่างเครื่องเงินในเขตเมืองเชียงใหม่ เพื่อศึกษาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำภาชนะเครื่องเงิน และเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางด้านการศึกษาตามอัธยาศัยจากการศึกษาอันอาจก่อประโยชน์ในเชิงประยุกต์กับการสอนวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชากรในการศึกษาเป็นบุคคลผู้เป็นช่างเครื่องเงินที่ประกอบอาชีพทำภาชนะ
เครื่องเงินและทำการถ่ายทอดความรู้ไปพร้อมๆกันในปัจจุบัน ในเขตเมืองเชียงใหม่และปริมณฑล
คัดเลือกจากผู้ที่อาศัยอยู่ใน 3 ชุมชนคือ 1) บ้านวัวลาย อำเภอเมือง 2) บ้านแม่ย่อย อำเภอสันทราย และ 3) บ้านสันกลางเหนือ อ.สันกำแพง ใช้วิธีคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) โดยกำหนดศึกษาจากช่างผู้ประกอบอาชีพและทำการถ่ายทอดความรู้ในการทำภาชนะเครื่องเงิน จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง (structured interview guide) วิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) การตีความข้อมูล (interpretation) แล้วหาข้อสรุปและนำเสนอด้วยการบรรยายตามประเด็นที่ศึกษา
ผลการวิจัยพบว่า
กระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำภาชนะเครื่องเงินเป็นลักษณะการสอนตามอัธยาศัย โดยผู้ถ่ายทอดและผู้รับการถ่ายทอดมีความสัมพันธ์กันแบบส่วนตัว โดยกระบวนการถ่ายทอดนั้นสรุปได้ว่า 1) เนื้อหาที่ถ่ายทอด ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาจากขั้นตอนปฏิบัติ เนื้อหามีการบูรณาการหลายเรื่องเข้าด้วยกัน สอนให้รู้เนื้อหา
เรียงลำดับตามลักษณะขั้นตอนการปฏิบัติ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตามความเหมาะสม 2) วิธีการถ่ายทอด เป็นการปฏิบัติ สาธิต ให้ผู้เรียนดูควบคู่กับการอธิบายให้ฟัง โดยเน้นการถ่ายทอดเป็นรายบุคคล ซึ่งการถ่ายทอดเป็นรายบุคคลสามารถให้การดูแลผู้เรียนได้ง่ายกว่า และสามารถเน้นรายละเอียดในเนื้อหาและขั้นตอนต่างๆ ได้ดี 3) สื่อที่ใช้ในการถ่ายทอด แบ่งเป็นสามประเภทคือ
(ก) สื่อที่เป็นบุคคลหรือตัวของช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดและผู้เรียน เป็นสิ่งที่สังเกตได้จากอากัปกิริยาหรือท่าทางการปฏิบัติงาน (ข) สื่อที่เป็นของจริงหรือสิ่งที่เป็นวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ซึ่งเป็นสิ่งของที่ช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดใช้ปฏิบัติงานเองเป็นปกติประจำวัน รวมถึงสิ่งที่เป็นผลงานภาชนะเครื่องเงินสำเร็จ และ (ค) สื่อที่ไม่ใช่ภาชนะเครื่องเงิน คือภาชนะอื่นๆ ที่ผลิตจากวัสดุอื่นนอกเหนือจากวัสดุเงิน แต่มีรูปทรงคล้ายกับภาชนะเครื่องเงิน 4) ระยะเวลาในการถ่ายทอด ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการถ่ายทอดที่แน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับความสนใจ ความตั้งใจ ของผู้เรียน รวมถึงลักษณะของงานนั้นๆ ซึ่งผู้เรียนอาจเลือกที่จะเรียนรู้เฉพาะการตีขึ้นรูป หรือเรียนรู้เฉพาะ
การสลักลวดลาย หรืออาจเลือกที่จะเรียนทั้ง 2 ลักษณะงานก็ได้ แต่ทั้งนี้ช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดมักใช้ระยะเวลาในการถ่ายทอดการตีขึ้นรูปไม่น้อยกว่า 3 เดือนครึ่งเป็นอย่างน้อย และระยะเวลาในการถ่ายทอดการสลักลวดลายไม่น้อยกว่า 4 เดือนครึ่ง 5) บรรยากาศในการถ่ายทอด มีสองลักษณะคือ (ก) บรรยากาศที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติรอบตัว เช่น อากาศ ช่วงเวลา มีผลต่ออารมณ์ของช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอด และ (ข) บรรยากาศที่เป็นสภาพแวดล้อมเชิงสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากบุคคลในระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น การพูดคุยกัน การช่วยเหลือ การตำหนิ การชมเชย และ 6) การประเมินผลการถ่ายทอด เป็นการประเมินผลของการปฏิบัติงาน โดยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนขณะปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่างๆ และประเมินผลจากผลงานสำเร็จของผู้เรียนโดยพิจารณาจากคุณภาพที่ช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดเห็นว่าเหมาะสม เมื่อผู้เรียนมีความชำนาญมากขึ้นจึงนำเอาด้านปริมาณมาเป็นข้อพิจารณาด้วย
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะนั้น ประกอบด้วย
1) คุณค่าของอาชีพทำภาชนะเครื่องเงิน เป็นความต้องการของช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดที่ต้องการให้อาชีพนี้คงอยู่ตลอดไปโดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกชุมชน
คุณค่าที่กล่าวแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ช่างเครื่องเงินผู้ถ่ายทอดใช้เป็นสิ่งกำหนดว่าผู้เรียนต้องเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ ด้วยความตั้งใจ อย่างต่อเนื่องกันไป 2) ค่านิยมและความเชื่อเกี่ยวกับทักษะ เป็นสิ่งกำหนดการได้รับการยกย่องในชุมชน และปลูกฝังให้ผู้เรียนยึดถือในการปฏิบัติงานร่วมกันตามวิถีการดำเนินชีวิตในชุมชน 3) สัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างช่างเครื่องเงินกับ
ผู้เรียนสองกลุ่มคือ (ก) ผู้เรียนที่เป็นเครือญาติ และ (ข) ผู้เรียนที่ไม่เป็นเครือญาติ ซึ่งในด้านกระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะให้ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้น ผู้เรียนที่เป็นเครือญาติกับช่างเครื่องเงินนั้นไม่ต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวอีก ก่อนการเริ่มต้นกระบวนการถ่ายทอด ทำให้ระยะเวลาการเรียนรู้ยาวนานขึ้น ส่วนผู้เรียนที่ไม่เป็นเครือญาติกับช่างเครื่องเงินนั้นต้องอาศัยระยะเวลาสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวต่อกันที่ยาวนาน จนทำให้การเริ่มเรียนต้องล่าช้าออกไป หรือผู้เรียนบางรายอาจต้องเลิกเรียนไปก็ได้ และ 4) คุณค่าทางศิลปะของภาชนะเครื่องเงินเป็นคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับความสวยงาม
และช่วยส่งเสริมการจำหน่าย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ชนิดต่างๆ และใช้เป็นสิ่งกำหนดว่าผู้เรียนต้องใช้ความมานะอดทน เพียรพยายาม ประณีต รวมถึงฝึกการใช้จินตนาการ มากขึ้น คุณค่าทางศิลปะเกิดจากสามประการคือ (ก) คุณค่าในลักษณะเป็นงานหัตถกรรม (ข) คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย และ ค) คุณค่าด้านความสวยงาม
ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษากระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำภาชนะเครื่องเงินครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่ประกอบในปรัชญาอุตสาหกรรมศึกษาด้านการศึกษาตามอัธยาศัยในลักษณะของกระบวนการสอนเชิงช่างของช่างเครื่องเงินที่ใช้สอนผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยใช้เนื้อหาสาระที่สอดแทรกอยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติจริง และสามารถนำไปเป็นตัวอย่างเพื่ออธิบายรายละเอียดด้าน 1) การจัดเนื้อหาสาระเพื่อใช้สอน 2) วิธีการสอน 3) วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ประกอบการสอน 4) ระยะเวลาในการสอน 5) การจัดบรรยากาศ สถานการณ์ และ 6) การประเมินผล
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาระบบจีพีเอสบนพื้นฐานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น
ผู้วิจัย : นายจิรวุฒิ เรืองเดช
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กวิน สนธิเพิ่มพูน
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาการทำงานของดาวเทียมจีพีเอสที่ใช้ในการระบบตำแหน่งบนพื้นโลก 2) เพื่อศึกษาการทำงานของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส 3) การนำระบบการระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส โดยแสดงผลที่หน้าจอคอมพิวเตอร์
ผลการวิจัยพบว่า
1. จากการศึกษาการทำงานของดาวเทียมจีพีเอส ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ใช้ในการระบุตำแหน่งบนพื้นโลก ดาวเทียมจีพีเอสมีจำนวนทั้งหมด 24 ดวง โดยจำนวน 21 ดวงใช้ในการบอกค่าพิกัดที่เหลืออีก 3 ดวงสำรองเอาไว้ ดาวเทียมจีพีเอสมีวงโคจรอยู่ 6 วงโคจร และมีรัศมีวงโคจรสูงจากพื้นโลก ประมาณ 20 – 200 กิโลเมตร วงโคจรของดาวเทียมมีลักษณะสานกันคล้ายตะกร้อใช้เวลาในการครบรอบประมาณ 12 ชั่วโมง ดาวเทียมจีพีเอสจะส่งสัญญาณในรูปของคลื่นวิทยุ คลื่นวิทยุที่ส่งออกมามี 2 ความถี่ คือ L1 มีขนาด 1,575.42 MHz และ L2 มีขนาด 1,227.6 MHz จากสัญญาณที่ดาวเทียมจีพีเอสส่งมาจะนำมาใช้ในการคำนวณหาตำแหน่งบนพื้นโลก
2. จากการศึกษาการทำงานของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส พบว่า เครื่องรับสญญาณดาวเทียมจีพีเอสมีหน้าที่ในการรับสัญญาณจากดาวเทียมแล้วแปลงเป็นพิกัดของตำแห่งบนพื้นโลก ค่าที่คำนวณได้ คือ พิกัด ความเร็วในการเคลื่อนที่ และเวลา ในการหาตำแหน่งบนพื้นโลกของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส จะมีการตรวจปูมที่บันทึกอยู่ในเครื่องรับเพื่อหาว่าดาวเทียมจีพีเอสอยู่ที่ตำแหน่งใดบนท้องฟ้า จากนั้นจะหาสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากดาวเทียม โดยทั่วไป ไม่ว่าอยู่จุดใดบนโลกจะสามารถมองเห็นดาวเทียมจีพีเอสประมาณ 6 – 8 ดวง ดาวเทียมที่ใช้ในการหาพิกัดอย่างน้อย 3 ดวง ในตำแหน่งบนพื้นโลก
3. จากการทดลองโปรแกรมที่ใช้ในการหาตำแหน่งบนพื้นโลก พบว่า โปรแกรมสามารถระบุตำแหน่ง
ชื่อเรื่อง : ศึกษาปัญหาและความต้องการในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่าง
อุตสาหกรรมตามทัศนะของผู้บริหารและครูช่างอุตสาหกรรมใน
สถาบันราชภัฏ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้วิจัย : นายดุรงค์ฤทธิ์ เอกวงษา
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ดร. วิทยา จันทร์ศิลา
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม (อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาและความต้องการตามทัศนะของผู้บริหารและครูช่างอุตสาหกรรมในสถาบันราชภัฏ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยจำนวน 110 คน ประกอบด้วยผู้บริหาร 24 คน ครูช่างอุตสาหกรรม 86 คน และเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านหลักสูตร ด้านสื่อการสอน ด้านเทคนิคและวิธีสอน ด้านการวัดผลและประเมินผล และด้านการวิจัยและพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย (mean) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบ (t – test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัญหาในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับ
ปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน โดยเรียงลำดับจากปัญหามากไปหาน้อยได้ดังนี้คือ ด้านสื่อการสอน ด้านวิจัยและพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ ด้านหลักสูตร ด้านเทคนิคและวิธีสอนและด้านการวัดผลและประเมินผล
2. ความต้องการในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรมโดยภาพรวมอยู่ใน
ระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับจากความต้องการการไปหาน้อยได้ดังนี้คือ ด้านการวิจัยและพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ ด้านสื่อการสอน ด้านเทคนิคและวิธีสอน ด้านหลักสูตรและด้านการวัดผลและประเมินผล
3. เปรียบเทียบปัญหาในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรม พบว่า
ผู้บริหารและครูช่างอุตสาหกรรมมีทัศนะต่อปัญหาในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
4. เปรียบเทียบความต้องการในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรมมีทัศนะ
ต่อปัญหาในการพัฒนาด้านวิชาชีพของครูช่างอุตสาหกรรมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ชื่อเรื่อง : การศึกษาเนื้อดินและพัฒนาน้ำเคลือบเพื่อผลิตเครื่องปั้นดินเผา :
กรณีศึกษาเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย
ผู้วิจัย : นายสนิท ปิ่นสกุล
ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมกฤช จำปาสุต
กรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต. โกมล รักษ์วงศ์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร.2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง คือ
เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายประเภทเผาอุณหภูมิสูงเคลือบผิวจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยทำการเผาทดลอง 5 ช่วงอุณหภูมิ คือ 1,186 1,196 1,222 1,240 และ 1,263 องศาเซลเซียส บรรยากาศรีดักชัน หลังจากนั้นนำมาทดสอบสมบัติทางกายภาพ 2) เพื่อศึกษาเนื้อดินบริเวณ
ตำบลหัวรอ และ ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สำหรับทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย โดยเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพของเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายของเดิม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง คือ ดินเหนียวที่มีแหล่งกำเนิดในบริเวณ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 3 แหล่ง และตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 แหล่ง รวมทั้งหมด 4 แหล่ง โดยทำการเผาทดลองที่อุณหภูมิ 1,196 องศาเซลเซียส บรรยากาศรีดักชัน หลังจากนั้นนำมาทดสอบสมบัติทางกายภาพ 3) เพื่อศึกษาอัตราส่วนผสมของเคลือบที่เผาในอุณหภูมิ 1,196 องศาเซลเซียส บรรยากาศรีดักชัน กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ครั้งนี้ ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้สูตรส่วนผสมเคลือบจำนวน 16 สูตร ใช้วัตถุดิบ คือ ดินหมายเลข 4 หินฟันม้า ทรายแม่น้ำหน้าวัดตาปะขาวหาย ขี้เถ้าเปลือกหอยแครง แมงกานีสไดออกไซด์ เหล็กออกไซด์ และน้ำประปา เป็นส่วนผสม หลังจากนั้นนำมาทดสอบสมบัติทางกายภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน 4) เพื่อศึกษาการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง คือ ดินเหนียวที่มีแหล่งกำเนิดในบริเวณ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 3 แหล่ง ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 แหล่ง รวมทั้งหมด
4 แหล่ง โดยทำการทดลองหาปริมาณน้ำที่ใช้ผสมเนื้อดินให้เหมาะสมกับการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน และทำการทดลองขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน
จากการดำเนินการทดลองปรากฏผลดังนี้
1. การศึกษาสมบัติทางกายภาพของเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย พบว่า ที่อุณหภูมิ 1,196 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่ใช้เผาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายและทำให้เคลือบเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายเกิดการหลอมละลายอย่างสมบูรณ์ มีค่าการดูดซึมน้ำร้อยละ 4.51 เนื้อดินมีสีเทาดำ และเคลือบมีสีดำ
2. การศึกษาเนื้อดิน บริเวณตำบลหัวรอ และ ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง
จังหวัดพิษณุโลก สำหรับทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย โดยเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพของเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายของเดิม พบว่า เนื้อดินที่มีสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายของเดิมมากที่สุด ได้แก่ดินหมายเลข 4 มีค่าความแข็งแรงก่อนเผา 4.54 ก.ก./ซม3 ค่าความหดตัวก่อนเผาร้อยละ 4.14 ค่าความหดตัวหลังเผา
ร้อยละ 12.61 ค่าการดูดซึมน้ำร้อยละ 1.22 สามารถทนความร้อนได้สูงกว่า 1,196 องศาเซลเซียส สีของเนื้อดินมีสีเทาดำ
3. การศึกษาอัตราส่วนผสมของเคลือบที่เผาในอุณหภูมิ 1,196 องศาเซลเซียส พบว่า
เคลือบสูตรที่ 9,10,11,12,13,14,15,16 มีสมบัติทางกายภาพเหมาะสมสามารถนำมาใช้เคลือบผลิตภัณฑ์ได้ ในสูตรส่วนผสมมี ดินหมายเลข 4 ร้อยละ 5, 20, 35, 47.5, 5, 20, 35 และ 47.5 ตามลำดับ หินฟันม้า ร้อยละ 35, 35, 35, 35, 47.5, 47.5, 47.5 และ 47.5 ตามลำดับ มี
ทรายแม่น้ำหน้าวัดตาปะขาวหายร้อยละ 45, 30, 15, 2.5, 45, 30, 15 และ 2.5 ตามลำดับ ขี้เถ้าเปลือกหอยแครงร้อยละ 15, 15, 15, 15, 2.5, 2.5, 2.5 และ 2.5 ตามลำดับ เติม แมงกานีสไดออกไซด์ร้อยละ 4 และเหล็กออกไซด์ร้อยละ 8 เป็นสารเพิ่มเติมทุกสูตรส่วนผสม เคลือบสุกตัวอย่างสมบูรณ์ การไหลตัวสามารถยอมรับได้ และเคลือบไม่ราน เคลือบสูตรที่ 9,10,11,12 เคลือบมีผิวกึ่งด้านกึ่งมัน และมีสีดำ เคลือบสูตรที่ 13,14,15,16 เคลือบมีผิวด้านและมีสีเทาดำ ผู้วิจัยได้คัดเลือกเคลือบสูตรที่ 11 และสูตรที่ 16 นำไปเคลือบผลิตภัณฑ์
4. การศึกษาการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเนื้อดินทั้ง 4 แหล่ง สามารถ
ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนได้ดี ผู้วิจัยเลือกดินหมายเลข 4 ไปทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งใช้ปริมาณน้ำผสมเนื้อดินเหมาะสมกับการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนร้อยละ 25.40 และมีสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหายของเดิมมากที่สุด
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาหาอัตราส่วนผสมสำหรับการผลิตเครื่องเคลือบเซลาดอนให้
ใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบเซลาดอนบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย
จังหวัดสุโขทัย
ผู้วิจัย : นางสาวเพียรพิณ ขยับ
ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.คมกฤช จำปาสุต
ประเภทบทนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาหาอัตราส่วนผสมสำหรับการผลิตเครื่องเคลือบเซลาดอนให้
ใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบเซลาดอนบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จาก
การศึกษาลักษณะของเครื่องเคลือบเซลาดอนบ้านเกาะน้อย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เศษชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบเซลาดอนบ้านเกาะน้อย จำนวน 5 ชิ้น จากกรมศิลปากร และนำมาเผาที่อุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส บรรยากาศรีดักชันพบว่าลักษณะของเนื้อดินปั้นและเคลือบเซลาดอนบ้านเกาะน้อยดั้งเดิม มีสีของเนื้อดินปั้นสีเทาขาว ตรงกับค่าเทียบสี Black Group 202 D และเคลือบมีความมันแวววาว มีไหลตัว มีความโปร่งใส มีการราน และมีสีเขียวเข้ม
ค่าเทียบสี ได้แก่ Greyed – Green Group 191 A
จากการศึกษาหาอัตราส่วนผสมเนื้อดินปั้นที่มีคุณสมบัติทางกายภาพก่อนเผาและ
หลังเผา ในบรรยากาศรีดักชัน ที่เหมาะสมกับการสร้างผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ดินเหนียวเขาสี่ล้าน
ดินเหนียวบ้านเกาะน้อย และทรายแม่น้ำเป็นวัตถุดิบ โดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากตารางสามเหลี่ยม จำนวน 36 ตัวอย่าง พบว่า ก่อนเผาทุกส่วนผสมมีความหดตัวอยู่ระหว่างร้อยละ
1.10 - 5.50 และความแข็งแรงอยู่ระหว่าง 1.75 - 5.65 Kg/cm2 ภายหลังการทดลองเผาที่อุณหภูมิ 1,230 1,250 และ1,280 องศาเซลเซียส จากผลการทดลองประกอบกับการประเมินผลของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ที่อุณหภูมิ 1,230 องศาเซลเซียส มีส่วนผสมที่เหมาะสมกับการผลิตผลิตภัณฑ์ คือ ดินเหนียวเขาสี่ล้านร้อยละ 60 ดินเหนียวบ้านเกาะน้อยร้อยละ 10 และทรายแม่น้ำร้อยละ 30 มีความแข็งแรง 105.55 Kg/cm2 ความหดตัวร้อยละ 10 และความดูดซึมน้ำร้อยละ 0.76 มีสี Black Group 202 D หลังจากนั้นนำส่วนผสมดังกล่าวมาทดลองเคลือบจากสูตรเคลือบ 9 ตัวอย่าง พบว่า สูตรเคลือบที่ใกล้เคียง คือ โซดาเฟลด์สปาร์ร้อยละ 54.50 หินปูนร้อยละ 17.44 โดโลไมท์ร้อยละ 3.83 ดินขาวระนองร้อยละ 8.67 ควอตซ์ร้อยละ15.53 สารเพิ่มเติม คือ เฟอริกออกไซด์ร้อยละ 1.5 และแมงกานีสไดออกไซด์ร้อยละ 1.0 ทั้งนี้พบว่าส่วนผสมเนื้อดินปั้นและเคลือบดังกล่าวสามารถผลิตเครื่องเคลือบเซลาดอนได้จริง
ชื่อเรื่อง : ปัญหาการเรียนการสอน ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
สถาบันราชภัฏกลุ่มล้านนา
ผู้วิจัย : นายมนัสพันธ์ รินแสงปิน
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมกฤช จำปาสุต
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา)
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัญหาการเรียนการสอน ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันราชภัฏกลุ่มล้านนา ใน 5 ด้าน คือ ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านเทคนิควิธีการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน ด้านสิ่งแวดล้อมทางการเรียน ด้านการวัดและประเมินผล และเพื่อเปรียบเทียบปัญหาการเรียนการสอน ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสถาบันราชภัฏกลุ่มล้านนา ระหว่างความคิดเห็นของ ผู้บริหาร ครูผู้สอนและนักศึกษา โดย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักศึกษา รวมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 359 คน หาขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยเทียบกับตารางกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง ของ
R.V. Krejcie และ Morgan และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 88 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA) พบว่า
1. ปัญหาการเรียนการสอน ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันราชภัฏกลุ่ม
ล้านนา ในภาพรวม พบว่ามีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.69) และเมื่อพิจารณาเป็น
รายด้านพบว่า ด้านสิ่งแวดล้อมทางการเรียน ( = 2.78) ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
( = 2.74) ด้านสื่อการเรียนการสอน ( = 2.73) ด้านเทคนิควิธีการสอน ( = 2.64) และ
ด้านการวัดผลและประเมินผลการเรียน ( = 2.55) ทุกด้านมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง
โดยเรียงตามลำดับระดับปัญหามากไปหาปัญหาน้อย
2. เปรียบเทียบปัญหาการเรียนการสอน ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันราชภัฏกลุ่มล้านนา ระหว่าง ผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักศึกษา พบว่า มีความคิดเห็นต่อปัญหาการเรียนการสอนของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ชื่อเรื่อง : สภาพและปัญหาการบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม
เขตอุตสาหกรรมภาคที่ 2
ผู้วิจัย : นายทินกร ประเศรษฐสุต
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมกฤช จำปาสุต
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2547
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารงานของ
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมในภาคอุตสาหกรรม ใน 6 ด้าน คือ การบริหารงานด้านแรงงาน การบริหารงานด้านการเงิน การบริหารด้านการตลาด การบริหารงานด้านวัสดุ การบริหารงานด้านเครื่องจักรเทคโนโลยี และการบริหารงานด้านพลังงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย ได้แก่
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม จำนวน 194 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามเลือกตอบและแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
สภาพการบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม เขตอุตสาหกรรมภาคที่ 2
มีสภาพดังต่อไปนี้
1. การบริหารงานด้านแรงงาน ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา และผู้ประกอบการในรูปแบบ เจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนไม่ได้จัดการ
ฝึกอบรมให้กับลูกจ้าง
2. การบริหารงานด้านการเงิน ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานไม่สามารถเขียนโครงการกู้เงินได้และไม่ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้า ผู้ประกอบการใน
รูปแบบเจ้าของคนเดียว ไม่มีการจัดทำแผนการเงิน เขียนโครงการเพื่อขอกู้เงินไม่ได้ และไม่ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้า
3. การบริหารงานด้านการตลาด ผู้ประกอบการสามารถแสวงหาโอกาสทางการตลาด
ได้ปานกลาง ได้กำหนดตลาดเป้าหมายก่อนการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์หรือตัวสินค้ามี
ความสำคัญมากกว่าส่วนประสมทางการตลาดในด้านอื่นๆ มีแผนการตลาดในการดำเนินงาน
4. การบริหารงานด้านวัสดุ ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้ประกอบการในรูปแบบ เจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด มีวัสดุอุปกรณ์
คงค้างสต็อกเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
5. การบริหารงานด้านเครื่องจักรเทคโนโลยี ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ไม่ได้กำหนดแผนงานในการซ่อมบำรุงและไม่มีการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีภายในโรงงาน ผู้ประกอบการในรูปแบบเจ้าของคนเดียวและห้างหุ้นส่วนไม่ได้กำหนดแผนงานใน
การซ่อมบำรุง
6. การบริหารงานด้านพลังงาน ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา ไม่มีระบบบริหารจัดการด้านพลังงานและไม่ได้ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ผู้ประกอบการในรูปแบบเจ้าของคนเดียวและห้างหุ้นส่วน ไม่มีระบบบริหารจัดการด้านพลังงาน ผู้ประกอบการในรูปแบบบริษัทจำกัด ไม่ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
ปัญหาการบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม เขตอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ในภาพรวม ผู้ประกอบการที่มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา มีปัญหาการบริหารงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมในรูปแบบเจ้าของคนเดียวและห้างหุ้นส่วนมีปัญหาการบริหารงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมในรูปแบบบริษัทจำกัด มีปัญหาการบริหารงานโดยรวมอยู่ในระดับน้อย
ชื่อเรื่อง : การศึกษาระบบการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนท้องถิ่นหนึ่งตำบล
หนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย : นางมัณฑนา ขำหาญ
ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร. แสนย์ สายศุภลักษณ์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของระบบการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนท้องถิ่นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อศึกษาระบบระบบการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนท้องถิ่นที่ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 6 ประเภทการผลิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคัดเลือกจากผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าอย่างเจาะจง โดยกำหนดศึกษาจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในจังหวัดเชียงใหม่ 6 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป 2 กลุ่ม กลุ่มไม้ไผ่จักสาน 1 กลุ่ม กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา 2 กลุ่ม กลุ่มไม้แกะสลัก 3 กลุ่ม กลุ่มกระดาษสา 2 กลุ่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้า 2 กลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง และการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา การตีความข้อมูล แล้วหาข้อสรุปและนำเสนอด้วยการบรรยายตามประเด็นที่ศึกษา
ผลการวิจัยพบว่า
สภาพทั่วไปของการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนท้องถิ่นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นกรรมวิธีการผลิตแบบชาวบ้านหรืออุตสาหกรรมภายในครอบครัว การบริหารและจัดการเป็นวิธีการปฏิบัติที่ได้รับสืบต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษในอดีต อย่างไรก็ตามผู้ผลิตได้พยายามปฏิบัติให้เป็นระบบที่ใกล้เคียงกับระบบการจัดการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ตามมาตรฐานในระบบสากล
วิธีการบริหารจัดการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผู้วิจัยได้ดำเนินงานการศึกษาในรายละเอียดถึงวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติการผลิตสินค้าใน 6 ด้าน ตามลำดับ คือ ด้านบริหารบุคคล ด้านการเงิน ด้านวัสดุ ด้านวิธีการปฏิบัติ ด้านการตลาด และด้านเครื่องจักร โดยการสัมภาษณ์และสังเกตจากกลุ่มปฏิบัติงานที่มีอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังได้ศึกษาปัญหาและความต้องการของผู้ผลิตอีกด้วย
ด้านบุคลากร ปัญหาเกิดจากการรวมกลุ่มคนในการทำงานและค่าจ้างงานแรงงานตอบแทน ที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้แล้วกลุ่มไม้ไผ่จักสาน และกลุ่มไม้แกะสลักยังพบปัญหา
การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดส่งเสริมเยาวชนให้มีความสนใจสืบสานต่อในงานการอาชีพให้มากขึ้น
ด้านการเงิน ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาในด้านเงินทุนหมุนเวียน หากได้รับการสนับสนุนที่จริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอให้กับชุมชนในท้องถิ่นอย่างเสมอภาค ก็สามารถที่จะพัฒนากลุ่มการผลิตให้ได้คุณภาพของผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
ด้านวัสดุ สามารถหาได้ในท้องถิ่น ทรัพยากรส่วนใหญ่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากถึงแม้ว่าจะสูญหายไปบ้าง แต่สภาพรอบบริเวณพื้นที่หรือในเขตจังหวัดใกล้เคียงยังสามารถหาได้ง่าย
ด้านวิธีการปฏิบัติงาน คนงานมีทักษะความชำนาญในการใช้ฝีมือ ส่วนใหญ่จึงไม่ประสบกับปัญหาในขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ แต่จะพบปัญหามากในด้านการจัดการที่เป็นเอกสาร เช่น การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เอกสารการติดต่อการสั่งซื้อ การจัดจำหน่ายโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ และกฎหมายการทำธุรกิจ
ดานการตลาด ผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น การจัดจำหน่ายมีตามแหล่งชุมชนโดยทั่วไป ผู้บริโภคมีความพอใจ นิยมในสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และความคงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเฉพาะตัวด้านเครื่องจักรโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นอย่างง่าย ๆใช้ในงานหัตถกรรม แตกต่างไปจากเครื่องมือ เครื่องจักรในแบบสายการผลิตระบบอุตสาหกรรม บางกลุ่มผู้ผลิตอาจต้องการเครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น กลุ่มผู้ผลิตกระดาษสา ต้องการเครื่องตีปอสาให้ยุ่ย อย่างไรก็ตามยังพบอีกว่าหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมผู้ผลิตยังไม่ได้ให้การสนับสนุนในด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี ทั้งนี้เนื่องจากราคาเครื่องจักรขนาดใหญ่มีราคาสูงมาก
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาและประเมินเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ เรื่อง
พัฒนาการทางอุตสาหกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม
ผู้วิจัย : นายชัยวัฒน์ เอี่ยมกำแพง
ที่ปรึกษา : ดร.สมศักดิ์ กิจธนวัฒน์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษาตามอัธยาศัย เรื่องพัฒนาการทางอุตสาหกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม พร้อมประเมินผลการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันใน 2 ด้าน คือ ด้านการนำเสนอ
ข้อมูล เนื้อหา และด้านเสริมการสร้างความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้สนใจเรียนรู้ด้วยตนเองช่วงอายุ 18-35 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตรส่วน
ประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 47 ข้อ ซึ่งสร้างขึ้นมา แล้วทำการเก็บข้อมูลในภาคฤดูร้อน
ปีการศึกษา 2546 ผลจากการเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จำนวนน้อยมากจึงเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ การวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วให้ข้อมูลมีสถานะเป็นทั้งนิสิต นักศึกษา และพนักงานบริษัท มีระดับความพึงพอใจมาก (=3.65) โดยยังไม่มีการใช้ช่องทางเสริมการสร้างความสัมพันธ์ อย่างเสนองานเขียนของตนมาร่วมปรับปรุงเว็บไซต์ หรือ ตอบคำถามให้กับเพื่อนร่วมความสนใจในกระดานข่าว ส่วนการเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐาน เช่น ปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองในท้องถิ่น เขตพักอาศัย รายได้ที่เหลือต่อเดือน อัตราการใช้
อินเทอร์เน็ต เป็นต้น และพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ เนื่องจากการวิจัยยังมี
ข้อเท็จจริงปริมาณไม่มากพอที่จะสรุปชี้ชัดการเปรียบเทียบออกมาได้ในครั้งนี้จึงละเว้นไว้ เพื่อทำการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และวิเคราะห์ รายการบ่งชี้ดังกล่าวในครั้งต่อไป
จึงประเมินเบื้องต้นว่าผลการพัฒนาเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ เรื่องพัฒนาการทาง
อุตสาหกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ มีส่วนช่วยให้ผู้สนใจเรียนรู้ด้วยตนเอง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนกำหนดไว้เองได้ระดับหนึ่ง ผู้เรียนบางคนได้เชื่อมโยงความรู้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคม สร้างความเข้าใจของตนเองอย่างอิสระในสภาพจริง โดยมีโอกาสก่อให้เกิดกลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน และ
มีลักษณะส่งเสริมการค้นคว้าตามความเหมาะสม ซึ่งตรงกับความมุ่งหมายที่กำหนดในการพัฒนา
ชื่อเรื่อง : การศึกษารูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาจังหวัดลำปาง
ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
ผู้วิจัย : นางสาวสุชาดา สุนันตะพันธ์
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมกฤช จำปาสุต
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ม.(อุตสาหกรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา จังหวัดลำปาง ตามองค์ประกอบของรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ 5 ด้าน คือ ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ ด้านลักษณะเด่นผลิตภัณฑ์ ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ ด้านบรรจุภัณฑ์ และด้านตราสินค้า
ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 21 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ใน
การวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า
จากการศึกษารูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา จังหวัดลำปาง ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่า = 4.07 โดยในการพัฒนาแต่ละด้าน ทั้งทางด้าน = 4.23 ด้านลักษณะเด่นผลิตภัณฑ์ = 4.09 ด้านรูปแบบ คุณภาพผลิตภัณฑ์ มีค่า = 4.25 ด้านบรรจุภัณฑ์ = 3.85 และ ด้านตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ = 3.97 ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นและให้ความสำคัญอยู่ในระดับมากในทุกด้าน
คณะสังคมศาสตร์
สาขาวิชาไทยคดีศึกษา
ชื่อเรื่อง : ภูมิปัญญาชาวบ้านกับขบวนการจัดการป่าชุมชน : กรณีศึกษาป่าชุมชน
ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ผู้วิจัย : นางจิราภา จารุวัฒน์
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ ศึกษากระบวนการเกิดและการสืบทอด
ภูมิปัญญาในการจัดการป่าชุมชน , ศึกษาและวิเคราะห์แนวความคิด ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรป่าชุมชน และศึกษาความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านกับการอนุรักษ์ป่าชุมชนแบบพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน โดยใช้ข้อมูลจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม
คือ กลุ่ม ผู้นำชุมชนหรือกลุ่มก่อตั้ง และกลุ่มชาวบ้านทั่วไป หรือกลุ่มสนับสนุน ซึ่งเลือกมาด้วย วิธีการสุ่มหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling) ในการเก็บข้อมูลได้ใช้เครื่องมือ 2 ชนิด คือ แบบสัมภาษณ์สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่าง 40 คน และแบบสอบถามสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 139 คน
ผลการวิจัยพบว่า
ภูมิปัญญาในการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านในกรณีศึกษาเกิดจากการเรียนรู้และ สั่งสมประสบการณ์จากการดำเนินชีวิตในชุมชนของตนและการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอกชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบันผ่านการประเมินและกลั่นกรอง ส่วนการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนมี 2 วิธี คือแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรและแบบเป็นลายลักษณ์อักษร
แนวความคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดตั้ง จัดการ และการแก้ปัญหาป่าชุมชนเกิดขึ้นโดยการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ ซึ่งเกิดจากบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดตั้ง กลุ่มชาวบ้าน และหน่วยงานภาครัฐ ทาให้เกิดองค์กรป่าชุมชน กลุ่มผู้บริหารองค์การ กฎระเบียบการจัดการป่าชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชนจนสามารถ จัดการแก้ปัญหาและจัดระบบป่าชุมชนได้อย่างมีประสิทธิผล
ความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านกับการอนุรักษ์ป่าชุมชนแบบพึ่งพาตนเองมี 3 มิติ คือ ภูมิปัญญาที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยกระบวนการใช้อำนาจโดยผ่าน
กฎระเบียบการใช้ป่าชุมชนและการอยู่ร่วมกันในสังคม, ภูมิปัญญาที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง
มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยผ่านกระบวนการผลิตและระบบนิเวศ และภูมิปัญญาที่แสดง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านการปฏิบัติตามประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ
ชื่อเรื่อง
:
ศึกษาพลวัตผ้าทอพื้นเมือง : กรณีศึกษา ผ้าซิ่นตีนจกบ้านนาทะเล
ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ชื่อผู้วิจัย
:
นางทิพย์คำพร หาญอมรเศรษฐ์
ที่ปรึกษา
:
รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
ประเภทสารนิพนธ์
:
วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งมีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตผ้าซิ่นตีนจกจากอดีตถึงปัจจุบัน และปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายผ้าซิ่นตีนจก บ้านนาทะเล ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ประชากร ได้แก่ ผู้หญิงทอผ้าซิ่น ตีนจก ผู้รู้ ผู้ประกอบการค้าผ้าซิ่นตีนจก และผู้ใช้ผ้าซิ่นตีนจก หมู่บ้านนาทะเล ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้หญิงทอผ้าซิ่นตีนจกหมู่บ้านนาทะเล จำนวน 20 คน ผู้รู้ จำนวน 9 คน ผู้ประกอบการค้าผ้าซิ่นตีนจก จำนวน 9 ราย และผู้ใช้ผ้าซิ่นตีนจก จำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสังเกตเพื่อเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และแบบเสวนากลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาภาคสนาม การวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์และประเด็นที่กำหนดไว้ในขอบเขตเนื้อหา และนำเสนอแบบพรรณาเชิงวิเคราะห์
ผลของการวิจัย พบว่า
1. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตผ้าทอซิ่นตีนจกจากอดีตจนถึงปัจจุบันของ บ้านนาทะเล ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีดังต่อไปนี้
1.1 วัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้าซิ่นตีนจก จากอดีตถึงปัจจุบัน ส่วนที่ยังคงเดิมอยู่คือ
การซื้อไหมจากอำเภอน้ำปาด ส่วนที่เปลี่ยนไปคือ มีแหล่งอื่นเพิ่มมากขึ้น ใช้ใยสังเคราะห์และ ใยกึ่งสังเคราะห์ทดแทนไหมและฝ้าย
1.2 ขั้นตอนการทำเส้นใย อดีต การทำเส้นใยฝ้ายและการเตรียมเส้นไหม มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน เป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมของสมาชิกในครัวเรือน เครือญาติ และเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการซื้อเส้นใยสำเร็จ ตลอดจนการว่าจ้างผู้ชำนาญการดำเนินการผลิตในบางขั้นตอนแทนการทำเองครบวงจร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการย้อมสีที่แตกต่างไปจากอดีต
1.3 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า จากอดีตถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงเพียงบางชนิด ส่วนใหญ่ยังคงใช้อุปกรณ์และเครื่องมือแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
1.4 วิธีการทอผ้าจากอดีตถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นแบบโบราณ คือ การจก ยกเขา ส่วนวิธีการทอผ้าที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเนื้อผ้าเช่นการยกมุกทอไก การทอลายสองและลายสาม
1.5 รูปแบบของผ้าซิ่นตีนจกในปัจจุบันไม่ยึดโครงสร้างและสีสันเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้สวมใส่มากกว่า
1.6 ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกแบบโบราณมีเป็นจำนวนมาก ลายหลักพบประมาณ16 ลาย และลายประกอบ พบประมาณ 37 ลาย แต่ปัจจุบันผู้ทอผ้าในหมู่บ้านนาทะเลรู้จักลายหลักเพียง 6 ลาย ส่วนลายประกอบรู้จักบ้างเพียงบางลวดลาย แต่หากนำแบบลวดลายมาให้ดู ผู้ทอก็สามารถทอได้
1.7 กระบวนการจำหน่ายในอดีต เป็นการทอสำหรับใช้เองและใช้ในพิธีกรรม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการทอเพื่อขายเพิ่มจากการทอไว้ใช้เอง โดยมีรูปแบบ คือ ลักษณะผู้ทอขายให้กับผู้ใช้โดยตรง ผู้ทอนำไปจำหน่ายให้กับร้านค้า ต่อจากนั้นร้านค้านำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ และลักษณะผู้ประกอบการลงทุนนำเส้นใยพร้อมทั้งกำหนดรูปแบบลวดลายและสีสัน จากนั้นแยกส่วนประกอบหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น นำไปว่าจ้างให้กับผู้ทอในแต่ละส่วน เมื่อครบกำหนดจะตามไปเก็บในแต่ละส่วนมาประกอบเป็นตัวซิ่น เพื่อรอการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง
2. ผลการศึกษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลาย
ผ้าซิ่น ตีนจก บ้านนาทะเล พบว่า มี 2 ปัจจัยคือ
2.1 ปจจัยภายนอก คือ ปัจจัยต่าง ๆ จากภายนอกชุมชนอันเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายผ้าซิ่นตีนจก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการได้รับการสนับสนุนจากบุคคล องค์กรเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐที่กำหนดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลป วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของไทย ทำให้คนภายนอกชุมชนสนใจผ้าซิ่นตีนจกโบราณ นำพาไปสู่การกว้านซื้อผ้าซิ่นตีนจก จนทำให้ผ้าซิ่นตีนจกที่มีรูปแบบและลวดลายโบราณหายไปจากชุมชน ส่งผลให้การสืบทอดลวดลายผ้าซิ่นตีนจกแบบโบราณขาดหายไปด้วยเช่นกัน ปัจจุบันผู้ทอผ้ารู้จักลวดลายผ้าซิ่นตีนจกไม่มากนัก
2.2 ปัจจัยภายใน คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนบ้านนาทะเล ซึ่งส่ง
ผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และลวดลายของผ้าซิ่นตีนจก ทั้งจากระบบเศรษฐกิจ ภายในครอบครัวและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากชนบทไปสู่เมือง ทำให้ผู้ทอผ้ายินยอมให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรูปแบบ สีสันและลวดลายของผ้าซิ่นตีนจก
ชื่อเรื่อง : บทบาทพระสงฆ์ต่อการพัฒนาหมู่บ้าน : กรณีศึกษาชุมชนวัดโป่งคำ
หมู่ที่ 5 ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
ผู้วิจัย : พระวิทูรย์ สุรจิตต์
ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
กรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร 2547
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาทพระสงฆ์ต่อการพัฒนาหมู่บ้าน ปัญหาอุปสรรค และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ของพระสงฆ์ ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดที่เกี่ยวกับบทบาทพระสงฆ์ต่อการพัฒนาหมู่บ้านมาเป็นแนวทางในการสร้างกรอบแนวคิดในการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลโดยการสังเกต และรวมถึงการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Indepht Interview) ทำการสมภาษณ์ชาวบ้าน เกี่ยวกับบทบาทพระอาจารย์สมคิด จรณธมโม แล้วนำข้อมูล
มาวิเคราะห์ (Analysis) โดยการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ที่สัมพันธ์กับแนวคิดและทฤษฏีที่ เกี่ยวข้องกับบทบาทพระสงฆ์ แล้วนำเสนอโดยการพรรณาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า
การเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้านของพระอาจารย์สมคิด จรณธมโม ต่อ
กิจกรรมกลุ่มและกลุ่มองค์กรเครือข่ายชาวบ้านมีบทบาท ดังนี้
1. บทบาทในฐานะผู้จัดตั้ง (Organizor) เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มประเภทต่าง ๆ เพื่อการ พัฒนา
2. บทบาทในฐานะที่ปรึกษา (Advisor) เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการทำกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง
3. บทบาทในฐานะผู้ให้ความรู้ (Educator) เป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจใน
การจัดการบริหารกลุ่ม
4. บทบาทในฐานะผู้ประสานงาน (Coordinator) เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการสนับสนุน และส่งเสริมหนุนเสริมทางด้านการตลาด องค์ความรู้ วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณ
5. บทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เป็นผู้ให้ความสะดวกใน
การอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ จัดหาทรัพยากร ข้อมูลชุมชน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อต่อ การดำเนินกิจกรรม
6. บทบาทในฐานะผู้สนับสนุนและส่งเสริม (Supportor) เป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมในการดำเนินกิจกรรมมาโดยตลอด
ปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการทำงานมี 4 ด้าน คือ
1. ด้านบุคลากร ขาดทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ในการทำงาน จึงเกิดความขัดแย้งกับผู้นำ และเจ้าหน้าของรัฐ
2. ด้านเงินทุน ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านวัสดุอุปกรณ์ ขาดอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกในการทำงาน
4. ด้านบริหารจัดการ ฝ่ายพระสงฆ์และชาวบ้านไม่เข้าใจวิธีการทำงาน
แนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคทั้ง 4 ด้าน คือ
1. ด้านบุคลากร รับอาสาสมัครเข้าช่วยทำงานในศูนย์ฯ และมีแผนพัฒนาคน
2. ด้านเงินทุน ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านวัสดุอุปกรณ์ ได้จัดหาอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกในการทำงาน
4. ด้านการบริหารจัดการ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจพระสงฆ์อื่นและชาวบ้าน
ชื่อเรื่อง : การมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรีชนบทในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ผู้วิจัย : นางชนิกา พันธุรังษี
ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศม. (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ การดำเนินงาน และการมีส่วนร่วม
ของกลุ่มสตรีชนบทกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยใช้ประชากรประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มสตรี 4 กลุ่มคือ 1. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลบ้านกล้วย 2. กลุ่มสตรีทอผ้าตำบลบ้านกล้วย 3. กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน ตำบลบ้านกล้วย 4. กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาตำบลบ้านกล้วย โดยใช้วิธีวิจัยการสุ่มตัวอย่าง 2 ระบบ คือ แบบง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อศึกษาเชิงปริมาณและแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เพื่อศึกษาเชิงคุณภาพ สำหรับการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณใช้ตารางสุ่มของ Krejeie,R.V. และ Morgan, V.W. (1970. 607-610) ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 182 คน สำหรับตอบแบบสอบถามแบบมาตรวัดลิเคร์ท (Likert Scale)
ผลการศึกษาพบว่า การจัดตั้งกลุ่มสตรีเกิดจากการรวมตัวของสตรีในชุมชนโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่มสมาชิก โดยสมาชิกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการจัดตั้งกลุ่มสูงสุด และกลุ่มมีผู้นำที่เข้มแข็งอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มมีการบริหารงานและ จัดการกลุ่มที่เป็นระบบ ประกอบกับการที่กลุ่มได้เปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มได้มีส่วนร่วมในทุก กิจกรรมของกลุ่มก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กลุ่มได้รับการพัฒนา อีกทั้งการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ ทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป
ระดับการมีส่วนร่วมของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 ด้านคือ ด้านการสำรวจสภาพปัญหา และวางแผน ด้านการดำเนินงาน ด้านการรับผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงาน และด้านการประเมินผลอยู่ในระดับปานกลาง พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทั้ง 4 ด้าน โดยค่าเฉลี่ยของระดับการมีส่วนร่วมด้านรับผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานมีค่ามากที่สุดรองลงมา ได้แก่ ด้านการประเมินผลด้านการสำรวจสภาพปัญหาและวางแผนและด้านการดำเนินงานตามลำดับ
สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ชื่อเรื่อง : บทบาทมิชชันนารีอเมริกันในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2374 – 2453)
ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย
ผู้วิจัย : นางสาวสมาพร สุริยพงศ์
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ สุรีย์ พงศ์จันทร์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาบทบาทของมิชชันนารีในการดำเนินงานเผยแพร่ศาสนา ในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2374 – 2453) ที่มีผลกระบบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
ช่วงสมัยการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย มีปรากฏการณ์ที่แสดงถึงจุดเปลี่ยนในสมัย
รัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะมีปัจจัยต่าง ๆ อันก่อให้เกิดการคลี่คลายภายในแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ได้แก่ การเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาของพวกมิชชันนารีอเมริกันที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่นับถือ
คริสตศาสนาตามอุดมการณ์ของตน
ความมุ่งหมายของมิชชันนารีประการแรกสุด คือ การประกาศเผยแพร่คริสตศาสนา แต่ สิ่งที่มิชชันนารีนำมาด้วยนั้นได้แก่ วิทยาการตะวันตก โดยเฉพาะด้านความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้คนได้รับรู้เรื่องราวของคริสตศาสนาและสัมผัสกับความเจริญของตะวันตกด้านอื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน มิชชันนารีที่เป็นแพทย์ก็มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของมิชชันนารี
ในสมัยนี้ จะเห็นได้ว่ามิชชันนารีพยายามหาแนวทางในการเผยแพร่คริสตศาสนาอย่างมี
ประสิทธิภาพ จึงนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา และพัฒนาให้สนองต่อการปฏิบัติพันธกิจดังกล่าว
อย่างกว้างขวาง
เนื่องจากผลจากการปฏิบัติงานของมิชชันนารีอเมริกัน ได้เป็นต้นกำเนิดของวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับจากการศึกษาความรู้ใหม่ ๆ วิทยาการตะวันตกจากมิชชันนารีอเมริกัน เป็นหนทางไปสู่ความรู้ความคิดที่ทันสมัย เช่น การพิมพ์ และการนำระบบการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในสังคมไทยระยะหลังต่อมาไม่น้อย
ชื่อเรื่อง : บทบาทการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กับงานพัฒนาการท่องเที่ยว
ในภาคเหนือของประเทศไทย
ผู้วิจัย : นางสาวสุนทรีย์ รอดดิษฐ์
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์สุรีย์ พงศ์จันทร์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(ประวัติศาสตร์ ) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การเดินทางในประเทศไทยเริ่มมีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายในการเดินทางคล้ายกันกับการเดินทางในประวัติศาสตร์โลก ถือได้ว่าการเดินทางกับมนุษย์เป็นสิ่งคู่กันมานาน การเดินทางไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามักจะแฝงไว้ด้วยความเพลิดเพลิน จนกระทั่งกลายมาเป็นการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการท่องเที่ยวในที่สุด และนอกจากนี้ยังพบว่าการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในระดับประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่ากิจกรรมการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการก่อให้เกิดรายได้ในแหล่งที่มีทรัพยาการทางการท่องเที่ยว ในแง่เศรษฐกิจ การที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ ผลที่ตามมาคือ เกิดการได้เปรียบดุลการชำระเงินตราต่างประเทศ ทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานในการครองชีพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงได้เล็งเห็นประโยชน์ของการท่องเที่ยวจึงได้มีหน่วยงาน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อสท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปัจจุบัน แล้วได้มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย และแผนต่าง ๆ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการบริหารจัดการให้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบระเบียบสำหรับความร่วมมือในการดำเนินงานของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในที่สุด ได้มีการบรรจุแผนพัฒนาการท่องเที่ยวไว้อย่างเป็นรูปธรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เป็นต้นมา ถงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ในปัจจุบัน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเขต 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นการดำเนินตามกลยุทธ์การพัฒนาตามแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เป็นต้นมา การดำเนินงานตามแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ เขต 3 ที่ผ่านมา พบว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การท่องเที่ยวสร้างงานสร้างอาชีพให้
ประชาชนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ประชาชนมีความตื่นตัวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รู้จักปรับตัวด้วยการเป็นเจ้าของท้องถิ่นที่ดี และเริ่มสร้างงานสร้างอาชีพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้านการสาธารณูปโภคทำให้มีการพัฒนาไปในแหล่งที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวประชาชนในท้องที่ได้รับประโยชน์จากความเจริญที่เข้าไปถึงแหล่งท่องเที่ยว
จากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว จังหวัดพิษณุโลกจึงเป็นจังหวัดที่มีความเจริญและมีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยวมากที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางไปในแหล่งท่องเที่ยวรอบ ๆ ได้ ทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดออุตรดิตถ์ และจังหวัดอื่น ๆ ได้ เพราะมีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมไปถึงในภาคเหนือตอนบน เชื่อมโยงไปภูมิภาคอื่นในประเทศได้อีก แต่ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็สร้างผลกระทบในแง่ลบด้วยเหมือนกัน คือเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวก็ย่อมทำให้ทรัพยากรการท่องเที่ยวเสื่อมโทรมลงไป และทำให้ค่าครองชีพในแหล่งท่องเที่ยวสูงขึ้นตามไปด้วย
สาขาวิชาพัฒนาสังคม
ชื่อเรื่อง : วิสาหกิจชุมชนกับการพึ่งตนเอง: กรณีศึกษาการแปรรูปผลผลิตจาก
ต้นตาล ชุมชนบ้านเหล่าขวัญ ตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์
จังหวัดพิษณุโลก
ผู้วิจัย : นางพรศรี ยงค์ฤประพันธ์
ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ สิรสุนทร
กรรมการที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ สายแสง
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (พัฒนาสังคม), มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ เพื่อศึกษาภูมิปัญญาและพลวัตของภูมิปัญญาด้านการแปรรูปผลผลิตจากต้นตาลของชุมชนบ้านเหล่าขวัญ, ศึกษากระบวนการจัดการองค์ความรู้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขวัญใจพัฒนา ในการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนด้าน
การแปรรูปผลผลิตจากต้นตาลและศึกษาความสัมพันธ์ของการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนด้าน
การแปรรูปผลผลิตจากต้นตาลกับการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวชุมชนบ้านเหล่าขวัญทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และชุมชน โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Research), การศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research), การศึกษาจากเอกสาร (Documentary Research) และการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participant Action Workshop) โดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ ประชากรทุกครัวเรือน, กลุ่มผู้รู้และผู้แสดงบทบาททางสังคม และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำตาล การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์ โดยอาศัยแบบสอบถาม, แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง, แนวสัมภาษณ์แบบเจาะลึกไม่มีโครงสร้าง และใช้
การวิเคราะห์เอกสารเชิงเนื้อหา (Content Analysis) และแบบการวิเคราะห์ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ผลการวิจัยพบว่า
1. ภูมิปัญญาและพลวัตของภูมิปัญญาด้านการแปรรูปผลผลิตจากต้นตาลในกรณีศึกษา เกิดจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ จากการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนบ้านเหล่าขวัญและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมทั้งภายในและภายนอกชุมชนตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชาวชุมชนได้ประยุกต์ปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีพและวัฒนธรรม โดยใช้กระบวนการวิสาหกิจชุมชน บนพื้นฐานพลวัตของภูมิปัญญาเป็นเครื่องมือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ กล่าวคือ
ระยะเริ่มแรก (ก่อนปี พ.ศ. 2532) เป็นการเรียนรู้จากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและคนในชุมชนรวมทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน การแลกเปลี่ยนและการตอบแทนซึ่งกันและกัน และเมื่อเหลือจากการบริโภคก็มีการจำหน่ายบ้าง แต่ยังไม่มีการพัฒนารูปแบบและกระบวนการผลิตมากนัก
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2532-2537) เป็นระยะที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผสมผสานกับการเรียนรู้จากภายนอกโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ มีการพัฒนารูปแบบผลผลิตและกระบวนการผลิตจากแบบดั้งเดิม มาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในเรื่องการถนอมอาหาร เกิดการรวมกลุ่มผลิตเพื่อการค้าซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งแนวความคิด และรูปแบบการดำเนินวิสาหกิจชุมชน ที่วางอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพิงและผลกำไรส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น
ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2538-ปัจจุบัน) เป็นระยะที่มีการก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ และได้รับการสนับสนุนจากภายนอกอย่างมากทั้งภาครัฐและเอกชน มีการพัฒนาทางด้านการผลิต การบรรจุขวด การตลาดและการบริหารจัดการตามแบบระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ซึ่งพบว่าในระยะนี้ เป็นระยะที่กลุ่มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต่อกระบวนการจัดการองค์ความรู้ของกลุ่ม และรูปแบบการดำเนินวิสาหกิจชุมชนและระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มกับโครงสร้างสถาบันทางสังคม
2. กระบวนการจัดการองค์ความรู้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขวัญใจพัฒนา เกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิม กับองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาจากภายนอกผ่านการอบรม การดูงาน และการทดลองด้วยการฝึกปฏิบัติ โดยผู้นำกลุ่มเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคิดริเริ่ม และเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการแปรรูปผลผลิตจากต้นตาล โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการผลิตและการบริหารจัดการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั้งด้านความรู้ เงินทุน และการส่งเสริมด้านการตลาด ก่อให้เกิดกิจกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพของกลุ่ม และการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่อยู่ในชุมชนและภายนอกชุมชน ผลของการประกอบกิจกรรมก่อให้เกิดรายได้แก่สมาชิกโดยตรง และส่งผลถึงคนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าของต้นตาล คนที่มีอาชีพจักสาน แม่ค้าขายน้ำตาลที่มารับซื้อไปจำหน่ายภายในและภายนอกชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ต้นตาลซึ่งเป็นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชนบ้านเหล่าขวัญ จึง กล่าวได้ว่ากลุ่มฯ ได้มีการพัฒนาระบบการตลาด โดยใช้แนวคิดด้านการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketting) อันนับว่ามีความสอดคล้องกับแนวคิดของ Weiber (1952) และ Solomon (1989) ซึ่งเป็นระบบการตลาดที่มิได้มุ่งหวังเพียงการขายสินค้า แต่ให้ความสำคัญกับระบบเครือข่ายการขายสินค้า ราคา การโฆษณา เท่า ๆ กับการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนในสังคม
3. ความสัมพันธ์ของการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนด้านการแปรรูปผลผลิตจากต้นตาลกับการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจและสังคมพบว่า ในระดับบุคคล การเกิดวิสาหกิจชุมชนก่อให้เกิด
ประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรผู้ที่มีอาชีพทำตาล โดยทำให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดระบบความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว กล่าวคือ ทำให้ชาวชุมชนมีงานทำทั้งปีโดยไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น พ่อแม่ลูกได้อยู่ร่วมกันและต้องช่วยกันประกอบอาชีพ จึงส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ในระดับกลุ่ม ก่อให้เกิดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันภายใต้ความสัมพันธ์แบบไว้วางใจซึ่งกันและกันและภายใต้ระบบเครือญาติและระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวิสาหกิจชุมชนบ้านเหล่าขวัญ ในระดับชุมชน พบว่า วิสาหกิจชุมชนก่อให้เกิดเครือข่ายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภายในและภายนอกชุมชน ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มกับภาครัฐและเอกชน แต่อยู่ในลักษณะการอุปถัมภ์และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
แต่อย่างไรก็ตามภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับผู้นำกลุ่ม ได้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของกลุ่ม ที่แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากระบบความสัมพันธ์ส่วนตัว และการติดต่อประสานงานแบบไม่เป็นทางการมากกว่าการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนและความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และภายใต้ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ได้เกิดกระแสของความขัดแย้ง ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งความไม่โปร่งใสอย่างกว้างขวาง
ชื่อเรื่อง : ศึกษาการปฏิบัติตามบทบาทและแนวคิดการพัฒนาด้านการส่งเสริม
วัฒนธรรม ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตตรวจ
ราชการที่ 8 กระทรวงวัฒนธรรม
ผู้วิจัย : จ่าสิบตรีศิริวัฒน์ บุญฉัตรกุล
ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
กรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิชัย ยังสุข
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(พัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับการปฏิบัติตามบทบาทและเปรียบเทียบบทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างในด้านเพศ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา สาขาที่สำเร็จการศึกษา อาชีพหลัก ตำแหน่ง และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตตรวจราชการที่ 8 กระทรวงวัฒนธรรม ประชากรที่จะศึกษา ได้แก่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตตรวจราชการที่ 8 กระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ สุโขทัย ตาก อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร มีจำนวนทั้งสิ้น 144 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงปริมาณใช้เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงคุณภาพคือ แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview Guideline)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ภาพรวมการปฏิบัติตามบทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตตรวจราชการที่ 8 กระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในระดับปานกลาง
2. เปรียบเทียบระดับการปฏิบัติตามบทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ สรุปผลดังนี้
2.1 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 8 กระทรวง
วัฒนธรรม ที่มีเพศ ช่วงอายุ ตำแหน่ง และมีประสบการณ์ในการทำงานแตกต่างกัน การปฏิบัติตามบทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมในทุก ๆ ด้าน ไม่มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
2.2 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีการปฏิบัติตามบทบาทด้านการพัฒนาวัฒนธรรม และด้านการศึกษาวัฒนธรรมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
2.3 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ต่างกันมีการปฏิบัติตามบทบาทด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
2.4 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีอาชีพหลักต่างกันมีการปฏิบัติตามบทบาทด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
3. แนวคิดในการพัฒนาบทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตตรวจราชการที่ 8 กระทรวงวัฒนธรรม มีประเด็นสำคัญ คือ
3.1 ควรมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับใน
การส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม
3.2 ควรส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหรือศูนย์วัฒนธรรมทุกระดับ เพื่อรวบรวมงานวัฒนธรรมให้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอด และการเรียนรู้
3.3 ให้มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน และทุกระดับ
3.4 ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่กิจกรรมด้านวัฒนธรรมผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง
3.5 ส่งเสริมด้านการศึกษา ให้มีการนำงานด้านวัฒนธรรมเข้าสู่กระบวนการเรียน การสอน ในหลักสูตรของสถานศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา เรียนรู้ และตระหนักในความสำคัญของงานวัฒนธรรม
สาขาวิชาสังคมศึกษา
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน
อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ผู้วิจัย : นางสุพรรณี สงวนพัฒน์
ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์พรรณยุพา นพรัก
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (สังคมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ ประการแกรก เพื่อศึกษาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ประการที่สอง เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และประการสุดท้าย เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อ ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชากรภายในชุมชน และ
ภายนอกชุมชน
ประชากรภายในชุมชนไทลื้อบ้านหย่วน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยหัวหน้าครัวเรือน จำนวน 179 คน โดยสุ่มจากประชากรทั้งหมด 1,198 ครัวเรือน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถาม ซึ่งเป็นคำถามแบบเลือกตอบ (Check List) และแบบประเมินค่า (Rating Scale) ข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน กลุ่มที่สอง ประกอบด้วย ผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ ผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi – Structure Interview) และการสังเกตในการเก็บรวบรวม
ข้อมูล
ประชากรภายนอกชุมชน ศึกษาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) จากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวชุมชนไทลื้อ จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถาม เป็นคำถามแบบเลือกตอบ (Check List) และแบบประเมินค่า (Rating Scale) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า ชุมชนมีองค์ประกอบทางการท่องเที่ยวครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว และด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว ได้แก่ เรื่องการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
การศึกษาด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผน และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม ส่วนการมีส่วนร่วมในการลงทุน และการมีส่วนร่วมติดตามประเมินผลยังอยู่ในระดับปานกลาง
ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อบ้านหย่วน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า องค์ประกอบทางการท่องเที่ยวของชุมชนที่มีความพร้อมอยู่ในระดับมาก คือ ในด้านสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว และในด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ส่วนประเด็นด้านสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ายังมีความพร้อมอยู่ในระดับปานกลาง
ดังนั้น แนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไทลื้อบ้านหย่วน ชุมชนยังต้องพัฒนาในด้านองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว
ชื่อเรื่อง :การขัดเกลาทางสังคมกับพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของวัยรุ่นใน
สถาบันอุดมศึกษา จังหวัดพิษณุโลก
ผู้วิจัย : นางสาวอัญชิสา ปงคำเฟย
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร. พัชรินทร์ สิรสุนทร
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(สังคมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการขัดเกลาทางสังคมของสถาบันทางสังคม 4 สถาบัน คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา กลุ่มเพื่อน
สื่อสารมวลชน กับพฤติกรรมเบี่ยงเบนของวัยรุ่นในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเบี่ยงเบนของวัยรุ่น 5 ประการได้แก่ พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์โดยเสรี พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมบริโภคนิยม พฤติกรรมการใช้สารเสพติด และพฤติกรรมการเล่นการพนัน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยจากเอกสาร (Documentary Reserch) ทำการเก็บข้อมูลจากนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทุกชั้นปี จำนวน 20 คน โดยใช้การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Guideline) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 การขัดเกลาจากสถาบันทางสังคม ส่วนที่ 3 พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทั้ง 5 ประการ ส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา
ผลการวิจัยพบว่า
รูปแบบและลักษณะของการขัดเกลาทางสังคมของวัยรุ่นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสถาบันทางสังคมได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อสารมวลชนและ กลุ่มเพื่อนตามลำดับ โดยสถาบันดังกล่าว มีอิทธิพลต่อการเบี่ยงเบนของพฤติกรรมทางสังคมในกลุ่มวัยรุ่น ดังนี้
สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสื่อสารมวลชน ทั้ง 3 สถาบันนี้มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมบริโภคนิยมมากที่สุด เช่น สถาบันครอบครัวให้ค่าใช้จ่ายแก่นิสิตเกินความจำเป็นและการใช้จ่ายที่ฟ่มเฟือยภายในครอบครัว สถาบันการศึกษาทำให้เกิดการเลียนแบบการใช้สิ่งของกันในกลุ่ม จนเกิดการแข่งขันกันเมื่อเห็นเพื่อนๆหรือครูอาจารย์มี ทำให้นิสิตต้องการบริโภคสินค้นพร้อมบริการดังกล่าวด้วย และการเลียนแบบการแต่งการและการใชสิ่งของเครื่องใช้ที่มีราคาแพงจากดารานักแสดงบางคนที่ตนเองชื่นชอบ
ส่วนกลุ่มเพื่อน มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด เพราะเป็นค่านิยมที่สำคัญในกลุ่มเพื่อนเมื่อมีการสังสรรค์กันเกิดขึ้น เช่น การสอบเสร็จ การชนะการแข่งขันกีฬา สำหรับวัยรุ่นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสัญลักษณ์ทางสังคม (Social Symbol) ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และความสุข ที่วัยรุ่นใช้ในโอกาสสำคัญๆ เช่น เพื่อการฉลองความสำเร็จการศึกษา หรืองานวันเกิดของเพื่อน เป็นต้น
สำหรับพฤติกรรมเล่นการพนัน และพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์โดยเสรีนั้น กลุ่มเพื่อนมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว โดยเกิดจากการเลียนแบบกันภายในกลุ่ม เพื่อที่จะทำให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้
ดังนั้น โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคมได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา กลุ่มเพื่อน และสื่อมวลชน ทำหน้าที่หล่อหลอมและจัดระเบียบพฤติกรรมของวัยรุ่นในสถานศึกษา มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมเบี่ยงเบนของวัยรุ่นในเรื่องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ส่วนกลุ่มเพื่อนมีส่วนขัดเกลาให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์มากที่สุด แต่กลุ่มเพื่อนก็ยังมีส่วนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้สารเสพย์ติด พฤติกรรมการเล่นการพนัน และพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์โดยเสรี เป็นต้น
สำหรับสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทั้ง ประการ 5 ประกอบด้วยการขัดเกลาทางสังคมทั้งโดยตรง(Direct Socialisation) ได้แก่ การอบรมสั่งสอนแบบเผชิญหน้า (Face to Face Socialisation) และโดยอ้อม(Indirect Socialisation) เช่น การกระทำให้ดูในชีวิตประจำวัน และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยการใช้ภาษากาย (Non-Verbal Social Intreaction) และสัญลักษณ์ (Simbol)

รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 1)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 2)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 3)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 4)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น