วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 1)



ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตศึกษา
คณะวิทยาศาสตร์
คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม
สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม
ชื่อเรื่อง : ศักยภาพของดินในระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนในพื้นที่นา
ของเกษตรกร ในเขต อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ผู้วิจัย : นางจินดา บุญไทย
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ หาญวงษา
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษา ปัจจัยการผลิตต่างๆ ผลตอบแทน คุณสมบัติทางเคมีและทางชีวภาพ ของดินใจแต่ละระบบการปลูกพืช การทดลองโดยใช้ระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียน 3 รูปแบบได้แก่ ถั่วเหลือ-ข้าวโพด - ข้าว สถานที่ตำบลบ้านกร่าง ข้าวโพด-ข้าวโพด-ข้าว สถานที่ตำบล ท่านางงามและ ถั่วเหลือง-ข้าว-ข้าว สถานที่ตำบลท่าทอง เปรียบเทียบกับระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้แก่ ข้าว-ข้าว-ข้าว ระยะเวลาการทำวิจัย ธันวาคม พ.ศ. 2543 ถึง มกราคม พ.ศ.2545
จากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามพบว่า มีเกษตรกรผู้ผลิตพืชในเขตพื้นที่การสำรวจใช้ระบบ การปลูกพืชแบบหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 30 และใช้ระบบการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวคิดเป็นร้อยละ 70 โดยระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและรายได้สุทธิสูงกว่าระบบการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในขั้นประถมศึกษาตอนต้นมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ใน่ขั้นเลี้ยงตัวเองได้ มีพื้นที่ถือครองทางเกษตรไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน และการศึกษาจากแปลงทดลองพลว่า ปริมาณธาตุอาหารหลักคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ไม่มีความแตกต่างกันจากระบบปลูกพืช ปริมาณอินทรียวัตถุในดินของระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนมีแนวโน้มสูงกว่าระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินในระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนและระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่มีความแตกต่างกัน คืออยู่ในช่วงเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นกรดปานกลาง ส่วนความหลากหลายทางชีวภาพของวัชพืชระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนมีแนวโน้มสูงกว่าระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้นศักยภาพของดินในระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนและระบบการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวไม่แตกต่างกัน
ชื่อเรื่อง : การประเมินผลกระทบของฝุ่นละอองต่อระบบหายใจของประชาชน
ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
กรณีศึกษา บ้านวังถ้ำ ตำบลถ้ำฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้วิจัย : นายภควัฒน์ มณีศรี
ประธานที่ปรึกษา : ดร. วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์
กรรมการที่ปรึกษา : ดร. จันทร์จิรา วสุนธราวัฒน์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547
บทคัดย่อ
การประเมิน (การประเมินผลกระทบของฝุ่นละอองต่อระบบหายใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กรณีศึกษา บ้านวังถ้ำ ตำบลถ้ำฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์) มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลกระทบของฝุ่นละอองต่อระบบหายใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โดยการเปรียบเทียบอัตรา ป่วย ความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจ และสมรรถภาพปอดของประชาชน ระหว่างชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ได้แก่ บ้านวังถ้ำ ตำบลถ้ำฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ กับชุมชนที่ไม่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ได้แก่ บ้านห้วยปลาดุก ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยการสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษาจากทั้ง 2 ชุมชน ๆ ละ 112 คน และ 110 คน ตามลำดับแบบประเมินของ Bronchitis Grading System ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์ตามมาตรฐานของ British Occupational Hygiene Society Committee on Hygiene Standards และการตรวจวัดสมรรถภาพปอดของประชาชนโดยใช้เครื่องสไปโรมิเตอร์ (spirometer) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อทำการประเมินการเจ็บป่วยและความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจของทั้งกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม รวมถึงการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองโดยใช้เครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่นปริมาตรสูง (high volume air sampler) วันที่ 13,14 มิถุนายน 2545, 18, 19 กุมภาพันธ์ และ27, 28 เมษายน 2546 ใน 3 ฤดูกาลของทั้งสองพื้นที่
การประเมินอัตราป่วยและความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยแบบประเมินของ Bronchitis Grading System พบว่า การได้รับสัมผัสฝุ่นละอองของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ มีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจชนิดเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value<0.001) โดยกลุ่มศึกษามีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจชนิดเรื้อรังมากเป็น 5 เท่าของกลุ่มควบคุม (OR = 5.297, 95% CI = 2.831, 9.910) อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวัดสมรรถภาพปอดโดยเครื่องสไปโรมิเตอร์นั้น ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม โดยผลการตรวจวัดส่วนใหญ่มีสมรรถภาพปอดปกติ (ร้อยละ 95.6 และ 97.2 ตามลำดับ) มีเพียง เล็กน้อยที่พบความผิดปกติระดับปานกลาง และระดับเล็กน้อย ของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ขณะที่ผลการวิเคราะห์ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM-10) พบว่า ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P-value < 0.05 ของสองพื้นที่ กล่าวคือ พื้นที่ศึกษาพบปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองเฉลี่ยเท่ากับ 139.67 ± 10.27 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยค่าที่พบอยู่ระหว่าง 128 - 153 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ กำหนดไว้ที่ความเข้มข้น 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในทุกตัวอย่างที่เก็บใน 3 ฤดูกาล โดยพบค่าสูงสุดในฤดูหนาว (เดือนกุมภาพันธ์) ขณะที่พื้นที่ควบคุมพบปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองเท่ากับ 72.67 ± 9.88 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยค่าที่พบอยู่ระหว่าง 59-82 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร การศึกษานี้สามารถประเมินการได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ มีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยชุมชนดังกล่าวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจสูงกว่าชุมชนที่ไม่มี การประกอบการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ดังนั้น หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการวางแผนการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ชื่อเรื่อง : การพยากรณ์ความต้องการน้ำประปาในพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ผู้วิจัย : นางสาวสุภลักษณ์ จันทรสมบัติ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพยากรณ์ความต้องการน้ำประปาของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย รวมทั้งศึกษาปัจจัยด้านประชากร และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอิทธิพลต่อความต้องการน้ำประปาในพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก โดยประเมินความต้องการน้ำทั้งพื้นที่เทศบาล และในแต่ละพื้นที่เขตการให้บริการน้ำประปา สำหรับการศึกษาความต้องการน้ำในแต่ละเขตการให้บริการน้ำประปา ได้ทำการประเมินความต้องการน้ำเฉพาะในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย โดยในการศึกษาได้ประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อใช้ในการประเมินความต้องการน้ำประปาเชิงพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่คำนวณได้จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Exponential growth formula) โดยจะทำการพยากรณ์ความต้องการน้ำประปาตามปีเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุก 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – 2565 ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณความต้องการน้ำประปาทั้งหมดของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในรอบ 3 ปี(พ.ศ. 2543 – 2545) มีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ย 102.20 ± 35.24 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี คิดเป็น 280.00 ± 96.56 ลิตร/คน/วัน และจากการประเมินสถานภาพความต้องการน้ำประปาในแต่ละเขตการให้บริการน้ำประปาพบว่า 6 เขตบริการที่มีปริมาณความต้องการน้ำเกินอัตราการใช้น้ำเฉลี่ย คือ เขตที่ 11 (417.56 ลิตร/คน/วัน) เขตที่ 1 (400.19 ลิตร/คน/วัน) เขตที่ 9 (395.17 ลิตร/คน/วัน) เขตที่ 3 (381.95 ลิตร/คน/วัน) เขตที่ 10 (322.00 ลิตร/คน/วัน) และเขตที่ 5 (287.64 ลิตร/คน/วัน) และจากการพยากรณ์อัตราการใช้น้ำของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยตามปีเป้าหมาย พ.ศ. 2545, 2550, 2555, 2560 และ 2565 พบว่ามีอัตราการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ 248.52, 253.17, 275.91, 262.74 และ 267.66 ลิตร/คน/วัน ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คาดว่ามีปัจจัยอิทธิพลต่อความต้องการน้ำประปาในพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก โดยการวิเคราะห์ในรูปแบบของสมการถดถอยแบบพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่ามีกลุ่มตัวแปรพยากรณ์ 3 ตัวที่มีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 99 % ในการพยากรณ์ คือ จำนวนประชากรเฉลี่ยต่อครัวเรือน เนื้อที่ของการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแฝด โดยสมการถดถอยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.77 ชื่อเรื่อง : การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในจังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นายสีใส ยี่สุ่นแสง ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ กรรมการที่ปรึกษา : ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์ปัจจัย สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดภัยแล้งในจังหวัดพิษณุโลก ข้อมูลระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิทั้งที่อยู่ในรูปแบบ ข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงคุณลักษณะถูกนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยใช้แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ ฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่นำมาใช้ประกอบด้วยตัวแปรสิ่งแวดล้อม 15 ตัวแปร ซึ่งถูกแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านน้ำฝน ด้านศักยภาพน้ำใต้ดินและลุ่มน้ำ ด้านระยะห่างจากแหล่งน้ำ และด้านสภาพภูมิประเทศและดิน สำหรับทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 3 วิธี ได้แก่ 1) วิธีระบบผู้เชี่ยวชาญ 2) วิธีสถิติสหสัมพันธ์ และ 3) วิธีสถิติจำแนกกลุ่มโดยวิธีที่ 2 และ 3 อยู่บน พื้นฐานของการวิเคราะห์ทางสถิติ สุดท้าย ทั้ง 3 วิธีได้ให้สมการทางคณิตศาสตร์ในการกำหนดระดับเสี่ยงภัยแล้งในทุกพื้นที่ขนาด 40x40 เมตร โดยระดับเสี่ยงภัยแล้งถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ไม่เสี่ยง เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง ซึ่งถูกตรวจสอบความถูกต้องของระดับเสี่ยงภัยแล้งโดยการใช้แบบสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า วิธีสถิติจำแนกกลุ่มสามารถให้ความถูกต้องของพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น ตัวแปรทั้งหมด 15 ตัวแปรสามารถใช้ร่วมกันอธิบายความเสี่ยงต่อ ภัยแล้งของพื้นที่ได้ร้อยละ95.4 โดยระดับความเสี่ยงภัยแล้งสัมพันธ์กับปัจจัยด้านศักยภาพน้ำ ใต้ดินและลุ่มน้ำ (R=0.95) มากกว่าปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศและดิน (R=0.92) ปัจจัยด้านระยะห่างจากแหล่งน้ำ (R=0.91) และปัจจัยด้านน้ำฝน (R=0.88) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ระหว่าง 15 ตัวแปร พบว่า 4 ตัวแปร ได้แก่ ตัวแปรระยะห่างจากพื้นที่ชลประทาน ศักยภาพชั้นหินให้น้ำ ความสามารถให้น้ำของบ่อบาดาล และระยะห่างจากแหล่งน้ำผิวดิน มีความสัมพันธ์สูงกับระดับเสี่ยงภัยแล้ง โดยในพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพิษณุโลก 6,809,375 ไร่ มีพื้นที่ไม่เสี่ยงภัยแล้ง 1,564,234 ไร่ (23.14%) พื้นที่เสี่ยงระดับต่ำ 1,971,628 ไร่ (29.17%) พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับปานกลาง 2,024,055 ไร่ (29.94%) และพื้นที่เสี่ยงระดับสูง 1,199,458 ไร่ (17.75%) คำสำคัญ : แล้ง, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, การวิเคราะห์จำแนกกลุ่ม ชื่อเรื่อง : การสร้างกรอบแนวคิดจากพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสม ในเขตชนบท อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ผู้วิจัย : นายรัชฎา งามประสิทธิ์ ที่ปรึกษา : ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อจุดประสงค์ดังนี้ 1)เพื่อสร้างกรอบแนวความคิดการจัดการ ขยะมูลฝอยในเขตชนบทของ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 2)เพื่อทราบถึงพฤติกรรมและทัศนคติของ ครัวเรือนในเขตชนบทที่มีต่อการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบัน 3)เพื่อประเมินการจัดการขยะมูลฝอยภายใต้กรอบแนวความคิด กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนโรงเรียนจุนวิทยาที่อาศัยใน 3 ตำบลของอำเภอจุนคือ ตำบลหงส์หิน จุนและห้วยยางขามโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการศึกษา โดยศึกษาถึง 1) ข้อมูลด้านองค์ประกอบและปริมาณของขยะ 2) ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง 3 ) แบบแผนในการจัดการขยะ โดยนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและวิเคราะห์โดยวิธีพรรณนาตามชนิด ปริมาณ สัดส่วนและรูปแบบ ส่วนข้อมูลด้านทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างจัดการข้อมูลตามกลุ่มเนื้อหา ตามองค์ประกอบองทัศนคติ (ความรู้, ความรู้สึกและความโน้มเอียงที่จะปฏิบัติ) แล้ววิเคราะห์ทางสถิติโดยหาสัดส่วนคำตอบ (ร้อยละ) หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์แปรผลด้วย การพรรณนาและนำมาเปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดที่สร้างไว้ ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า สภาพการจัดการขยะมูลฝอยในเขตชนบทของอำเภอจุน จังหวัดพะเยาโดยทั่วไปยังมี การจัดการภายในครัวเรือนเองเป็นส่วนใหญ่ มีการแยกขยะหลายขั้นตอนโดยแยกตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น การจำหน่ายได้ ความชื้น การนำไปทำประโยชน์ มีการใช้ซ้ำของเศษวัสดุและถุงพลาสติกหูหิ้ว ค่อนข้างมาก การให้ความหมายของขยะมีอย่างหลากหลายและความหมายจำนวนมากไม่ตรงกับที่นักวิชาการได้ให้คำนิยามไว้ สภาพของปัญหาของการจัดการขยะที่เกิดขึ้นส่วนมากเป็นผลจาก การจัดการขยะของหน่วยงานรัฐ เช่น การเกิดขยะตกค้างในถังขยะ ถังขยะสาธารณะไม่เพียงพอรถขนขยะไม่สามารถเข้าไปทิ้งขยะได้ในช่วงฤดูฝน สภาพการจัดการขยะในเขตชนบท อำเภอจุน จังหวัดพะเยามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากในการดำเนินงานตามกรอบแนวคิด 9’C ซึ่งเป็นกรอบที่ได้ตั้งไว้เพื่อศึกษาการจัดการขยะ ชื่อเรื่อง : วิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจของระบบบำบัดน้ำเสีย ชุมชนบนพื้นที่จำกัดในเขตภาคเหนือ กรณีศึกษาเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ผู้วิจัย : นางสาวรัตติยา พระเนตร์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชีพ พิพัฒน์ศิถี ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร , 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายของเพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคมทั่วไป ปัญหา และแนวโน้มของปริมาณน้ำเสีย เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนบนพื้นที่จำกัด และเพื่อการสร้างแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนที่เป็นไปได้ของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ โดยนำเอาเครื่องมือทางสถิติ Logistic Regression Analysis และการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (CBA) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม มีครัวเรือนที่ให้ข้อมูลทั้งสิ้น 400 ครัวเรือน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire)และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนรวม ปริมาณและปัญหาน้ำเสียชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ครัวเรือนมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการน้ำเสียชุมชน ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.01 และ 0.05 ได้แก่ การเป็นสมาชิกกลุ่ม และการมีระบบระบายน้ำสาธารณะ ตามลำดับ ในส่วนของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ พบว่า โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สมควรลงทุน มีมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เท่ากับ 8.26 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (BCR) เท่ากับ 1.05 และอัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) เท่ากับร้อยละ1 แต่โครงการมีความเสี่ยงภัยสูง นั่นคือ หากต้นทุนของโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.77 หรือผลประโยชน์ของโครงการลดลงร้อยละ 4.56 จะส่งผลให้โครงการไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สำหรับแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนที่เป็นไปได้ ควรมีการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด และส่งเสริมให้เกิดการนำน้ำทิ้งและน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและการยอมรับของประชาชนในท้องถิ่น โดยใช้มาตรการทางสังคม มาตรการกำกับและควบคุม และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ร่วมกัน ชื่อเรื่อง : การปนเปื้อนของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอากาศและฟลูออไรด์ในดินและพืช ในเขตจังหวัดพิจิตร ผู้วิจัย : นายอัศวิน ชามพูนท ที่ปรึกษา : ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2547 บทคัดย่อ ฟลูออไรด์เป็นธาตุที่พบมากบนเปลือกโลก และรวมตัวอยู่กับธาตุอื่น ๆ เป็นสารประกอบ ฟลูออไรด์จากแหล่งอุตสาหกรรม เช่น โรงงานเผาอิฐมอญ เมื่อถูกปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (HF) และตกค้างในอากาศได้นานหลายสัปดาห์ และปนเปื้อนลงในดินและพืชโดยเข้าทางปากใบและทางรากของพืช ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์และพืชที่อยู่บริเวณรอบโรงงาน การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ตรวจวัดปริมาณฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนในดินและพืชและปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอากาศ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร 2) ประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการศึกษาการแพร่กระจายของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ โดยทำการทดลองในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลและโรงงานเผาอิฐมอญทุกแห่ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในเดือนพฤศจิกายน 2546 และทำการวิเคราะห์ดินในกระถางปลูกและเลือกพันธุ์พืชถั่วลิสงเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณฟลูออไรด์ในพืช จากผลการศึกษาปริมาณฟลูออไรด์ในดิน พืชและไฮโดรเจนฟลูออไรด์อากาศแต่ละอำเภอพบว่าปริมาณฟลูออไรด์ในดิน สูงสุดอยู่ที่อำเภอทับคล้อ มีค่าเท่ากับ 0.0228 ppm และฟลูออไรด์ในพืชและไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอากาศ มีปริมาณสูงสุดที่อำเภอวังทรายพูน มีค่าเท่ากับ 0.0147 ppm และ 0.58 gm-3 โดยในพืชทดลองมีค่าต่ำกว่าในพื้นที่ควบคุม ซึ่งในพื้นที่ควบคุมมีปริมาณฟลูออไรด์ในดินและพืชเท่ากับ 0.0217 ppmและ0.0192 ppm และปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์อากาศ 0.33 gm-3 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฟลูออไรด์และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอำเภอที่มีโรงงานเผาอิฐมอญตั้งอยู่ โดยรวมปริมาณฟลูออไรด์และไฮโดรเจนฟลูออไรด์จากโรงงานเผาอิฐมอญและไม่รวมปริมาณฟลูออไรด์ของโรงงานเผาอิฐมอญพบว่า ฟลูออไรด์ในดิน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (p*<0.05) ปริมาณฟลูออไรด์ในพืชและไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอากาศของอำเภอเมืองและอำเภอบางมูลนากมีความแตกต่างกันทางสถิติ (p*<0.05) โดยทั้งหมดมีปริมาณสูงขึ้น ปริมาณฟลูออไรด์ในดิน พืชและปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์อากาศในตำบลที่มีโรงงานเผาอิฐมอญตั้งอยู่ พบว่าในฟลูออไรด์ในดินตำบลวังสำโรงและตำบลห้วยเขน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p*<0.05) ปริมาณฟลูออไรด์ในพืชและไฮโดรเจนฟลูออไรด์ ในอากาศ มีปริมาณแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ควบคุมในปริมาณที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของไฮโดรเจนฟลูออไรด์จากโรงงานเผาอิฐมอญพบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะ เชนทร์ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานเผาอิฐมอญ 150 เมตร มีปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์แตกต่างกันทางสถิติ(p*<0.05) โดยโรงงานเผาอิฐมอญมีปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์เท่ากับ 1.93 gm-3 และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์มีปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์เท่ากับ 0.52 gm-3 ชื่อเรื่อง : พฤติกรรมการเปิดรับสื่อและการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะและน้ำเสีย ของประชาชนในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้วิจัย : นางสาวสุภาวดี ปิ่นไพบูลย์ ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อเกี่ยวกับข่าวสารทั่วไป ความต้องการข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและน้ำเสียและการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะและน้ำเสียของประชาชนในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 397 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows version 11.0 สถิติที่ใช้ คือค่าร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า 1) ประชาชนส่วนใหญ่เปิดรับสื่อมวลชนประเภทโทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่งและนิยมดูรายการข่าวในช่วงเวลาเย็น (17.01-21.00 น.) ชอบฟังวิทยุเป็นอันดับสองและนิยมฟังรายการข่าวในช่วงเวลาเช้า (05.00-8.00 น.) ชอบอ่านหนังสือพิมพ์เป็นอันดับสาม โดยหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและคอลัมน์ที่นิยมอ่านมากที่สุด คือคอลัมน์ข่าว ในขณะที่สื่อบุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือมากที่สุด คือผู้นำชุมชนของตนเอง 2)ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้นำชุมชนของตนเอง เผยแพร่ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและน้ำเสียโดยให้เหตุผลเพราะเชื่อถือได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันประชาชนต้องการให้เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน ประเภทโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าไม่ยุ่งยากซับซ้อน 3) การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่แยกขยะก่อนทิ้ง ในขณะที่ประเภทขยะเปียกมีการ รวบรวมไปกำจัดทุกวัน ลักษณะของการทิ้ง ส่วนใหญ่ทิ้งขยะลงถังขยะเทศบาลโดยตรง ไม่มีการรวบรวมใส่ถุงดำหรือถุงพลาสติกก่อนทิ้ง นอกจากนี้แล้วพบว่าประชาชนส่วนใหญ่กำจัดขยะภายในบ้านทั้งขยะเปียก ขยะแห้งและขยะอันตรายด้วยการรอรถขยะเทศบาลมาเก็บ ส่วนวิธีการช่วยลดปริมาณขยะพบว่าประชาชนส่วนใหญ่นิยมนำกลับมาใช้ใหม่ ในด้านของการมีส่วนร่วมในการ จัดการน้ำเสีย ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าชุมชนของตนเองมีปัญหาน้ำเสียอยู่ระดับปานกลาง และส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้น้ำและการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้น นอกจากนี้จากการศึกษายังพบอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่ทิ้งน้ำเสียจากการซักผ้าและทำความสะอาดบ้านเรือนลงบนพื้นดิน ส่วนน้ำเสียจากกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การล้างจาน อาบน้ำ เป็นต้น นิยมปล่อยทิ้งลงท่อ เทศบาล ในขณะที่น้ำเสียจากส้วมปล่อยทิ้งลงบ่อเกรอะ ในขั้นตอนของการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการเก็บเศษอาหารก่อนล้างจาน นอกจากนี้พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการนำน้ำ เสียจากกิจกรรมภายในบ้านกลับมาใช้ประโยชน์อีก ในขณะที่กลุ่มประชาชนส่วนน้อยที่มีการนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์นิยมนำน้ำที่เหลือจากการซักผ้า ถูบ้าน และล้างจานนำไปรดน้ำต้นไม้รอบ ๆ บริเวณบ้าน ชื่อเรื่อง : การออกแบบเมืองเชิงนิเวศเพื่อการอำนวยการจัดการปัญหา สิ่งแวดล้อมชุมชนของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ผู้วิจัย : นางสาวณัฏฐิกา สนั่นนาม ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การออกแบบเมืองเชิงนิเวศเพื่ออำนวยการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน ของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะ รูปแบบ โครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ สถานการณ์และสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะและน้ำเสียของ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เพื่อออกแบบเมืองเชิงนิเวศ โดยวิเคราะห์รูปแบบการขยายตัวของเมืองจากทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบเมือง เกณฑ์กำหนดคุณภาพขนาดและความน่าอยู่ของเมือง จากเอกสาร รูปถ่ายทางอากาศ แผนที่ จำนวนประชากร ลักษณะการใช้ที่ดิน รายงานสถิติและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาวิเคราะห์หารูปแบบ โครงสร้างบทบาทหน้าที่ ของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ พร้อมสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 1-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และหาแนวทางในการออกแบบเมืองเชิงนิเวศ ผลการศึกษาพบว่า เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 13.49 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะยาวรี ขนานตามลำน้ำน่าน และเส้นทางคมนาคม คือ ถนน และทางรถไฟลักษณะ โครงสร้างของเมืองส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน บทบาทหน้าที่ของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เป็นเมืองศูนย์กลางการเกษตรกรรม มีการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.72 รองลงมาคือใช้เพื่อการเกษตรกรรม ร้อยละ 28.47 ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่คือ 3,288 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณใจกลางพื้นที่ มีการอพยพย้ายถิ่นเขามาประกอบอาชีพต่าง ๆ ในเมือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาเป็นอาชีพ รับจ้าง มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ มีพื้นที่นันทนาการเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในเขตเทศบาล การสาธารณูปโภค สาธารณูปการและการรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในการจัดการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ใช้การแบ่งโซนการใช้ที่ดินเป็น 11ประเภท โดยมีมาตรฐานกำกับดูแลในแต่ละพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในการสร้างเอกลักษณ์ของเมืองที่เป็นเมืองศูนย์กลางการเกษตรจึงใช้ต้นลางสาดเป็นต้นไม้ปลูกในแนวเส้นทางคมนาคมหลัก คือถนนและทางรถไฟ ลักษณะรูปแบบโครงข่ายถนนเป็นระบบถนนแนวยาวผสมกับถนนตาราง ทุกเส้นทางสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจราจรมีสภาพคล่องตัวยกเว้นในช่วงเวลา 07.00 – 08.00 น. และ 16.00 – 17.00 น. จะมีปริมาณการจราจรหนาแน่นในบริเวณถนนสาย หลัก ในการจัดการจึงควรสร้างถนนเพิ่ม โดยใช้ถนนระบบวงแหวนล้อมรอบศูนย์กลางเมือง เพื่อให้บริการแก่พื้นที่กลางเมือง และการจราจรชนิดผ่านเมือง สามารถเลือกเส้นทางการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองได้ และยานพาหนะไหลเวียนได้สะดวกทั้งบริเวณในเมืองและรอบนอกเมือง ด้านการระบายน้ำยังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อมพบโลหะหนักปนเปื้อนใน แหล่งน้ำธรรมชาติเกินเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และมีขยะตกค้างในการจัดเก็บในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่นและมลภาวะทางการมองเห็น การจัดการด้านน้ำเสีย ต้องปรับปรุงระบบท่อเดิมที่มีอยู่และสร้างรางระบายน้ำเลาะริม แม่น้ำเพื่อรองรับการระบายน้ำและน้ำเสีย เพื่อลำเลียงไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสียท้ายเมือง ด้านขยะต้องรณรงค์คัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อลดปริมาณขยะ และรณรงค์ให้มีการทำปุ๋ยหมักภายในแต่ละครัวเรือน ชื่อเรื่อง : ทัศนคติต่อทางเลือกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการมูลฝอย เทศบาลเมืองพิจิตร ผู้วิจัย : นางสาวดุษฏี จิรกุลสมโชค ที่ปรึกษา : ดร.จรูญ สารินทร์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระบบการจัดการมูลฝอยของเทศบาลเมืองพิจิตร และทัศนคติต่อทางเลือกของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วม โดยพิจารณาจากปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ จำนวนสมาชิก ลักษณะการถือครองที่พัก จำนวนปีที่อาศัย การใช้ประโยชน์ที่พัก และการเป็นสมาชิกโครงการ ปัจจัยสนับสนุนด้านทัศนคติต่อการจัดการมูลฝอย ด้านการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และด้านพฤติกรรมการจัดการมูลฝอย ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทางเลือกในการให้ความร่วมมือของประชาชน โดยทำการศึกษาประชากรในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ จากเอกสารต่างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระบบการจัดการมูลฝอยของเทศบาลเมืองพิจิตร และรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากการสำรวจด้วยแบบสอบถาม ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 ตัวอย่าง จากการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็นโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง อย่างง่าย (Simple Random Sampling) อธิบายลักษณะทั่วไปของประชากรตัวอย่าง ด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณา ผลการศึกษาพบว่า 1) การจัดการมูลฝอยในพื้นที่เทศบาลเมืองพิจิตรในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กองอนามัยและสิ่งแวดล้อม กองช่าง และกองคลัง ดำเนินการจัดการมูลฝอย แบบระบบถังใบเดียวในการรวบรวมมูลฝอย และกำจัดมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ 2) ทัศนคติต่อทางเลือกในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร ที่เสนอไว้ 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 การแยกมูลฝอยส่วนที่ยังใช้ได้เพื่อจำหน่ายเป็นทางเลือกที่ประชาชนเลือกมากที่สุด รองลงมาเป็นทางเลือกที่ 2 การคัดแยกประเภทมูลฝอยก่อนนำทิ้ง และทางเลือกที่ 3 การจ่ายค่าธรรมเนียมจัดการมูลฝอย การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการมูลฝอยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลักด้านอายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ ลักษณะความเป็นเจ้าของ ระยะเวลาที่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่พัก ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนด้านทัศนคติต่อการจัดการมูลฝอย ด้านการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และด้านพฤติกรรมการจัดการมูลฝอย เป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องต่อการเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการจัดการมูลฝอย การรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการมูลฝอยมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดแนวโน้มในอนาคต ด้านความร่วมมือจากประชาชนในการลดปริมาณมูลฝอยในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร ชื่อเรื่อง :การพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดสูตรผสมเพื่อการปลูกกระเจี๊ยบเขียว ผู้วิจัย :นายขจร ตาสุยะ ประธานที่ปรึกษา :ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภูมิศักดิ์ อินทนนท์ กรรมการที่ปรึกษา :ดร. วิภา หอมหวล ประเภทสารนิพนธ์ :วิทยานิพนธ์ วท.ม (วิทยาศาสตร์การเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือเพื่อศึกษาการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดสูตรผสม สำหรับการปลูกกระเจี๊ยบเขียว เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและลดต้นทุนการผลิต การศึกษาแบ่งเป็น 4 ส่วน ตามลำดับดังนี้ คือ 1. การศึกษาและวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในปุ๋ยคอกที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบ 2. การผลิตน้ำหมักชีวภาพและดินเชื้อมูลสัตว์ 3. การผสมสูตร การอัดเม็ด การวิเคราะห์ธาตุอาหารและการตรวจสอบจุลินทรีย์ 4. การทดสอบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดกับกระเจี๊ยบเขียวในกระถาง วางแผนการทดลองแบบ CRD จำนวน 13 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ผลการศึกษาปุ๋ยคอกที่มีศักยภาพในด้านธาตุอาหารหลัก คือ มูลไก่ มูลสุกร มูลค้างคาว ผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในน้ำหมักชีวภาพ พบว่าประกอบด้วย N = 0.91%, P = 0.04% และ K = 0.78% ส่วนดินเชื้อมูลสัตว์มีความร่วนซุยดีหลังจากหมักได้ 1 เดือน การผสมสูตรโดยนำดินเชื้อตามชนิดของมูลสัตว์ ผสมกับแกลบดำ น้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล ในอัตราส่วน 70 : 20 : 5 : 5 โดยปริมาตรและนำไปอัดเม็ดได้เม็ดปุ๋ยขนาด 5 มิลลิเมตร มีความเหมาะต่อการปลูกพืช การทดสอบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดกับกระเจี๊ยบเขียว พบว่า ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดทุกกรรมวิธีทำให้กระเจี๊ยบเขียวเจริญเติบโตได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม โดยกรรมวิธีที่1 (มูลไก่ 50 ) ให้ผลผลิตสงสุด 2580.9 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาได้แก่ กรรมวิธีที่ 7 (มูลค้างคาว50) และกรรมวิธีที่ 3 (มูลไก่150) ให้ผลผลิต 2512.8 และ 2231.5 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับและกรรมวิธีที่ 13 (ไม่ใส่ปุ๋ย) ให้ผลผลิตต่ำสุด 782.9 กิโลกรัมต่อไร่ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า ปุ๋ยคอกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเมื่อนำมาทำเป็นสูตรผสมและอัดเม็ดแล้วจะได้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีในการปลูกกระเจี๊ยบเขียวได้ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชื่อเรื่อง : ผลของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในอากาศต่อพืชในบริเวณพื้นที่โรงงาน อิฐมอญ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ผู้วิจัย : นางสาวมาลิน ลูกอินทร์ ที่ปรึกษา : ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2546 บทคัดย่อ การทำวิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์และฟลูออไรด์ในอากาศบริเวณพื้นที่โรงงานอิฐมอญ คัดเลือกพันธุ์พืชที่มีความไวต่อฟลูออไรด์เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดมลพิษของฟลูออไรด์ในอากาศ และศึกษาผลของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศต่อพืช โดย การวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์ ปริมาณการสะสมของฟลูออไรด์ อัตราการเจริญเติบโต และอาการเป็นพิษทางใบที่มองเห็นได้ในพืช จากผลการศึกษาพบว่า ปริมาณไฮโดรเจนฟลูออไรด์และฟลูออไรด์ในอากาศบริเวณพื้นที่ โรงงานสูงสุดเท่ากับ 0.82 gFdm-2 และ 62.0 gm-3 ซึ่งสูงกว่าในพื้นที่ควบคุมคือ 0.14 gFdm-2 และ 10.75 gm-3 ตามลำดับ และมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา พันธุ์พืชที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นดัชนีชี้วัดทางชีวภาพสำหรับมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากไฮโดรเจนฟลูออไรด์จากขบวนการเผาอิฐ ได้แก่ ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 4 อัตราการเจริญเติบโตของถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 4 พันธุ์สุโขทัย 38(สข 38) และมะเขือเทศพันธุ์สีดา ในบริเวณพื้นที่โรงงานต่ำกว่าในพื้นที่ควบคุมซึ่งคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ปริมาณคลอโรฟิลล์ของ ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 4 พันธุ์สุโขทัย 38 (สข 38) ในพื้นที่โรงงานเป็น 0.85 mg chl./g fresh weight และ 0.79 mg chl./g fresh weight ซึ่งต่ำกว่าในพื้นที่ควบคุมคือ 1.19 mg chl./g fresh weight และ 1.14 mg chl./g fresh weight ตามลำดับ ยกเว้นมะเขือเทศพันธุ์สีดาซึ่งมีปริมาณคลอโรฟิลล์ในพื้นที่โรงงานเป็น 0.69 mg chl./g fresh weight ซึ่งสูงกว่าบริเวณพื้นที่ควบคุมคือ 0.46 mg chl./g fresh weight และแสดงอาการเป็นพิษแบบ chlorosis และ necrosis ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าพบในถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 4 ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การถูกทำลาย 39.15 เปอร์เซ็นต์ ชื่อเรื่อง : การศึกษาคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำในจังหวัดพิษณุโลก ผู้วิจัย : นางสาววิไล บุญบรรจง ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ภู่พัฒน์วิบูลย์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำที่ดำเนินกิจการในจังหวัดพิษณุโลก ทั้งด้านกายภาพ เคมีและจุลชีววิทยาจากสระน้ำที่เปิดดำเนินกิจการในจังหวัดพิษณุโลก รวม 7 แห่ง โดยเก็บตัวอย่างน้ำในจุดที่ลึกมากวกว่า 1.5 เมตร และจุดที่ตื้นน้อยกว่า 1.5 เมตร ในช่วงก่อนการให้บิรการและช่วงที่มีผู้มาใช้บริการมากที่สุดของวัน ทั้งในฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อนรวม 84 ตัวอย่าง ด้วยวิธีการสุ่มเก็บอย่างง่าย (Simple Random Sampling) นำผลการศึกษาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานตามข้อบังคับของกรุงเทพมหานครโดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกับพารามิเตอร์ที่ตรวจวัด ด้วยโปรแกรม SPSS Window ใช้สถิติ Univariate Analysis of Variance ซึ่งจะทำให้ประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำได้ ผลการวิจัยพบว่า อุณหภูมิน้ำในสระว่ายน้ำได้มาตรฐานร้อยละ 100 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30.61 องศาเซลเซียศ โดยในฤดูหนาวค่า pH และค่า Residual Chlorine มีการควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุดคิดเป็นรอ้ยละ 71.43 และ 14.29 ตามลำดับ และจำนวน Total Bacteria, Coliform Bacteria และ Fecal Coliform Bactteria อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน ร้อยละ 83.33, 90.48 และ 100 ตามลำดับ สำหรับ Escherichia coli และ Pseudomonas aeruginosa ไม่พบเชื้อทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่พบในฤดูร้อนมากที่สุดคือ ร้อยละ 14.29 และ 10.71 ตามลำดับ ในจุดลึก ทั้งในช่วงก่อนให้บริการและช่วงมีผู้ใช้บริการสูงสุด ในการตรวจหา Staphylococcus aureus ไม่พบเชื้อในฤดูหนาว แต่พบในฤดูฝน (ร้อยละ 7.14) และในฤดูร้อน (ร้อยละ 14.29) นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนสระว่ายน้ำที่มีค่า pH และ Residual Chlorine ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะตรวจพบเชื้อแบคที่เรียและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคซึ่งพบมากที่สุดในฤดูร้อน และจากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของพารามิเตอร์กับตัวแปร พบว่าคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำด้านจุลชีววิทยามีความสัมพันธ์กับคุณภาพน้ำด้านกายภาพและด้านเคมี อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ดังนั้น คุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำจะปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการเมื่อผู้ดูแลสระดูแลและควบคุมคุณภาพน้ำทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมีและด้านจุลชีววิทยา ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด ชื่อเรื่อง : ความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้โปรติเอสในการบำบัดน้ำเสีย จากโรงฆ่าสัตว์ ผู้วิจัย : นางสาวปิ่นนภา อาธิบุตร ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.วารินทร์ พิมพา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เอนไซม์โปรติเอสที่ผลิตจาก Penicillium corylophilum AN 10 ในการบำบัดน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ โดยคัดแยกรา P. corylophilum AN 10 ซึ่งมีสมบัติในการผลิตเอนไซม์โปรติเอสได้ดีจากน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลนครพิษณุโลก ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผลิตเอนไซม์โปรติเอสจาก P. corylophilum AN 10 ได้แก่ วงจรการเจริญและการผลิตเอนไซม์ และพีเอช เริ่มต้นของอาหารเลี้ยงเชื้อ วิเคราะห์หาลักษณะเฉพาะของเอนไซม์ ได้แก่ พีเอช และอุณหภูมิ ที่เหมาะสมต่อการทำงานของเอนไซม์ และความเสถียรต่อความร้อน ทำการตรึงรูปเอนไซม์ ด้วยวิธีการห่อหุ้ม และประยุกต์ใช้เอนไซม์ในการบำบัดน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ จากการศึกษาการผลิตเอนไซม์โปรติเอสของรา P. corylophilum AN 10 โดยใช้สภาวะการหมักแบบอาหารเหลว พบว่ามีรูปแบบการผลิตเป็นแบบสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต โดยให้ค่ากิจกรรมของเอนไซม์สูงสุดเท่ากับ 1988 + 23 ยูนิต/มิลลิลิตร ที่ 48 ชั่วโมงของการหมักที่อุณหภูมิห้อง (30±2 oC) 250 รอบ/นาที และพีเอชเริ่มต้นของอาหารเลี้ยงเชื้อ 4.0 เอนไซม์ที่ได้มีค่าพีเอชและอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานที่ 6.0 และ 45-50 องศาเซลเซียส ตามลำดับ จากการศึกษาการตรึงรูปเอนไซม์โดยวิธีการห่อหุ้ม พบว่าการตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนต และการตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนตและเชื่อมขวางด้วยกลูตารัลดีไฮด์ ทำให้กิจกรรมของเอนไซม์ลดลงร้อยละ 21.20 และ 36.23 ตามลำดับ และเมื่อนำเอนไซม์ ไปประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ พบว่าเอนไซม์อิสระมีประสิทธิภาพการบำบัดบีโอดี ซีโอดี และปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ได้ร้อยละ 72.58, 29.27 และ 85.14 ตามลำดับ ที่เวลา 12 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถบำบัดของแข็งแขวนลอยได้ ส่วนเอนไซม์ตรึงรูปนั้นพบว่ามีประสิทธิภาพการบำบัดบีโอดีได้ร้อยละ 71.43 และ 74.97 สำหรับเอนไซม์ตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนต และเอนไซม์ตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนตและเชื่อมขวางด้วยกลูตารัลดีไฮด์ ที่เวลา 36 ชั่วโมง ตามลำดับ และมีประสิทธิภาพการบำบัดปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดได้ร้อยละ 20.78 และ 21.02 สำหรับเอนไซม์ตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนต และเอนไซม์ตรึงรูปแบบห่อหุ้มด้วยอัลจิเนตและเชื่อมขวางด้วยกลูตารัลดีไฮด์ ที่เวลา 36 ชั่วโมง ตามลำดับ การใช้เอนไซม์ตรึงรูปให้ประสิทธิภาพการบำบัดบีโอดีไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการใช้เอนไซม์อิสระ แต่ให้ประสิทธิภาพการบำบัดต่ำกว่าในการบำบัดปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ชื่อเรื่อง : การจำลองการเติมน้ำบาดาลเทียมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำใต้ดิน สุโขทัย ผู้วิจัย : นายจตุพร เสือมี ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิจการ พรหมมา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำใต้ดินสุโขทัยได้จัดสรรน้ำบาดาลเพื่อการชลประทาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จำนวนปีละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เกษตรกรมีความต้องการใช้น้ำถึง 65 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องจัดหาน้ำเพิ่มเติมจำนวน 25 ล้านลูกบาศก์เมตร วิธีการหนึ่งคือการเติมน้ำบาดาลเทียม วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือเพื่อจำลองการเติมน้ำเทียมในโซนที่ 1 ของโครงการฯ และเพื่อเสนอแนะวิธีการเติมน้ำเทียมที่เหมาะสมที่สุด วิธีการจำลองเริ่มต้นจากการสร้างแบบจำลองอุทกธรณีวิทยาซึ่งประกอบด้วยชั้นน้ำจำนวน 3 ชั้นแทรกสลับอยู่ระหว่างชั้นดินเหนียว พื้นที่เติมน้ำที่มีศักยภาพตั้งอยู่ในบริเวณตอนบนของโครงการฯ เนื่องจากมีความลึกของชั้นน้ำเพียง 5 เมตร ต่อมาได้สร้างแบบจำลองกรอบแนวคิดโดยการลดให้เหลือชั้นน้ำเพียงชั้นเดียว เนื่องจากน้ำไหลเวียนถึงกันและสอดคล้องกับข้อมูลที่ใช้ทดสอบ โปรแกรมที่ใช้จำลองคือ MODFLOW-2000 ทั้งธรรมชาติการไหลและการทำนายผลการเติมน้ำเทียมซึ่งมีจำนวน 3 วิธี ได้แก่ การอัดน้ำผ่านบ่อ การเติมน้ำผ่านบ่อโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง และการเติมน้ำเชิงพื้นที่ ผลการวิจัยแสดงว่า การจำลองให้ผลใกล้เคียงกับธรรมชาติการไหลมาก โดยมีความแตกต่างของระดับน้ำเพียง 1.8 เมตร การเติมน้ำเทียมที่เหมาะสมที่สุดคือการเติมน้ำผ่านบ่อโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง ซึ่งจะสามารถเติมน้ำเทียมได้ถึง 25,550,000 ลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำบาดาลจะสูงขึ้นประมาณ 1 -15 เมตร โดยสูงมากที่สุดในพื้นที่เติมน้ำ ระดับน้ำบาดาลใกล้กับโซนที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงน้อย นอกจากนี้ การเติมน้ำเทียมจะทำให้เกิดการไหลของน้ำบาดาลออกสู่แม่น้ำยมประมาณปีละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร การดำเนินการต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงควรศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบเทียบจุดคุ้มทุนกับการชลประทานโดยใช้น้ำผิวดินต่อไป ชื่อเรื่อง : การสะสมของเหล็กและแมงกานีสจากน้ำบาดาลเข้าสู่ดินนาและข้าว ผู้วิจัย : นายประจญยุทธ ยิ้มแพร ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิจการ พรหมมา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ น้ำบาดาลระดับตื้นมีปัญหาด้านปริมาณเหล็กและแมงกานีสมาก เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างสูบน้ำบาดาลเพื่อใช้ทำนาจำนวนมาก เหล็กและแมงกานีสจึงเกิดการสะสมอยู่ในแปลงนาและอาจส่งผลเสียต่อข้าว วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือเพื่อศึกษาการสะสมของเหล็กและแมงกานีสจากน้ำบาดาลเข้าสู่ดินนาและข้าว การวิจัยมีขึ้น ณ แปลงนาสาธิต หมู่ที่ 3 ตำบลวัดพริก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีพื้นที่ 22 ไร่ แบ่งออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 14 แปลง มีการตรวจวัด (1) ปริมาณน้ำรายสัปดาห์ ได้แก่ น้ำฝน น้ำบาดาล และน้ำขัง (2) ปริมาณเหล็กและแมงกานีสในน้ำ ดินนา และส่วนต่าง ๆ ของข้าว ในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวม 2 ครั้ง ของปีเพาะปลูก 2545/2546 ผลการวิจัยแสดงว่า (1) การสูบน้ำบาดาลมีปริมาณมากในฤดูแล้ง ซึ่งอัตราใช้น้ำบาดาลมีค่า 1,561 ลบ.ม./ไร่/ปี (2) อัตราการสะสมของเหล็กเข้าสู่ดินนามีค่า 10.90 กก./ไร่/ปี โดยที่เหล็กซึ่งตกตะกอนจากน้ำบาดาลมีจานวน 10.55 กก./ไร่/ปี แต่เหล็กในเมล็ดข้าวเปลือกที่ออกจาก แปลงนามีจำนวน 0.07 กก./ไร่/ปี (3) อัตราการสะสมของแมงกานีสจากน้ำบาดาลเข้าสู่ดินนา มีค่า 0.8 กก./ไร่/ปี โดยสมมุติให้ข้าวเปลือกมีปริมาณแมงกานีสน้อยมาก (4) เหล็กมีมากที่สุดในดินนา รองลงมาได้แก่ รากข้าว, ลำต้นข้าว, ใบข้าว, เมล็ดข้าว, น้ำบาดาล, น้ำขัง และน้ำฝน ซึ่งมีปริมาณ 40,166.3, 16,711, 980, 403, 138, 6.9, 0.9 และ 0.3 ส่วนในล้านส่วน ตามลำดับ (5) แมงกานีสมีมากที่สุดในดินนา รองลงมาได้แก่ น้ำบาดาล, น้ำขัง และน้ำฝน ซึ่งมีปริมาณ 11,730.0, 0.4, 0.2 และ 0.02 ส่วนในล้านส่วน ตามลำดับ ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแมงกานีสในพืช (6) เมื่อน้ำบาดาลขังอยู่ภายในแปลงนา เหล็กและแมงกานีสในน้ำขังมีปริมาณมากในบริเวณ ใกล้กับจุดปล่อยน้ำ เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นน้อย แล้วจึงลดลงตามระยะทางซึ่งมีการสัมผัสกับอากาศมาก แต่กลับมีปริมาณมากในบริเวณท้ายแปลงนาซึ่งมีน้ำขังนิ่งโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (7) เหล็กดูดซับเหนียวแน่นในดินนามีรูปแบบการกระจายตัวคล้ายคลึงกับเหล็กในน้ำขัง ชื่อเรื่อง : สมรรถนะในการบำบัดน้ำเสียโดยถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปชนิด ตรึงตะกอนที่มีการเติมอากาศเป็นจังหวะ ผู้วิจัย : นายเสริมศักดิ์ อาษา ประธานที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสมรรถนะในการบำบัดน้ำเสียโดยใช้ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปชนิดตรึงตะกอน ที่มีการเติมอากาศเป็นจังหวะกับแบบที่มีการเติมอากาศตลอดเวลา และเพื่อศึกษาหาช่วงเวลาในการเติมอากาศแบบเป็นจังหวะที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทำการทดลอง ตรวจวัดประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของถังบำบัดน้ำเสียขนาด 3000 ลิตร มีน้ำเสียเฉลี่ย 525 ลิตร/วัน โดยแบ่งการทดลองย่อยจำนวน 7 การทดลอง โดยมีการทดลองที่เติมอากาศตลอดเวลาเป็นการทดลองควบคุม การทดลองที่เหลือได้แบ่งการเติมอากาศเป็นกรณี ๆ อันมีเวลาเติมอากาศ 1 ชั่วโมงและมีช่วงพักระหว่าง 10 ถึง 35 นาที โดยในงานวิจัยนี้ ได้เปรียบเทียบคุณภาพน้ำจากการทดลองกรณีต่าง ๆ โดยอาศัยมาตรฐานน้ำทิ้งประเภท ก. มาเปรียบเทียบ ผลการศึกษาพบว่าการทดลองย่อยที่ 2 การทดลองที่ 5 คุณภาพน้ำทิ้งไม่แตกต่างจากการเดินเครื่องเติมอากาศตลอดเวลาอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มของดัชนีคุณภาพ บีโอดี ซีโอดี เอสเอส และทีดีเอส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเวลาหยุดที่นานขึ้น ดัชนีคุณภาพ ทีเคเอ็น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในตอนแรกและกลับลดลงในช่วงปลาย แต่เมื่อทดสอบทางสถิติพบว่าไม่มีความแตกต่างกันกับการทดลองควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการทดลองที่ 5 ที่มีการเดินเครื่องเติมอากาศ 1 ชั่วโมงหยุดพักการเติมอากาศ 25 นาที จัดว่าเป็นช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถึงแม้จะมีช่วงเวลาในการหยุดพักถึง 25 นาที แต่ก็ยังสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน และสามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 41.70 % ชื่อเรื่อง : ชนิดและปริมาณของโลหะหนักที่ปนเปื้อนจากการย้อมสี ผลละมุดของเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย ผู้วิจัย : นางสาวนลิน ชลชาญกิจ ประธานที่ปรึกษา : ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ : ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท : ดร.ศจี สุวรรณศรี ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยนเรศว, 2547 บทคัดย่อ การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาชนิดและปริมาณของโลหะหนักที่ปนเปื้อนจากการย้อมสีผลละมุดของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย โดยการศึกษาถึงผลของการย้อมสีต่อคุณภาพผลละมุดหลังการเก็บเกี่ยว ชนิดและปริมาณของโลหะหนักที่เป็นส่วนประกอบของสีที่ใช้ย้อมผลละมุด และการตกค้างของโลหะหนักในส่วนเปลือก เนื้อ และส่วนของเปลือกและเนื้อ (ทั้งผล) ของผลละมุดจากการย้อมสีผล รวมถึงการศึกษาถึงผลของค่า pH และสารที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการใช้ร่วมกับการย้อมสีผลละมุด (น้ำมะนาว น้ำมะกรูดและน้ำส้มสายชู) ต่อปริมาณการตกค้างของโลหะหนัก ที่ระดับความเข้มของสีย้อมปานกลางและเข้ม ตลอดจนการศึกษาในตัวอย่างผลละมุดที่เก็บจากพื้นที่ย้อมสีผลละมุดเพื่อการขายส่ง โดยใช้เครื่องอะตอมมิกแอบซอบชั่นสเปรกโตโฟโตมิเตอร์ (ASS) ชนิดเฟรมไอออนไนเซชั่น (Flame lonization) ในการวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก ผลการศึกษาแสดงว่าการย้อมสีผลละมุดด้วยสีชนิดที่เกษตรกรใช้ย้อม ซึ่งมีฉลากระบุว่าเป็นสีย้อมผ้านั้น มีผลต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลละมุด โดยผลละมุดที่ผ่านการย้อมสีมีลักษณะของสีผิว สีเนื้อ ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ (TSS) ปริมาณกรดซิตริกที่ไตเตรทได้และการสูญเสียน้ำหนักที่ประเมินแล้วให้คุณภาพที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับผลละมุดที่ไม่ผ่านการย้อมสี และการเก็บรักษาผลละมุดที่เก็บรักษาคุณภาพผลที่อุณหภูมิห้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลเร็วกว่าที่เก็บรักษาคุณภาพผลที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซี่ยส ผลการศึกษาชนิดและปริมาณของโลหะหนักในสีที่ใช้ย้อมผลละมุดพบว่า โลหะหนักที่ตรวจพบสูงสุดคือ เหล็ก โดยมีปริมาณถึง 900 mg/kg รองลงมาได้แก่โครเมียม แมงกานีส ทองแดง และแคดเมียม ซึ่งตรวจพบ 0.91, 0.75, 0.08 และ 0.20 mg/kg ตามลำดับ และจากการศึกษาผลของค่า pH และสารที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการใช้ร่วมกับการย้อมสีผลละมุด ซึ่ง ทำการศึกษาเฉพาะโครเมียมที่พบรองลงมาและเป็นโลหะที่มีความเป็นพิษสูง และเหล็กซึ่งเป็นโลหะที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ตรวจพบในปริมาณสูงที่สุด พบว่าการตกค้างของโครเมียมและเหล็กเกิดขึ้นมากที่สุดในตัวอย่างของทั้งผลที่ pH 4.5 โดยสามารถตรวจวัดได้ 2.13 และ 40.30 mg/kg ของน้ำหนักแห้งตามลำดับ เมื่อย้อมสีผลที่ค่า pH ที่แตกต่างกัน 2.5, 3.5 และ 4.5 ความเข้มข้นของเหล็กและโครเมียมกลับไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P > 0.05) การใช้สารร่วมกับการย้อมสีผลละมุดนั้นพบว่า การใช้น้ำมะนาวร่วมในการย้อมทำให้เกิดการตกค้างของโครเมียมมากที่สุดจากส่วนของเปลือกที่ 2.77 mg/kg ของน้ำหนักแห้ง ในขณะที่การใช้น้ำส้มสายชูร่วมในการย้อมทำให้เกิดการตกค้างของเหล็กมาที่สุดจากตัวอย่างของทั้งผลที่ 50.70 mg/kg ของน้ำหนักแห้ง
จากการศึกษาการตกค้างในตัวอย่างผลละมุดที่เก็บจากพื้นที่ที่ย้อมสีผลละมุดเพื่อการขายส่งพบว่าการเก็บรักษาผลละมุดที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสมีการตกค้างของโครเมียมของการเก็บที่ระยะเวลา 0 และ 2 วัน และไม่สามารถตรวจวัดได้ในตัวอย่างที่เก็บเกินกว่า 2 วัน โดยสามารถตรวจพบปริมาณการตกค้างของโครเมียมสูงที่สุดในส่วนของเปลือกของตัวอย่างที่ย้อมสีเข้มที่เก็บที่ระยะเวลา 0 วัน (2.77 mg/kg ของน้ำหนักแห้ง) และการตกค้างของเหล็กพบสูงที่สุดในส่วนของเปลือกของตัวอย่างที่ย้อมสีเข้มทีเก็บที่ระยะเวลา 0 วัน (50.70 mg/kg ของน้ำหนักแห้ง) ขณะที่การเก็บรักษาผลละมุดที่อุณหภูมิห้องสามารถทำการศึกษาได้เฉพาะการเก็บรักษาที่ระยะเวลาของการเก็บที่ 0 และ 2 วัน เท่านั้น เนื่องจากเกิดการเน่าเสียของผลละมุดหลังการเก็บรักษาเกินกว่า 2 วัน ปริมาณการตกค้างของโครเมียมสามารถตรวจพบของระดับการย้อมสีเข้ม ตั้งแต่ตรวจไม่พบ (ค่าต่ำสุดของการตรวจวิเคราะห์ เท่ากับ 0.05 mg/kg) ถึง 0.88 mg/kg ของน้ำหนักแห้งตามลำดับ และตั้งแต่ตรวจไม่พบ ในตัวอย่างที่ย้อมสีปานกลาง ปริมาณการตกค้างของเหล็กที่ย้อมสีเข้มและปานกลางสามารถตรวจพบที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 2.20 ถึง 50.70 และ ในระดับที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ (ค่าต่ำสุดของการตรวจวิเคราะห์ เท่ากับ 0.05 mg/kg) ถึง 17.90 mg/kg ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ จากการเปรียบเทียบปริมาณการตกค้างของโครเมียมกับมาตรฐานการปนเปื้อนในอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 0.05-0.20 mg/kg พบว่ามีปริมาณการตกค้างที่สูงกว่าค่าความปลอดภัยทั้งส่วนของเปลือก เนื้อ และทั้งผล ที่เก็บรักษาคุณภาพผลทั้งสองอุณหภูมิของผลละมุดที่ย้อมสีผลทุกระดับของการย้อม ขณะที่ผลการเปรียบเทียบปริมาณการตกค้างของเหล็กกับมาตรฐานการปนเปื้อนในอาหารของประเทศออสเตรเลียที่ 200 mg/kg พบว่าปริมาณการตกค้างของตัวอย่างทั้งหมดมีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน
สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร
ชื่อเรื่อง : การศึกษาการผลิตไส้อั่วปลาหมักอิมัลชั่น
ผู้วิจัย : นางสาวปิยะมาศ คำทิพย์
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ ด่านดำรงรักษ์
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษา แหล่งหัวเชื้อเริ่มต้น อุณหภูมิ และระยะเวลา ที่เหมาะสมในการผลิตไส้อั่วปลาหมัก การแยกเชื้อบริสุทธิ์และการทดสอบความสามารถในการสร้างกรดอาหารเลี้ยงเชื้อจากธรรมชาติที่ใช้เพาะเลี้ยงแลคติคแอสิดแบคทีเรีย การทดสอบกระบวนการหมักด้วย หัวเชื้อบริสุทธิ์ การตรวจหา Salmonella spp. และการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ
จากการวิจัย พบว่า การใช้หัวเชื้อเริ่มต้นจากแหนม หมักที่อุณหภูมิ 30 °C เป็นเวลา 4 – 6 ชั่วโมง ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากที่สุด โดยมีปริมาณกรดเท่ากับร้อยละ 0.90 และมีความเป็นกรดด่างเท่ากับ 4.27 เมื่อทำการหมักไส้อั่วปลาหมักอิมัลชั่นด้วยหัวเชื้อบริสุทธิ์ผสมที่แยกได้จากแหนมที่มีความสามารถในการสร้างกรดได้สูงแต่ละสกุล คือ Lactobacillus , Pediococcus และ Streptococcus ในอัตราส่วน 50: 30: 20 ทำการหมักที่อุณหภูมิ 30°C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง พบว่าปริมาณกรดแลคติค เท่ากับร้อยละ 0.82 และมีค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 4.63 ที่ 4 ชั่วโมง จำนวนจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นจาก 32 x 104 cfu/ml ที่ 0 ชั่วโมง เป็น 80 x 106 cfu / ml ที่ 4 ชั่วโมง ชนิดของจุลินทรีย์ที่แยกได้จากแหนมพบเชื้อทั้งหมด 32 isolate อยู่ในจีนัสของ Lactobacillus 12 islate , Pediococcus 17 isolate และ Streptococcus 3 isolate และมีความสามารถในการสร้างกรดแลคติคได้สูงสุดตามลำดับ เมื่อนำหัวเชื้อเริ่มต้นจากแหนมไปทดสอบในการเพาะเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ 3 ชนิด ที่อุณหภูมิ 30°C เป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่าน้ำมะเขือเทศที่มีการเติมน้ำตาลทรายร้อยละ 2 ร่วมกับ การเติมน้ำซาวข้าวร้อยละ 6 เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมที่สุดที่ใช้เพาะเลี้ยงแลคติคแอสิดแบคทีเรียจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นจาก 26 x 105 cfu / ml ที่ 0 ชั่วโมง เป็น 145 x 105 cfu / ml ที่ 48 ชั่วโมง อย่ามีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์พบว่า ไม่ตรวจพบ Salmonella spp. และผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนถึงร้อยละ 21 ชื่อเรื่อง : การผลิตเอนไซม์เซลลูเลสจากวัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยโดย Aspergilus niger ผู้วิจัย : นางสาววรรณภา ยงสุวรรณไพศาล ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.วารินทร์ พิมพา ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตเอนไซม์เซลลูเลสจาก A. niger BK 19 โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยจากครัวเรือนที่ผลิตกล้วยตากในเขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งคาร์บอนในสภาวะการหลักแบบอาหารเหลว ทำการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการผลิตเอนไซม์เซลลูเลส ได้แก่ pH เริ่มต้นของอาหารเลี้ยงเชื้อ อุณหภูมิที่ใช้ในการหมัก ปริมาณและขนาดของอนุภาคของเปลือกกล้วยบดอบแห้ง ชนิดและปริมาณของแหล่งไนโตรเจน และแหล่งคาร์บอนอื่นที่ใช้เป็นสารชักนำ ทำให้เอนไซม์บริสุทธิ์บางส่วนโดยการตกตะกอนเอนไซม์ด้วยแอมโมเนียซัลเฟต วิเคราะห์หาลักษณะเฉพาะของเอนไซม์ ได้แก่ pH และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานของเอนไซม์ ความเสถียรต่อ pH และอุณหภูมิ การเกิดปฏิกิริยาแซคคาริฟิเคชัน และการประยุกต์ใช้เอนไซม์ในการทำให้น้ำผลไม้ใส จากการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตเอนไซม์เซลลูเลสโดยรา A. niger BK 19 ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ประกอบด้วย (กรัม/ลิตร) เปลือกกล้วยอบบดแห้ง (ขนาดอนุภาค 450 – 850 ไมโครเมตร) 30; KH2PO410; NaNO3 5; yeast extract 1 และ MgSO4.7H2O 0.25 ที่ pH เริ่มต้น 5.0 และอุณหภูมิห้อง (3 ± 2°C) จะได้ค่ากิจกรรมเอนไซม์สูงสุดเท่ากับ 413 ± 138 ยูนิต/ลิตร คิดเป็นปริมาณผลผลิตเท่ากับ 10.32 ยูนิต/กรัม ของเปลือกกล้วยอบบดแห้ง และเมื่อเติมแลคโตสที่ความเข้มข้น 10 กรัม/ลิตร จะชักนำให้มีการผลิตเอนไซม์เพิ่มขึ้น 3.1 เท่า โดยมีค่า กิจกรรมเอนไซม์เท่ากับ 1279 ± 268 ยูนิต/ลิตร หรือปริมาณผลผลิตเท่ากับ 31.97 ยูนิต/กรัม ของเปลือกกล้วยอบบดแห้ง เอนไซม์เซลลูเลสจากรา A.niger BK 19 สามารถตกตะกอนให้เอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วยแอมโมเนียซัลเฟตที่อิ่มตัวร้อยละ 60 มี pH และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานที่ 5.0 และ 50 องศาเซลเซียส และมีความเสถียรในช่วย pH 5.0 – 6.0 มีค่าร้อยละของการเกิดปฏิกิริยา แซคคาริฟิเคชันสูงสุดที่เวลา 4 ชั่วโมง เท่ากับ 50 และสามารถประยุกต์ใช้ในการทำให้น้ำแอปเปิลและน้ำส้มใสได้ โดยสามารถลดความขุ่นของน้ำแอปเปิลและน้ำส้มได้มากกว่าร้อยละ 90 และ 78 ตามลำดับ ชื่อเรื่อง : สภาวะที่เหมาะสมในการผลิตตาลสุกผงโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอย ผู้วิจัย : ว่าที่ ร.ต.หญิงสุภารัตน์ ช่างล้อ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ ด่านดำรงรักษ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยนี้ ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้งเนื้อตาลสุกแบบพ่นฝอย โดยศึกษาระดับความเข้มที่เหมาะสมในการเตรียมสารละลายตาล 4 ระดับ คือ ความเข้มข้นร้อยละ 3.0, 3.5, 4.0 และ 4.5 ศึกษาระดับอุณหภูมิลมเข้า 4 ระดับ คือ 140°C, 160°C, 180°C และ 200°C ศึกษาอัตราการป้อนเข้าสารละลาย feed ที่ 3 ระดับ คือ 15, 20 และ 25 รอง/นาที และศึกษาชนิดและอัตราส่วนผสมของ anticaking agent 4 ชนิด คือ มอลโทเด็กซ์ทริน ดีอี 10 และ ดีอี 17 แป้งข้าวโพด และแป้งข้าวเจ้า ชนิดละ 3 ระดับ คือ 40 : 60, 50 : 50 และ 60 : 40 พบว่าที่ระดับความเข้มข้นของเนื้อตาลร้อยละ 4.5 มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการเตรียม สารละลาย feed สภาวะของการอบแห้งที่เหมาะสม คือ อณหภูมิลมเข้า 160 °C อัตราการไหลของสารละลาย 0.71 มิลลิลิตร/นาที ความเร็วรอบของการปั๊มของเหลว 25 รอบ/นาที ชนิดและอัตราส่วนผสมของ anticaking agent ที่เหมาะสม คือ มอลโทเด็กซ์ทริน ดีอี 10 แป้งข้าวโพด และแป้งข้าวเจ้าที่อัตราส่วน 60 : 40 และมอลโทเด็กซ์ทริน ดีอี 17 ที่อัตราส่วน 40 : 60 ให้ค่าสีเหลืองมากกว่าอัตราส่วนอื่น เมื่อนำผงตาลที่ได้ไปทำการวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี พบว่า ผงตาลที่ใช้แป้งข้าวเจ้าเป็น anticaking agent มีปริมาณ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต มากที่สุด เยื่อใยพบมากในแป้งข้าวโพด ส่วนเถ้าพบใน มอลโทเด็กซ์ทริน ดีอี 10 มากที่สุด คุณสมบัติทางกายภาพ พบว่าผงตาลที่ใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนผสมมีค่า Bulk density, Rehydration และ Solubility มากที่สุด ส่วนค่า water solubility index (WSI,%) และค่า water absorption index (WAI กรัมกรัม) ของตาลผงที่ได้จากการใช้มอลโทเด็กซ์ทริน ดีอี 17 มีค่ามากที่สุด ในขณะที่ผงตาลที่ คัดเลือกได้ไปทำขนมตาลพบว่าสูตรที่ 1 มีการยอมรับมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า 11.46% แป้งสาลี 11.46% ยีสต์ผง 0.76% ผงฟู 0.64% กะทิผง 1.66% น้ำตาลทราย 19.10% เกลือ 0.113% ตาลผง 3.82% น้ำ 50.96% และขนมตาลที่ผลิตจากผงตาลที่ใช้แป้งข้าวโพดเป็น anticaking agent มีการยอมรับมากกว่าขนมตาลจากตัวอย่างอื่น ผลการทดสอบใช้ตาลผงที่มีแป้งข้าวโพดเป็นส่วนผสมในการทำขนมกราลกึ่งสำเร็จรูป ตลอดระยะอายุการเก็บ 90 วัน พบว่าขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณความชื้น ค่า Aw และค่า TBA เพิ่มขึ้นตาม ระยะเวลาการเก็บ แต่ค่า Aw ยังต่ำกว่าตรวจไม่พบกลิ่นหืน และยังสามารถนำมาทำขนมตาลได้คุณภาพดี ชื่อเรื่อง : การศึกษาการสกัดและสมบัติทางหน้าที่ของโปรตีนเข้มข้นจากรำข้าว ผู้วิจัย : นางสาวขวัญหญิง คุ้มทองหลาง ประธานที่ปรึกษา : ดร. สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน กรรมการที่ปรึกษา : ดร. เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ รำข้าว เป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการผลิตข้าวขาว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงได้แก่ โปรตีน ไขมัน เยื่อใย เกลือแร่ และวิตามิน แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรำข้าวน้อยมาก ดังนั้นในการใช้ประโยชน์จากโปรตีนในรำข้าวนั้น จำเป็นต้องมีการสกัดแยกโปรตีนดังกล่าวออกมาก่อน การศึกษาครั้งนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการใช้ประโยชน์ของโปรตีนจากรำข้าว วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อ (1) ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโปรตีนเข้มข้นจากรำข้าว โดยการสกัดโดยการใช้สารเคมี (NaOH, HCl) และการสกัดโดยการใช้เอนไซม์ (Filtrase® BR) โดยใช้การวางแผนการทดลองแบบ CCD จากนั้นเลือกสภาวะการสกัดที่ดีที่สุดของแต่ละวิธีมาใช้ร่วมกัน ทำโดยสกัดโดยการใช้เอนไซม์ก่อนจากนั้นตามด้วยการสกัดโดยการใช้สารเคมี และ (2) ศึกษาสมบัติทางหน้าที่ของโปรตีนเข้มข้นที่สกัดได้ ได้แก่ ความสามารถในการละลายได้ กำลังการเกิดฟอง และกำลังการเกิดอิมัลชัน พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโดยวิธีการใช้สารเคมี คือ ที่ pH 11 ระยะเวลาในการสกัด 45 นาที ได้ปริมาณโปรตีน 73.03% และปริมาณ ผลผลิต 12.20% สภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโดยวิธีการใช้เอนไซม์คือ ปริมาณเอนไซม์ 0.5% ระยะเวลาในการสกัด 40 นาที ได้ปริมาณโปรตีน 69.16% และปริมาณผลผลิต 8.06% การสกัดโดยวิธีการร่วมกันได้ปริมาณโปรตีน 73.59% และปริมาณผลผลิต 10.15% โปรตีนเข้มข้นที่สกัดได้จากทั้ง 3 วิธี มีค่าการละลายต่ำที่สุดที่ pH 4 ที่ pH ที่มีค่าต่ำและสูงกว่า 4 ความสามารถในการละลายได้เพิ่มมากขึ้น ที่ช่วง pH 6-12 วิธีการสกัดโดยการใช้เอนไซม์ และวิธีการร่วมกัน มีค่าการละลายได้ไม่แตกต่างกัน แต่มีค่าสูงกว่าวิธีการสกัดโดยวิธีการใช้ สารเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สมบัติด้านกำลังการเกิดฟองของโปรตีนเข้มข้นที่สกัดจากทั้ง 3 วิธี ให้ค่ากำลังการเกิดฟองต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กับ Egg white albumin (520%) ค่ากำลังการเกิดฟองของโปรตีนที่สกัดโดยการใช้เอนไซม์มีค่าสูงเท่ากับการสกัดโดยวิธีร่วมกันซึ่งมีค่า 174% การสกัดโดยการใช้สารเคมีมีค่า 66% สมบัติด้านกำลังการเกิดอิมัลชัน ของโปรตีนเข้มข้นที่สกัดได้จากทั้ง 3 วิธี ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) กับ Bovine serum albumin (49.20%) โดยที่การสกัดโดยใช้เอนไซม์ให้ค่าสูงสุด รองลงมาคือวิธีการร่วมกัน และวิธีการใช้สารเคมีให้ค่าต่ำสุด ค 48.84, 48.49 และ 47.61% ตามลำดับ จากข้อมูลข้างต้นสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำโปรตีนเข้มข้นที่สกัดได้จากรำข้าวไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสมบัติทางหน้าที่ต่อไป
ชื่อเรื่อง : การหมักผลิตภัณฑ์คล้ายนมเปรี้ยวจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิ
ผู้วิจัย : นางจุฑามาศ ถิระสาโรช
ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง แสงอ่อน
ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(อุตสาหกรรมเกษตร)
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิ โดยการคัดเลือกสายพันธุ์เชื้อ Lactic acid bacteria (LAB) ที่เหมาะสมจากแป้งหมักขนมจีน ศึกษาอิทธิพลของชนิดและความเข้มข้นของน้ำตาล ความเข้มข้นของหางนมผง ชนิดและอัตราส่วนของหัวเชื้อ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า pH, ปริมาณกรดแลคติค และจำนวนเชื้อ LABระหว่างการหมักนมเปรี้ยวจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิ โดยคัดเลือกปัจจัยเหล่านี้ที่เหมาะสมต่อการหมักมาใช้ในกระบวนการผลิตนมเปรี้ยวจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิ ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี ทางจุลชีววิทยา และทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ และนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอแนะแนวทางในการผลิตนมเปรี้ยวจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิต่อไปผลการคัดแยกเชื้อ LAB จากแป้งหมักขนมจีน สามารถแยกเชื้อ LAB ได้ทั้งสิ้น 25ไอโซเลต จากนั้นนำเชื้อดังกล่าวมาทดสอบประสิทธิภาพการหมักและการทนเกลือน้ำดี ผลการศึกษาพบว่าเชื้อ LAB 3 ไอโซเลตมีความสามารถในการผลิตกรดได้สูง และทนเกลือน้ำดีได้ 1 % เมื่อนำเชื้อดังกล่าวมามาปลูกลงในน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิพบว่าเชื้อ Lactobacillus sp (รหัส A1)สามารถผลิตกรดแลคติคได้สูงสุดที่อุณหภูมิ 37oC นาน 24 ชั่วโมง โดยผลิตกรดได้สูง 0.82%(p<0.05) น้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิเตรียมได้จากการละลายแป้งข้าวกล้องหอมมะลิกับน้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1 : 2 สกัดที่ 50oC นาน 10 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง และฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่ 82oC นาน 15 นาที ลดอุณหภูมิลงที่ 37oC ผลการศึกษาอิทธิพลของชนิดและความเข้มข้นของน้ำตาล 3 ชนิด คือซูโครส, กลูโคส และ Banana syrup ที่ระดับ 0, 3, 5 และ 7%(W/V) ที่เติมลงในน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิที่เตรียมด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้ว และหมักด้วยเชื้อรหัส A1 ผลการศึกษาพบว่า Banana syrup 5 และ 7% มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการผลิตกรดแลคติคอยู่ในช่วง 0.62 – 0.63%(p>0.05) เมื่อปรับสูตรน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิด้วย Banana syrup 5% และทดสอบอิทธิพลความเข้มข้นของหางนมผงที่ระดับ 0, 3, 6 และ 9%(W/V) ผลการศึกษาพบว่าที่ 9 ชั่วโมงของการหมัก ความเข้มข้นของหางนมผง 6 และ 9% มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการผลิตกรดแลคติคที่ไม่แตกต่างกัน โดยอยู่
ในช่วง 0.40 – 0.41% และพบว่าน้ำนมสูตรที่เติม Banana syrup 5% และหางนมผง 6% เมื่อหมักด้วยเชื้อ YC-350 (L. bulgaricus และ S. thermophillus) มีประสิทธิภาพในการผลิตกรดไม่แตกต่างจาก 9%
คือมีปริมาณกรดแลคติค 0.94 และ 1.27 ตามลำดับ แต่เชื้อรหัส A1 มีอัตราการเจริญของเชื้อสูงสุดเมื่อเติมหางนมผง 6% โดยมีจำนวนเชื้อสูงสุด 8.3 Log cfu/ml (p<0.05) การศึกษาอิทธิพลของอัตราส่วนหัวเชื้อระหว่างเชื้อ YC-350 : A1 ในอัตราส่วน 1 : 0, 1 : 1 และ 2 : 1 หมักด้วยน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิสูตรที่เติม Banana syrup 5% และหางนมผง 6% หมักที่ 37oC ผลการศึกษาพบว่าที่ 9 ชั่วโมงของการหมักอัตราส่วน 2 : 1 ให้ค่า pH ต่ำสุด, ปริมาณกรดสูงสุด และจำนวน LAB สูงสุด (p<0.05) คือมีค่า pH 3.95 ปริมาณกรดแลคติค 1.39 จำนวน LAB 9.4 รองลงมาคืออัตราส่วน 1 : 1 มีค่า pH 4.07 ปริมาณกรดแลคติค 1.27 และจำนวน LAB 8.9 Log cfu/ml ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในด้านความประหยัด และปริมาณ โปรไบโอติค ที่มีชีวิตรอดในผลิตภัณฑ์ควรเลือกใช้หัวเชื้อ YC-350 : A1 ในอัตราส่วน 1 : 1 ผลการศึกษาการตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลชีววิทยาของ นมเปรี้ยว พบว่าสูตรที่ใช้หัวเชื้อ 1 : 1 ลักษณะโปรตีนมีการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันไม่แยกชั้น มีสีขาวอมชมพูอ่อน ความข้นหนืด 165.5 cps .ปริมาณกรดแลคติค 1.32% ค่า pH เท่ากับ 3.84 ปริมาณของแข็ง 11.86% ปริมาณโปรตีน 2.15% ปริมาณไขมัน 0.34% ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 9.63% ปริมาณยีสต์และรา น้อยกว่า 10 cfu/ml และประมาณโคลิฟอร์ม (MPN) น้อยกว่า 3 cfu/ml ผลการทดสอบทางประสาทสัมผัสของนมเปรี้ยว เมื่อนำนมเปรี้ยวดังกล่าวมาปรับความหวานด้วยน้ำเชื่อม 28oBrix ในอัตราส่วน 30 : 70, 40 : 60, 50 : 50, 60 : 40 และ 70 : 30 พบว่าอัตราส่วน 50 : 50 ได้รับการยอมรับคุณลักษณะทางด้านสี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และการยอมรับรวมของผลิตภัณฑ์มากที่สุด (p<0.05) จากการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ผลที่ได้สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์คล้ายนมเปรี้ยวพร้อมดื่มจากน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิต่อไป ชื่อเรื่อง : การปรับปรุงคุณภาพของโดนัทเค้กโดยใช้แป้งข้าวเจ้าและ แป้งข้าวพรีเจลาติไนซ์ทดแทนแป้งสาลี ผู้วิจัย : นางสาวอุมาภรณ์ อภิชาชาญ ที่ปรึกษา : ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ โดนัทเค้กเป็นอาหารทอดซึ่งปกติจะผลิตจากแป้งสาลี ในระหว่างการทอด โดนัทเค้กจะมีการดูดซับน้ำมันประมาณร้อยละ 24 ถึง 26 การบริโภคน้ำมันมากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อ ร่างกาย เช่นโรคอ้วน งานวิจัยนี้ทำการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพของโดนัทเค้กโดยใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ทดแทนแป้งสาลี โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อลดปริมาณน้ำมันที่ดูดซับในโดนัท และมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ คือ (1) คัดเลือกแป้งข้าวเจ้าที่มีปริมาณอะมัยโลสทีเหมาะสมในการผลิตโดนัทเค้ก (2) ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ และ (3) ศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างแป้งสาลี แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ ใน การผลิตโดนัทเค้ก วิธีการทดลองทำโดยนำแป้งข้าวเจ้า 2 ชนิด ที่มีปริมาณอะมัยโลส ร้อยละ 15 และ 24 มาทำการศึกษาสมบัติทางกายภาพ เคมี รวมทั้งทดสอบความแน่นเนื้อของโดนัทเค้กที่ผลิตโดยแป้งข้าวเจ้าทั้ง 2 ชนิด จากนั้นนำแป้งข้าวเจ้าที่คัดเลือกได้ มาศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ โดยใช้เครื่องทำแห้งแบบลูกกลิ้งคู่ ศึกษาสภาวะต่าง ๆ ที่มีผลต่อการผลิต ได้แก่ ระยะห่างระหว่างลูกกลิ้ง (0.08 และ 0.25 มิลลิเมตร) ความเร็วรอบของลูกกลิ้ง (12 และ 18 รอบต่อนาที) รวมทั้งศึกษาปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละสภาวะ ขั้นตอน สุดท้ายเป็นการหาอัตราส่วนที่เหมาะสมในการผลิตโดนัทเค้ก โดยการทดแทนแป้งสาลีด้วยแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ โดยออกแบบการทดลองด้วยวิธี Mixture design และปริมาณการใช้แป้งแต่ละชนิด คือ แป้งสาลีร้อยละ 40 – 60 แป้งข้าวเจ้าร้อยละ 30 – 40 แป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ร้อยละ 10 – 20 คัดเลือกสูตรโดนัท โดยการทดสอบทางประสาทสัมผัส วิเคราะห์ค่าความชื้น ไขมันและโปรตีนในผลิตภัณฑ์ ผลการทดลองพบว่า ได้คัดเลือกแป้งข้าวเจ้าที่มีอะมัยโลสร้อยละ 24 เนื่องจาก ให้ค่าการ คืนตัวต่ำและสามารถดูดซับน้ำได้มากกว่าแป้งข้าวเจ้าที่มีปริมาณอะมัยโลสต่ำ การวิเคราะห์ทางกายภาพเคมีของแป้งอะมัยโลสร้อยละ 24 พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในด้านปริมาณความชื้น โปรตีนและความแน่นเนื้อ จากแป้งที่มีอะมัยโลสร้อยละ 15 เมื่อ นำแป้งที่มีอะมัยโลสร้อยละ 24 มาผลิตเป็นแป้งพรีเจลาติไนซ์ โดยสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตคือความดันไอน้ำ 40 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ระยะห่างระหว่างลูกกลิ้ง 0.25 มิลลิเมตร ความเร็วรอบของลูกกลิ้ง 12 รอบต่อนาที ได้ปริมาณ ผลผลิตร้อยละ 88 นำแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ที่ผลิตได้ใช้เป็นส่วนผสมในการทำโดนัทเค้ก พบว่าสูตรที่ได้รับการคัดเลือกมีอัตราส่วนของ แป้งสาลี : แป้งข้าวเจ้า : แป้งข้าวเจ้าพรีเจลาติไนซ์ เท่ากับ 55 : 30 : 15 เนื่องจากได้รับคะแนนความชอบในด้านลักษณะเซลล์อากาศ กลิ่น เนื้อสัมผัส รสชาติ และการยอมรับรวมสูงสุดจากสูตรโดนัทที่ผลิตขึ้นทั้งหมด รวมทั้งมีปริมาณไขมันต่ำกว่าโดนัทสูตรควบคุมที่ผลิตจากแป้งสาลีล้วน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในการสำรวจความชอบของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 50 คน ที่ทดสอบโดนัทเค้กที่ผลิตจากแป้งสาลีล้วน ผลจากการศึกษานี้สามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำและผลการทดแทนแป้งข้าวเจ้าแทนแป้งสาลีบางส่วนเป็นการช่วยลดการนำเข้าแป้งสาลีจากต่างประเทศได้ ชื่อเรื่อง : การรอดชีวิตของแบคทีเรียก่อโรคที่มีอาหารเป็นสื่อ ในการหมัก ผักกาดเขียวปลี โดยใช้แบคทีเรียแลกติก ผู้วิจัย : นางสาวลชินี ปานใจ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญส่ง แสงอ่อน ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปริมาณแบคทีเรียแลกติกที่ทนเกลือน้ำดี, ยีสต์และราที่พบในผักกาดเขียวปลีดอง ในจังหวัดพิษณุโลก ศึกษาการใช้เชื้อบริสุทธิ์กลุ่มแบคทีเรียแลกติก ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการหมัก และศึกษาอัตราการรอดชีวิตของ Enterotoxigenic E. coli (ETEC) และ Salmonella sp.gr.E ที่ปลูกลงในกระบวนการผลิตผักกาดเขียวปลีดอง และหมักด้วยแบคทีเรียแลกติก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอแนวทางในการพัฒนาความปลอดภัยและ คุณภาพของผักกาดเขียวปลีดองต่อไป การสำรวจคุณภาพทางเคมีและจุลชีววิทยา ของผักกาดเขียวปลีดองในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า pH มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.92 ปริมาณกรดแลกติกมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.99 เปอร์เซ็นต์จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10.58 LogCFU/ml. จำนวนแบคทีเรียแลกติกที่ทนเกลือน้ำดี 1.5 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.43 LogCFU/ml. และจำนวนยีสต์และรา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.07 LogCFU/ml. เมื่อนำแบคทีเรียแลกติกที่ทนเกลือน้ำดี 1.5 เปอร์เซ็นต์ ไปศึกษาประสิทธิภาพในการสร้างกรด พบว่า เชื้อไอโซเลทที่ 8 สามารถสร้างกรดได้สูงสุด คือเท่ากับ 4.01 เปอร์เซ็นต์ และนำเชื้อดังกล่าวไปศึกษาคุณสมบัติทางสัณฐานวิทยาและทางชีวเคมีพบว่าคล้าย Lactobacillus plantarum หลังจากนั้นนำเชื้อ L8 ที่ได้จากการคัดเลือก และที่ได้จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (TISTR No. 877) มาหมักผักกาดเขียวปลี พบว่า ที่ 72 ชั่วโมงของการหมักมี pH ประมาณ 3.1, ปริมาณกรดทั้งหมดประมาณ 1.1 เปอร์เซ็นต์, จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดประมาณ 10.1 LogCFU/ml. และจำนวน แบคทีเรียแลกติกประมาณ 9.8 LogCFU/ml. ส่วน ที่ 6 ชั่วโมงของการหมัก จำนวน E. coli ลดลงประมาณ 1 log cycle (90เปอร์เซ็นต์) (จากประมาณ 3.58 -2.39 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ E. coli ที่ 24 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนที่ 24 ชั่วโมงของการหมัก จำนวน Salmonella sp. ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จากประมาณ 2.70 – 1.95 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella sp. ที่ 30 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนการหมักแบบธรรมชาติ พบว่าที่ 72 ชั่วโมงของการหมัก มี pH เท่ากับ 3.9, ปริมาณกรดทั้งหมดเท่ากับ 0.8 เปอร์เซ็นต์ จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดเท่ากับ 9.79 LogCFU/ml. และจำนวนแบคทีเรียแลกติกเท่ากับ 8.8 LogCFU/ml. ส่วน จำนวน E. coli ที่ 18 ชั่วโมง ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จาก 3.94 – 2.89 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ E. coli ที่ 42 ชั่วโมง ส่วนที่ 48 ชั่วโมงของการหมัก จำนวน Salmonella sp. ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จากประมาณ 2.66 – 1.39 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella sp. ที่ 54 ชั่วโมงของการหมัก หลังจากนั้นนำมาทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อ E. coli (ETEC) พบว่า ที่ 6 ชั่วโมงของการหมักโดยใช้เชื้อ L8 มีจำนวน E. coli (ETEC) ลดลงประมาณ 2 log cycle (99 เปอร์เซ็นต์) (จาก 6.8 – 4.7 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ E. coli (ETEC) ที่ 36 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนเชื้อ TISTR No. 877 พบว่า ที่ 6 ชั่วโมงมีจำนวน E. coli (ETEC) ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จาก 6.5 – 5.1 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ E. coli (ETEC) ที่ 30 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนการหมักแบบธรรมชาติ พบว่าที่ 12 ชั่วโมงของการหมักมีค่าลดลงประมาณ 2 log cycle (99เปอร์เซ็นต์) (จาก log 6.9 – log 4.6 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ E. coli (ETEC) ที่ 42 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนการทดสอบ ประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อ Salmonella sp. gr.E พบว่า ที่ 6 ชั่วโมงของการหมักโดยใช้เชื้อ L8 มีจำนวน Salmonella sp. gr.E ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จาก 6.9 – 5.8 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella sp. gr.E ที่ 8 ชั่วโมงของการหมัก ส่วนเชื้อ TISTR No.877 พบว่า ที่ 12 ชั่วโมงมีค่าลดลงประมาณ 3 log cycle (จาก 6.6 – 3.5 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella sp. gr.E ที่ 30 ชั่วโมงของการหมัก และการหมักแบบธรรมชาติ พบว่า ที่ 12 ชั่วโมงของการหมัก มีจำนวน Salmonella sp. gr.E ลดลงประมาณ 1 log cycle (90 เปอร์เซ็นต์) (จาก 6.9 – 5.6 LogCFU/ml.) และตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella sp. gr.E ที่ 54 ชั่วโมงของการหมัก ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การใส่เชื้อ Lactobacillus plantarum ทั้ง 2 สายพันธุ์ ในการหมักผักกาดเขียวปลี เพื่อควบคุม E. coli และ Salmonella sp. ที่ปนเปื้อนในผักกาดเขียวปลีดอง มีผลดีกว่าการหมักแบบธรรมชาติ และทำให้ผักกาดเขียวปลีดองเปรี้ยวเร็วกว่าการหมักแบบธรรมชาติ และไม่พบการเน่าเสียจากราและยีสต์ ชื่อเรื่อง : ภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำตาลสดผงโดยใช้เครื่องอบแห้ง แบบพ่นฝอย ผู้วิจัย : นางสุธรรมา พิสุทธิโสภณ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ ด่านดำรงรักษ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม.(อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำตาลสดผงโดย ใช้เครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอยชนิดหัวฉีดพ่นฝอยแบบจานหมุน โดยศึกษาอุณหภูมิลมร้อนเข้า 3 ระดับ คือ 100, 110 และ 120 องศาเซลเซียส อัตราการป้อน 3 ระดับ คือ 9.6, 17.4 และ 25.2 มล./นาที ความเข้มข้นเริ่มต้นของสารป้อน 3 ระดับ คือ 40, 45 และ 50 องศาบริกซ์ ใช้การทดลองแบบ 33 Factorial design in Randomized Complete Block Design คัดเลือกภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำตาลสดผงมาทำการศึกษาปริมาณมอลโตเด็กซ์ตริน DE 10 ในการใช้เป็นสารช่วยทำแห้ง (drying aid agent) โดยศึกษาอัตราส่วนผสมของมอลโตเด็กซ์ตริน DE 10 ต่อปริมาณของแข็งที่ละลายได้ในน้ำตาลสด 3 อัตราส่วน คือ 30 : 70, 40 : 60 และ 50 : 50 น้ำหนักต่อน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ ทางจุลินทรีย์ และทางด้านประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดผงที่ผลิตได้ ทดสอบการนำน้ำตาลสดผงที่ผลิตได้ไปใช้แทนน้ำตาลปึกในการทำขนมลอดช่องน้ำกะทิและขนมถ้วย และคำนวณต้นทุนการผลิตน้ำตาลสดผงที่ผลิตได้ จากผลการทดลอง พบว่า น้ำตาลสดที่ได้จากต้นตาลโตนด (Borassus flabellifer L.) มีปริมาณความชื้น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เถ้า และ ไขมัน ร้อยละ 84.17, 15.24, 0.35, 0.16 และ 0.08 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำตาลสดผงแบบพ่นฝอย คือ อุณหภูมิลมร้อนเข้า 110 องศาเซลเซียส อัตราการป้อน 17.4 มล./นาที ความเข้มข้นเริ่มต้นของสารป้อน 45 องศาบริกซ์ โดยอัตราส่วนผสมของมอลโตเด็กซ์ตริน DE 10 ต่อปริมาณของแข็งที่ละลายได้ในน้ำตาลสด คือ 40 : 60 (น้ำหนักต่อน้ำหนัก) ให้ผลิตภัณฑ์ผงที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ และ ทางด้านประสาทสัมผัสดีที่สุด ผลการวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ พบว่า มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต ความชื้น โปรตีน เถ้า ไขมัน และ เยื่อใย ร้อยละ 95.45, 1.89, 1.14, 0.87, 0.36 และ 0.29 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ซึ่งมีปริมาณความชื้นอยู่ในเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง และผลิตภัณฑ์ผงมีปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด (total plate count) รวมทั้งยีสต์และรา (PDA count) ปริมาณน้อยมาก จากการตรวจสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดผงที่นำไปใช้ในการผลิตขนม พบว่า ได้รับการยอมรับจากผู้ทดสอบชิมด้านสี กลิ่น รสชาติ และการยอมรับรวมมากกว่าตัวอย่างที่ใช้น้ำตาลปึก โดยผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดผงมีคะแนนการยอมรับรวมอยู่ในระดับชอบปานกลางถึงชอบมาก และต้นทุนการผลิตน้ำตาลสดผง 100 กรัม เท่ากับ 12.51 บาท ชื่อเรื่อง : การดัดแปรแป้งข้าวเหนียวเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมกงกึ่งสำเร็จรูป แช่เยือกแข็ง ผู้วิจัย : นายนภัสชล สนธิปักษ์ ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ ด่านดำรงรักษ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ม. (อุตสาหกรรมเกษตร) มหาวิทยาลัยนเรศวร 2547 บทคัดย่อ ขนมกงเป็นขนมพื้นบ้านของไทยมีแป้งข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบหลัก แต่เนื่องจากแป้งข้าวเหนียวเกิดรีโทรเกรเดชันได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ จึงทำให้ขนมกงที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมีคุณลักษณะที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ งานวิจัยนี้ศึกษาการดัดแปรแป้งข้าวเหนียวด้วยปฏิกิริยาอะซิทิเลชันเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของแป้งข้าวเหนียว โดยทำการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ คือ อุณหภูมิในการทำปฏิกิริยา 3 ระดับ คือ 30 40 และ 50 องศาเซลเซียส และช่วงพีเอช 7.5 – 8.0 8.0 – 8.5 8.5 – 9.0 และ 9.0 – 9.5 พบว่าที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และช่วงพีเอช 9.0 – 9.5 เป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการดัดแปรแป้งข้าวเหนียวและพบว่าปริมาณไวนิลอะซิเตทที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา อะซิทิเลชันมีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับปริมาณหมู่อะซิทิลในแป้งข้าวเหนียวดัดแปร จากการทดสอบสมการถดถอยโดยการเตรียมแป้งข้าวเหนียวดัดแปรให้มีปริมาณหมู่อะซิทิลตามที่กำหนด 3 ระดับ คือ ร้อยละ 0.2 0.6 และ 1.0 พบว่าปริมาณหมู่อะซิทิลของแป้งข้าวเหนียวดัดแปรที่ได้มีความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 2 จากการเปรียบเทียบคุณสมบัติของแป้งข้าวเหนียวดัดแปรกับแป้งข้าวเหนียว พบว่าแป้ง ข้าวเหนียวดัดแปรอยู่ในรูปเม็ดแป้งเป็นส่วนใหญ่ มีความสว่างลดลง มีสีแดงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิเริ่มเกิดความหนืดของแป้งข้าวเหนียวดัดแปรลดลง และความหนืดสูงสุดเพิ่มขึ้น แป้งข้าวเหนียวดัดแปรมีความสามารถในการละลายและกำลังการพองตัวมากขึ้น เมื่อผ่านการแช่เยือกแข็ง – ละลาย แป้งข้าวเหนียวดัดแปรจะสูญเสียความใสช้าลง และมีการแยกตัวของของเหลวน้อยลง ตามปริมาณหมู่อะซิทิลที่เพิ่มขึ้น เมื่อนำแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเหนียวดัดแปรไปทดสอบทำขนมกง พบว่าผู้ทดสอบให้คะแนนความยอมรับโดยรวมสูงสุดกับตัวอย่างขนมกงที่เตรียมจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเหนียวดัดแปรที่มีปริมาณหมู่อะซิทิลร้อยละ 1.0 ที่อัตราส่วน 50:50 และมีค่าแรงตัดสูงสุดเท่ากับ 0.76 kgf เมื่อนำไปทดสอบลักษณะเนื้อสัมผัสด้วยเครื่องวิเคราะห์เนื้อสัมผัส (Instron) คณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารพยาบาล ชื่อเรื่อง : ความสัมพันธ์ของปัจจัยบางประการกับความสุขสมบูรณ์ในชีวิต ของพยาบาลโรงพยาบาลกองทัพบก ผู้วิจัย : พันเอกหญิง มนทกานต์ สายหัสดี ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม โอทกานนท์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ พย.ม. (การบริหารการพยาบาล) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับความสุขสมบูรณ์ในชีวิตของพยาบาล โรงพยาบาลกองทัพบกและศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยบางประการกับความสุขสมบูรณ์ในชีวิตของพยาบาลโรงพยาบาลกองทัพบก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ พยาบาลที่ปฏิบัติงานใน โรงพยาบาลกองทัพบกทั้ง 4 กองทัพภาค (37 โรงพยาบาล) จำนวน 337 คนซึ่งได้จากการสุ่ม แบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามครอบคลุม ความสุขสมบูรณ์ในชีวิต 3 ด้าน คือ 1) ความสุขสมบูรณ์ด้านร่างกายและจิตใจ 2) ความสุขสมบูรณ์ด้านเศรษฐกิจและ 3) ความสุขสมบูรณ์ด้านสังคมและการงาน แบบสอบถามมีความตรงตามเนื้อหาและความเชื่อมั่น วิเคราะห์โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha’s Coefficient) ของ Cronbach ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม เท่ากับ .89 ผลการวิจัยพบว่า 1. พยาบาลโรงพยาบาลกองทัพบก มีความสุขสมบูรณ์ในชีวิตด้านร่างกายและจิตใจ , ด้านสังคมและการงานอยู่ในระดับมาก ด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางและเมื่อพิจารณาความสุขสมบูรณ์ในชีวิตของพยาบาลโรงพยาบาลกองทัพบกรายข้อแต่ละด้าน พบว่า ความสุขสมบูรณ์ในชีวิตทั้ง 3 ด้าน ที่อยู่ระดับปานกลาง ได้แก่ ความสุขสมบูรณ์ด้านร่างกายและจิตใจ จำนวน 10 ข้อ , ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 3 ข้อ , ด้านสังคมและการงาน จำนวน 3 ข้อ ซึ่งมีความสุขสมบูรณ์ในระดับปานกลาง ทั้งหมด จำนวน 16 ข้อ นี้ควรมีการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป 2. ความสุขสมบูรณ์ในชีวิตของพยาบาลโรงพยาบาลกองทัพบกมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งหน้าที่ , จานวนปีปฏิบัติงานและสถานภาพเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 ชื่อเรื่อง : ความขัดแย้งและการจัดการกับความขัดแย้งในองค์กรพยาบาล ของผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้วิจัย : นางยุวดี อัครลาวัณย์ ที่ปรึกษา : รศ.สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ พย.ม.(การบริหารการพยาบาล) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2547 บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สาเหตุและระดับของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กรพยาบาล วิธีการจัดการกับความขัดแย้งของผู้บริหารการพยาบาล ผลของการจัดการกับความขัดแย้ง และปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดการกับความขัดแย้งของหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รองหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล หัวหน้างาน รองหัวหน้างาน หัวหน้าหอผู้ป่วย รองหัวหน้าหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 116 คน เครื่องมือชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสาเหตุ และระดับของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กรพยาบาล สร้างโดย มณฑิกา แก้วทองคำ(2539) เครื่องมือชุดที่ 2 ใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความขัดแย้ง ที่วิภาดา คุณาวิกติกุล แปลและเรียบเรียงจากThomas-kilmann Conflict MODE และคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กรพยาบาล โรงพยาบาลชุมชนที่ศึกษา ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุของความขัดแย้งที่พบมากที่สุดในองค์กรพยาบาลได้แก่ การมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ผู้บริหารการพยาบาลพบว่า ระดับของความขัดแย้งโดยรวมทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง ระดับของความขัดแย้งในด้านทรัพยากรที่จำกัดอยู่ในระดับต่ำ ผู้บริหารการพยาบาลเลือกใช้วิธีการประนีประนอมในการจัดการกับความขัดแย้งมากที่สุด รองลงมาเป็นวิธีการหลีกเลี่ยง วิธีการร่วมมือ วิธีการปรองดอง และวิธีการแข่งขันตามลำดับ วิธีการจัดการการจัดการกับความขัดแย้งที่ได้ผลดีที่สุดคือ วิธีการร่วมมือซึ่งสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้ทุกสาเหตุ วิธีการที่ไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งให้หมดไปได้คือวิธีการหลีกเลี่ยง ผู้บริหารการพยาบาลเสนอว่า ปัจจัยเอื้อต่อการจัดการกับความขัดแย้ง ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคลที่ดีของบุคลากรและผู้บริหาร การบริหารจัดการที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วม การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และวัฒนธรรมขององค์กรที่มีความสามัคคี สำนึกรักองค์กร และมีการพัฒนา คุณภาพของงานอย่างต่อเนื่อง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชื่อเรื่อง : การวิเคราะห์รูปลักษณ์ของมิวเตชั่นของเบต้าธาลัสซีเมียชนิดที่พบมาก ในภาคเหนือของประเทศไทย ผู้วิจัย : นายพันธุ์ชนะ สงวนเสริมศรี ประธานที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ดาวัลย์ ฉิมภู่ กรรมการที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.พ. ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รสริน ว่องวิไลรัตน์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ วท.ด.(วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อหาของรูปลักษณ์ (framework) ของยีนเบต้าโกลบินรวมทั้งความสัมพันธ์แบบ RFLP ของยีนกลุ่มเบต้าโกลบินที่มีความสัมพันธ์กับมิวเตชั่นของเบต้าธาลัสซีเมียชนิดที่พบมากในเขตภาคเหนือของประเทศไทย การศึกษารูปลักษณ์ของยีนเบต้าโกลบินได้จากผู้ป่วย 31 คนที่เป็นโฮโมไซกัสของ มิวเตชั่นของเบต้าธาลัสซีเมียซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากกลุ่ม ดังกล่าว 20 คนได้รับการศึกษาความสัมพันธ์ของยีนแบบ RFLP ด้วย ผลการศึกษาพบความ เชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างรูปลักษณ์ของยีนเบต้าโกลบินและมิวเตชั่นของเบต้าธาลัสซีเมีย โดยพบว่ามีเฉพาะรูปลักษณ์ 3A เท่านั้นในมิวเตชั่นของเบต้าธาลัสซีเมียชนิด codon 17 (AAG��TAG) ทั้ง 22 โครโมโซมและชนิด codons 71/72 (+A) ทั้ง 4 โครโมโซม ส่วนเบต้าธาลัสซีเมียชนิด IVS-I-1 (G��T) ทั้ง 6 โครโมโซมมีความสัมพันธ์เฉพาะรูปลักษณ์ 1 มีเพียงข้อยกเว้นคือจาก 30 โครโมโซมของเบต้าธาลัสซีเมียชนิด codons 41/42 (TTCTTT��TT) ซึ่งในจำนวนนี้ 22โครโมโซมพบรูปลักษณ์ 1 และที่เหลือเป็นรูปลักษณ์ 3A โดย 6 รายเป็นเฮเทอโรไซกัสของรูปลักษณ์ของ เบต้าโกลยีน ซึ่งการ sub-clone ผลิตผลจาก PCR ก่อนที่จะหาลำดับเบสไม่พบว่าเป็นลักษณะของ รูปลักษณ์ใหม่ การวิเคราะห์รูปลักษณ์ของเบต้าโกลบินยีนในผู้ป่วยเด็กหญิงที่เป็นเฮเทอโรไซกัสร่วมของฮีโมโกลบินอีและฮีโมโกลบินไลเดน (Hb Leiden) ซึ่งเกิดจากบิดาและมารดาซึ่งเป็นพาหะของยีนฮีโมโกลบินอีบ่งชี้ว่ามิวเตชั่นของฮีโมโกลบินไลเดนที่เกิดขึ้นมาใหม่ได้รับมาจากโครโมโซมที่ ถ่ายทอดมาจากมารดา คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ชื่อเรื่อง : บทบาทในอุดมคติ บทบาทที่รับรู้ และบทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหาร สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายธวัช บุณยมณี ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา จันทร์บรรจง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาทในอุดมคติ บทบาทที่รับรู้ บทบาท ที่เป็นจริงของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเปรียบเทียบบทบาทที่รับรู้กับบทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้เทคนิคเดลฟายในการศึกษาบทบาทในอุดมคติจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ 18 คน และใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า ในการสำรวจบทบาทที่รับรู้จากผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 269 คน และสำรวจบทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามการประเมินของครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 269 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการหาค่ามัธยฐานแบบจัดกลุ่ม ค่าฐานนิยมแบบจัดกลุ่ม ค่าพิสัย ระหว่างควอร์ไทล์ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t - test) ผลการศึกษาพบว่า 1. บทบาทในอุดมคติของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานใน 4 ด้าน คือ 1) ด้านการบริหารวิชาการ ประกอบด้วย 9 บทบาทที่สำคัญ คือ บทบาทการจัดระบบงานวิชาการ บทบาทการวางแผนงานวิชาการ บทบาทการบริหารหลักสูตร บทบาทการจัดการเรียนการสอน บทบาทการจัดบริการเกี่ยวกับการเรียนการสอน บทบาทการนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน และบทบาทการประเมินผลการดำเนินงานทางวิชาการ 2) ด้านการบริหารงบประมาณประกอบด้วย 5 บทบาทที่สำคัญ คือ บทบาทการจัดทำคำขอจัดตั้งงบประมาณ บทบาทการขออนุมัติใช้ งบประมาณ บทบาทการบริหารการใช้งบประมาณ บทบาทการควบคุมงบประมาณและบทบาทการประเมินผลการใช้งบประมาณและรายงาน 3) ด้านการบริหารงานบุคคลประกอบด้วย 9 บทบาท ที่สำคัญ คือ บทการการกำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคล บทบาทการวางแผนบุคลากร บทบาทการแสวงหาบุคลากร บทบาทการจัดบุคลากรเข้าทำงาน บทบาทการธำรงรักษาบุคลากร บทบาทการพัฒนาบุคลากร บทบาทการนิเทศ ติดตามการทำงานของบุคลากร บทบาทการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร และบทบาทการดำเนินการด้านวินัยแก่บุคลากร 4) ด้านการบริหารทั่วไป ประกอบด้วย 5 บทบาทที่สำคัญ คือ บทบาทการวางแผนพัฒนาโรงเรียน บทบาทเกี่ยวกับข้อมูลและสารสนเทศ บทบาทการบริหารงานธุรการ บทบาท การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และบทบาทที่เกี่ยวกับการประกันคุณภาพก็บศึกษา 2. บทบาทที่รับรู้ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมและบทบาทแต่ละด้านอยู่ในระดับมาก 3. บทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง โดยที่ด้านการบริหารวิชาการและด้านการบริหารงานบุคคลอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านการบริหารงบประมาณและด้านการบริหารทั่วไปอยู่ในระดับมาก 4. บทบาทที่รับรู้กับบทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง ในภาพรวมและบทบาทแต่ละด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ชื่อเรื่อง : รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของผู้บริหาร สถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายประทีป บินชัย ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด.(การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศกษาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ 2) สำรวจภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 3) นำเสนอรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ครูอาจารย์จำนวน 1,068 คน สุ่มจาก 95 โรงเรียน ในเขตการศึกษา 7 และ 8 โดยใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามภาวะผู้นำพหุปัจจัย (Multifactor Leadership Questionnaire : MLQ) ซึ่งสำรวจองค์ประกอบภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ 9 องค์ประกอบ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test (one group) ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์อยู่ในพิสัยต่ำถึงพิสัยกลาง ควรมีการพัฒนาพฤติกรรมอันเป็นองค์ประกอบของภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ 8 องค์ประกอบ จาก 9 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่ต้องมีการพัฒนาโดยการปรับเพิ่มมี 5 องค์ประกอบคือ 1) คุณลักษณะที่สร้างศรัทธาบารมี 2) พฤติกรรมที่สร้างศรัทธาบารมี 3) การกระตุ้นให้ใช้ปัญญา 4) การให้ความสำคัญเป็นรายบุคคล และ 5) การให้รางวัลตามสถานการณ์ องค์ประกอบที่ต้องพัฒนาโดยการปรับลดมี 3 องค์ประกอบคือ 1) การบริหารงานแบบวางเฉยเชิงรุก 2) การบริหารงานแบบวางเฉยเชิงรับ และ 3) การบริหารงานแบบเสรีนิยม ผู้วิจัยได้นำผลการศึกษาในวัตถุประสงค์ที่ 1 และ 2 ไปเป็นพื้นฐานในการสร้างรูปแบบ การพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการจัดประชุมสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนา ซึ่งผลการประชุมได้ข้อยุติว่า รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำที่เหมาะสมคือ การจัดกระบวนการฝึกอบรม ตามกรอบรูปแบบเชิงระบบของเบอร์ทาลันฟ์ฟี่ โดยกำหนดให้มีขั้นตอนคือ 1. การประเมินภาวะ ผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของบริหารก่อนเข้าฝึกอบรม 2. การให้องค์ความรู้ที่จำเป็น 3. การสร้างแผนพัฒนาภาวะผู้นำของตนเอง 4. การฝึกปฏิบัติงานในสภาพจริง 5. การประเมินภาวะผู้นำตามแนวภาวะผู้นำพิสัยสมบูรณ์ของผู้เข้าอบรม ชื่อเรื่อง : ระบบการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นางสมลักษณ์ พรหมมีเนตร ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา จันทร์บรรจง ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547. บทคัดย่อ จุดมุ่งหมายของการวิจัย 1. เพื่อสำรวจสภาพทั่วไปของการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน และ ปญหาอุปสรรคใน การปฏิบัติงานของครูที่ปรึกษานักเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษา และ โรงเรียนมัธยมศึกษา 2. เพื่อนำเสนอระบบการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีดำเนินการวิจัย สำรวจสภาพทั่วไปของการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียนและปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของครูที่ปรึกษานักเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษา และ โรงเรียนมัธยมศึกษา จากกลุ่มตัวอย่าง ผู้บริหารและครู 384 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า และแบบปลายเปิด ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ (Frequency) ค่าเฉลี่ย (Means) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และค่าทดสอบที (t-test) และ นำเสนอระบบการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้เทคนิคการวิจัยแบบอิงผู้ทรงคุณวุฒิ (Delphi Technique) จำนวน 32 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย นักบริหารการศึกษา นักวิชาการ จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ศึกษานิเทศน์ ผู้บริหารโรงเรียน และ ครูที่ปรึกษานักเรียน ใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าเป็นเครื่องมือการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ฐานนิยม (Mode) มัธยฐาน (Median) ค่าความแตกต่างระหว่างฐานนิยมกับมัธยฐาน และ ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Inter-quartile Range) ผลการวิจัย สภาพทั่วไปของการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน ในภาพรวม โรงเรียนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารและครู พบว่า โดยภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีการปฏิบัติแตกต่างกันใน 3 ด้าน คือ ด้านการดำเนินงานของโรงเรียน ด้านการเตรียมงานครูที่ปรึกษา และด้านการปฏิบัติบทบาทหน้าที่ของครูที่ปรึกษานักเรียน ส่วนในด้านภาระงานของครูที่ปรึกษานักเรียน และ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างครูที่ปรึกษานักเรียนกับ ผู้ร่วมงาน มีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนของปัญหาอุปสรรคใน การปฏิบัติงานของครูที่ปรึกษานักเรียน โดยภาพรวม มีปัญหาอุปสรรคระดับปานกลาง ผู้บริหารและครูมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในปัญหาด้านตัวผู้ปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษานักเรียน สำหรับปัญหาด้านระบบ การบริหารงาน และ ด้านตัวนักเรียน กลุ่มตัวอย่างมี ความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาปัญหาอุปสรรคเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีปัญหาระดับปานกลาง ยกเว้น ด้านผู้ปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษา ผู้บริหารมีความเห็นว่ามีปัญหาในระดับน้อย ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับ ระบบการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าประกอบด้วย องค์ประกอบด้านปัจจัยนำเข้าของระบบ และ องค์ประกอบด้านกระบวนการบริหารจัดการระบบ ดังนี้ 1. ด้านปัจจัยนำเข้า คือ (1) คุณสมบัติของครูที่ปรึกษานักเรียน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลิกภาพ ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านคุณธรรมและความประพฤติ ด้านความรู้และความสามารถ และ ด้านจรรยาบรรณ (2) บทบาทหน้าที่ของครูที่ปรึกษานักเรียน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้คำปรึกษาแนะนำ ด้านการพัฒนานักเรียน ด้านการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียน และ ด้านการช่วยเหลือและประสานงาน 2. ด้านกระบวนการบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน 5 กระบวนการ ได้แก่ (1) กระบวนการวางแผนบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน (2) กระบวนการจัดองค์กรบริหารงานที่ปรึกษานักเรียน (3) กระบวนการจัดครูที่ปรึกษานักเรียน (4) กระบวนการชี้นำการปฏิบัติงานของครูที่ปรึกษา และ (5) กระบวนการควบคุมคุณภาพการบริหารที่ปรึกษานักเรียน ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบภารกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาศิลปกรรมท้องถิ่น กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้วิจัย : นายจิรวัฒน์ พิระสันต์ ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2546 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการพัฒนารูปแบบภารกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาศิลปกรรมท้องถิ่น : กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกำหนดจุดมุ่งหมายคือ 1. เพื่อศึกษาวิสัยทัศน์และนโยบายของภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยนเรศวร 2. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชนทางด้านศิลปวัฒนธรรม 3. เพื่อสำรวจชุมชนทางด้านศิลปกรรม ท้องถิ่น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วย การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชน การศึกษาภาคสนาม เก็บข้อมูลด้วยแบบสังเกตแบบมีส่วนร่วมแบบสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม แบบสัมภาษณ์เจาะลึก สัมภาษณ์กลุ่ม และแบบสนทนากลุ่มของชุมชนทาง ด้านศิลปหัตถกรรม ชุมชนทางด้านทัศนศิลป์ และชุมชนด้านด้านศิลปะการแสดง และดนตรีตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย ผลการวิจัยสรุปว่า การพัฒนารูปแบบภารกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาศิลปกรรมท้องถิ่นเป็น การพัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดด้านการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับชุมชนทางด้านศิลปกรรมท้องถิ่น โดยกระบวนการดังกล่าวเริ่มจาก 1. ขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนการจัดทำ กำหนดนโยบายเชิงบริหาร ประกอบด้วย ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยร่วมกับตัวแทนชุมชนกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบายของมหาวิทยาลัยใน การพัฒนา ศิลปกรรมท้องถิ่น ขั้นตอนนี้ประกอบไปด้วย สำรวจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดทำแผนที่ชุมชน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบายร่วมกัน ซึ่งนำมาจากมหาวิทยาลัยกับชุมชน รวมทั้งข้อมูลของชุมชนทางด้านศิลปกรรมท้องถิ่น 2. ขั้นตอนที่สอง ได้แก่ขั้นของการสร้างและพัฒนาแผนปฏิบัติการมหาวิทยาลัยร่วม กับ ชุมชน กำหนดแผนปฏิบัติการภารกิจของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยด้านการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรมของท้องถิ่น ความต้องการของชุมชน ศิลปกรรม ท้องถิ่น การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 3. ขั้นตอนที่สาม ได้แก่ ขั้นการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยร่วมกับชุมชนกำหนดกลยุทธ์และปฏิบัติการตามวิสัยทัศน์และนโยบายซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ที่จะนำไปสู่การดำเนินงานตามแผนและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศิลปกรรมท้องถิ่น 4. ขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ ขนประเมินผล มหาวิทยาลัยร่วมกับชุมชนประเมินผลงาน และโครงการ โดยยึดตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมทั้งการชี้แนะและพัฒนาเกณฑ์ชี้วัด 4.1 วิสัยทัศน์และนโยบายของภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย 4.1.1 วิสัยทัศน์ผลิตบัณฑิต ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางศิลปกรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อสร้างชุมชนศิลปกรรมท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ 4.1.2 นโยบาย ประกอบด้วย (1) ผลิตบัณฑิตที่เก่ง มีคุณธรรม และมีความรู้ ความเข้าใจในความหลากหลายทางสังคม และวัฒนธรรม (2) ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาเครือข่ายทั้งการวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน (3) ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ที่มีความหลากหลาย 4.2 การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยและชุมชนทางด้านศิลปวัฒนธรรมประกอบด้วย 4.2.1 ร่วมกับชุมชนศิลปกรรมท้องถิ่น เพื่อจัดการเรียนการสอนด้านศิลป วัฒนธรรมที่เป็นระบบบนพื้นฐานของการสร้างและการใช้เครือข่ายชุมชน 4.2.2 ร่วมกับชุมชนในการจัดโครงการ ประชุม สัมมนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและ วัฒนธรรมต่อชุมชน 4.3 ชุมชนทางด้านศิลปกรรมท้องถิ่น ประกอบด้วยชุมชนทางด้านศิลปหัตถกรรม ชุมชนทางด้านทัศนศิลป์ และชุมชนทางด้านศิลปะการแสดงและดนตรี ซึ่งผู้ทรงภูมิความรู้ใน ชุมชนได้ประยุกต์เอาองค์ความรู้และทักษะนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ภายหลังได้รับการสนับสนุนด้านความคิดและการเงินจากหน่วยงานของรัฐ กอรปกับชุมชนได้บูรณาการองค์ความรู้เข้ากับโครงการและนวัตกรรมของรัฐ จนทำให้ผู้ทรงภูมิความรู้ ในชุมชนสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ และสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาศิลปกรรมท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ชื่อเรื่อง : รูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐ ผู้วิจัย : นายสนม ครุฑเมือง ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ธำรงค์ อุดมไพจิตรกุล ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐ ในด้านการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานการเงินและทรัพย์สิน การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) โดยแบ่งการศึกษาเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งเป็นการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และมีประสบการณ์ด้านการบริหารวิชาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับ 10 ขึ้นไปจำนวน 15 คน ส่วนที่ 2 เป็นการสร้างความมีสวนร่วมของประชาคม โดยการสนทนากลุ่ม (Group Discussions) เกี่ยวกับรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐ โดยนำแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นประเด็นการสนทนากลุ่มด้วย กลุ่มตัวอย่างอยู่ในเขตบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยเลือกเป็นกรณีศึกษา ภาคเหนือ ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคกลาง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคตะวันออกได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ รวม 9 แห่ง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประชากรได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตนักศึกษา ผู้บริหาร อาจารย์ ข้าราชการ พนักงานสายวิชาการ พนักงานสายสนับสนุนวิชาการ และประชาชน จำนวน 409 คน และในส่วนที่ 3 เป็นการประเมินรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐจากมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 20 แห่ง กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มโดยกำหนดตามสัดส่วนของประชากร ตามสูตรของยามาเน (Yamane) คืออาจารย์สาย ก. พนักงานสายวิชาการ ข้าราชการสาย ข. สาย ค. และพนักงานสายสนับสนุนวิชาการ โดยใช้ข้อมูลประชากร จากการสำรวจของทบวงมหาวิทยาลัย ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2544 รวมประชากร 45,736 คน ได้กลุ่ม ตัวอย่าง 1,087 คน ผลจากการวิจัยใน 3 ส่วนได้ข้อสรุปในภาพรวมว่า รูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนราชการเป็นที่ยอมรับของประชาคม ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในปัจจุบันจะเน้นความมี ประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล โดยให้มหาวิทยาลัยดำเนินภารกิจได้อย่างอิสระสามารถพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการด้านบริหารงานทั่วไป ด้านการบริหารงานวิชาการ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารงานการเงินและทรัพย์สิน เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ การดำเนินกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัยจะสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ สถานภาพของบุคลากรเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย แยกระบบราชการออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.พ.) โดยมีคณะกรรมการข้าราชการในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) เป็นการเฉพาะสำหรับมหาวิทยาลัยในทำนองเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการตุลาการและคณะกรรมการข้าราชการอัยการ บุคลากรมีสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ เช่น เดียวกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐในปัจจุบัน การศึกษาในระดับปริญญาตรีถือเป็นสวัสดิการของรัฐ ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการลงทุนทางการศึกษาโดยไม่เดือดร้อน สำหรับการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อการศึกษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและวิจัยยังสะท้อนให้เห็นรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยอิสระของรัฐที่สำคัญดังต่อไปนี้ 1. เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัย ได้แก่ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม และมีความเป็นเลิศทางวิชาการ สนองความต้องการของสังคมได้เป็นอย่างดี 2. องค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย คือ สภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนด นโยบาย วางแผน มอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยดำเนินการไปตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัย โดยมีการเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมากว่ากรรมการที่มาจากภายในมหาวิทยาลัย การได้มาของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยควรระบุไว้ในพระราชบัญญัติให้ชัดเจน โดยเปิดโอกาสประชาคมมีส่วนร่วมของการได้มาอย่างแท้จริง 3. การบริหารมหาวิทยาลัยควรกระจายอำนาจ การทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ มุ่งเน้นการให้บริการ และสามารถตรวจสอบได้ 4. การบริหารงานวิชาการ ต้องมีสภาวิชาการทำหน้าที่บริหารงานวิชาการของนิสิต และพัฒนาบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยแยกออกจากคณะกรรมการบริหารฝ่ายอื่นๆ 5. การบริหารงานบุคคล ต้องมีความโปร่งใส ยุติธรรม มีการกำหนดภารกิจของงานใน แต่ละตำแหน่ง ด้วยการกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการตามศักยภาพของผลงานที่ปฏิบัติ 6. การบริหารงานการเงินและทรัพย์สิน สามารถตรวจสอบได้ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบภายในและภายนอก มีกฎระเบียบที่ชัดเจนยืดหยุ่นไม่ติดกับระบบราชการมากจนเกินไป สาขาวิชาวิจัยและการประเมินผลการศึกษา ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ใน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายชัยลิขิต สร้อยเพชรเกษม ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริชัย กาญจนวาสี ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด.(วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการศึกษาสาระทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกรอบโครงสร้างทฤษฎี และรูปแบบการประเมิน การสร้างรูปแบบ การประเมิน การพัฒนาเกณฑ์การประเมิน การจัดกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาคู่มือดำเนินการประเมิน การทดลองใช้รูปแบบการประเมินในโรงเรียน การพัฒนาเกณฑ์การประเมินงานประเมิน และการประเมินรูปแบบการประเมิน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองได้แก่ ครูในโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดพิษณุโลก 2 แห่ง จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินรูปแบบการประเมินได้แก่ แบบประเมินงานประเมินตามรูปแบบการประเมิน การจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินโดยการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ผลการวิจัยพบดังนี้ 1. รูปแบบการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ในโรงเรียนสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยโครงสร้างที่สัมพันธ์กัน 4 องค์ประกอบ คือ 1) เป้าหมายของการประเมิน 2) สิ่งที่มุ่งประเมิน 3) วิธีการประเมิน และ4) วิธีการตัดสิน กระบวนการประเมินเป็นไปเพื่อสนองเป้าหมายของการประเมินคือ การตัดสินคุณค่าของการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู สิ่งที่มุ่งประเมินได้แก่ การจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบด้านแนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด และองค์ประกอบด้านวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ส่วนวิธีการประเมินนั้นกำหนดให้ผู้ประเมินแต่ละคนประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และของผู้อื่น โดยใช้แบบสอบถามแนวคิดของการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู และแบบประมาณค่าจากการสังเกตการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมิน และวิธีการตัดสินการจัดกระบวนการเรียนรู้นั้น ใช้การเปรียบเที่ยบข้อมูลเชิงปริมาณที่แสดง คุณลักษณะการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู กับเกณฑ์สัมบูรณ์ซึ่งเป็นค่าคะแนนจุดตัดสินคุณลักษณะการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูดังกล่าว ที่กำหนดไว้โดยผู้เชี่ยวชาญ และรายงานผลการประเมินกลับไปยังผู้รับการประเมินแต่ละคน ตลอดจนรายงานสรุปภาพรวมของผลการประเมินต่อผู้บริหารโรงเรียน 2. ผลการประเมินรูปแบบการประเมิน โดยการประเมินงานประเมินพบว่า รูปแบบการประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นนี้ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ตามเกณฑ์คุณภาพงานประเมิน 3 เกณฑ์คือ คุณภาพของคำถามการประเมิน คุณภาพของวิธีการประเมิน และคุณภาพของผลการประเมิน ชื่อเรื่อง : การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาหลักสูตรการวิจัย เชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนสำหรับครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายสมบัติ ท้ายเรือคำ ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร. สำเริง บุญเรืองรัตน์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ศึกษาการมีส่วนร่วมของครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่พัฒนาโดยครู เพื่อครู และใช้โดยครู มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน ซึ่งอาศัยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในการพัฒนาหลักสูตรทุกขั้นตอน โดยผู้วิจัยเข้าไปอยู่ ร่วมในโรงเรียน กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรคือครูผู้สนใจร่วม จำนวน 7 คน การวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาหลักสูตร ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพที่ผู้วิจัยร่วมกับครูที่มีความสนใจ ทำการสำรวจสภาพทั่วไปของชุมชนและโรงเรียน รวมถึงสภาพการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบหลักสูตรการวิจัย ชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนใช้การวิเคราะห์เอกสาร การสนทนากลุ่ม การสังเกต และการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ แล้วนำข้อมูลมาผนวกเข้ากับผลการศึกษาในขั้นตอนที่ 1 เพื่อพัฒนาโครงร่างของหลักสูตร หลังจากนั้นจึงทำการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของหลักสูตรโดยผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและด้านการวิจัย นำข้อมูลจากการประเมิน มาปรับปรุงโครงร่างหลักสูตรให้สมบูรณ์ ขั้นตอนที่ 3 นำหลักสูตรไปทดลองใช้ เป็นการใช้หลักสูตร ที่ได้สร้างขึ้นจากขั้นตอนที่ 1 และ 2 โดยครูผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรเป็นผู้ทดลองใช้ ตามเนื้อหาสาระ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการใช้หลักสูตร ประเมินด้านผลผลิต คือ รายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูที่ร่วมพัฒนาหลักสูตรแต่ละคน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็นผู้ประเมิน ผลการวิจัยพบว่า (1) งานวิจัยในชั้นเรียนที่ครูทำอยู่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนแต่ไม่เป็นระบบ และส่วนหนึ่งทำงานวิจัยเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการให้สูงขึ้น ส่วนครูที่ไม่ทำวิจัยเพราะไม่มีความรู้ในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาในชั้นเรียน รวมทั้งขาดแหล่งการเรียนรู้และผู้ให้คำปรึกษาด้านการวิจัย (2) องค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยหลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้างเนื้อหา (ประกอบด้วยหลักการและแนวคิดพื้นฐาน การวิเคราะห์ปัญหา เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา การใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูล แนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนรายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน) กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน และการวัดการประเมินผล ที่ประเมินโดยครูที่ร่วมพัฒนาหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญมีความเหมาะสม สอดคล้องซึ่งกันและกันในระดับมาก (3) ครูมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาและกระบวนการวิจัยเพิ่มขึ้น มีทักษะในการปฏิบัติการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นจนครบกระบวนการวิจัย รวมทั้งมีเจตคติที่ดีต่อการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนและเห็นคุณค่าและประโยชน์ของงานวิจัยที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน (4) ผลการประเมินรายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูที่ร่วมพัฒนา หลักสูตรแต่ละคนมีความถูกต้อง เหมาะสมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก นอกจากนี้ครูที่เข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรยังมีความมั่นใจว่าสามารถทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในชั้นเรียนต่อไปได้และได้สร้างเครือข่ายนักวิจัยในโรงเรียนด้วย ชื่อเรื่อง : การพัฒนาตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นางเอื้อมพร หลินเจริญ อาจารย์ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นงลักษณ์ วิรัชชัย ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด.(วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานและเกณฑ์ วิธีการดำเนินการวิจัยใช้วิธีผสมผสานระหว่างวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มี 5 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก เป็นการศึกษาวรรณคดีเพื่อสร้างกรอบความคิดสำหรับการวิจัย ขั้นตอนที่สอง เป็นการพัฒนาและคัดเลือกตัวบ่งชี้ด้วยเทคนิคเดลฟาย ขั้นตอนที่สาม เป็นการกำหนดน้ำหนักความสำคัญของตัวบ่งชี้ด้วยวิธีการเชิงประจักษ์ ขั้นตอนที่สี่ เป็นการพัฒนาเกณฑ์ตัดสินความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ขั้นตอนที่ห้า เป็นการตรวจสอบคุณภาพของตัวบ่งชี้และเกณฑ์ที่พัฒนาด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มตัวอย่างเป็นศึกษานิเทศน์ เขตการศึกษา 7 จำนวน 25 คน สำหรับเทคนิค เดลฟาย กลุ่มผู้บริหาร ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองจากโรงเรียน ในเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย รวม 5,196 คน สำหรับการรวบรวม ข้อมูลเชิงประจักษ์ และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและนักการศึกษาผู้เกี่ยวข้องรับเชิญ จำนวน 150 คน สำหรับ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามสำหรับเทคนิคเดลฟายจำนวน 3 ชุด สำหรับเก็บ รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ จำนวน 4 ชุด สำหรับพัฒนาเกณฑ์บอกระดับความสำเร็จ จำนวน 1 ชุด และสำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 1 ชุด วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา สถิติบรรยาย และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน ผลการวิจัยพบว่า 1. ตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นมี 8 องค์ประกอบ ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ย่อย 129 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ องค์ประกอบด้านสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา 13 ตัวบ่งชี้ ด้านระบบการศึกษา 6 ตัวบ่งชี้ ด้านแนวการจัดการศึกษา 42 ตัวบ่งชี้ ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา 15 ตัวบ่งชี้ ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา 9 ตัวบ่งชี้ ด้านครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา 18 ตัวบ่งชี้ ด้านทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา 14 ตัว บ่งชี้ และ ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 12 ตัวบ่งชี้ เมื่อจำแนกตามระบบการศึกษา ได้ตัวบ่งชี้ด้านปัจจัยนำเข้า 35 ตัวบ่งชี้ ด้านกระบวนการ 58 ตัวบ่งชี้ และ ด้านผลผลิต 36 ตัวบ่งชี้ 2. ผลการตรวจสอบความตรงของตัวบ่งชี้ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่าโมเดลตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ น้ำหนักองค์ประกอบมีค่าเป็นบวก มีพิสัย 0.27–0.82 และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้ องค์ประกอบด้านแนวการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษา เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา และ ระบบการศึกษา ตามลำดับ 3. ผลการพัฒนาเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา โดยใช้การตัดสินของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า เกณฑ์ผ่านของคะแนนรวมของการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาตามตัวบ่งชี้ในแต่ละองค์ประกอบและในภาพรวมควรเป็น ร้อยละ 75 ยกเว้นในองค์ประกอบด้านทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา และด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งควรมรเกณฑ์ผ่านเป็น ร้อยละ 65 และ ร้อยละ 70 ตามลำดับ 3. ผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็น ด้วยกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์ตัดสินความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ส่วนผลการ จัดลำดับความสำคัญ พบว่า องค์ประกอบที่มีความสำคัญ เป็นลำดับแรก คือ ด้านแนวการจัดการศึกษา รองลงมา คือ ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา และระบบการศึกษา ตามลำดับ ชื่อเรื่อง : การพัฒนาวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายแบบอีพีเอสเอสอีและ การตรวจสอบความแม่นยำและ อำนาจการทดสอบเปรียบเทียบกับวิธี อีเอ็มและลิสท์ไวส์ : เทคนิคมอนติ คาร์โล กับวิธีอีเอ็มและลิสท์ไวส์ : เทคนิคมอนติ คาร์โล ผู้วิจัย : นายเชาว์ อินใย ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนะ บัวสนธ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด (วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อพัฒนาวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายแบบอีพีเอสอีและตรวจสอบความแม่นยำและอำนาจการทดสอลที่ได้จากวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายแบบอีพีเอสเอสอีกับแบบอีเอ็มและแบบลิสท์ไวส์ ตามวิธีการสุ่มตัวอย่างแบ่งแบ่งชั้น แบบกลุ่ม และแบบหลายขั้นตอน ที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรระดับต่ำ (r = .70) และจำนวนข้อมูลสูญหาย 5% 10% 20% และ 30% และศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการสุ่มตัวอย่าง วิธีการจัดการข้อมูลสูญหาย จำนวนข้อมูลสูญหาย และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ที่มีต่อความแม่นยำของค่าเฉลี่ยเลขคณิต ความแปรปรวน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ข้อมูลที่ใช้ศึกษามีลักษณะการแจกแจงปกติสงอตัวแปรและใช้เทคนิคมอนติคาร์โล ซิมูเลชั่นจำลองการทดลองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยการทำซ้ำจำนวน 1,000 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า 1. วิธีการจัดการข้อมูลสูญหายโดยการแทนค่าแบบอีพีเอสเอสอีได้ค่าความแม่นยำ ของค่าเฉลี่ยเลขคณิต ไม่แตกต่างจากวิธีอีเอ็ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเป็นค่าที่สูงที่สุด เมื่อใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น แบบกลุ่มและแบบหลายขั้นตอน จำนวน ข้อมูลสูญหายอยู่ในระดับสูงที่สุด คือเท่ากับ 30% ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอยู่ในระดับต่ำ (r = .70) 2. วิธีการจัดการข้อมูลสูญหายโดยการตัดออกแบบลิสท์ไวส์ได้ค่าความแม่นยำของความแปรปรวนแตกต่างจากวิธีอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตุกที่ระดับ .05 และเป็นค่าที่สูงที่สุดเมื่อใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น แบบกลุ่มและแบบหลายขั้นตอน จำนวนข้อมูลสูญหาย 10% 20% และ 30% ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอยู่ในระดับต่ำ (r = .30) ปานกลาง (r = .50) และสูง (r =.70) 3. วิธีการจัดการข้อมูลสูญหายแบบลิสท์ไวส์ ได้ค่าความแม่นยำของสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แตกต่างจากวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายแบบอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเป็นค่าที่สูงที่สุด เมื่อใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น แบบกลุ่ม และแบบหลายขั้นตอนจำนวนข้อมูลสูญหายอยู่ในระดับสูงที่สุดคือเท่ากับ 30% ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร่อยู่ในระดับสูง (r = .70) 4. การจัดการข้อมูลสูญหายโดยการแทนค่าแบบอีพีเอสเอสอี ได้ค่าอำนาจ การทดสอบเมื่อใช้การทดสอบความสัมพันธ์สูงกว่าวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายโดยการตัดออกแบบลิสท์ไวส์และการแทนค่าแบบอีเอ็ม เมื่อใช้วิธิการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น จำนวนข้อมูลสูญหายทุกระดับ (5%,10%,20%และ 30%) ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอยู่ในระดับต่ำ (r =.30) 5. ปฏิสัมพันธ์สี่ทางระหว่างวิธีการสุ่มตัวอย่าง วิธีการจัดการข้อมูลสูญหาย จำนวนข้อมูลสูญหาย และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่มีต่อความแม่นยำของค่าเฉลี่ยเลขคณิตความแปรปรวน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 6. ปฏิสัมพันธ์สามทางระหว่าง 1). วิธีการสุ่มตัวอย่างกับวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายและจำนวนข้อมูลสูญหาย 2). วิธีการสุ่มตัวอย่างกับวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 3). วิธีการจัดการข้อมูลสูญหายกับจำนวนข้อมูลสูญหายและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ที่มีต่อความแม่นยำของความแปรปรวน มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และปฏิสัมพันธ์สามทางระหว่างระหว่างวิธีการสุ่มตัวอย่างกับวิธีการจัดการข้อมูลสูญหายและจำนวนข้อมูลสูญหาย ที่มีต่อความแม่นยำของสัมประสิทธิ์ สหสัมพันธ์ มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้วิจัย : นายทรงศักดิ์ ภูสีอ่อน ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อ่อนสวัสดิ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีดำเนินการวิจัยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ การสร้างรูปแบบการประเมิน การทดลองใช้รูปแบบการประเมิน การประเมินรูปแบบการประเมิน และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการวิจัย พบว่า 1. รูปแบบการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยขั้นตอนการประเมิน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการประเมิน ขั้นดำเนินการประเมิน ขั้นสรุปผลการประเมิน และขั้นรายงานผลการประเมิน โดยประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก จาก 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความรู้, ประสบการณ์ที่เอื้อต่อประสิทธิภาพในการประเมิน, บุคลิกภาพ เจตคติ คุณธรรมและจรรยาบรรณ, ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประเมิน และคุณภาพของเอกสารรายงานผลการประเมินสถานศึกษา ใน 5 องค์ประกอบหลักนี้ประกอบไปด้วย 11 องค์ประกอบย่อย และ 61 ตัวบ่งชี้ โดยใช้ผู้ประเมินจาก 3 แหล่ง คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ, เพื่อนผู้ประเมินภายนอก (ในทีมประเมินเดียวกัน) และตัวแทนสถานศึกษา ส่วนเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินมีลักษณะเป็นเกณฑ์สัมบูรณ์ โดยกำหนดเป็นค่าร้อยละ 2. รูปแบบการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานมี ความตรงเชิงจำแนกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีความเป็นไปได้ มีประโยชน์ มี ความเหมาะสม และมีความถูกต้องครอบคลุม 3. โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลการประเมินคุณภาพผู้ประเมินภายนอก ที่พัฒนาขึ้น สามารถประมวลผลการประเมินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสะดวกในการนำไปใช้ ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการประเมินแบบร่วมมือสำหรับประเมินการฝึก ประสบการณ์วิชาชีพครูของสถาบันราชภัฏ ผู้วิจัย : นางราตรี นันทสุคนธ์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อ่อนสวัสดิ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด. (วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินแบบร่วมมือสำหรับประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของสถาบันราชภัฏ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สร้างและพัฒนา รูปแบบการประเมินแบบร่วมมือ ทดลองใช้รูปแบบการประเมิน และประเมินรูปแบบการประเมิน โดยขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยการจัดสนทนากลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของสถาบันราชภัฏภูเก็ต สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราชและสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี สถาบันละ 2 กลุ่ม ขั้นที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบการประเมินแบบร่วมมือ ยกร่างรูปแบบ การประเมิน จัดประชุมวิพากษ์รูปแบบการประเมิน ปรับปรุง และประเมินรูปแบบการประเมินเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา 3 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญด้าน การฝึกประสบการณ์ วิชาชีพครู 3 ท่าน ขั้นที่ 3 ทดลองใช้กับโรงเรียนเครือข่ายของสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี จำนวน 5 โรง และขั้นที่ 4 ประเมินรูปแบบการประเมินโดยการประชุมกลุ่มทดลอง ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบที่ใช้ในการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูใช้มาตั้งแต่ปี 2529 ค่อนข้างล้าสมัย ขาดความชัดเจนในองค์ประกอบการประเมิน กระบวนการประเมิน ได้แก่ ช่วงเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ การกำหนดผู้ประเมิน และเกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ทำให้ผลการประเมินของผู้เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องกัน ความต้องการในการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ผู้เกี่ยวข้องต้องการให้ปรับปรุงองค์ประกอบในการประเมิน กระบวนการประเมิน การกำหนดผู้ประเมิน การเก็บรวบรวมข้อมูล เกณฑ์ในการประเมิน รวมทั้งเกณฑ์ การตัดสินผลการประเมินฯ และควรให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการประเมิน 2. รูปแบบการประเมินแบบร่วมมือ ( Collaborative Evaluation)ประกอบด้วย 3 ขั้น คือ ขั้นวางแผน เป็นการพูดคุยสภาพปัญหาและความต้องการในการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และออกแบบการประเมิน ได้แก่ วัตถุประสงค์ของการประเมิน องค์ประกอบในการประเมิน กระบวนการประเมิน และเกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ขั้นดำเนินการ มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกัน ร่วมดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามแผนที่ได้วางไว้ร่วมกัน กำหนดให้มีการประเมิน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นการประเมินเพื่อดูความก้าวหน้า ซึ่งในระหว่างการประเมินแต่ละครั้งมีการประชุมเพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับ ส่วนการประเมินครั้งที่ 3 เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผล หลังจากประเมินมีการประมวลผล ขั้นสรุปผล เป็นการจัดประชุมเพื่อร่วมตัดสินผลการประเมินระหว่างโรงเรียนเครือข่ายกับสถาบันราชภัฏ 3. ผลการประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษา พบว่า หลังจากการประเมินแต่ละครั้งและมีการประชุมเพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับ นักศึกษามีการพัฒนาและปรับปรุง การปฏิบัติ และผลการประเมินของผู้ประเมินทั้ง 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์และมีความสอดคล้องกัน กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการประเมินแบบร่วมมือในระดับมากถึงมากที่สุด และ พึงพอใจต่อรูปแบบการประเมินแบบร่วมมือสูงกว่ารูปแบบการประเมินแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. รูปแบบการประเมินแบบร่วมมือ ตอบสนองต่อความต้องการใช้สารสนเทศของ ผู้เกี่ยวข้อง กระบวนการสามารถนำไปปฏิบัติได้ คำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ใช้เทคนิควิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เพียงพอต่อการปรับปรุงและการตัดสินคุณค่า ผลการประเมิน สอดคล้องกับความเป็นจริง ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์ สถาบันราชภัฎ ผู้วิจัย : นางสาวอมรรัตน์ ทิพยจันทร์ ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. รัตนะ บัวสนธ์ ประเภทสารนิพนธ์ : วิทยานิพนธ์ กศ.ด.(วิจัยและประเมินผลการศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร,2547 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดในการประเมินผลการปฏิบัติงานและภารกิจของอาจารย์สถาบันราชภัฏ 2) สร้างรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ 3) ทดลองใช้รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ และ 4) ประเมินรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ วิธีการวิจัยมี 4 ตอน คือ 1) การศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์แนวคิดในการประเมินผลการปฏิบัติงานและภารกิจของอาจารย์สถาบันราชภัฏ จากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน 2) สร้างรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานและคู่มือการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ โดยใช้เทคนิคเดลฟายที่มี ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความตรงเชิงสอดคล้องของรูปแบบ จำนวน 27 คน และผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคู่มือการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงาน จำนวน 7 คน 3) ทดลองใช้รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานกับอาจารย์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้เข้าร่วมทดลองใช้รูปแบบ ประกอบด้วย ผู้ถูกประเมิน จำนวน 19 คน ผู้ทำการประเมินที่เป็นฝ่ายบริหารและเพื่อนร่วมงาน จำนวน 35 คน ผู้เรียน จำนวน 363 คน ผู้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรูปแบบหลังทดลองใช้ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร เพื่อนร่วมงานและตนเอง จำนวน 8 คน ผู้เรียน จำนวน 10 คน และ 4) ประเมินรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ โดยผู้เข้าร่วมทดลองใช้รูปแบบ จำนวน 32 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์สถาบันราชภัฏ ประกอบด้วย องค์ประกอบดังต่อไปนี้ 1.1) วัตถุประสงค์การประเมิน มุ่งเน้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงาน 1.2) เนื้อหาที่ทำการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเรียงลำดับตามน้ำหนัก ความสำคัญที่สุดจาก ภารกิจด้านการให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ภารกิจด้านการวิจัย ภารกิจด้านการผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู ภารกิจด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ภารกิจด้านการปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี และภารกิจด้านการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม 1.3) ผู้ทำการประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร เพื่อนร่วมงาน ผู้เรียนและอาจารย์ผู้ถูกประเมินทำการประเมินตนเอง 1.4) ตัวบ่งชี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานมีจำนวน 98 ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานประกอบด้วย เกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้เชิงคุณภาพ และเกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ดี พอใช้และ ต้องแก้ไขปรับปรุง 1.5) วิธีการในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ แบบประเมินสำหรับ ฝ่ายบริหาร สำหรับเพื่อนร่วมงาน สำหรับผู้เรียน และสำหรับตนเอง โดยใช้วิธีการสังเกต สัมภาษณ์และการสอบถามประกอบกับหลักฐานแฟ้มสะสมงานของผู้ถูกประเมิน 1.6) ระยะเวลาในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ยกเว้นภารกิจด้านการวิจัยที่ควรทำการประเมินปีการศึกษาละ 1 ครั้ง 1.7) การให้ข้อมูลย้อนกลับ ดำเนินการได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นรายบุคคล ในภาพรวมของคณะ ข้อมูลย้อนกลับผลการปฏิบัติงานที่ดี และผลการปฏิบัติงานที่ต้องปรับปรุงแก้ไข 2. ผลการประเมินรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน พบว่ารูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานทั้ง 7 องค์ประกอบ ที่พัฒนาขึ้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริงมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายด้านการประเมินของสถาบันราชภัฏและมีประโยชน์อยู่ในระดับมาก รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 1)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 2)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 3)
รวมบทคัดย่อมนเรศวร (ตอนที่ 4)

1 ความคิดเห็น: