วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เช็งเม้งความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง



เช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง
นางศิระนันท์ รัตนาสมจิตร
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
ปีการศึกษา 2547
ISBN 974-373-413-9
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
CHENG MENG : MEANING, CEREMONY AND CHANGE
Siranun Rattanasomjit
A Thesis Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements
for the Master of Arts (Social Sciences for Development)
Bansomdejchaopraya Rajabhat University
Academic Year 2004
ISBN : 974-373-413-9
วิทยานิพนธ์ เช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง
โดย นางศิระนันท์ รัตนาสมจิตร
สาขา สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
ประธานกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข
กรรมการ ดร.ทวิช บุญธิรัศมี
กรรมการ ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อนุมัติให้วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
……………………………………………… คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
(ดร.สรายุทธ์ เศรษฐขจร)
คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
……………………….………………….….. ประธานกรรมการ
(ศาสตราจารย์ ดร.สายหยุด จำปาทอง)
………………………………………………. กรรมการ
(รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข)
………………………………………………. กรรมการ
(ดร.ทวิช บุญธิรัศมี)
………………………………………...…….. กรรมการ
(ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม)
………………………………………...…….. กรรมการ
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพิศวง ธรรมพันทา)
……………………………………………….. กรรมการและเลขานุการ
(รองศาสตราจารย์ ดร. นันทา วิทวุฒิศักดิ์)
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ศิระนันท์ รัตนาสมจิตร (2547). เช็งเม้ง: ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะกรรมการควบคุม : รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ดร.ทวิช บุญธิรัศมี ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม.
งานวิจัยเรื่อง เช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความหมายของพิธีกรรม และการให้ความหมายต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรมเช็งเม้งของคนจีนอพยพและคนไทยเชื้อสายจีนแต่ละรุ่น 2) เพื่อศึกษาการถ่ายทอดความเชื่อ พิธีกรรม จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง 3) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของพิธีกรรมเช็งเม้ง และการรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม (เช็งเม้ง) ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างครอบครัว แนวคิดทฤษฏีด้านวัฒนธรรมและทฤษฎีภาวะทันสมัย
การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ครอบครัวตัวอย่างถูกเลือกอย่างเฉพาะเจาะจงจากชุมชนวานิชสัมพันธ์ การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการและใช้แนวการสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือช่วย
จากการศึกษาพบว่าพิธีกรรมเช็งเม้งเป็นพิธีกรรมที่สำคัญพิธีกรรมหนึ่งของชาวจีน เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ อันเป็นไปตามลัทธิขงจื้อที่เน้นเรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ ร่วมด้วยความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างภูตผีเทวดาอันนำไปสู่พิธีกรรมเซ่นไหว้ พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมในระดับครอบครัวและเครือญาติที่นับถือกันเท่านั้น อีกทั้งในขั้นตอนการไหว้ยังมีการถือระบบอาวุโสในการเริ่มต้นว่าใครจะเป็นประธาน และลำดับในการไหว้เป็นสำคัญเช่นกัน
เช็งเม้ง สามารถอธิบายโครงสร้างครอบครัวของชาวจีนได้อย่างสมบูรณ์ โดยเน้นการให้ความสำคัญต่อระบบอาวุโส การให้สิทธิอำนาจแก่ฝ่ายชายเป็นหลัก โดยผ่านขั้นตอนในพิธีกรรมที่ระบุถึงประธานในการเซ่นไหว้ ลำดับของบุคคลในการเซ่นไหว้ การให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้จัดเตรียมของโดยที่ฝ่ายชายไม่ต้องเข้ามาช่วยอันเป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่และอำนาจในตัว นอกจากนี้ในการศึกษาพิธีกรรมเช็งเม้ง ยังสามารถพิจารณาได้ว่าการที่ผู้หญิงเป็นผู้ปฏิบัติ ก็เพื่อให้มีหน้าที่ในการถ่ายทอดและสอนเรื่องพิธีกรรมให้กับลูกๆ ของตน เพราะผู้หญิงถูกกำหนดให้เลี้ยงดูบุตร เมื่อฝ่ายหญิงสามารถปฏิบัติได้อย่างเข้าใจและมีความผูกพันในการเลี้ยงดูบุตร ย่อมสามารถถ่ายทอดให้กับลูกหลานได้

กลุ่มตัวอย่าง 3 รุ่นสามารถบอกความสำคัญ (Concept) ของคำว่า “เช็งเม้ง” คือการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี และยังคงขั้นตอนหลักของการปฏิบัติในพิธีกรรม คือการทำความสะอาดสุสาน และการเซ่นไหว้ เพราะลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรอยู่บนพื้นฐานของความกตัญญูกตเวที ดังนั้นความหมายของพิธีกรรมเช็งเม้งที่แสดงถึงความกตัญญู ครอบครัวชาวจีนจึงสามารถถ่ายทอดรับรู้เรื่องความกตัญญูได้เป็นอย่างดี หากแต่ในรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดความเปลี่ยนแปลง พบว่าวัฒนธรรมจีนได้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม อันได้แก่วัฒนธรรมสัมผัส (Cultural Contact) การหยิบยืมทางวัฒนธรรม (Cultural Borrowing of Interchange) การปรับตัว (Adaptation) ซึ่งทำให้เกิดการผสมผสานและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่งว่าพิธีกรรมที่คนไทยเชื้อสายจีนยังปฏิบัติอยู่เป็นลักษณะวัฒนธรรมสังเคราะห์ ทำให้พิธีกรรมของชาวจีนเมื่ออยู่ในสังคมไทยเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยขึ้น
ถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องของพิธีกรรมเช็งเม้ง คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความสำคัญและยังถือเคร่งครัดที่จะต้องมีการปฏิบัติในวันเช็งเม้ง เพราะเชื่อว่าเกิดผลดีเมื่อได้ปฏิบัติทั้งความสามัคคีของครอบครัว เครือญาติ การเคารพผู้อาวุโส และความกตัญญู โดยยึดหลักหรือวัตถุประสงค์ของพิธีกรรมนั้นๆ หากแต่ต้องลดหรือปรับพิธีกรรมเพื่อให้ยังคงอยู่ได้ตามความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสภาพเหตุการณ์ถึงแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง ซึ่งพิธีกรรมเช็งเม้งยังคงต้องปฏิบัติด้วยความสำนึกในความเป็นคนจีนของลูกหลานที่เกิดในไทย อันเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยเชื้อสายจีน
และที่สำคัญในเรื่องวัฒนธรรมและพิธีกรรมไม่ควรมองข้ามบทบาทของเพศหญิง เพราะจากการศึกษาพบว่าเพศหญิงมีบทบาทสำคัญมากในการจัดการ และประกอบพิธีกรรมในปัจจุบัน ถึงแม้สังคมจีนจะมองว่าอำนาจจะด้อยกว่าผู้ชาย แต่จะชี้ให้เห็นว่าเพศหญิงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมคงอยู่ เพราะเป็นคนที่สามารถถ่ายทอดปลูกฝังให้ลูกหลานได้เข้าใจถึงหลักและขั้นตอนของพิธีกรรม ดังนั้นพิธีกรรมเช็งเม้งซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างครอบครัวอย่างมาก ซึ่งสัญลักษณ์ที่แทรกอยู่ในพิธีกรรมเป็นตัวยึดโยงความเป็นครอบครัว ความสามัคคีในเครือญาติ ของครอบครัวชาวจีน โดยยังคงมีการแสดงอัตลักษณ์ของพิธีกรรมผ่านการเซ่นไหว้ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน อันเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างด้วยบริบทของสังคม

Siranun Rattanasomjit (2004). Cheng Meng : Meaning, Ceremony and Change. Graduate School, Bansomdejchaopraya Rajabhat University. Advisory Committee : Vice Professor Dr. Somsak Srisontisuk Dr. Tawit Bunthirasmi Dr. Waraporn Panwongklom.
The objectives of the research on Cheng Meng : Meaning Ceremony and Change are to study the ceremony of Cheng Meng and its meaning perceived by the Chinese immigrant and the Chinese – Thai generation, to study the transfer of belief from generation to generation, and to study the cultural assimilation and the cultural identity of the Cheng Meng ceremony among the Chinese – Thai groups. The concept in this research formed by combining family structure, cultural theory and theory of modernization. The methodology applied in this study is qualitative research. Three families in Wanijsampan community were selected purposively. Data were gathered by participant observing and informal interviewing with the help of interview guide.
The findings revealed that Cheng Meng is an important Chinese ceremony which presents the gratefulness to the ancestor. The ceremony is related to the Confucianism and the spiritual belief, so the worship is brought about. The Cheng Meng ceremony is done by family numbers and the respected relations.
Cheng Meng can explain completed the Chinese family structure which emphasizes the seniority and the power of the man. Thus man; especially son is the leader of ceremony. He is in the first worship. For woman, she acts as preparer who provides everything for worship. In addition, she transfers the ceremony to the young generation.
All respondents, the samples of this study knew the meaning of Cheng Meng ; and moreover, they kept performing the main pattern of ceremony, such as to clean grave and to attend worship. Some details of ceremony were changed because of cultural contact, cultural borrowing and socio – economic adaptation.
However, the Chinese - Thai family believed that the purposes of Cheng Meng ceremony are sound for the harmony of family, the relationship among relatives, the seniority and the gratefulness. That is the identity of Cheng Meng in existence.
Finally, the study found that woman role is important to transfer of Cheng Meng ceremony and maintenance.

ประกาศคุณูปการ
คงนับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิตทางการศึกษา ที่สามารถทำให้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสร็จสิ้นลงได้อันนำมาสู่ความภูมิใจที่ได้รับ งานที่ออกมาได้มิได้มาโดยลำพังแต่ด้วยความกรุณาความเอาใจใส่ของท่านอาจารย์ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นกัลยาณมิตร และที่สำคัญจากครอบครัวที่เป็นกำลังใจในความสำเร็จครั้งนี้
ขอกราบขอบพระคุณต่อความดูแลเอาใจใส่ ตรวจแก้ไขอย่างละเอียดจากคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ดร.ทวิช บุญธิรัศมี ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม และอาจารย์ทุกๆท่านของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จที่กรุณาให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ขอขอบคุณงานเขียนทุกชิ้นที่เป็นแนวทางในการศึกษาของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้
และที่สำคัญ ครอบครัวแซ่ซี ครอบครัวแซ่เฮ้า ครอบครัวแซ่เตีย และผู้มีความกรุณาทุกคนในชุมชนวานิชสัมพันธ์ ที่กรุณาสละเวลาและให้ข้อมูลสำคัญต่องานชิ้นนี้ ขอกราบขอบพระคุณ
และท้ายที่สุดผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณค่าประโยชน์ตลอดจนความดีของวิทยานิพนธ์ เล่มนี้ ขอมอบแด่บุพการี ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณทุกๆ ท่าน ด้วยความเคารพ
นางศิระนันท์ รัตนาสมจิตร
สารบัญ
หน้า
บทคัดย่อภาษาไทย................................................................................................................ง
บทคัดย่อภาษาอังกฤษ...........................................................................................................ฉ
ประกาศคุณูปการ..................................................................................................................ช
สารบัญ................................................................................................................................ซ
สารบัญตาราง.......................................................................................................................ญ
สารบัญแผนภาพ..................................................................................................................ฎ
บทที่ 1 บทนำ................................................................................................................................ 1
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา............................................................................ 1
วัตถุประสงค์ของการวิจัย................................................................................................... 3
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย..............................................................................................3
ขอบเขตของการวิจัย.............................................................................................................3
นิยามศัพท์เฉพาะ..................................................................................................................4
กรอบแนวความคิด...............................................................................................................6
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง..............................................................................................7
พิธีกรรมและพิธีกรรมเช็งเม้ง...............................................................................................7
แนวคิดทฤษฎีโครงสร้างครอบครัว....................................................................................16
แนวคิดทฤษฎีด้านวัฒนธรรม.............................................................................................23
ทฤษฎีความทันสมัย...........................................................................................................31งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง..............................................................................................................32
บทที่ 3 วิธีการดำเนินการวิจัย..........................................................................................................39
การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง................................................................39
การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย......................................................................................41
การเก็บรวบรวมข้อมูล........................................................................................................42
การจัดกระทำและวิเคราะห์ข้อมูล.......................................................................................43
การนำเสนอข้อมูล..............................................................................................................43

สารบัญ (ต่อ)
หน้า
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล.........................................................................................................44
ชุมชนวานิชสัมพันธ์ : บริบทสังคมจีน.................................................................................44
การศึกษากลุ่มตัวอย่างตามกรอบแนวคิด.............................................................................46
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล..........................................................................................................85
บทที่ 5 สรุปและอภิปรายผล............................................................................................................92
สรุปและอภิปรายผลการวิจัย................................................................................................92
ข้อดีและข้อจำกัดของการวิจัย..............................................................................................96
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป.......................................................................................96
ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ.................................................................................................96
บรรณานุกรม…………………………………………………………...…………………………98
ภาคผนวก………………………...……………………………………………………………...103
ตัวอย่างแนวทางการสัมภาษณ์...........................................................................................104
ประวัติผู้วิจัย................................................................................................................................107

สารบัญตาราง
ตาราง หน้า
1 ความหมายของพิธีกรรมเช็งเม้ง............................................................................86
2 การถ่ายทอดความเชื่อ พิธีกรรม จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง..................................87
3 การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมเช็งเม้ง (กิจกรรม)..................................................88
4 การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมเช็งเม้ง (เครื่องเซ่นไหว้)........................................89
5 การผสมผสานทางวัฒนธรรมของพิธีกรรมเช็งเม้ง...............................................90
6 การรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม (เช็งเม้ง).........................................................91

สารบัญแผนภาพ
หน้า
แผนภาพที่ 1 กรอบแนวความคิด.................................................................................................6
บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
คนไทยเชื้อสายจีน” คำเรียกที่แสดงการยอมรับตนเป็นคนไทยเพราะถือสัญชาติไทยแต่ต้องการธำรงความเป็นชาติพันธุ์จีนไว้ในสายเลือด หรือแสดงความเป็นรากเหง้าของตนในบางสถานการณ์เพื่อชี้ความเป็นพวกพ้อง นับเป็นตัวอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวอย่างหนึ่งที่มีการแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในสังคมไทย โดยดำรงความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมของตนมาตลอด (อมรา พงศาพิชญ์ 2543 : 140) ซึ่งการที่ชาวจีนดำรงวัฒนธรรมของตนนั้น แสดงว่าในวัฒนธรรมจีนจะต้องมีความมุ่งหมายบางอย่างที่มากไปกว่าองค์ประกอบของพิธีกรรมจีนที่แสดงออกมาให้เห็นทั่วไป (สมบูรณ์ สุขสำราญ 2530 : 1)
พิธีกรรมของชาวจีนทั้งในรอบชีวิตและรอบปีเป็นรูปแบบสัญลักษณ์ที่แสดงมาจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งโดยทวไปแล้วจะมีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลานและสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพิธีกรรมในรอบปีและรอบชีวิตของชาวจีนในประเทศไทยที่แสดงออกมานั้นไม่ได้มีลักษณะที่เป็นของแท้ดั้งเดิม หากแต่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ลดขั้นตอนของการปฏิบัติตามพิธีกรรมลงไป แสดงว่าความเชื่อทางศาสนาที่เป็นรากฐานของพิธีกรรมและองค์ประกอบของพิธีกรรมได้มีการกลืนกลายบางส่วนโดยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหญ่ที่ห้อมล้อมวัฒนธรรมจีนอยู่ในเวลานี้ (สมบูรณ์ สุขสำราญ 2530 : 2 - 3)
ข้อสรุปลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทยและชาวจีน ก็คือ การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม (Assimilation) โดยมีนักวิจัยทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทยที่ยอมรับในข้อสรุปดังกล่าว จี วิลเลี่ยม สกินเนอร์ (G.William Skinner) ได้สรุปว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการผสมผสานกลืนกลายในแง่วัฒนธรรม ศาสนา และลักษณะรูปพรรณ สีผิว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องชนกลุ่มน้อยก็เอื้ออำนวยและกดดันให้ชาวจีนเต็มใจและจำเป็นที่จะต้องผสานเข้าสู่สังคมและวัฒนธรรมไทย (จี วิลเลยม สกินเนอร์ 2529 : 303 - 304) อีกทั้งการศึกษาสังคมจีนในประเทศไทยของ สกินเนอร์ (Skinner) พบว่าการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้รูปแบบวัฒนธรรมจีนแต่โบราณคือ พิธีการบูชาบรรพบุรุษ ที่มีรากฐานคือการฝังและพิธีที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการฝังศพ ก็มีหลักฐานว่าในศตวรรษที่ 19 คนจนส่วนใหญ่เผาศพคนตาย คนจีนเลิกการฝังศพและการสร้างฮวงซุ้ยราคาแพง หันมาใช้พิธีเผาศพเหมือนคนไทยทั่วไป สกินเนอร์ (Skinner) เห็นว่าการเผาศพไม่ใช่เป็นเพียงถูกกลืนแต่ผิวเผิน
2
เท่านั้น แต่เป็นการกลืนลึกลงไปถึงแก่นสังคมจีน และในพิธีศพมีการประกอบด้วยพิธีแบบไทย ให้พระไทยสวดมนต์และประกอบพิธีเผาในวัดไทยด้วย (จี วิลเลี่ยม สกินเนอร์ 2529 : 133)
การยอมเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยบางส่วนเกิดขึ้นจาการยอมสลายความเป็นจีนของตนลงไปเรื่อยๆ อย่างตั้งใจและเจตนา สำนึกดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีผลเนื่องมาจากนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลสยามเสมอไปเพราะจำนวนไม่น้อยของจีนสยามเหล่านี้มีความผูกพันกับความเป็นไทย (Thainess) อย่างลึกซึ้ง และอาจจะมีบ้างที่ต้องการลบความทรงจำอันเลวร้ายที่ตนได้รับมาจากแผ่นดินมาตุภูมิที่อัดแน่นไปด้วยความยากจนข้นแค้น จีนสยามเหล่านี้แม้จะยังเคารพและรำลึกถึงความเป็นจีนผ่านพิธีกรรมต่างๆ และใช้ “ภาษาจีน” อยู่บ้างในชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้พยายามแผ่ขยายอำนาจของความเป็นจีนนั้นในอนุชนรุ่นหลังอันเป็นผลผลิตโดยตรงของพวกเขาเองมากนัก หรือไม่ก็ความพยายามนั้นของพวกเขาประสบความล้มเหลว (วรศักดิ์ มหัทธโนบล 2539 : 20)
ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมของชาวจีนในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบไปอย่างช้าๆ นั้นก็คือสาระในเรื่องของความหมาย และรูปแบบของพิธีกรรม ซึ่งมีผลให้ความมุ่งหมายที่บรรพบุรุษต้องการให้ลูกหลานปฏิบัติได้เปลี่ยนไป อันเป็นการเปลี่ยนระบบคิดอย่างถาวร อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากครอบครัวจีนแบบเดิม รวมถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นเนื่องจากสาเหตุที่ได้กล่าวมาล้วนได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยที่ค่อยๆ เข้าสู่ข้อสรุปของการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation) กลายมาเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ โดยยึดปฏิบัติตามวัฒนธรรมไทยทั้งภาษา อาหารการกิน หรือระบบความคิด ความเชื่อบางอย่างที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย อย่างการนับถือพระ หรือพระพุทธรูป การทำบุญขึ้นบ้านใหม่เหมือนคนไทย (ยุทธนา วรุณปิติกุล 2541 : 4)
จากสาเหตุข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเจาะลึกในเรื่องพิธีกรรมเช็งเม้งของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานชีวิตและความเชื่อที่มีความเชื่อมโยงทางด้านความกตัญญูและการบูชาบรรพบุรุษอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าแบบแผนการดำเนินชีวิตจะเข้าสู่การกลืนกลายทางวัฒนธรรมเป็นไทยแล้วก็ตาม รวมทั้งในสภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยกระบวนการที่ทำให้สังคมอยู่ในภาวะทันสมัย (Modernization) แต่ยังคงมีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติคงเหลืออยู่ ซึ่งพิธีกรรมเช็งเม้งยังสื่อให้ทราบถึงความหมายสำหรับวิถีชีวิตและรูปแบบสังคมของชาวจีนและยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวจีนอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ตั้งข้อสงสัยเพื่อทำการศึกษาถึงความหมายและรูปแบบของพิธีกรรม ลักษณะการถ่ายทอด การเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทต่างๆ ของสังคม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะใช้
3
เกณฑ์ของโครงสร้างครอบครัว และการแบ่งช่วงรุ่น (Generation) ของลูกหลานคนจีนเป็น 3 รุ่นเพื่อทำการศึกษาภายใต้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ดังนี้
1. เพื่อศึกษาความหมายของพิธีกรรมและการให้ความหมายต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรมเช็งเม้งของคนจีนอพยพและคนไทยเชื้อสายจีนแต่ละรุ่น
2. เพื่อศึกษาการถ่ายทอดความเชื่อ พิธีกรรม จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง
3. เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของพิธีกรรมเช็งเม้ง และการรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม (เช็งเม้ง) ของกลุ่นคนไทยเชื้อสายจีน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
1. ได้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง ในเรื่องความหมาย การประกอบพิธีกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนเชื้อชาติจีนที่อาศัยในประเทศไทย อันนำไปสู่การอธิบายหรือทำนายลักษณะสังคมของคนไทยเชื้อสายจีนได้
2. สามารถเข้าใจการผสมผสานทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลง และการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (พิธีกรรมเช็งเม้ง) ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน
ขอบเขตของการวิจัย
การศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรม ความหมายและความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมเช็งเม้งนั้น ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตไว้เฉพาะเป็นกรณีศึกษา คือ เช็งเม้งในครอบครัวคนจีนแต้จิ๋ว ที่อาศัยอยู่ในบริบทของความเป็นจีน โดยเลือกศึกษาในชุมชนวานิชสัมพันธ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 21 ชุมชนของเขตสัมพันธวงศ์ อันเป็นเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่กันชนระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นเขตประวัติศาสตร์กับเขตบางรัก และปทุมวันซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจ เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่อยู่ท่ามกลางความเจริญของสังคม อีกทั้งเป็นแหล่งชุมชนคนจีน ที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประชากรเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต้จิ๋วที่อาศัยอยู่หนาแน่นและยังคงมีบริบทของความเป็นสังคมจีนที่มีความใกล้เคียงกัน อันประกอบด้วยภาษาพูด และวัฒนธรรมจีนอันเป็นวัฒนธรรมของเขตสัมพันธวงศ์ หรือสัญลักษณ์ไชน่าทาวน์ของประเทศไทย
ประเด็นการศึกษา คือ ความหมาย รูปแบบของการประกอบพิธีกรรม การถ่ายทอด การรักษาพิธีกรรม และลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูกหลานชาวจีนใน
4
ประเทศไทย โดยศึกษาภายในครอบครัวของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่ยังคงปฏิบัติพิธีกรรมเช็งเม้ง อย่างเคร่งครัด
นิยามศัพท์เฉพาะ
พิธีกรรม หมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อนั้นๆ หรือขั้นตอนต่างๆ หรือวิธีการที่จะต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของความเชื่อนั้นๆ
วัฒนธรรมจ หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป แสดงออกซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวจีนในสังคมไทย อันเป็นเครื่องช่วยให้สามารถจำแนกความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายออกจากกันได้ชัดเจน ซึ่งในที่นี้ให้หมายถึง วัฒนธรรมพื้นฐานทั่วๆ ไปของวัฒนธรรมจีนของคนแต้จิ๋ว
เช็งเม้ง หมายถึง เทศกาลการไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนที่ฮวงซุ้ยในช่วยเดือน 3 ของจีน
คนไทยเชื้อสายจีน หมายถึง บุคคลที่เกิดในประเทศไทย โดยต้องถือสัญชาติไทยแต่มีเชื้อสายทางบิดา มารดาหรือบรรพบุรุษเป็นชาวจีน
รุ่นคนจีนอพยพ (รุ่นที่ 1) หมายถึง คนจีนที่ได้อพยพจากประเทศจีนเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่จำความได้ และมาอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานานซึ่งจะต้องมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน
รุ่นลูกคนจีนอพยพ (รุ่นที่ 2) หมายถึง บุคคลที่เกิดในประเทศไทยโดยพ่อหรือแม่เป็นคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีนและมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน
รุ่นหลานคนจีนอพยพ (รุ่นที่ 3) หมายถึง บุคคลที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน โดยมีปู่ย่าตายายที่อพยพมาจากประเทศจีนและมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
จีนนิยม หมายถึง การปฏิบัติที่แสดงออกมาถึงความเป็นคนจีนอย่างสมบูรณ์ เป็นการแสดงออกเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับหรือรับรู้ความเป็นจีนของตน
อัตลักษณ์พิธีกรรมเช็งเม้ง หมายถึง ความเชื่อที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาวจีน ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อแสดงความกตัญญู
อุดมการณ์ครอบครัว หมายถึง ตัวอย่างครอบครัวจีนตามจารีตที่ดีของระบบเครือญาติ ที่มีการวางโครงสร้างสังคมตามอายุและเพศ ซึ่งบทบาทของสมาชิกในครอบครัวจะเป็นไปตามกลุ่มอายุ ส่วนพฤติกรรมจะถูกกำหนดตามเพศด้วยการแบ่งแยกบทบาททางเพศระหว่างหญิงและชาย โดยชาวจีนถือว่าเด็กผู้ชายมีค่าสำหรับครอบครัวมาก เพราะลูกชายจะเป็นผู้สืบทอดครอบครัวและเป็นผู้จัดเตรียมการบูชาบรรพบุรุษต่อไป ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจะต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวจีนอย่างเข้มงวด
5
ความสัมพันธ์ในครอบครัว หมายถึง ความเกี่ยวข้องกันในฐานะและบทบาทในครอบครัว อย่างบทบาทพ่อ แม่ สามีภรรยา ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติกันระหว่างบุคคลในครอบครัว การเอาใจใส่ การเลี้ยงดูและดูแล รวมถึงการพูดคุยปรึกษา
ครอบครัวขยาย (Extended Family) หมายถึง ลักษณะของครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยเครือญาติมากกว่า 2 รุ่น คือมีรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหรือหลาน ซึ่งไม่มีการแยกครอบครัวออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น
ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) หมายถึงครอบครัวขนาดเล็กมีเพียง 2 ชั่วอายุคนเท่านั้น คือ รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก
ชาติพันธุ์ (Ethnic Group) หมายถึง กลุ่มคนที่มีจุดกำเนิดของบรรพบุรุษร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมเดียวกันและภาษาเดียวกัน ตลอดจนมีความรู้สึกในเผ่าพันธุ์เดียวกัน
การคงอยู่ของวัฒนธรรม หมายถึง สภาพของวัฒนธรรมที่ยังคงปฏิบัติ หรือมีอยู่ในชีวิตประจำวันหรือยู่ในบริบทของสังคมของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งจะต้องทำการสืบทอดต่อลูกหลานต่อไป
การเสื่อมของวัฒนธรรม หมายถึง สภาพของวัฒนธรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง สูญหาย ไปจากเดิม
จารีต (Mores) หมายถึง ระเบียบประเพณีที่คนในสังคมยอมรับและยึดถือนำมาปฏิบัติว่าเป็นความจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง
แนวโน้ม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลง หมายถึง เหตุการณ์หรือรูปแบบที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน ทั้งในทางด้านที่ดีหรือในทางที่ไม่ดี
การถ่ายทอดและการรับวัฒนธรรม หมายถึง การสอนให้คนรุ่นหลังรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่เคยได้ตกลงและกำหนดให้ปฏิบัติจากคนรุ่นก่อน
ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม หมายถึง ขบวนการที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทั้งที่เกิดจากภายในวัฒนธรรมนั้นๆ หรือวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามา
ภาวะทันสมัย หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงของสังคมเดิมไปสู่สังคมที่ทันสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การศึกษา และความเชื่อค่านิยม
6
กรอบแนวความคิด
จากการประมวลทฤษฎีและงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้แนวทางในการวิจัย ดังกรอบแนวความคิดในการวิจัยข้างล่างดังนี้
- การถ่ายทอดและรับวัฒนธรรม
- ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
- การคงอยู่ของวัฒนธรรม
- เศรษฐกิจ
- เทคโนโลยี
- การศึกษา
- ความเชื่อค่านิยม
โครงสร้างครอบครัว
(Family Structure)
แนวความคิดครอบครัว (The Family)
แนวคิดทฤษฎี ด้านวัฒนธรรม
แนวคิดเกี่ยวกับภาวะความทันสมัย
พิธีกรรมเช็งเม้งในกลุ่มคนไทย
เชื้อสายจีนแต้จิ๋ว
- การเปลี่ยนแปลงของความหมาย
- การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรม
- การผสมผสานและอัตลักษณ์ ที่คงอยู่ของพิธีกรรม
บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยเรื่องเช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรมและความเปลี่ยนแปลง ผู้วิจัยได้ทำการค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อมาอธิบายและทำความเข้าใจในการศึกษา ดังนี้
1. พิธีกรรมและพิธีกรรมเช็งเม้ง (Ceremony and Cheng Meng)
2. แนวคิดทฤษฎีโครงสร้างครอบครัว (Family Structure)
3. แนวคิดทฤษฎีด้านวัฒนธรรม
4. ทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization)
5. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
พิธีกรรมและพิธีกรรมเช็งเม้ง (Ceremony and Cheng Meng)
พิธีกรรม (Ceremony)
พิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำคุณค่าทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อทั้งความเชื่อในศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือเชื่อในภูตผีปีศาจ สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ โดยพิธีกรรมเป็นความเชื่อเชิงภาคปฏิบัติซึ่งจะกระทำในวันพิเศษ อันเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อโดยพิธีกรรมและความเชื่อมีความสัมพันธ์ในลักษณะส่งเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้กิจกรรมประจำวันเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยทั่วๆ ไปก็ถือเป็นกิจกรรมและพิธีกรรมได้เหมือนกันถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ตั้งใจทำให้ถูกต้องไม่ผิดกฎ (ศุภลักษณ์ พรกุลวัฒน์ 2539 : 9)
จากความเกี่ยวข้องของความเชื่อที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นสามารถนำไปสู่การเข้าใจชีวิตของมนุษย์และชุมชนมากขึ้น เพราะพิธีกรรมและความเชื่อทำให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม 3 ระดับ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความสัมพันธ์หว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เหตุผลในการสนับสนุนข้อความข้างต้นได้มาจากแนวคิดของ วิคเตอร์ จูนเนอร์ (Victor Turner) และ คลิฟฟอร์ด เกียรซ์ (Clifford Geertz) โดยแนวคิดของ จูนเนอร์ (Turner) ช่วยในการมองความหมายของพิธีกรรมและสัญลักษณ์อันสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมโดยอาศัยสัญลักษณ์ในพิธีกรรมสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะตอบโต้กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมภายนอกแสดงให้เห็นความต้องการภายในและอุดมคติของชีวิต (Victor Turner 1967 : 52 - 54) ส่วน เกียรซ์ (Geertz) นำเสนอว่า พิธีกรรมทำให้โลกจริงที่เรามีชีวิตอยู่และโลกในจินตนาการปนเปกันภายใต้
8
สัญลักษณ์ชุดหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองโลกหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน (Clifford Geertz 1968 : 29)
สำหรับพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องกับการบูชาบรรพบุรุษของชาวจีนนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและการปฏิบัติตามศาสนาเป็นสำคัญ การบูชาบรรพบุรุษอาจเป็นภาพรวมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นระบบที่ดีที่สุด และมีองค์ประกอบของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่กินความกว้างขวางที่สุดอันสืบเนื่องมาจากความเชื่อในหลายๆ ด้าน ทั้งจากศาสนาพุทธ ซึ่งกลายเป็นศาสนาหลักของชาวจีนและมีผลกระทบโดยตรงต่อชาวจีนโดยเฉพาะความเชื่อในนิกายมหายาน ผนวกกับแนวคิดตามหลักปรัชญาของขงจื๊อและเต๋า กลายเป็นแนวความคิดในการบูชาบรรพบุรุษ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามคำสอนของหลักศาสนาต่างๆ ที่ชาวจีนนับถือ คือ เป็นการสนองตอบต่อความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีโดยนำเข้ามาผนวกเข้ากับหลักศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้บรรพบุรุษซึ่งเขานับถือเหมือนพระเจ้าช่วยคุ้มครองลูกหลานให้มีความสุข และตามหลักความเชื่อในศาสนาพุทธเรื่องการที่ผู้ตายไปแล้วจะกลับมาเกิดใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นการสนับสนุนแนวคิดในแง่ของความคงอยู่ของวิญญาณบรรพบุรุษ (สุชาดา ตันตสุรฤกษ์ 2532 : 26)
นอกเหนือจากแนวคิดของขงจื๊อและเต๋าจะพบว่าความเชื่อของคนจีนธรรมดา (ระดับชาวนา) มีเพียง
1. เกี่ยวข้องกับความมานะพยายามที่จะประสงความสำเร็จในชีวิต
2. แสดงความเคารพนับถือต่อผู้ที่วายชนม์ไปแล้วหรือดวงวิญญาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตน
3. พยายามที่จะแสวงหาความรู้ที่เร้นลับเกี่ยวกับอนาคตของตน
ความสำคัญทั้ง 3 ประการนี้ ชาวจีนเชื่อว่าพวกเขาสามารถจะบรรลุเป้าหมายได้ โดยการแสดงความเคารพนับถือต่อคนตายเพื่อทำให้ผู้วายชนม์เกิดความพึงพอใจและไม่กลับมารังควานผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ พิธีกรรมเพื่อคนตายจึงความสำคัญมากสำหรับชาวจีน การเซ่นไหว้บรรพบุรุษจึงเป็นตัวอย่างในรูปแบบสัญลักษณ์ที่แสดงออกมา หรืออีกนัยหนึ่ง การเซ่นไหว้เป็นการสะท้อนถึงความเกรงกลัวในพลังอำนาจของคนตาย พวกเขาหวาดกลัวมากว่าวิญญาณของคนตายจะกลับมาทำอันตรายทำลายความสงบสุขในชีวิต ถ้าหากว่าคนตายไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือแสดงความเคารพโดยการเซ่นไหว้ (ฟรีน่า บรูมฟิลด์ 2533 : 12 - 13)
การที่ชาวจีนบูชาบรรพบุรุษไม่ได้หมายความว่าชาวจีนเชื่อในความคงอยู่ของวิญญาณเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อในแง่ที่ว่าจะเป็นการสืบต่อและให้ความสำคัญแก่สถาบันครอบครัวด้วยคติที่ว่าบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ก็เลี้ยงดูท่าน เมื่อท่านตายไปแล้วก็ให้ทำพิธีกรรมโดยฝังศพท่านตามประเพณี จากนั้นก็ทำการเซ่นไหว้บูชาในโอกาสหรือเทศกาลต่างๆ การสืบเนื่องในการปฏิบัติการเซ่นไหว้บูชาเป็นหัวใจหลักที่เน้นและเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเชื่อว่าขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ท่านต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และเงิน เมื่อตายไปแล้วท่านก็ยังต้องการเช่น
9
เดิม การสนองตอบต่อท่านเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการจัดของเซ่นไหว้ นี่คือจุดประสงค์ของการบูชาบรรพบุรุษ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสืบทอดวัฒนธรรมทางด้านนี้ด้วยวิธีการที่เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ได้ทำการบูชาบรรพบุรุษ อันได้แก่บิดา มารดาของตนเพื่อให้เกิดการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยทบุตรหลานของเขาก็มีส่วนร่วมในการบูชาเช่นกัน ทำให้การสืบทอดความเชื่อถือในเรื่องการบูชาบรรพบุรุษจึงมีสายการสืบทอดต่อและเมื่อตัวบิดาเองตายไป บุตรหลานก็จะทำการบูชาและปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องต่อๆ ไป (สุชาดา ตันตสุรฤกษ์ 2532 : 28 - 29)
ดังนั้นผู้วิจัยสรุปได้ว่า พิธีกรรมเป็นรูปแบบของสัญลักษณ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากความเชื่อไปสู่การปฏิบัติเพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์ที่พยายามหาสิ่งจรรโลงใจ หรือหาคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงเช็งเม้งซึ่งเป็นพิธีกรรมของชาวจีนที่มีการเซ่นไหว้เป็นสัญลักษณ์ต่อความเชื่อในเรื่องวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความกตัญญู การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง จะทำให้เข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของพิธีกรรมที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่มารวมกลุ่มประกอบพิธีนั้น
พิธีกรรมเช็งเม้ง (Cheng-Meng Ceremony)
“เช็งเม้ง” คำเรียกในภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือ “ชิงมิงเจี๋ย” (Qing Ming Jie) ในภาษาจีนกลาง เป็นคำเรียกของเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อที่ถือว่าความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญ โดยสอนให้มีความกตัญญูโดยเฉพาะต่อบุพการีทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเมื่อถึงแก่กรรมโดยเป็นธรรมเนียมการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ ในหนังสือ “หลี่ซือ” กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่าอย่างน้อยจะต้องไปคำนับหลุมฝังศพปีละ 3 ครั้ง แต่เท่าที่ปฏิบัติในปัจจุบันจะทำเพียงปีละ 1 ครั้ง ในเทศกาลเช็งเม้งนี้เท่านั้น (สมบูรณ์ สุขสำราญ 2530 : 56) ซึ่งจะมีการเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย (สุสาน) ในช่วงเดือน 2 ของจีนตามจันทรคติ และกำหนดให้ไหว้ภายใน 15 วันแรกของเดือน จากการบอกเล่าได้กล่าวว่าพิธีกรรมนี้สืบทอดต่อกันมาประมาณ 3,800 ปีแล้ว (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 55) แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงวันเทศกาลเช็งเม้งว่าได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 896 เมื่อวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 หรือเมื่อประมาณ 1,600 กว่าปี (ประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์ 2545 : 206)
เหตุผลในการเลือกช่วงเวลาดังกล่าว เพราะในช่วงเดือน 2 ของจีน หรือตามปฏิทินสากลจะตกอยู่ในเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงามอันเป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์เหมาะแก่การไปชมทิวทัศน์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน แทนการไหว้อยู่ที่บ้าน ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือจะต้องไปไหว้ในช่วงเช้า ไม่ให้เลยเที่ยงวัน (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 63)
10
ความหมายของคำว่า “เช็งเม้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว เมื่อพิจารณารากศัพท์ของภาษา สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ คือ “เช็ง” เป็นการออกเสียงของตัวอักษรจีน 2 ตัวที่ประกอบขึ้น ตัวหนึ่งมีความหมายว่า “น้ำ” และอีกตัวมีความหมายว่า “สีเขียว” เมื่อรวมคำจะหมายถึง ความใสหรือกระจ่าง และ “เม้ง” ก็เป็นการออกเสียงจากตัวอักษรจีน 2 ตัวเช่นกัน คือตัวอักษรที่หมายถึงพระจันทร์ และอีกตัวคือพระอาทิตย์ (เมื่อพระอาทิตย์ตกพระจันทร์ก็ขึ้น) ซึ่งตีความหมายว่า “สว่าง” และเมื่อนำคำว่า “เช็ง” และ “เม้ง” มารวมกันและตีความตามตัวอักษรก็คือ “แจ่มกระจ่าง” และกลายมาเป็นเป็นชื่อเฉพาะเจาะจงของเทศกาลของจีนเทศกาลหนึ่ง การที่ได้ความหมายเช่นนี้ก็เพราะว่าในระหว่างเทศกาล บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความรื่นเริงแจ่มใส ซึ่งทำให้มีชื่อเรียกกันอีกหลายชื่อ เช่นเรียกว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือเทศกาลปัดกวาดฮวงจุ้ย เป็นต้น (ประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์ 2545 : 206)
พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของชาวจีนแตกต่างไปจากการไปหลุมฝังศพของชาวตะวันตกค่อนข้างมาก เพราะชาวจีนถือว่าเป็นวันแห่งความรื่นเริงของสมาชิกในครอบครัว มีการเตรียมอาหารไปอย่างครบถ้วน นั่งรับประทางอาหารอยู่บริเวณหลุมฝังศพ หรือไม่เช่นนั้นทั้งวันให้ผ่านไปอย่างมีความสุข หากมองไม่ลึกซึ้งถึงความหมายของประเพณีนี้ อาจเข้าใจว่าคนจีนไม่ให้ความเคารพในตัวบรรพบุรุษ แต่แท้ที่จริงแล้วชาวจีนถือว่าความตายเกิดจากการที่ดวงวิญญาณไม่สามารถดำรงอยู่ในร่างกายได้อีก จึงต้องละทิ้งสังขารสมมติไปอย่างถาวร แต่ทว่าดวงวิญญาณก็ยังวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว อีกทั้งพิธีกรรมนี้เป็นการแสดงออกถึงการเคารพอาวุโส ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเคารพนับถือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อจะส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ประกอบธุรกิจราบรื่น ร่ำรวย แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือเกิดจากความหวาดกลัววิญญาณของผู้ตาย เพราะทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังต่อสู้กับอำนาจแห่งวิญญาณของผู้ตาย หากไม่ทำให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นมีความสงบสุข ดวงวิญญาณมากมายที่เร่ร่อนยังมีฤทธิ์อำนาจครอบงำผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงมีภาระผูกพันต่อผู้ตาย มีหน้าที่ที่จะต้องเซ่นไหว้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่วิญญาณเรียกร้องต้องการ ไม่เช่นนั้นแล้ววิญญาณจะกลับมารังควาน การเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน ความโชคร้าย สิ่งเหล่านี้เกิดจากความขุ่นเคืองของวิญญาณที่มีต่อลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว เหตุนี้ครอบครัวชาวจีนทุกครอบครัวจึงต้องประกอบพิธีกรรมให้บรรพชนอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ชาวจีนปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะความหวาดกลัวเท่านั้น หากแต่ว่ายังเป็นเพราะความผูกพันและเคารพนับถือคุณงามความดีในตัวผู้ตายด้วยเช่นกัน (แดง เก้าแสน 2541 : 18 - 19)
กิจกรรมที่ทำในวันเช็งเม้งจะมีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. การเซ่นไหว้ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก
2. การทำความสะอาด ปัดกวาดฮวงซุ้ย
11
1. การเซ่นไหว้ในพิธีกรรมเช็งเม้ง ถือเป็นการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดเพราะด้วยเหตุผลที่ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จะต้องอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญู โดยการประกอบพิธีกรรมจะต้องรอให้คนในครอบครัวมาพร้อมกันทั้งหมด ยกเว้นแต่มีการแจ้งไว้ล่วงหน้าว่าไม่สามารถมาร่วมได้จึงจะเริ่มพิธี ประธานหรือผู้นำในพิธีกรรมก็คือผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอันได้แก่พ่อ หากเมื่อพ่อได้ตายไป ผู้นำที่จะเป็นต่อก็คือลูกชายคนโตของครอบครัว การประกอบพิธีกรรมเช็งเม้ง สิ่งแรกคือการไหว้ศาลเจ้าที่ “แป๊ะกง” ด้วยของคาวของหวาน ผลไม้ ขนมอี๊ 5 ที่ ชา 5 ถ้วย เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม้ และทองเวลาจุดธูปไหว้จึงต้องไหว้ธูป 5 ดอก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและขอบคุณที่เจ้าที่ช่วยดูแลฮวงซุ้ยหรือสุสานของบรรพบุรุษ บางแห่งมีไหว้เจ้าประตูหรือที่เรียกกันว่า “มึ่งซิ้ง” ก็ต้องไหว้ธูปเพิ่มอีก 2 ดอก ปักที่เสาประตูข้างละดอก จากนั้นจึงเข้าไปไหว้บรรพบุรุษที่หลุม ซึ่งจะเตรียมของไหว้ไว้ 2 ชุด ชุดหนึ่ง ไหว้บรรพบุรุษ อีกชุดหนึ่งไหว้โท้วตี่ซิ้ง คือ เทพยดาผืนดิน จะต้องไหว้เทพยดาผืนดินก่อนด้วยธูป 5 ดอก เพราะถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่ จากนั้นจึงไหว้บรรพบุรุษด้วยธูป 3 ดอก พร้อมด้วยอาหารคาวและอาหารหวานที่เตรียมมา มีการเผากำยาน และต้องไหว้ 3 รอบ (เฉพาะบรรพบุรุษ) รอจนไหว้ครั้งที่ 3 แล้ว จึงเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อให้คนตายได้นำไปใช้ในอีกโลกหนึ่ง จากนั้นก็จุดประทัดส่งท้ายแล้วจึงทำการเก็บของเซ่นไหว้ ที่เรียกว่าการลา (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 67)
2. การทำความสะอาดฮวงซุ้ย นับเป็นกิจกรรมที่ลูกหลานจะต้องช่วยเหลือกันเพื่อปรับแต่งฮวงซุ้ยให้สวยงาม มีการทำความสะอาด ปัดกวาด ดายหญ้า ถอนหญ้าบนหลุมศพ ปรับพื้นและซ่อมแซมฮวงซุ้ย เช่นการเติมดินหรือปรับให้หลุมศพโค้งมน หรือดินที่เซาะลงมาเก็บให้เรียบร้อย มีการปลูกต้นไม้มงคล ต้นไม้ส่วนใหญ่ก็จะปลูกต้นสนหรือพืชที่มีอายุยืน มีเขียวสดไม่ล้มตายง่าย กินน้ำน้อย หรือต้นไม้ที่ปลูกแล้วให้ความหมายสบายใจ หรือการนำตะไคร้ไปวางที่ข้างฮวงซุ้ยเพื่อขับไล่ผีปีศาจชั่วร้ายออกไป และสิ่งที่สำคัญที่ต้องกระทำก่อนไปก็คือการตกแต่งหลุมศพด้วยกระดาษสีเป็นริ้วๆ หรือธงสีต่างๆ วางบนฮวงซุ้ย แล้วเอาหินทับไว้กันลมปลิว เพื่อแสดงว่าหลุมศพนี้มีลูกหลานสืบทอดและได้มาเคารพบรรพบุรุษของเขา ซึ่งบางที่อาจจะใช้เป็นกระดาษเงินหรือกระดาษทองวางแทนก็ได้ (ประยงค์ อนันทวงศ์ 2525 : 97 - 98 อ้างใน สุชาดา ตันตสุรฤกษ์ 2532 : 35) การใช้กระดาษสีหรือสายรุ้งไปแต่งโปรยไว้บนเนินดินเหนือหลุม ถ้าไหว้เป็นปีแรก จะใช้สายรุ้งสีแดงโดยเฉพาะ ปีต่อ ๆ มาจึงเล่นหลายสีได้ (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 66)
รูปแบบหรือขั้นตอนในปัจจุบัน โดยหลักๆ แล้วยังคงปฏิบัติตามขั้นตอนเดิมอย่างขั้นตอนการเซ่นไหว้ แต่ส่วนอื่นๆ อาจต่างจากเดิมไปเพราะด้วยบริบทของสังคมไทยที่ต่างกับจีน และความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันซึ่งขั้นตอนพิธีกรรมอาจลดลงหรือมีเพิ่มเติม อย่างเช่น
12
การไปไหว้บรรพบุรุษที่วัดแทนการไปสุสาน เพราะพิธีศพของคนจีนในระยะหลังมีการเผาศพ และนำอัฐิไปไว้ที่วัดแทนการฝัง หรือมีการไปที่มีการนิมนต์พระจีนไปสวดด้วย เหมือนอย่างวัฒนธรรมไทย ที่จะต้องมีพระสงฆ์เข้าร่วมในพิธีกรรมเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล แต่มีน้อยมาก (อมรา พงศาพิชญ์ 2541 : 47)
เครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในพิธีกรรมเช็งเม้ง
ตามธรรมเนียมจีนนิยมในอดีตเครื่องเซ่นไหว้ ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมจะเหมือนเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลอื่น ก็คือมีของคาว ของหวาน ผลไม้และเครื่องดื่ม สำหรับการไหว้บรรพบุรุษจะมีอาหารคาว ที่เรียกว่า “คออั่ว” ที่คิดว่าบรรพบุรุษชอบ แต่ปัจจุบันบางบ้านก็หันมาเลือกชนิดที่ลูกหลานชอบด้วย ซึ่งธรรมเนียมจะต้องของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด มีการเผากระดาษเงินกระดาษทองโดยต้องไหว้เจ้าที่ก่อน แล้วจึงไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของเซ่นไหว้จึงต้องจัด เป็น 2 ชุด คือ ชุดหนึ่งไหว้บรรพบุรุษอีกชุดหนึ่งไหว้โท้วตี่ซิ้ง คือ เทพยดาผืนดิน (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 21 - 65)
การจัดของไหว้ถ้าจัดชุดใหญ่นิยมเป็นตัวเลข 5 ทั้งนี้ตามคติจีนโบราณเชื่อกันว่าตัวเลขแบ่งเพศ เช่น เลขคี่เป็นเพศชาย และเลขคู่เป็นเพศหญิง ตัวเลขบางตัวได้รับการะบุเด่นชัดว่าเป็นตัวเลขนำโชค เช่น ตัวเลขคี่ค ู ่กัน ถือเป็นตัวนำโชค เนื่องจากเชื่อว่าความโชคดีมีมาเป็นสองเท่า เลขคี่ตัวเดียวเป็นสัญลักษณ์แห่งการพลัดพรากและความว้าเหว่ ยกเว้นเลข 5 หรือ “อู่” ถือเป็นเลขดี เพราะมีสิ่งสำคัญหลายอย่างที่สัมพันธ์กับเลขห้า คือ อู่อ้าย (รักห้าประการ) คือ 1. ประเทศชาติ 2. เพื่อนร่วมชาติ 3. การทำงาน 4. ศาสตร์ต่างๆ 5. สมบัติสาธารณะ หรือ อู่ผ่าง (ทิศทั้งห้า) 1. ทิศเหนือ 2. ทิศตะวันออก 3. ทิศใต้ 4. ทิศตะวันตก 5. ภาคกลาง ดังนั้นมีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกรแต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นราคาแพง จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอัด เป็นต้น ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย” ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว อย่างเช่น ส้ม คำจีนเรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี องุ่น คำจีนเรียกว่า “พู่ท้อ” หมายถึงงอกงาม สับปะรด คำจีนเรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา และกล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล ถ้าจัดของไหว้ชุดเล็ก ก็จะเป็นชุดละ 3 อย่างหรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้ ถ้าของคาว 3 อย่าง เรียกว่า “ซาแซ” ขนม 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” และผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก๊วย” ซึ่งเลข 3 ถือว่าดี เพราะออกเสียงคล้ายคำว่า “เซิน” หมายถึงความเจริญก้าวหน้า (ยุทธนา วรุณปิติกุล 2541 : 123 - 124)
นอกจากนี้ของเซ่นไหว้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมโบราณของจีนแผ่นดินใหญ่ที่คนไทยเชื้อสายจีนรู้น้อยมากทั้งตำนานที่มา นั่นคือการนำ “หอยแครงลวก” ไปไหว้ด้วยและจะช่วยกันกินหอยแครงตรงฮวงซุ้ยนั่นเอง ส่วนเปลือกหอยที่เหลือจะโปรยไว้บนเนินดิน ซึ่งที่มา
13
ของธรรมเนียมมาจากตำนานของ 1 ใน 24 ลูกกตัญญูของจีนที่ขึ้นชื่อ เป็นลูกหลานกตัญญูสุดยอดจนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 65 - 66)
โดยมีเรื่องเล่าว่า “มีชายหนุ่มเกิดมาเป็นกำพร้าทั้งบิดามารดา ฐานะก็ยากจน แต่ที่สุดก็ตั้งตัวได้ กลายเป็นผู้มีอันจะกิน ด้วยความเป็นกำพร้าไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่เลย แต่ชายคนนี้ก็ยังอยากจะได้เห็นพ่อแม่สักครั้ง จึงไหว้เจ้าอธิษฐานขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดมา ว่าอยากจะพบและเห็นหน้าบุพการี วันหนึ่ง จึงมีเจ้ามาเข้าฝันว่า เวลาไปไหว้เช็งเม้ง ให้ชายคนนี้เอาหอยแครงลวกไปไหว้พ่อแม่ แล้วแกะเนื้อออกกินตรงฮวงซุ้ยนั้นตรงนี้เขามีคำจีนว่า “กุ๊กเน้ก เซียงเกี่ยง”
กุ๊ก แปลว่า กระดูก
เน้ก แปลว่า เนื้อ
เซียงเกียง แปลว่า เจอกัน
แปลทั้งความ คือ ให้กระดูกเนื้อเจอกัน
จึงเป็นเคล็ดว่า เมื่อเอาหอยแครงไปไหว้ ก็ต้องแกะเปลือกเอา “เนื้อ” ออกมากิน จึงจะเกิดการ “กระดูกเนื้อเจอกัน” กระดูกคือพ่อแม่ เนื้อคือลูก เป็นการอุปมาอุปไมยว่า พ่อแม่ลูกได้เจอกันนั่นเอง
ตกกลางคืน ชายหนุ่มก็ฝันว่า พ่อแม่ได้มาหา พร้อมทำนายโชคชะตาให้ว่า เขาจะก้าวหน้าร่ำรวย และโชคดีมีสุขจากการเป็นลูกกตัญญู” จึงกลายเป็นธรรมเนียมเอาหอยแครงไปไหว้เช็งเม้งสืบต่อมา
กระดาษเงินกระดาษทอง
คนจีนมีความเชื่อว่า คนเราเมื่อตายไปแล้วจะไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เรียกว่า “อิมกัง” ซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องทำบุญส่งเงินทองไปให้บรรพบุรุษได้มีใช้ในอิมกัง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู ด้วยการไหว้เจ้าและเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้ (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 27 - 28)
ตำรากงเต๊กและตำรากฐิน ของพระสงฆ์อานัมนิกาย (2505 : 47 - 48) ได้กล่าวถึงการเผาเครื่องกระดาษว่ามีปรากฏในพงศาวดาร (ตี้ด้างลี้เท้เยิง) ในเรื่องซุยถังว่า เมื่อครั้งกระโน้นมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าลี้ซีบิ๋น พระองค์สลบไป ดวงพระวิญญาณของพระองค์เสด็จไปยังอยายภูมิ นายนิรยบาลจึงตรวจตามบัญชี เห็นว่าพระเจ้าลี้ซีบิ๋นยังไม่ถึงที่มรณะ นายนิรยบาลจึงนำส่งพระเจ้าลี้ซีบิ๋นกลับยังมนุษยโลก เวลาที่นายนิรยบาลนำพระองค์มานั้น มีพวกอสุรกายพากันมาฉุดร่างพระองค์ไว้ พระจ้าลี้ซีบิ๋นจึงเรียกให้นายนิรยบาลช่วย นายนิรยบาลจึงตอบว่าข้าพเจ้าช่วยพระองค์ไม่ได้ แม้พระองค์มีเงินทองจงแจกจ่ายให้แก่พวกอสุรกายนั้นแล้วจึงไปได้ พระเจ้าลี้ซีบิ๋นตอบว่าเราไม่มีเงินทองติดตัวมาเลย จะเอาที่ไหนมาแจก
14
จ่ายให้พวกนี้ นายนิรยบาลทูลว่ามีที่มนุษยโลก มีราษฎรผู้หนึ่งนามว่า เตืองเลือง เป็นราษฎรอยู่ในความปกครองของพระองค์ และเป็นผู้ค้าขายเลี้ยงชีพ เมื่อค้าขายได้เงินมาแล้ว ผู้นั้นก็ซื้อกระดาษเงินกระดาษทองเผาเสมอทุกๆ วัน แต่หาได้อุทิศให้แก่ผู้ใดไม่ กระดาษที่เผานั้นก็กลายเป็นเงินอยู่ในอบายภูมินี้ 13 คลัง ขอพระองค์จงยืมเงินนี้สักคลังหนึ่ง เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่พวกที่อดอยากที่อบายภูมินี้แล้วพระองค์จึงกลับได้สะดวก ครั้งพระเจ้าลี้ซีบิ๋นได้ ทรงฟังนายนิรยบาลทูลดังนั้นแล้ว พระองค์จึงยืมเงินนั้นคลังหนึ่งแจกจ่ายให้แก่พวกอสุรกายที่อดอยากทั่วกันแล้ว นายนิรยบาลจึงนำพระองค์กลับยังมนุษยโลก ครั้งเมื่อพระเจ้าลี้ซีบิ๋นฟื้นมาแล้ว พระองค์ตรัสเล่าให้ข้าราชการของพระองค์ทราบ แล้วพระองค์มีรับสั่งให้ตามเตืองเลือง เจ้าของเงินเข้ามา พระองค์จึงมอบเงินคลังหนึ่งใช้หนี้ให้เตืองเลืองตามที่ได้ยืมนั้น เรื่องเผาเครื่องกระดาษมีปรากฏในพงศาวดารดังนี้ จึงได้กระทำตลอดมาจนปัจจุบันนี้แต่มาพลิกแผลงทำเป็นเครื่องภาชนะใช้สอยต่างๆ เผาอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปยังปรโลก
กระดาษเงินกระดาษทองมีหลายแบบแต่ที่นิยมใช้ในการไหว้บรรพบุรุษมีดังนี้ (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 27 - 32)
กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษสีแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัน” เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดี
กิมจั้ว งึ้งจั้ว แปลตรงตัวก็คือ กระดาษเงินกระดาษทองนั่นเอง ทำไหว้เป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานก็นำมาพับเป็นดอกไม้
กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย
ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้นำมาพับเป็นรูปร่างก่อน ถ้าพับเป็นเรือ เรียกว่า “เคี้ยวเท่าซี” นิยมกันว่าการพับแบบเรือจะได้มูลค่าสูงกว่าการพับแบบอื่น โดยเฉพาะในพิธีการทำกงเต๊ก ลูกหลานจะต้องพับค้อซีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
อิมกังจั้วยี่ หมายถึงแบงก์กงเต๊ก
อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทางไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย
ตั้วกิม เป็นกระดาษเงินกระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตาย
สุสาน
“สุสาน” ของชาวจีนว่าที่มักได้ยินคือ “ฮวงซุ้ย” หากแต่ในทางภาษาของคนจีนแต้จิ๋วกับไม่พบคำดังกล่าวมีแต่คำว่า “ฮวงจุ้ย” ถ้าออกเสียงแบบจีนกลางจะเป็น “ฟงซุ่ย” คำว่าฮวงจุ้ยนี้ แปลว่า “ภูมิพยากรณ์” ซึ่งคนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อถือมากเรื่องการเลือกที่และการสร้างบ้าน ว่าต้องให้ถูกโฉลกหรือถูกต้องตามตำราฮวงจุ้ย โดยเชื่อว่า ในแต่ละที่จะมีพลังลึกลับที่เรียกว่า “แสงที่” แฝงอยู่ การเลือกที่ได้ถูกต้อง และสร้างบ้านได้ถูกหลักฮวงจุ้ย แสงที่จะยิ่งช่วยเสริมให้ที่ตรงนั้นถูกโฉลกกับเจ้าของ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า ศาสตร์เรื่องฮวงจุ้ย
15
นี้ ไม่เพียงแต่ใช้กับที่อยู่อาศัยของคนเป็น ซึ่งคนจีนเรียกว่า “เอี๊ยงกัง” เท่านั้น กับ “อิมกัง” ซึ่งหมายที่ของคนตาย หรือบ้านของบรรพบุรุษในปรโลก ก็ต้องดูให้ถูกโฉลกด้วย ซึ่งการเลือก “ฮวงซุ้ย” หรือสุสานบรรพบุรุษต้องมีการเลือกที่และดูทิศทางให้ถูกต้องตามตำรา เพื่อให้ถูกโฉลกกับทั้ง “อิมกัง” และ “เอี๊ยงกัง” จะได้ส่งผลสะท้อนถึงลูกหลานให้เจริญก้าวหน้า (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 54 - 61)
ฮวงจุ้ยตามอุดมคติคือมีภูเขาอยู่ด้านเหนือ เพื่อป้องกันวิญญาณอันชั่วร้าย ด้านหน้าของที่จะต้องหันไปทางทิศใต้ ต้นไม้จะต้องปลูกทางทิศเหนือ ควรจะมีลำธารล้อมรอบที่ และควรจะมีที่ราบทอดลงมาทางด้านใต้ ที่ราบแห่งนี้ควรกว้างขนาด “จุม้าได้หมื่นตัว” และลำน้ำควรใหญ่พอที่จะลอยเรือขนาดยาวได้ และเมื่อมองจากยอดของภูเขา ควรจะมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลสุดสายตา และน้ำในแม่น้ำต้องเปี่ยมล้น นักโบราณวิทยากล่าวว่า ลักษณะของที่ดังกล่าวจะให้กำเนิดลูกหลานมากมายซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีตามคติความเชื่อของชาวจีน การเลือกทำเลฝังศพคนตาย กระทั่ววันและเวลาจะขุดหลุมนั้นก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นเรองสำคัญที่สุด เพราะชาวจีนเชื่อว่าสุสานที่ดีย่อมหมายถึงโชคดี ความเจริญรุ่นเรืองของวงศ์ตระกูล (ฟรีน่า บรูมฟิลด์ 2533 : 21 - 22) สุสานที่นิยมกันมาก คือ ตรงหน้าที่ต้องให้มีน้ำเพราะคนจีนเปรียบน้ำเป็นเงินทองโชคลาภ เมื่อตีความให้ลึกลงไป จะพบว่าคนจีนมีความผูกพันกับการเกษตรกรรมมาแต่โบราณ การมีน้ำหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ความสามารถในการเพาะปลูกที่จะทำได้ง่าย มีน้ำกินน้ำใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมา สำหรับการเลือกที่ “ฮวงซุ้ย” ก็อนุโลมว่าน้ำที่อยู่ด้านหน้าสุสานอาจเป็น “น้ำไกล” คืออยู่ห่างออกไปเป็นกิโล ไม่จำเป็นต้องว่ามีน้ำอยู่ติดที่ แต่มองไปข้างหน้าแล้วแลเห็นน้ำ (จิตรา ก่อนันทเกียรติ 2544 : 58)
การฝังหรือวางโลงศพจะต้องให้ตรงในกรอบหลุมฝังศพ ตรงปลายเท้าให้เหลือยาวมากกว่าด้านศีรษะ โดยใช้ไม้ฟุตจีนวัดความยาวที่เหลือทั้งทางด้านศีรษะและปลายเท้า มีความยาวตรงกับขนาดของคำว่า “แซเล่า” (เกิดแก่) ในบางกรณีอาจอนุโลมให้วัดได้เพียงถึงตัวหนังสือ “แซ” (เกิด) ก็ได้ การตั้งป้ายต้องตั้งให้ตรง หากว่าหลุมฝังศพตั้งอยู่ในที่ที่เหมาะสม หลังจากฝังและดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตามพิธีแล้ว ลูกหลานต้องได้รับความโชคดี (น่ำซก แซ่ตั้ง 2543 : 290)
พิธีการเกี่ยวกับการ “ฮวงจุ้ย” หรือ “ฮวงซุ้ย” ที่ได้บรรจุศพเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ก่อนที่จะไปถึงการไหว้ในเทศกาลเช็งเม้ง มีขั้นตอนปฏิบัติที่ได้บันทึกไว้ว่า ก่อนที่จะเริ่มมีการสร้างตั้งป้ายตั้งเสาให้เรียบร้อยนั้น ต้องดูวันดูฤกษ์จนได้วันเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงค่อยทำการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง เสร็จแล้วจึงทำการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อทำพิธีเปิดป้ายเซ่นไหว้เป็นครั้งแรกซึ่งสำคัญมาก ถ้าหากว่าในปีแรกนั้นเป็นปีที่ไม่เหมาะสมแล้ว ก็ดูวันดูปีหลังจากครบรอบ 1 ปี ไปแล้วก็ได้ แต่ควรให้อยู่ในช่วงเวลาภายใน 3 ปี เมื่อได้ฤกษ์ยามจนดีแน่นอน แล้วเตรียมสุราอาหารทำพิธีเซ่นไหว้เป็นครั้งแรก เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้งก็มีการไปเยี่ยมฮวงจุ้ยเพื่อเซ่นไหว้
16
ในปีแรกนั้นควรหาฤกษ์ยามวันเวลาที่ดี ซึ่งเป็นเวลาที่ควรอยู่ในช่วงก่อนวันเช็งเม้ง แล้วเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ของคาวไปไหว้ สำหรับหลุมศพเก่าที่ผ่านการไหว้เช็งเม้งครั้งแรกไปแล้ว ไม่ต้องดูฤกษ์ยามให้ไหว้ในวันเช็งเม้ง หรือวันเวลาที่สะดวกก็ได้ (น่ำซก แซ่ตั้ง 2543 : 289 - 291)
จากข้อมูลที่แสดงทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าพิธีกรรมเช็งเม้งเป็นพิธีกรรมเชิงปฏิบัติที่ต้องกระทำโดยอาศัยความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติกับมนุษย์ อันเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อในโลกหลังความตาย หรือผลที่ได้รับจากการกระทำนั้นๆ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสิ่งต่างๆ ซงเป้าหมายของพิธีกรรมมาจากหลักคำสอนในศาสนาของชาวจีนที่นับถือ นั่นก็คือลัทธิขงจื้อ ซึ่งหลักคำสอนได้ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ต่อบิดามารดาอย่างไร มีหน้าที่ต่อผู้ปกครองอย่างไร มีหน้าที่ต่อเพื่อนอย่างไร อันประกอบด้วยความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพของครอบครัวให้แข็งแกร่งตามคติจีน ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า พิธีกรรมเช็งเม้ง อันเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวจีน ซึ่งมีความเชื่อหลักสำคัญ 2 ประการ คือ 1. การกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และ 2. คือ การยึดโยงความเป็นครอบครัว โดยผ่านการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เริ่มต้นตั้งแต่การชักชวน การเข้าร่วมพิธีกรรมที่พร้อมเพรียง เหตุผลต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรม เครื่องเซ่นไหว้ ล้วนสื่อความหมายอันเกี่ยวข้องระหว่างบรรพบุรุษ พ่อแม่และลูกหลานในตระกูลทั้งสิ้น ทำให้ตระหนักได้ว่าพิธีกรรมเช็งเม้งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมแบบแผนของอำนาจในครอบครัวในเรื่องของรุ่นชั่วอายุคน อาวุโส และเพศ อันเป็นจารีตนิยมของครอบครัวชาวจีนที่สำคัญ อันนำไปสู่ความเป็นอุดมการณ์ครอบครัว
แนวคิดทฤษฎีโครงสร้างครอบครัว (Family structure)
แนวคิดครอบครัว (The Family)
ครอบครัวคือหน่วยทางสังคมหน่วยหนึ่ง หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะ (Statuses) เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์และเป็นกลุ่มบุคคลทางสังคม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ สมาชิกอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ทางเพศ และเศรษฐกิจเป็นหลัก ในการศึกษาถึงแนวคิดครอบครัวได้ขอยกการอธิบายแนวคิดครอบครัวของ งามพิศ สัตย์สงวน (2545 : 13 - 14) มาอธิบายดังนี้
สถาบันครอบครัวนั้น มีคำศัพท์ 3 คำที่จะต้องทำการอธิบายเพื่อทำความเข้าใจคือ คำว่า “เครือญาติ” (Kinship) “ครอบครัว” (Family) และ “การแต่งงาน” (Marriage) ซึ่งมีความหมายต่างกัน ดังนี้
เครือญาติ (Kinship) หมายถึงกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ เพราะมีบรรพบุรุษทางสายเลือดร่วมกันตั้งแต่ในอดีต กลุ่มคนเหล่านี้อาจอยู่อาศัยร่วมกันหรือแยกกันอยู่ก็ได้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันและมีความสัมพันธ์กันอย่างถาวรมีการติดต่อสัมพันธ์กันยาวนาน มีประเพณีต่างๆ ของครอบครัวเครือญาติร่วมกัน การระลึกว่าเป็นญาติกันก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่เฉพาะขึ้นมานับว่าเป็นการนิยามโดยสังคมว่า ใครเป็นญาติกัน เช่น การสืบบรรพบุรุษว่า มาจาก
17
ปู่ย่า ตายายเดียวกัน คนบางกลุ่มอาจนับญาติฝ่ายสามีภรรยา หรือเขยสะใภ้เป็นญาติหรือไม่ก็ได้ ครอบครัว (Family) หมายถึงกลุ่มคนที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นเครือญาติกัน เป็นหน่วยของความร่วมมือกัน เพื่อทำสิ่งต่างๆ เพื่อความอยู่รอดร่วมกัน กลุ่มคนดังกล่าวจะใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน คือ กินอยู่หลับนอนด้วยกัน ครอบครัวมีหน้าที่สำคัญในการผลิตประชากรในสังคม
ส่วนคำสุดท้ายคือ การแต่งงาน (Marriage) หมายถึงการที่สังคมยอมรับการมีเพศสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการและค่อนข้างถาวร ระหว่างชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง (Monogamy) หรือระหว่างชายหนึ่งกับหญิงหลายคน (Polygamy) หรือหญิงหนึ่งกับชายหลายคน (Polyandry) ความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของสิทธิและหน้าที่ที่ได้รับจากสังคมหรือชุมชน ความสัมพันธ์ของชายและหญิงที่เป็นสามีภรรยากันเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้สังคมต้องเข้ามาจัดการควบคุมโดยวิธีต่างๆ โดยทั่วไปมักมีการนิยามสิทธิและหน้าที่ของสามีและภรรยาก่อนการแต่งงาน
เกรนเดล (Grandall) (เกรนเดล อ้างใน จุฑามณี จาบตะขบ 2542 : 31) กล่าวว่า ครอบครัวเป็นความสัมพันธ์แบบปฐมภูมิ (Primary Relationship) ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
1. จำนวนของบทบาท (Number of Roles) มีหลายบทบาท เพราะครอบครัวมีการปฏิสัมพันธ์กันหลายด้าน ทำให้เกิดความสนใน ได้รู้จักค่านิยม ความเชื่อถือ ตลอดจนบุคลิกที่แท้จริงของกันและกัน
2. การสื่อสาร (Communication) ความสัมพันธ์ปฐมภูมิเป็นความสัมพันธ์แบบเปด มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
3. อารมณ์ (Emotion) ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะก่อรูปจากอารมณ์ต่างๆ ระหว่างสมาชิกก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ความผูกพันรักใคร่ ความขัดแย้ง
4. ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึก (Transferability) ความสัมพันธ์แบบปฐมภูมิก่อรูปขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งแน่นอน เป็นการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแต่ละคน มีความรู้สึกผูกพันเฉพาะเจาะจง ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้นผู้วิจัยเห็นว่ากรอบแนวความคิดครอบครัว อันประกอบด้วยเครือญาติ ครอบครัวและการแต่งงานจึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความสำคัญในทุกสังคม เพราะเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและเป็นแหล่งในการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ รวมถึงพิธีกรรม ซึ่งแต่ละสังคมจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป แต่ก็ต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับไว้เพื่อรักษาระเบียบทางสังคมอีกทั้งเป็นโครงสร้างเพื่อการอธิบายหลักเกณฑ์ในการศึกษา เพราะหากต้องการศึกษาถึงปัญหาหรือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะต้องทำการศึกษาถึงในอดีตด้วยว่าเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาถึงวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ อันเป็นเหตุไปสู่ความเป็นสังคมนั้นต้องศึกษาจากคนเป็นสำคัญ
แนวคิดโครงสร้างครอบครัว (Family Structure)
18
ในการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างครอบครัวนั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ดังนี้ (งามพิศ สัตย์สงวน 2545 : 14 - 24)
1. ประเภทครอบครัว (Family Type)
2. การเลือกคู่ครอง (Mate Selection)
3. จำนวนคู่ครอง (Number of Spouses)
4. การสืบเชื้อสาย (Rules of Descent)
5. ที่อยู่อาศัยหลังแต่งงาน (Rules of Post-Residence)
6. อำนาจในการครอบครัว (Authority Pattern)
ประเภทของครอบครัว (Family Type)
การแบ่งประเภทของครอบครัวนั้น สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท คือ ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) , ครอบครัวขยาย (Extended Family) , Stem Family , ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว (Matriarchal Family) และครอบครัวที่มีสามีหรือภรรยาแต่เพียงผู้เดียวเป็นหัวหน้าครอบครัว (Single-parent family) ซึ่งในที่นี้ขออธิบายเพียง 3 ประเภทคือ ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย และความหมายของ Stem Family เพื่อนำมาทำความเข้าใจกับการศึกษาพิธีกรรมเช็งเม้งของชาวจีนแต้จิ๋ว
ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family หรือ Conjugal Family) คือ หน่วยย่อยที่สุด มีสมาชิกน้อยที่สุด อันเป็นรากฐานของหน่วยทางสังคมขนาดใหญ่ ครอบครัวขนาดเล็กประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูกที่ยังไม่แต่งงานที่อยู่อาศัยร่วมกัน ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน มีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ครอบครัวประเภทนี้จะมีคน 2 ชั่วอายุเท่านั้น คือ รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกๆ ลักษณะเด่นของครอบครัวประเภทนี้ คือ การเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส สำคัญกว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือด
โลวี่ อาร์ เอช (Lowie, R.H.) (โลวี่ อาร์ เอช 2463 อ้างใน นิยพรรณ วรรณศิริ 2540 :195) กล่าวว่าไม่ว่าสังคมในส่วนใดของโลกก็ตาม และไม่ว่าครอบครัวเดี่ยวจะมีเงื่อนไขใดๆ ก็ตาม เช่นครอบครัวเดี่ยวที่แท้จริงหรือไม่ (คืออาจจะมีญาติข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างติดตามมาด้วยก็ตาม) ครอบครัวเดี่ยวก็จะประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้น
นอกจากลักษณะทั่วไปที่กล่าวมาแล้ว ครอบครัวเดี่ยวยังมีลักษณะเฉพาะอีก 3 อย่าง คอ อาจเป็นครอบครัวเดี่ยวที่เป็นอิสระ (Independent Nuclear Family) ของการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) นอกจากครอบครัวเดี่ยวเป็นอิสระแล้ว ยังมีครอบครัวที่ไม่เป็นอิสระ (Dependent Nuclear Family) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวขยาย และครอบครัวเดี่ยวแบบผสม (Component Nuclear Family) ซึ่งเป็นครอบครัวประเภทหลายผัวหลายเมีย
19
ในสังคมสมัยใหม่ในชุมชนเมือง หรือในสังคมอุตสาหกรรม จะพบลักษณะของครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย ทั้งนี้เพราะในชุมชนเมืองในสังคมสมัยใหม่และในสังคมอุตสาหกรรมย่อมมีผลพวงเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องจึงบังคับให้ต้องมีครอบครัวขนาดเล็ก
ครอบครัวขยาย (Extended Family หรือ Consanguine Family) เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนใน 3 ชั่วชีวิตขึ้นไป เช่น รุ่น ego รุ่นพ่อแม่ ego และรุ่นลูก ego เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้อยู่อาศัยร่วมกัน ครอบครัวแบบนี้เน้นความสัมพันธ์ทางสายเลือดเป็นหลัก เป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส คู่สมรสจะถูกมองว่า เป็นคนภายนอก ไม่มีความสำคัญในครอบครัวแบบนี้ เพราะเน้นความสัมพันธ์ทางสายเลือด จึงเรียกว่า ระบบความสัมพันธ์ทางสายเลือด (Consanguine Family)
ลักษณะของครอบครัวขยายแพร่หลายมากในเกือบจะทุกๆ สังคมเกษตรกรรมหรือสังคมชนบท เพราะลักษณะอาชีพกสิกรรมต้องการแรงงานร่วมมากต้องใช้คนมากและในสังคมเกษตรกรรมก็ไม่นิยมจ้างแรงงานนอกจากแรงงานเครือญาติ
Stem Family หมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกชายหรือลูกสาวและครอบครัวของลูกชายหรือลูกสาว โดยทั่วไปมักเป็นลูกคนเล็กหรืออาจเป็นลูกคนใดก็ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา
การเลือกคู่ครอง (Mate Selection)
การเลือกคู่ครองถือเป็นระเบียบบรรทัดฐาน (Social Norms) ที่สังคมได้วางไว้ สมาชิกทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานเหล่านั้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครอบครัว ในการเลือกคู่ครองนี้ แต่ละชุมชน แต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน สังคมบางแห่งบังคับให้สมาชิกแต่งงานภายในกลุ่มของตัวเอง (Endogamy) หรือแต่งงานนอกกลุ่มของตัว (Exogamy)
การแต่งงานภายในกลุ่มดังกล่าวมีหลายระดับ ดังนี้
- Tribal Endogamy สังคมระดับเผ่าที่บังคับให้แต่งงานภายในเผ่าห้ามการแต่งงานนอกเผ่าพันธุ์ เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่งงานภายในเผ่าเดียวกัน
- Racial Endogamy เป็นการแต่งงานที่สนับสนุนให้สมาชิกแต่งงานกับคนเชื้อชาติเดียวกันมากกว่าให้เกิดการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ (Interracial Marriage) เพราะการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ จะทำให้เกิดปัญหาครอบครัวมากกว่าการแต่งงานภายในเชื้อชาติเดียวกัน
- Religious Endogamy การสนับสนุนการแต่งงานกับคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการแต่งงานข้ามศาสนากันมากขึ้น
- Class Endogamy การแต่งงานภายในชนชั้นเดียวกัน ฐานะที่เสมอกันซึ่งยังพบเห็นอยู่ในปัจจุบันแต่ก็ไม่มาก
20
- การแต่งงานภายในเครือญาติเดียวกัน เป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในสังคมระดับเผ่าซึ่งกำหนดให้สมาชิกแต่งงานภายในเครือญาติเดียวกัน ประเภทของเครือญาติที่นิยมให้แต่งงานกันมากที่สุด เรียกว่า Cross-cousin Marriage คือการแต่งงานของ Ego กับลูกลุงหรือน้าฝ่ายแม่ หรือลูกของป้าและอาฝ่ายพ่อ ประเภทเครือญาติที่ไม่นิยมเรียกว่า Parallel-cousin Marriage หมายถึงแต่งงานของ Ego กับลูกของป้าหรือน้าฝ่ายชาย หรือล ูกของลุงกับอาฝ่ายแม่
การแต่งงานนอกกลุ่ม (Exogamy) เกิดจากการมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่กำหนดให้แต่งงานนอกกลุ่ม เช่น การแต่งงานกับคนนอกเผ่า การแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ข้ามศาสนา ข้ามชนชั้น การแต่งงานนอกเครือญาติของตน การแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และการแต่งงานกับคนต่างชาติเป็นต้น อันมีรากฐานสำคัญมาจากสถาบันสังคมอย่างหนึ่งที่มีในทุกสังคม นั่นคือกฎเกณฑ์ต้องห้าม (Incest Taboo) คือ ข้อห้ามไม่ให้มีการแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างเครือญาติใกล้ชิด นั่นคือ ห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กันระหว่างพ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย และระหว่างพี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาว รวมทั้งไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กันระหว่างลุงกับหลานสาว ป้ากับหลานชาย เช่นกัน
จำนวนคู่ครอง (Number of Spouses)
ในสังคมสมัยใหม่มักมีกฎในสถาบันสังคมบังคับให้มีคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) คนเดียวในเวลาหนึ่ง ในขณะที่บางสังคมอนุญาตให้มีคู่ครองได้หลายคนในเวลาเดียวกัน โดยทั่วไปมีกฎเกณฑ์ของสถาบันสังคมเกี่ยวกับจำนวนคู่ครองอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ระบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) และระบบมากผัวมากเมีย (Polygamy)
ระบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) หมายถึง การมีคู่ครองคนเดียวในเวลาหนึ่ง ในสังคมไทยมีกฎหมายครอบครัวที่ระบุว่า ชายหรือหญิงที่แต่งงานกันจะมีภรรยาหรือสามีได้คนเดียวในเวลาหนึ่งเท่านั้น
ระบบมากผัวมากเมีย (Polygamy) หมายถึง การมีคู่ครองได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ระบบนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ ระบบ Polygamy หมายถึงผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน และระบบ Polyandry หมายถึงผู้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน
สรุปว่าการที่สังคมกำหนดจำนวนคู่ครองของชายและหญิงแตกต่างกันนั้น เนื่องมากจากสภาพแวดล้อมหรือบริบทและความจำเป็นของสังคมนั้นๆ ที่เอื้อต่อการกำหนดจำนวนคู่ครองเพราะ บางสังคมมีจำนวนชายและหญิงใกล้เคียงกัน สังคมจึงบังคับให้สมาชิกมีคู่ครองได้คนเดียวในเวลาหนึ่ง แต่บางสังคมมีหญิงชายไม่เท่ากันทำให้สังคมต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และอาจมีเหตุผลอย่างอื่นอีกด้วย ซึ่งขึ้นกับสังคมเหล่านั้นเป็นผู้วางบรรทัดฐานไว้
21
การสืบเชื้อสาย (Rules of Descent)
การสืบเชื้อสาย (Descent) เป็นสิ่งสำคัญต่อโครงสร้างครอบครัว เพราะเป็นหน้าที่หนึ่งที่ครอบครัวจะต้องกระทำ เมื่อพิจารณาระดับโลกจะพบว่า มีรูปแบบการสืบเชื้อสายอยู่ 2 ประเภทใหญ่ คือ การสืบเชื้อสายจากฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ทั้ง 2 ฝ่าย (Bilateral Descent) และการสืบเชื้อสายแต่ฝ่ายเดียว อาจเป็นฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ก็ได้ (Unilineal Descent)
1. การสืบเชื้อสาย 2 ฝ่ายจากฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ (Bilateral Descent) หมายถึงการสืบสกุลทั้งจากฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ และการเป็นสมาชิกของเครือญาติทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ด้วย ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบนี้
2. การสืบเชื้อสายฝ่ายเดียว (Unilineal Descent ) หมายถึงการที่ Ego เป็นสมาชิกในกลุ่มเครือญาติฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ระบบนี้ยังแบ่งเป็นระบบย่อยมีหลายอย่างดังนี้
Patrilineal Descent คือการที่ Ego เป็นสมาชิกของเครือญาติฝ่ายพ่อ แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น การสืบเชื้อสายฝ่ายพ่อดังกล่าว จะสืบย้อนไปจนถึงบรรพบุรุษคนแรก ๆ ที่เป็นเพศชาย ส่วนแม่ของ Ego และเครือญาติของเธอเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่น ๆ แม่ของ Ego มักอยู่อย่างคนแปลกหน้า ในระบบนี้ผู้ชายแต่งงานนำภรรยาเข้ามาอยู่ด้วยกันกับญาติของเขา ส่วนผู้หญิงเมื่อแต่งงานจะไปอยู่ที่อื่น ความผูกพันในครอบครัวแบบนี้ จะยึดความสัมพันธ์ทางสายเลือดเป็นหลัก
Matrilineal Descent จะตรงกันข้ามกับระบบ Patrilineal Descent คือ การที่ Ego เป็นสมาชิกของเครือญาติฝ่ายแม่ แต่ฝ่ายเดียว ส่วนพ่อและเครือญาติของพ่อจะเป็นคนภายนอกและเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่น ในระบบนี้ผู้หญิงเมื่อแต่งงาน นำสามีมาอยู่อาศัยกับเครือญาติของเธอ ส่วนผู้ชายเมื่อแต่งงานจะไปอยู่กับญาติของภรรยาหรืออยู่ที่อื่น สิ่งที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งของระบบการสืบเชื้อสายฝ่ายแม่แต่ฝ่ายเดียว คือ ผู้ที่มีอำนาจในครอบครัวแบบนี้ คือ ผู้ชายที่เป็นพี่ชายหรือน้องชายของแม่ Ego นั่นเอง
Non-Unilineal Descent เป็นระบบที่ Ego อาจสืบสกุลจากฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ หรือจากทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ เมื่อ Ego แต่งงานอาจเลือกไปอยู่อาศัยกับญาติฝ่ายพ่อหรือญาติฝ่ายแม่ก็ได้ โดยทั่วไป Ego จะเลือกไปเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุด
Double Descent ระบบนี้ให้เลือกเช่นกัน Ego อาจเลือกเป็นสมาชิกในเครือญาติฝ่ายแม่ เพื่อเขาร่วมพิธีกรรมทางศาสนาและนับถือผีฝ่ายแม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดิน ก็จะเลือกเป็นสมาชิกในเครือญาติฝ่ายพ่อ
สรุป ได้ว่า เมื่อพิจารณาระดับโลกจะพบว่า ระบบ Bilateral มี 36 % (204 สังคม) ระบบ Patrilineal มี 44 % (248 สังคม) ระบบ Matrilineal มี 15 % (84 สังคม) ส่วน
22
ระบบอื่น ๆ มีน้อยมาก และระบบ Unilineal มีมากกว่าระบบ Bilateral Descent (งามพิศ สัตย์สงวน 2543: 182)
ที่อยู่อาศัยหลังแต่งงาน (Rules of Post-Residence)
ที่อยู่อาศัยหลังการแต่งงาน เป็นส่วนเกี่ยวพันกับสถาบันครอบครัวเพราะครอบครัวนั้นจะต้องรู้ว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ระบบที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหลังแต่งงานเมื่อพิจารณาจะมีอยู่หลายระบบ ดังนี้
1. Patrilocal Residence คือ ระบบที่คู่สมรสจะไปอยู่อาศัยกับครอบครัวญาติฝ่ายสามีหลังแต่งงาน
2. Matrilocal Residence คือ การที่คู่สมรสไปอยู่อาศัยกับครอบครัวญาติฝ่ายภรรยา
3. Matri-patrilocal Residence หมายถึงการที่คู่สมรสไปอยู่อาศัยกับครอบครัวญาติฝ่ายภรรยาชั่วคราวเป็นเวลาหนึ่งปี หรือจนกว่าจะมีลูกคนแรกเพื่อเป็นแรงงานให้กับครอบครัวของาติฝ่ายภรรยาระยะหนึ่ง จากนั้นจะไปอยู่อาศัยกับครอบครัวญาติฝ่ายสามีอย่างถาวร ระบบนี้เป็นระบบย่อยของ Patrilocal Residence
4. Patri-matrilcal Residence เป็นระบบที่ตรงข้ามกับ Matri-patrilocal คือการที่คู่สมรสไปอยู่อาศัยกับญาติฝ่ายสามีชั่วคราว จากนั้นจึงไปอยู่อาศัยกับครอบครัวของญาติฝ่ายภรรยาอย่างถาวร
5. Neolocal Residence เป็นลักษณะของสังคมอุตสาหกรรม คือ การที่คู่บ่ายสาวเลือกที่อยู่อาศัยเองว่าจะอยู่ที่ใดก็ได้
6. Virilocal Residence คือ การที่คู่บ่าวสาวเลือกไปอยู่อาศัยในชุมชนของญาติฝ่ายสามี
7. Uxorilocal Residence ตรงกันข้ามกับข้อ 6 คือ คู่บ่าวสาวเลือกไปอยู่อาศัยในชุมชนของญาติฝ่ายภรรยา
8. Bilocal / Ambilocal Residence คือ การที่คู่บ่าวสาวทุกคู่มีสิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัยว่าจะไปอยู่กับญาติฝ่ายสามีหรือญาติฝ่ายภรรยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องมีสัดส่วนของการไปอยู่อาศัยกับญาติของสามีหรือภรรยาในปริมาณใกล้เคียงกัน
9. Avunculocal Residence คือ การที่คู่บ่าวสาวไปอยู่อาศัยกับครอบครัวของพี่ชายหรือน้องชายของ แม่เจ้าบ่าว
อำนาจในครอบครัว (Authority Pattern)
23
แต่ละสังคมจะมีกฎเกณฑ์ หรือสถาบันครอบครัวอย่างน้อยที่กำหนดว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในครอบครัว เมื่อพิจารณาทั่วโลกจะพบว่ามีอยู่ 3 ระบบ คือ
1. Patriarchal คือ ผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจในครอบครัว มีอำนาจตัดสินใจทางเศรษฐกิจของครอบครัว และทุกเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว
2. Matriarchal คือ ผู้หญิงเป็นใหญ่ ในบางครั้งระบบที่ผู้หญิงน่าจะเป็นใหญ่ แต่ปรากฏว่าผู้ชายยังคงเป็นผู้มีอำนาจในครอบครัว เช่น ระบบ Matrilineal Descent ที่ผู้มีอำนาจในครอบครัว คือ พี่ชายหรือน้องชายของแม่ Ego นั่นเอง
3. Egalitarianism เป็นระบบที่สามีและภรรยามีอำนาจเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง สามีมักมีอำนาจ มากกว่าภรรยาในหลายเรื่อง
ผู้วิจัยสามารถสรุปได้ว่าแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างครอบครัว (Family Structure) ที่กล่าวถึงมิใช่แต่ลักษณะของครอบครัวเพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นทางการ ของสิทธิ หน้าที่ วิถีชีวิต การอบรมเลี้ยงดู รวมทั้งการให้สถานภาพและบทบาทของสมาชิกในครอบครัวตามเพศ วัย และสถานภาพทางเครือญาติ อันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงทั้งหมด เพราะเมื่อสิ่งหนึ่งเกิดปัญหาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาย่อมทำให้บรรทัดฐานอื่นๆ ในโครงสร้างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง จึงมีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างครอบครัวชาวจีน เพราะเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการรักษาลักษณะครอบครัวของชาวจีนให้ยังคงความเป็นครอบครัวขยายได้ รวมถึงสิทธิอำนาจ การให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งถึงแม้ว่าโครงสร้างครอบครัวของชาวจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงก็มีน้อยมาก จึงจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างครอบครัวของชาวจีนว่าเป็นเช่นไร ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างครอบครัวจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมครอบครัวของสังคมต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
แนวคิดทฤษฎีด้านวัฒนธรรม
ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” แปลตามรูปศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเหตุให้เจริญ” หรือ “ธรรมคือความเจริญ” แสดงให้เห็นว่ามิใช่ลักษณะอยู่คงที่ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สิ่งใดที่อยู่กับที่สิ่งนั้นไม่ชื่อว่า “วัฒนะ” คือ “เจริญ” วัฒนธรรมจึงจำต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแก่กาลเวลาอยู่เสมอ ถ้ากล่าวตามความหมายทางวิชาวัฒนธรรม ซึ่งมีอยู่ในตำรามานุษยวิทยา (Cultural anthropology) ก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีเองตามธรรมชิต แต่เป็นสิ่งที่สังคม คือ คนในส่วนรวมมีความต้องการและจำเป็นผลิตสร้างให้มีขึ้น แล้วถ่ายทอดให้แก่กันด้วยการสั่งสอนและเรียนรู้ แล้วสืบๆ ต่อกันมาเป็นประเพณีปรัมปรา (Traditional customs) และคลี่คลายขยายตัวเป็นความเจริญวัฒนาโดยลำดับ (จำนงค์ ทองประเสริฐ 2539 : 1 - 4)
24
วัฒนธรรมเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อให้ทุกคนรับรู้ความหมายร่วมกันและสามารถประพฤติปฏิบัติต่อกันได้ โดยเหตุที่วัฒนธรรมมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยการเรียนรู้จากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่และจากกลุ่มเพื่อทำให้บุคคลมีแนวพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน และสามารถคาดคะเนการแสดงพฤติกรรมของบุคคลภายในกลุ่มว่ามีความหมายอย่างไร วัฒนธรรมหรือแบบแผนชีวิตจึงมีความสำคัญต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างมาก เพราะทำให้บุคคลเป็นสมาชิกของกลุ่มได้ และทำให้กลุ่มสังคมมีเอกลักษณ์ทำให้คนอื่นได้รู้จักอีกด้วย (พัทยา สายหู 2517 : 35)
ดังนั้นการศึกษาวัฒนธรรมในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่มุ่งเน้นการแสวงหาข้อมูลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของการอยู่ร่วมกันของคนในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะการผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมานฉันท์ ในทางทฤษฎีได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการผสมผสานทางวัฒนธรรมว่า เมื่อคนที่ต่างวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน การถ่ายทอดและการรับรู้วัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย และปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เป็นเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าว
การถ่ายทอดและ การรับทางวัฒนธรรม
การถ่ายทอดวัฒนธรรมก็คือการสอนให้คนรุ่นหลังรับรู้ถึงระบบสัญลักษณ์ของสังคมที่ได้เคยมีการตกลงกันไว้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการตกลงอย่างกว้างๆ มิได้มีการตกลงกันในรายละเอียดทุก ๆ เรื่อง ข้อตกลงคือการกำหนดหลักใหญ่ ๆ กำหนดแนวความคิดที่สำคัญไว้ เมื่อทุกคนรู้ถึงหลักใหญ่นี้แล้วก็จะประพฤติปฏิบัติได้ง่ายขึ้น หลักที่สมาชิกของสังคมใช้ยึดถือเป็นแนวประกอบการประพฤติปฏิบัติก็คือ บรรทัดฐานและค่านิยม บรรทัดฐานคือแนวทางการปฏิบัติที่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ยึดถือ และค่านิยมคือความคิดและแนวปฏิบัติที่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าถูกต้องดีงาม และเมื่อทุกอย่างสอดคล้องกันก็หมายความว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมก็ดำเนินไปได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม อาจจะหมายถึงว่าลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา แต่ค่านิยมและหลักใหญ่ที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์ของสังคมก็จะยังไม่เปลี่ยนไป เพราะวัฒนธรรมคือระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถเรียนรู้ได้ (อมรา พงศาพิชญ์ 2541 : 20 - 21)
การถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งหน่วยของการขัดเกลาที่สำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ครอบครัว ด้วยบทบาทของพ่อและแม่ การที่พ่อแม่สอนลูกว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควร ถือเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งเพื่อเข้าใจในบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ อย่างเช่น ในสังคมไทยพ่อแม่สอนลูกให้ไหว้ผู้ที่มีอาวุโสกว่า ผู้น้อยไม่ควรยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ การสอนในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการสอนถึงพฤติ
25
กรรมแล้วยังเป็นการถ่ายทอดระบบสัญลักษณ์ด้วย ซึ่งในลักษณะของครอบครัวจีนก็เช่นกัน ที่มีความหวงแหนในวัฒนธรรมของตน และตระหนักในความสำคัญของวัฒนธรรมว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม น่าปฏิบัติตามและน่าเชื่อถืออันเป็นลักษณะชาติพันธุ์นิยม (Ethnocentism) ความเชื่อที่ฝั่งแน่นนี้ทำให้สมาชิกของกลุ่มพยายามถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างๆ โดยผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน ภาษาพูด การทำอาหาร และพิธีกรรมต่างให้กับลูกๆ ได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป อันเป็นความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม (สมบูรณ์ สุขสำราญ 2530 : 10 - 13)
นอกเหนือจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมภายในสังคมเดียวกัน โดยผ่านจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ยังมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมไปยังสังคมใกล้เคียง และส่งผลให้สังคมหนึ่งเกิดการยอมรับวัฒนธรรมของสังคมอื่นโดยมองว่าไม่ขัดกับค่านิยมในสังคมเดิม หรือพอใจในการรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามา โดยที่ฝ่ายรับวัฒนธรรมใหม่ละทิ้งวัฒนธรรมของตัวเองบางส่วน เพราะอาจมีบางส่วนของแบบแผนที่คล้ายคลึงกันได้ และทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมจนทำให้สูญเสียเอกลักษณ์เดิมไป ซึ่งการรับเอาวัฒนธรรมบางส่วนจากลุ่มสังคมข้างเคียงจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดจะแยกไม่ออกว่า วัฒนธรรมส่วนใดเป็นของเดิมและส่วนใดเป็นวัฒนธรรมของสังคมข้างเคียง อย่างเช่นการรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตกของคนไทยในปัจจุบัน ทั้งการแต่งกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น (อมรา พงศาพิชญ์ 2541 : 32 - 33)
จะเห็นได้ว่า การถ่ายทอดวัฒนธรรมภายในสังคมเดียวกัน คือการสืบทอดวัฒนธรรมในแนวตั้งจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ในกระบวนการเรียนรู้ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก ส่วนการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมในแนวนอน ซึ่งทุกสังคมจะต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าว เพียงแต่กระบวนการดังกล่าวอาจพัฒนาไปไม่พร้อมกันขึ้นอยู่กับ “นิเวศวิทยาวัฒนธรรม” เป็นสำคัญ วัฒนธรรมจึงควรจะต้องได้รับการพิจารณาเฉพาะตัวของตัวเอง และไม่ควรจะมีการเปรียบเทียบว่าวัฒนธรรมใดดีกว่ากัน การพยายามเปรียบเทียบวัฒนธรรม จะเป็นการพยายามใช้มาตรฐานเดียวกันวัดในสิ่งที่มีประวัติศาสตร์เป็นมาต่างกัน
การคงอยู่และการเสื่อมของวัฒนธรรม
ทุกสิ่งในโลกเมื่อมีการเกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น มีการเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาวแล้ว ก็ย่อมมีการสูญหายไปในที่สุด แม้ในเรื่องวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีการเกิดขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงแล้วก็ย่อมเสื่อมไปและตายไปเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นจะรู้จักอนุรักษ์และปรับปรุงให้คงอยู่หรือละเลยให้เสื่อม ซึ่งสามารถพิจารณาดังต่อไปนี้ (จำนงค์ ทองประเสริฐ 2539 : 15 - 18)
1. จะต้องมีการสั่งสมและสืบต่อ “วัฒนธรรม” ของชาติให้เป็นมรดกตกทอดกันไปโดยไม่ขาดสาย
26
2. จะต้องหาของแปลงใหม่เพิ่มเติมของเดิม แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวังให้ดีด้วย สิ่งที่จะเพิ่มมาใหม่นั้นจะต้องไม่ขัดและไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อของเดิม จึงจะเข้ากันได้ดีและจะต้องพยายามค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปนิ่งเดิมทีละน้อย จนกระทั่งฝังลึกลงในจิตใจ สิ่งใหม่หรือแปลกใหม่ ถ้ามีเพิ่มเข้ามามากจนเกินไป รากฐานของวัฒนธรรมก็จะคลอนแคลนไม่มั่นคง แต่ถ้าสิ่งใหม่หรืแปลกเพิ่มน้อยเกินไปก็จะเกิดความเฉื่อยชา
3. จะต้องส่งเสริมให้แพร่ขยายไปในหมู่ตน และตลอดไปจนถึงชนหมู่อื่นด้วย ซึ่งจะต้องส่งเสริม “ลัทธิชาตินิยม” ให้มีความรู้สึกรัก “วัฒนธรรม” ของตัวเองให้มากและหาวิธีเผยแพร่วัฒนธรรมให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกโดยทุกวิถีทาง
4. จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสภาพของเหตุการณ์ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ง่าย ถ้าชาติใดไม่รู้จักปรับปรุง และแก้ไขวัฒนธรรมเดิมของตนให้ประสานเข้ากันได้เหมาะกับสมัยและสภาพเหตุการณ์ ก็จะถูกกลืนวัฒนธรรมของชาติอื่นที่แรงอำนาจมากกว่าแทรกซึมเข้ามาแทนที่ทีละน้อย หรือไม่รู้จักถึงสิ่งที่ดีมาประสานเข้าไว้ในวัฒนธรรมเดิมของตน เพื่อให้วัฒนธรรมของตนคงอยู่ ก็จะเป็นทางทำให้วัฒนธรรมของตนสลายไป
ดังนั้นวัฒนธรรมก็มีลักษณะคล้ายสิ่งที่มีชีวิต คือถ้าไม่ได้วัฒนธรรมของคนอื่นมาช่วยให้สิ่งใหม่ๆ ในวัฒนธรรมตน ก็จะเจริญเติบโตไม่ได้ การที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมของตนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น จึงอยู่ที่รู้จักความพอดี ถ้าหากไม่ได้รับวัฒนธรรมของผู้อื่นมาน้อยเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่วัฒนธรรมตนได้ และถ้าหากรับวัฒนธรรมของผู้อื่นมากเกินไป ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่วัฒนธรรมตนเช่นกัน
พิธีกรรมเช็งเม้งก็เช่นเดียวกันที่มีการถ่ายทอด จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานชาวจีน จากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยผ่านการประกอบพิธีกรรมของเช็งเม้ง และสอดแทรกความคิดทางอุดมคติ จารีตประเพณีให้กับครอบครัวชาวจีนรุ่นหลัง อันรวมถึงคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามบริบทของสังคม กาลเวลา การพัฒนาไปของโลกในปัจจุบัน แต่หัวใจสำคัญหรือหลักใหญ่ๆ ในเรื่องการแสดงความกตัญญูก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการศึกษาในเรื่องพิธีกรรมเช็งเม้ง จะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจต่อการถ่ายทอดพิธีกรรมเช็งเม้งของคนจีนอพยพที่เข้ามาในประเทศไทย ให้กับลูกหลานของตน เพราะการถ่ายทอดถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้พิธีกรรมเช็งเม้งยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
แนวคิดปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม (Culture Interaction)
ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม (Culture Interaction) มีทั้งลักษณะที่สอดคล้องและขัดแย้งและมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในการอธิบายกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้มีศัพท์ที่ใช้ต่างกันอยู่หลายคำ เช่น วัฒนธรรมสัมผัส (Cultural Contact) การหยิบยืมทางวัฒนธรรม (Cultural Borrowing of
27
Interchange) การปรับตัว (Adaptation) การผสมผสานทางวัฒนธรรม (Cultural Integration) การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมหรือการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation)
1. วัฒนธรรมสัมผัส (Cultural Contact)
การแพร่กระจายตัวของวัฒนธรรมออกไปรอบทิศทางย่อมไปสัมผัส (Contact) เข้ากับวัฒนธรรมเดิมของสังคมแหล่งใหม่ การสัมผัสของวัฒนธรรมที่ต่างกันสองวัฒนธรรมนั้นมีที่มาจากการที่คนต่างวัฒนธรรมมาสังสรรค์กันจะเป็นโดยความบังเอิญหรือจงใจก็ตามย่อมจะเกิดการเกี่ยวข้องกันทางพฤติกรรมส่วนตนเสมอ การพูดจากันครั้งแรกๆ อาจจะไม่เข้าใจกัน แต่มนุษย์ก็มีวิธีที่ดีกว่าโดยใช้ภาษาใบ้และภาษาท่าทางแทน ต่อมารู้จักกันนานๆ ก็เริ่มพูดจากันรู้เรื่องเพราะได้ฝึกหัดทำความเข้าใจกันบ่อยๆ ต่อมานำไปสู่การปฏิสังสรรค์กันรูปแบบพฤติกรรมอื่นๆ เช่น พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ อาจมีการขอข้าวกิน มีการแลกเปลี่ยนอาหารกัน และมีการค้าขายกัน เป็นต้น การปฏิสังสรรค์กันของคนสองวัฒนธรรมที่ต่างกันก็คือ การสัมผัสกันทางวัฒนธรรมเพราะวัฒนธรรมนั้นคือพฤติกรรมที่ติดตัวบุคคลมา ดังนั้นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายมาพบกันและปฏิสังสรรค์กันก็คือการพบปะและสัมพันธ์กันของคนต่างวัฒนธรรมนั่นเอง วัฒนธรรมสัมผัสเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเป็นขั้นตอนต่อจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ 2540 : 65)
2. การหยิบยืมทางวัฒนธรรม (Cultural Borrowing of Interchange)
การหยิบยืมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นหลังจากที่วัฒนธรรมต่างกันสองวัฒนธรรมมาพบกันย่อมมีการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันขึ้น การที่บุคคลจากต่างวัฒนธรรมมาสัมพันธ์กันย่อมหาทางที่จะแลกเปลี่ยนความเข้าใจซึ่งกันและกันเสมอ มิฉะนั้นทำความสัมพันธ์กันไม่ได้ วิธีแสดงออกซึ่งความคิดของบุคคลที่หนึ่งเมื่อเป็นที่เข้าใจของอีกบุคคลหนึ่งแล้ว บุคคลหลังนี้ย่อมจะจดจำไว้ใช้ชั่วคราวต่อๆ ไป การที่บุคคลต่างวัฒนธรรมทั้งสองนี้ต่างจำพฤติกรรมใดๆ ของกันและกันไว้แล้วเอาไปใช้เป็นประจำนานๆ เข้าย่อมถูกผนวกเข้ากับวัฒนธรรมเดิมของตน แต่ก็ยังพอจะแยกออกได้ว่าแบบใดเป็นวัฒนธรรมเดิมของตนและอันไหนขอยืมมาจากคนที่ตนคบหาจากต่างวัฒนธรรม การหยิบยืมวัฒนธรรมกันใช้เกิดมาจากการพบปะกันและความจำเป็นต้องเข้าใจกันให้ได้ และเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของวัฒนธรรมสัมพันธ์ ตราบใดที่ผู้คนในโลกยังมีการติดต่อไปมาหาสูกันได้ย่อมจะยุติการหยิบยืมวัฒนธรรมของกันและกันไม่ได้ ตัวอย่างของการหยิบยืมวัฒนธรรมกันใช้จะเป็นได้ง่ายๆ รอบๆ ตัวเรา เช่นคนไทยกับคนจีนยืมวัฒนธรรมทางภาษา ของกันและกันใช้มากมาย อาทิคนไทยืมคำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” “เกี๋ยว” “เฮงซวย” ของจีนมาใช้จนลืมไปแล้วว่าเป็นคำจีน ส่วนจีนนั้นปัจจุบันนี้ก็รับประทานแกงเผ็ด ลาบ เป็นต้น (นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ 2540 : 66)
28
3. การปรับตัว (Adaptation)
การปรับตัวอาจศึกษาจากด้านการปรับตัวทางชีวภาพและการปรับตัวทางวัฒนธรรม ถ้าจะพิจารณาเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมย่อมหมายความว่าวัฒนธรรมในที่นี้ใช้ในความหมายที่รวมทั้งวัฒนธรรมในรูปวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ซึ่งรวมถึงระบบความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต และพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม ในการพิจารณาเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมนี้ โคเฮน (Cohen 1968 อ้างใน อมรา พงศาพิชญ์ 2543 : 17) เสนอข้อคิดว่า
1. การศึกษาเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมควรพิจารณาองค์ประกอบด้านศิลปวัฒนธรรม (วรรณคดี ดนตรี การแสดง และศิลปกรรม อื่นๆ) และสังคมวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิต ความเชื่อ ฯลฯ
2. องค์ประกอบต่างๆ ของวัฒนธรรมเรียงร้อยประสานเข้าเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นองค์รวม มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคมวัฒนธรรม
3. การปฏิสัมพันธ์กับสังคมข้างเคียง หรือการค้นพบสิ่งใหม่ภายในสังคมตนเองจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อการคงอยู่ของสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ
4. วัฒนธรรม คือ ระบบสัญลักษณ์ องค์ประกอบแต่ละส่วนมีความหมายและสื่อความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าข้อเท็จจริง เช่น ธงมีความหมายมากกว่าผ้าผืนหนึ่ง
5. การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องดำเนินเป็นกลุ่ม การปรับเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมเป็นการปรับเปลี่ยนในกลุ่มมากกว่าในระดับปัจเจกบุคคล การสืบทอดวัฒนธรรมต้องถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งเป็นกลุ่ม การปรับตัวทางวัฒนธรรมจึงเป็นการปรับเปลี่ยนของกลุ่ม
6. พฤติกรรมของมนุษย์ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ ไม่มีพฤติกรรมใดที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เลย
7. การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งมีกระบวนการและขั้นตอน
ข้อคิดทั้ง 7 ข้อที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงการปรับตัวที่นอกเหนือจากการปรับตัวทางชีวภาพเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์หรือสัตว์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมหรือกลุ่มอื่น ในอดีตมีการตั้งคำถามว่าการปรับตัวนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติโดยสิ้นเชิง หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำหนดได้ ควบคุมและบังคับทิศทางได้ ปัจจุบันคงจะต้องยอมรับว่าการปรับตัวนี้เป็นสิ่งจำเป็นแต่มนุษย์สามารถควบคุมได้
4. การผสมผสานหรือบูรณาการทางวัฒนธรรม (Cultural Integration)
หลังจากวัฒนธรรมที่ต่างกันสองวัฒนธรรมมาพบกัน สัมผัสกัน และเกิดการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันใช้ในระยะเวลาที่สม่ำเสมอและยาวนานพอสมควร จะเกิดการปฏิสัมพันธ์ทาง
29
วัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยวัฒนธรรมทั้งสองจะผสมผสานกัน ปะปนกันหมด แต่ก็ยังรู้ว่าเป็นวัฒนธรรมของใครไม่ถึงกับปนจนแยกไม่ออก ซึ่งจะไม่มีการครอบงำกันหากแต่ยอมรับซึ่งกันและกัน เมื่อผู้หยิบยืมวัฒนธรรมผู้อื่นกลับเข้าสู่กลุ่มชนชาติเดิมของตน วัฒนธรรมเดิมนั้นก็จะดำรงรูปแบบเดิมได้ดีอยู่ บุคคลผู้นั้นก็ยังประพฤติตามวัฒนธรรมเดิมของตนไปตามเดิม แต่เมื่อออกไปพบปะหรือเผชิญกับคนจากวัฒนธรรมอื่นอีกเขาก็ผสมผสานวัฒนธรรมของเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่มาสัมผัสกันอีก ซึ่งบางครั้งใช้คำว่า พหุวัฒนธรรม (Cultural Pluralism) คือรัฐประเทศที่มีหลายวัฒนธรรม การยอมรับพหุวัฒนธรรมจะต้องเห็นชอบด้วยกฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เคร่งครัด เปิดโอกาสให้เลือกในการปฏิบัติ (อมรา พงศาพิชญ์ 2543 : 19)
การผสมผสานหรือบูรณาการทางวัฒนธรรมอยู่ในขบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่อยู่ค่อนข้างมาข้างท้ายของขบวนการอยู่แล้ว เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่การกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation) และบางครั้งในบางสังคมมักจะแยกปรากฏการณ์ของการผสมผสานกันกับการกลืนกลายทางวัฒนธรรมไม่ออก (นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ 2540 : 67) ซึ่งบางครั้งเกิดจากการครอบงำโดยรัฐที่พยายามสนับสนุนการกลืนกลายทางวัฒนธรรม จนเป็นลักษณะของวัฒนธรรมหลัก และวัฒนธรรมรอง โดยสามารถแยกออกมาเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ใด คนกลุ่มนี้จะยอมรับและถูกกลืนไปใช้วัฒนธรรมหลักแต่ยังคงต้องการรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะของทวิลักษณ์ (Double Identity) ตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศไทยก็คือการเรียกชื่อกลุ่มโดยใช้คำสมาส คือ กลุ่มไทยเชื้อสายจีน กลุ่มไทยมุสลิม ไทยเขมร ไทยลาว เป็นต้น (อมรา พงศาพิชญ์ 2543 : 20)
5. การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมหรือการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation)
การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมหรือการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation) เป็นปรากฏการณ์ท้ายสุดของขบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เกิดจากการมีปฏิ-สัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่าง 2 กลุ่มคนที่มีสังคมและวัฒนธรรมต่างกัน แต่ในกรณีที่สังคมวัฒนธรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กันมีพลังไม่เท่ากัน คนกลุ่มหนึ่งจะมีแนวโน้มที่จะยอมรับวัฒนธรรมของอีกกลุ่มหนึ่ง เราพบว่ากลุ่มที่วัฒนธรรมมพลังน้อยจะถูกผสมกลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีวัฒนธรรมพลังมากกว่า ในขณะเดียวกันอาจมีการแลกเปลี่ยนกันได้ สุดท้ายถ้าวัฒนธรรม 2 ชุดถูกผสมรวมกันเป็นชุดเดียวกันไม่ว่าจะมีส่วนของชุดใดมากกว่ากันก็จะเป็นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและมีการรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริมให้การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมง่ายขึ้นคือ การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม หรือการเปลี่ยนสัญชาติ (นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ 2540 : 68 - 71)
30
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วไม่มีสังคมใดในโลกที่คนจาก 2 วัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะเข้ากันได้แนบสนิท ซึ่งการกลืนกลายทางวัฒนธรรมนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมแบบอุดมการณ์ (Idealistic) มากเกินไป จากการอธิบายของ ฟอสเตอร์ (Foster 2426 อ้างใน นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ 2540 : 69) “การกลืนกลายทางวัฒนธรรมคือปรากฏการณ์ที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันสองวัฒนธรรมมาพบและสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง และได้มีการหยิบยืมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันใช้ในที่สุด ต่างฝ่ายต่างรับเอาวัฒนธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นของตนอย่างแยกไม่ออกจนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเดิมหลงเหลืออยู่เลย จึงกล่าวได้ว่าการกลืนกลายเท่าที่ปรากฏอยู่ในทุกๆ สังคมไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีเพียงในระดับ 70 – 80 % เท่านั้นอย่างไรก็ตามขบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมก็จะจบลงตรงที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันสองวัฒนธรรมถูกกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ไปแล้ว กล่าวคือวัฒนธรรมเดิมถูกเปลี่ยนไปแล้วอย่างสมบูรณ์”
กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากพัฒนาการทางสังคมที่ไม่เท่ากัน และความสัมพันธ์ของสังคมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมิจำเป็นจะต้องเกิดปฏิบัติสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเกิดขั้นตอนปฎิสัมพันธ์ทั้งหมด แต่อาจมีเพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งอย่างเช่นการพบกันระหว่าง 2 วัฒนธรรม แต่เป็นการพบกับแบบผิวเผินคือ สัมผัสกันในช่วงระยะเวลาส้นๆ แล้วก็จบ ก็มิได้เกิดพัฒนาการไปยังขั้นตอนอื่น หากแต่เมื่อมีการสัมผัสทางวัฒนธรรมในระยะเวลาที่ยาวนานก็มีพัฒนาการไปยังขั้นตอนของปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาในรายละเอียดปลีกย่อยลงไป จากลักษณะของการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Interaction) ดังกล่าวผู้วิจัยได้สามารถนำมาเป็นตัวแปรอิสระเพื่ออธิบายถึงขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อพิธีกรรมเช็งเม้งของกลุ่มชาติพันธุ์จีนในประเทศไทย ซึ่งพิธีกรรมเช็งเม้งก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งทางวัฒนธรรมจีนที่ได้เข้ามาในต่างบริบท และต่างวัฒนธรรม เช่นกัน
ทฤษฎีความทันสมัย (Modern Theory)
ทฤษฎีความทันสมัย (Modern Theory) เป็นทฤษฎีดั้งเดิมที่เกิดจากผลงานของนักวิชาการหลายแขนงทั้งแขนงสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการเมือง เป็นทฤษฎีที่อาศัยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิกและทฤษฎีสังคมศาสตร์อเมริกันมาประยุกต์ อีกทั้งได้รับความนิยมสูงในประเทศตะวันตก และแพร่ขยายไปยังประเทศด้อยพัฒนามากยิ่งขึ้น อันเป็นการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านวัตถุและวัฒนธรรมเพื่อไปสู่ความทันสมัย ซึ่งตามทฤษฎีนี้เน้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในขณะที่กระบวนการสร้างภาวะความทันสมัย (modernization) เป็นพลวัตเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกทอดหนึ่งซึ่งต่างจากคำว่า
31
พัฒนา (development) ที่หมายถึงความเจริญมีคุณภาพของคนและระบบสังคม ซึ่งลึกซึ้งกว่า (สัญญา สัญญาวิวัฒน์ 2543 : 20)
งามพิศ สัตย์สงวน (2545 : 28 - 30) กล่าวถึงความทันสมัยว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีขอบเขตกว้างขวางที่รวมเอาปรากฏการณ์ต่อไปนี้ไว้ด้วย คือ การเป็นอุตสาหกรรม การเป็นเมือง และระบบราชการ
การเป็นอุตสาหกรรม หมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมหรือชุมชนเกษตรกรรมไปสู่การเป็นสังคมหรือชุมชนอุตสาหกรรม เพราะการใช้เทคโนโลยีแบบเครื่องจักรต่างๆ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในเวลารวดเร็ว ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะสังคมอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดการค้าขนาดใหญ่ โดยใช้แรงงานที่ชำนาญเฉพาะอย่าง และมีการพัฒนาระบบโรงงานมากมายหลายประเภท ชุมชนต่างๆ ในสังคมไทยจำนวนหนึ่ง อยู่ในกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมเพราะนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตในโรงงานประเภทต่างๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวชนบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นอันมา
การเป็นเมือง หมายถึง สัดส่วนของประชากรตั้งถิ่นฐานในเมืองเพิ่มมากขึ้น เขตเมืองเป็นเขตการตั้งถิ่นฐานที่มีขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นของประชากรสูง มีวัฒนธรรมย่อยมากมาย ประชากรในเมืองมีความแตกต่างกัน ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว มีความสัมพันธ์กันแบบทางการ มีการจำแนกความแตกต่างและมีความชำนาญเฉพาะอย่างมากขึ้น ที่อยู่และที่ทำงานของคนในเมืองมักแยกจากกัน การควบคุมทางสังคมมักเป็นทางการ โดยทั่วไปสังคมต่างๆ มักใช้จำนวนประชากรเป็นตัวกำหนดเขตเมือง ระดับต่ำสุดของจำนวนประชากรในเมืองมี 2,500 – 5,000 คน
ระบบราชการ หมายถึง โครงสร้างทางสังคมที่มีการจัดระเบียบสูงต่ำต่างๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อบริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพขององค์กรจะมีมากที่สุด เมื่อผู้มีอานาจหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ มีบทบาทที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ เพื่อตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับความรู้ทางเทคนิค มีวินัยเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และคนเข้ามาทำงานในองค์กรตามความสามารถ มีระบบการควบคุมการให้เงินเดือนและการเลื่อนขั้น รวมทั้งการลงโทษด้วย
ปัจจุบันระบบราชการมีบทบาทสำคัญมากในทุกสังคม เพราะเป็นระบบที่กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อวางแผนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชากรทุกคนในสังคมไทย นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลไทย คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีผลกระทบต่อชนบทไทยอย่างมากมายจนถึงปัจจุบัน แต่กระนั้นการเปลี่ยนแปลงตามภาวะความทันสมัยมักไม่ค่อยราบรื่นในสังคมไทย เนื่องจากความไม่สอดคล้องของวัฒนธรรมใหม่และวัฒนธรรมเดิม หรือความไม่พร้อมในการรับวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการศึกษาอย่างไม่ถ่องแท้ ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ในประเทศไทย อย่างเช่นในปัจจุบัน
32
นอกเหนือจาก ทฤษฎีความทันสมัย สามารถเพิ่มเติมได้เป็น ทฤษฎีความทันสมัยด้วยการสื่อสาร (Communication Theory of Modernization) เป็นทฤษฎีตะวันตกอีกทฤษฎีหนึ่งโดยผู้สร้างทฤษฎีนี้คือ Daniel Lerner นักวิชาการชาวอเมริกัน ซึ่งทฤษฎีนี้อธิบายว่า ความทันสมัยเกิดจากการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการขัดเกลาทางสังคมสมัย ซึ่งเป็นตัวทำให้มีการปลูกฝังจินตภาพสมัยใหม่ อันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ความทันสมัย กล่าวอีกนัยหนึ่ง การสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารมวลชน (mass communications) สมัยใหม่ จะเป็นสื่อหรอตัวนำเอาความรู้ ความคิด ข่าวสารเกี่ยวกับชีวิตสังคมสมัยใหม่ ทั้งในส่วนที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ มาจากสังคมที่เรียกว่า แพร่กระจายสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปทั่วสังคมตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าวิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ก็ตาม คนโตแล้วก็จะรับรู้ ประเมินค่า แล้วอาจนำมาใช้ นี่ก็เป็นการขัดเกลาทางสังคมแบบหนึ่ง ถึงเวลาอบรมสั่งสอนลูกหลาน ก็จะถ่ายทอดความรู้ข่าวสารใหม่ๆ เหล่านี้ต่อไปให้ลูกหลานรับช่วงต่อไป การขัดเกลาทางสังคมใหม่จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ (สัญญา สัญญาวิวัฒน์ 2543 : 21)
สรุป ทฤษฎีความทันสมัยเป็นแนวคิดที่แพร่กระจายจากประเทศทุนนิยมตะวันตก ที่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเล็งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยไปที่การพัฒนาแบบทุนนิยมตะวันตก ประจักษ์พยานที่เห็นเด่นชัดในเรื่องนี้ จะเห็นได้จากรูปแบบโครงสร้างของสังคม ระบบการศึกษา สาธารณสุข ระบบการผลิต ระบบการเมือง การปกครอง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ มาตรฐานการบริโภค ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เลียนแบบสังคมตะวันตก
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาเรื่องพิธีกรรมเช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรมและความเปลี่ยนแปลง ผู้วิจัยได้ศึกษา ผลงานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวกับรากฐานของสังคมชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยได้ดังนี้
ลัทธิความเชื่อและศาสนาของชาวจีน
พรพรรณ เตียรักษ์กิจสกุล (2536 : 77 - 90) เขียนไว้ในงานวิจัยปริญญาโทเรื่อง “พัฒนาการบทบาทของสมาคมชาวจีนในกรุงเทพที่มีต่อคนไทยเชื้อสายจีน” โดยกล่าวถึงลัทธิความเชื่อและศาสนาของชาวจีนว่า พื้นฐานความเชื่อของชาวจีน แบ่งอย่างกว้างๆ ออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า และพุทธศาสนานิกายมหายาน และชาวจีนมักจะนับถือลัทธิทั้ง 3 รวมกันไปอย่างกลมกลืนจนแยกจากกันได้ยาก เรียกในภาษาจีนว่า “ซัมก่า” แปลว่า คำสั่งสอนทั้ง 3 ซึ่งชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยจะมีลักษณะความเชื่อแบบสังเคราะห์ เพราะชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวนา และมีการศึกษาต่ำ
33
จึงมีการยอมรับความเชื่อหลายอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของตน เหมือนอย่างการนับถือลัทธิทั้ง 3 รวมไว้ด้วยกัน
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร (2544 : 107 - 114) ใน “สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก” ได้กล่าวถึงการสร้างวัดไทยและจีนริมฝั่ง 2 แม่น้ำว่า ชุมชนชาวจีนจะมีความผูกผันกับศาลเจาอยู่มาก โดยประเพณีจะนิยมประกอบกิจกรรมทางศาสนาในศาลเจ้า หรือวัดจีน ศาลเจ้านั้นจะสร้างขึ้นจากความศรัทธาในลัทธิเต๋าและความเชื่อพื้นบ้านของชาวจีน ศาลเจ้าเป็นแหล่งที่ใช้เมื่อมีงานเทศกาลหรืองานฉลองต่างๆ ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมในงานเทศกาลของชุมชน ส่วนวัดจีนนั้นสร้างขึ้นจากการร่วมแรงกายและกำลังทรัพย์จากพุทธศาสนานิกายมหายาน อีกทั้งไม่เป็นเพียงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจีนกลุ่มภาษาต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งศูนย์กลางแห่งการประสานงานของชาวจีนกลุ่มภาษาเดียวกันในกรุงเทพฯ อีกด้วย ชาวจีนที่อพยพเข้ามาต่างก็ก่อตั้งศาสนาสถานเฉพาะกลุ่มของตน ตั้งรูปเคารพที่นับถือ เช่นชาวจีนแต้จิ๋ว บูชาเทพเจ้าเสวียนเทียนสั้งตี้หรือที่คนไทยเรียก เจ้าพ่อเสือ และเทียนโหวเซิ่งมู่ (เทียนโหว่เสี้ยบ้อ) สำหรับชาวจีนฮกเกี้ยนก็นับถือเทพมารดร องค์ที่เรียกว่า หมาจู่ ชาวจีนแคะมักจะนับถือ ฮั่นอ๋วงกง (ฮ่อนหว่อง) หรือเทพธิดาซำใน (เทพธิดาสามองค์ มีแซ่ เฉิน หลิน หลี่) ชาวจีนไหหลำนับถือ เทพธิดาจุยโบยเนี้ยว หรือเจ้าแม่ทับทิม ความสำคัญของเทพเจ้าขึ้นอยู่กับความเชื่อของชาวจีน ฐานะของเทพย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและวิถีการดำรงชีวิตของแต่ละยุคสมัย ชาวจีนในเมืองไทยไม่นิยมทำการกสิกรรมเหมือนที่อยู่เมืองจีนแต่จะทำการค้า เราจึงเห็นชาวจีนตั้งรูปเทพเจ้ากวนอูไว้หน้าร้านเนื่องจากเทพเจ้ากวนอูเป็นผู้ยึดมั่นในสัจธรรมตามคำสอนขงจื้อ ชาวจีนจึงเชื่อว่า เทพเจ้ากวนอูจะสามารรถขจัดคนชั่ว คนเลวออกไปแล้วทำให้ทำมาค้าขึ้น
สังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนในประเทศไทย
ในงานเขียนของ ประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์ (2545 : 6 - 7) ได้กล่าวถึงการอพยพเข้าของคนจีนในประเทศไทยว่า สังคมชาวจีนในกรุงเทพฯ ได้มีการขยายตัวใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเนื่องมาจากการเริ่มต้นยุคเรือกลไฟ ทำให้สะดวกต่อการอพยพเข้าของชาวจีน อีกทั้งยังมาจากความต้องการแรงงานภายในประเทศไทย ซ้ำยังมีความวุ่นวายทางการเมืองและความอดอยากในจีนภาคใต้เป็นตัวผลักดัน โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2425 เมื่อบริษัทเดินเรือของอังกฤษ ชื่อบางกอก พาสเวนเจอร์ สตีมเมอร์ คอมพานี ได้เปิดเส้นทางเดินเรือเป็นประจำจากเมืองซัวเถาในในจังหวัดแต้จิ๋วถึงกรุงเทพฯ และกลับซัวเถาโดยผ่านฮ่องกง ธุรกิจนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์การอพยพของชาวจีนมายังประเทศไทย เพราะในระยะเวลาก่อนหน้านี้ กรุงเทพฯ เป็นแหล่งอพยพเข้าแห่งเดียวที่ไม่มีเรือกลไฟสายตรงจากเมืองท่าของจีน แต่เมื่อมี

การเปิดเส้นทางการเดินเรือดังกล่าวขึ้น ในระยะเวลา 2 ปีแรกของการดำเนินกิจการ ได้มีเรือกลไฟจากซัวเถาเข้ามายังกรุงเทพฯ ด้วยอัตรา 1 ลำต่อสัปดาห์ และขนส่งผู้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยด้วยจำนวนนับเป็นหมื่นๆ คนต่อปี ด้วยเหตุนี้ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ จึงมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นจากชาวจีนใหม่
อมรา พงศาพิชญ์ (2543) ใน “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม กระบวนทัศน์และบทบาทประชาสังคม” กล่าวถึงสังคมจีนยุคแรกๆ ของชาวจีนอพยพว่ายังคงยึดมั่นในกลุ่มภาษา เมื่ออพยพมาอยู่ต่างถิ่นจึงมักอยู่เป็นกลุ่มภาษาหรือตามกลุ่มแซ่ตระกูลเดียวกัน บ้างก็อยู่ตามกลุ่มอาชีพ แต่การคงอยู่ของวัฒนธรรมในบริบทเดิมก็มิได้อยู่อย่างถาวร แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงแรกของการที่ชาวจีนได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยและมาตั้งถิ่นฐานยังคงรักษารูปแบบ วัฒนธรรมความคิดตามแบบชาวจีน แต่พวก “ลูกจีน” หรือคนจีนรุ่นที่ 2 ในประเทศไทยจะมีความรู้สึกถึงความเป็นไทยค่อนข้างสูง ตามทฤษฎีการขัดเกลาทางสังคมและการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกต่างต่อความเป็นจีนของทั้ง 2 รุ่น เพราะจีนรุ่นแรกจะได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาแบบจีน ส่วนรุ่นที่ 2 จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบไทย โดยมีตัวแปรแทรกอย่าง บริบทของสังคม หรือ มารดาที่เป็นผู้เลี้ยงดู ดังนั้นคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่นักวิชาการบางคนมองว่าได้ผสมกลมกลืนเข้าในสังคมไทยและรับเอาวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมของตน
งานการศึกษาสังคมจีนในประเทศไทย ของจี วิลเลี่ยม สกินเนอร์ (2529 : 131 - 132) พูดถึงศาสนาไว้ว่า “ในสยามคริสต์วรรษที่ 19 วัฒนธรรมของชาวจีนท้องถิ่นกลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสังเกตไปเข้ากับวัฒนธรรมไทย ซึ่งโดยการปิดช่องว่างระหว่างชีวิตความเป็นอยู่ทั้งสองแบบเสีย ก็ทำให้คนจีนที่เกิดในประเทศไทยเข้ากับสังคมไทยได้ง่ายขึ้น บางทีจะเป็นการบอกเล่าที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นการปรับวัฒนธรรมในสังคมชาวจีนท้องถิ่นด้วยการยกตัวอย่างเรื่องศาสนาซึ่งในแง่ความเป็นจริงแล้วจากบรรดารูปแบบทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องต่อต้านกันถึงที่สุดที่จะเปลี่ยนศาสนากันได้” เขาได้อ้างบันทึกของครอเฟิร์ดว่า “คนจีน...ยอมรับนับถือพุทธศาสนาทันทีที่เข้ามาอยู่เมืองไทย” และบันทึกของกุตสลาฟ ช่วง ค.ศ. 1830 - 1839 ว่าคนจีน “ชอบอย่างมากที่จะทำตามพิธีการต่างๆ ทางศาสนา (ของคนไทย) โดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่พุทธศาสนา ชาวจีนในสยามพร้อมที่จะรับทุกสิ่งที่คนไทยเคารพบูชาเช่นหลักเมือง”
วรศักดิ์ มหัทธโนบล (2539 : 20) ได้ให้ความเห็นว่าการการที่ชาวจีนในประเทศไทยยอมสลายความเป็นจีนของตนนั้นเกิดจากความตั้งใจและเจตนา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความผูกพันกับความเป็นไทย หรือต้องการลบความทรงจำอันเลวร้ายที่ตนได้รับจากมาตุภูมิเดิม ถึงแม้ชาวจีนพวกนี้จะยังเคารพและรำลึกถึงความเป็นจีนโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ แต่ก็ไม่พยายามแผ่ขยายความเป็นจีนต่อชนรุ่นหลัง
35
จากบทคัดลอกของ Skinner และวรศักดิ์ มหัทธโนบล แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่เอื้อต่อการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation) ของจีนหรือปัจจัยส่งเสริมนั้นมีด้วยกัน 2 ประการ คือ
1. จากตัวชาวจีนผู้อพยพเองนั้นก็คือ ค่านิยมของผู้อพยพย้ายถิ่น (Immigrant Values) ที่มีความตั้งใจที่จะปรับตัวเองให้เข้าสู่แผ่นดินใหม่หรือให้มีวิถีชีวิตกลมกลืนกับถิ่นที่อยู่ใหม่
2. วัฒนธรรมของไทย ซึ่งในความหมายกว้างหมายถึงวิถีชีวิตทั้งหมดของประชากรกลุ่มหนึ่งหรือสังคมหนึ่งที่แสดงออกมาในแบบแผนต่างๆ โดยการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่ง นั้นหมายถึงว่าแบบแผนความเป็นอยู่ของไทยเป็นปัจจัยเอื้อต่อการรับวัฒนธรรมอื่นและแพร่ไปสู่วัฒนธรรมอื่นได้ง่าย
ข้อสรุปเกี่ยวกับการประสานกลมกลืนในเรื่องของวัฒนธรรมไทย – จีน มักจะเน้นที่ความเปิดกว้างของรัฐไทยในเรื่องศาสนา และการเปิดกว้างของศาสนาพุทธิกายหินยานในไทย นอกจากเงื่อนไขที่เปิดกว้างให้กับความเชื่อที่แตกต่างออกไปของสังคมแล้ว ในอีกด้านหนึ่งระบบความเชื่อของจีนเองก็เปิดกว้างให้กับความเชื่อใหม่ๆ ด้วย ดังนั้นในการข้ามผ่านโลกทางสังคมและวัฒนธรรมของไทย ชาวจีนอพยพโน้มเอียงที่จับเอาทุกศรัทธาความเชื่อของไทยเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจท้องถิ่น (Local Power) โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ที่รับจากไทยจะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชาวจีนอพยพกับรัฐไทย อย่างน้อยก็ในความรู้สึกทางสัญลักษณ์ที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กับคนไทยด้วยศรัทธาในสิ่งเดียวกัน ในขณะเดียวกันคนจีนก็ยังดำรงลักษณะเฉพาะของการนับถือเทพเจ้าหรือการบูชาบรรพบุรุษของตนไว้ ซึ่งการกระทำอย่างนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับชาวจีนและระบบความเชื่อของจีนก็อนุญาตให้ทำได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากในแผ่นดินใหญ่ชาวจีนแต่ละท้องถิ่นจะนับถือเทพเจ้าประจำท้องถิ่นของตนควบคู่ไปกับเทพเจ้าหลักซึ่งนับถือร่วมกันของชาวจีนทั้งหมด ศาสนาของชาวจีนจึงเป็นความหลากหลายในความเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบความเชื่อของชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่ หรือชาวจีนที่อพยพไปลงหลักปักฐานในวัฒนธรรมการเมืองอื่น
ฮิล (Hill) (ฮิล 2539 อ้างใน ยุทธนา วรุณปิติกุล 2541 : 5) ได้เสนอเกี่ยวกับลัทธิประนีประนอมทางศาสนาของจีนว่าการข้ามหรือละเลยความเชื่อบางอย่าง เป็นการกระทำเพื่อการแปรเปลี่ยน (Transformation) มากกว่าตอกย้ำเอกลักษณ์ของความเป็นจีน ประการสำคัญ Hill เสนอว่าในวาทกรรมของคนจีนทั่วไป ให้ความสนใจหรือกังวลกับการปฏิบัติในพิธีกรรมมากกว่าความหมายของพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ และแม้ว่าบางคนไม่เชื่อใน “สาร” ของพิธีกรรมแต่ยังมีส่วนร่วมกับพิธีกรรมนั้น และสำหรับคนจีนตราบเท่าที่พิธีกรรมยังคงได้รับการปฏิบัติตามประเพณี ก็ถือว่าพิธีกรรมนั้นประสบผลสำเร็จแล้ว
โครงสร้าง สถานภาพและบทบาทในครอบครัวชาวจีน
36
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (2517) ใน “ชาวจีนในประเทศไทย” กล่าวถึงครอบครัวจีนไว้ว่าในครอบครัวจีนถือว่าผู้ชายมีอาวุโสสูงสุด เป็นหัวหน้าครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางสถานภาพระหว่างชายกับหญิงรุนแรงมาก จนกระทั่งเห็นได้ว่า หญิงในครอบครัวจีนจะถูกใช้งานเช่นเดียวกับทาส และยังมีทัศนะคติเกี่ยวกับการมีบุตรว่า ต้องการที่จะมีบุตรชายมากกว่าบุตรสาว การควบคุมการใช้จ่ายในครอบครัวจะอยู่ที่ฝ่ายชาย สามีเป็นใหญ่ในบ้าน การสืบสายสกุลทางด้านบิดา หลังการแต่งงานหญิงต้องไปยู่ในครอบครัวฝ่ายชาย มีการแบ่งอาวุโสและถืออาวุโสในครอบครัว
สุมิตร ปิติพัฒน์ (2525) ในบทความเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงครอบครัวจีนในประเทศไทย” ได้กล่าวถึงครอบครัวจีนแบบเดียวกับ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (2517) ว่า โครงสร้างครอบครัวจีนมีสามีเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีอำนาจในการปกครองในบ้านอย่างเด็ดขาด ผู้สืบสกุลจะต้องเป็นชายเท่านั้น สิทธิและหน้าที่ของบุคคลในครอบครัวแบ่งออกอย่างชัดเจนตามอาวุโส อายุ และเพศ ผู้อาวุโสจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า การรับมรดกจะเป็นของฝ่ายชายแต่ผู้เดียว สำหรับบุตรสาวจะได้รับส่วนแบ่งที่พ่อแม่ให้ตอนแต่งงาน สำหรับไว้ใช้ส่วนตัวเท่านั้น หลังจากนั้นมักถือว่าอยู่ในสกุลเดียวของสามี ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของตนเองอีก ผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในครอบครัวถือว่ามีฐานะต่ำกว่า ไม่ได้รับการยกย่อง ชาวจีนมีอคติต่อการมีบุตร คือต้องการมีบุตรชายมากกว่าบุตรสาว การเลือกสะใภ้ก็เพ่งเล็งนิสัยและความสามารถในการรับใช้คนในครอบครัวของตนเป็นหลัก ต้องเคารพยำเกรงผู้เป็นสามีเด็ดขาด มีความประพฤติที่สำรวม ซื่อตรงต่อสามีคนเดียว สังคมจีนไม่ส่งเสริมให้สามีแสดงความรักภรรยาต่อหน้าญาติฝ่ายตน ฉะนั้นถ้ามีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นระหว่างภรรยากับญาติสามี สามีจะต้องเข้าข้างญาติตน
โอก้า แลงค์ (Olga Lang อ้างใน ศุภลักษณ์ พรกุลวัฒน์ 2539 : 20 - 21) ในงานเขียนซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวคนจีนในยุคเก่าและครอบครัวจีนในยุคปัจจุบัน (ค.ศ. 1396 – 1937) ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวชาวจีนว่าจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด, ทางการแต่งงาน หรือเป็นการยอมรับกัน และมีทรัพย์สมบัติร่วมกัน การแบ่งแยกครอบครัวออกไปจะถือว่าเป็นการยุติบทบาทการเป็นสมาชิกในครอบครัวเดิม ซึ่งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนั้นจะมีการจัดลำดับชั้นโดยพิจารณาจากรุ่นอายุคน (generation), อายุ และเพศ โดยผู้ที่อยู่ในรุ่นอายุคนที่แก่กว่าจะมีอำนาจเหนือผู้ที่อยู่ในรุ่นอายุคนที่อ่อนกว่า ภายในแต่ละชั่วอายุคนผู้ที่อายุมากกว่าจะมีอำนาจเหนือผู้ที่อายุน้อยกกว่าและผู้ชายจะมีอำนาจเหนือผู้หญิง
สุชาดา ตันตสุรฤกษ์ (2532 : 23 - 25) อธิบายโครงสร้างครอบครัวไว้ว่าลักษณะครอบครัวชาวจีนแบบดั้งเดิมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
37
1. ครอบครัวที่เกิดเนื่องมาจากการสมรส (The conjugal family) เป็นครอบครัวขนาดเล็กประกอบไปด้วยผู้ชาย ซึ่งอาจมีภรรยาคนเดียวหรือหลายคนพร้อมบุตรและบางครอบครัวอาจจะมีพี่น้องของผู้ชายอยู่ร่วมด้วย ลักษณะครอบครัวแบบนี้มีน้อยมากในประเทศจีน
2. ครอบครัวที่อยู่ร่วมกันเป็นตระกูล (The stem family) ประกอบไปด้วย บิดา มารดา บุตรที่ยังไม่ได้แต่งงาน และบุตรชายที่แต่งงานด้วย 1 คน พร้อมด้วยภรรยาและบุตร เป็นลักษณะของครอบครัวชาวจีนขนาดเล็ก ซึ่งครอบครัวในลักษณะนี้อาจจะแตกแยกได้เมื่อบิดา มารดาเสียชีวิตหรือบุตรชายที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตรหลานสืบตระกูล
3. ครอบครัวที่อยู่ร่วมกันทั้งหมด (The joint family) ประกอบไปด้วย บิดา มารดา บุตรที่ยังไม่ได้แต่งงาน บุตรชายที่แต่งงานแล้ว (มักจะมีมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป) พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของบุตรชายที่แต่งงานแล้ว ในบางครอบครัวอาจจะเกิดลูกหลานสืบต่อกันไปและอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังเดียวกันถึง 4 – 5 ชั่วอายุคน ลักษณะสำคัญของครอบครัวแบบนี้ก็คือหัวหน้าครอบครัวซึ่งหมายถึงพ่ออาศัยอยู่กับบุตรชายที่แต่งงานแล้วหรือบุตรชายคนใดคนหนึ่ง (มักเป็นคนโต) พี่ชายคนโตจะปกครองน้องชายทั้งที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงาน รวมทั้งภรรยาและบุตรของน้องชายด้วย และอาจมีความสัมพันธ์ในครอบครัวในรูปแบบอื่นๆ อีกเช่น หากคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนมีภรรยาหลายคน หรือมีลุง ป้า น้า อา อาศัยอยู่ด้วย ครอบครัวลักษณะนี้ถือเป็นครอบครัวขนาดใหญ่มากและเป็นครอบครัวขยายซึ่งจะพบมากที่สุดในสังคมชาวนาจีน ซึ่งหมายความถึงครอบครัวของชาวจีนในประเทศไทยเป็นส่วนมาก
ครอบครัวทั้ง 3 แบบต่างก็เน้นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่สำคัญ 3 รูปแบบ คือ บิดากับบุตรชาย สามีกับภรรยา พี่ชายกับน้องชาย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง ปู่กับหลานชาย ลุงกับหลานชาย ในครอบครัวที่อยู่รวมกันไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา กับบุตรอยู่บนพื้นฐานของความกตัญญูกตเวทีเป็นสำคัญ ในความคิดของชาวจีนเชื่อว่าปัจเจกบุคคลเป็นผู้สืบต่อความคงอยู่ของครอบครัว
จากแนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีนที่มีการแสดงออกทางวัฒนธรรมเหมือนกัน เน้นความสำคัญทางด้านโครงสร้างครอบครัวโดยอาศัยวัฒนธรรมเป็นตัวยึดโยง จากการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากความเชื่อตามลัทธิทั้ง 3 ของชาวจีน อันประกอบด้วยความเชื่อระหว่างมนุษย์กันสิ่งเหนือธรรมชาติ ถึงแม้ได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานก็ยังคงรูปแบบความเป็นครอบครัวดังกล่าว หากแต่ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีการประสานทางวัฒนธรรมของไทยและจีน ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ ทั้งพื้นฐานความเชื่อของชาวจีนที่ง่ายต่อการรับวัฒนธรรม อีกทั้งในด้านศาสนา ลัทธิความเชื่อใกล้เคียงกัน เช่นนับถือศาสนาพุทธเหมือนกันแม้จะคนละนิกาย แต่ก็บูชาผีสางเทวดาสิ่งลึกลับเหมือนกัน ศาสนาและลัทธิความเชื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนกัน รูปแบบบางอย่างของความเชื่อและพิธีกรรม
38
ของชาวจีนจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทแห่งความเป็นไทยไปบางส่วน สิทธิหน้าที่ของครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เพราะวัฒนธรรมของชาวจีนเป็นตัวยึดโยงความเป็นครอบครัวของชาวจีนให้ยังคงเป็นโครงสร้างแบบเดิมๆ แต่เมื่อชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยก็ย่อมได้รับอิทธิพลทั้งสภาพนิเวศวิทยา บริบทต่างๆ ของสังคมไทยก็ย่อมทำให้ครอบครัวชาวจีนโน้มเอียงเข้าสู่โครงสร้างครอบครัวแบบไทย แต่เดิมไม่เห็นความสำคัญของลูกผู้หญิง ปัจจุบันก็อาจให้การยอมรับผู้หญิงมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือหลักสำคัญของพิธีกรรมนั้นๆ แต่ในอนาคตความคงอยู่ของพิธีกรรมก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคาดการณ์กัน
ดังนั้นผู้วิจัยเห็นว่า “พิธีกรรมเช็งเม้ง” จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อการศึกษาเพราะว่าพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูตามหลักคำสอนของลัทธิขงจื้อ เป็นการบูชาบรรพบุรุษ อันเป็นตัวแปรที่ทำให้ความเป็นลักษณะของครอบครัวชาวจีนยังคงอยู่ อีกทั้งความหมายที่มีอยู่ในพิธีกรรมเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษพยายามสอนต่อลูกหลานก็มีความสำคัญ หากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเพิ่มขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อรูปแบบครอบครัวของชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้ต้องทำความเข้าใจในพิธีกรรม การถ่ายทอด การรักษา และทัศนคติของคนไทยเชื้อสายจีนต่อพิธีกรรมเช็งเม้งดังกล่าว
บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้งในแง่ความหมายของพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งมุ่งศึกษาตามกรอบแนวความคิดที่ได้จากการศึกษา โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. การกำหนดประชากรและการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง
2. การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4. การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล
5. การนำเสนอข้อมูล
การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร
ประชากร (Population) ที่ใช้ในการศึกษาและวิจัยเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ที่อาศัยอยู่ในชุมชนวานิชสัมพันธ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร อันเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในการอาศัยอยู่ของชาวจีนผู้อพยพตั้งแต่รัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และยังคงความหนาแน่นของประชากรเชื้อสายจีนซึ่งประกอบไปด้วยบริบทของความเป็นจีนใกล้เคียงกัน ทั้งภาษา และรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งผู้วิจัยได้อาศัยวิธีการเลือกประชากรจากการจับสลาก (Random Sampling) จากชุมชน 1 ใน 21 ชุมชนของเขตสัมพันธ์วงศ์
การเลือกกลุ่มตัวอย่าง
การออกแบบในงานวิจัย เช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เกณฑ์การลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) โดยมีเกณฑ์กำหนด ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ขึ้นด้วยตนเอง ดังนั้นผู้วิจัยได้อาศัยเกณฑ์ของโครงสร้างครอบครัวในการเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อใช้ในการศึกษา
จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการประกอบด้วย 3 กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. กลุ่มตัวอย่างครอบครัวที่เป็นลักษณะครอบครัวขยาย (Extended Family) ที่มีสมาชิกประกอบด้วย 3 รุ่น (Generation) คือ คนจีนรุ่นที่ 1 คนจีนอพยพ, รุ่นที่ 2 รุ่นลูกคนจีนอพยพ และรุ่นที่ 3 รุ่นหลานคนจีนอพยพ และมีเชื้อสายจีนโดยสมบูรณ์และอาศัยในบ้านเดียวกัน
4 0
2. กลุ่มตัวอย่างครอบครัวที่เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ที่มีสมาชิกประกอบด้วย รุ่นที่ 2 รุ่นลูกคนจีนอพยพ และรุ่นที่ 3 ที่เป็นรุ่นหลานคนจีนอพยพ และมีเชื้อสายจีนโดยสมบูรณ์ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
3. กลุ่มตัวอย่างครอบครัวที่มีเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ที่มีสมาชิกประกอบด้วย รุ่นที่ 3 รุ่นหลานคนจีนที่อพยพ และรุ่นที่ 4 รุ่นเหลนคนจีนที่อพยพ และมีเชื้อสายจีนโดยสมบูรณ์ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
โดยกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มจะต้องมีตัวแปรควบคุมในเรื่องเดียวกันก็คือจะต้องเป็นครอบครัวที่ยังยึดถือและประกอบพิธีกรรมเช็งเม้งประจำทุกปี และมีความเคร่งครัดในการประกอบพิธีกรรม อย่างเช่น การยึดวันที่ในการไปเช็งเม้งว่าจะต้องเป็นวันนี้ทุกปี หรือการจัดเตรียมเครื่องเช่นไหว้ ซึ่งผู้วิจัยอาศัยเครื่องมือจากผู้ให้ข้อมูล (Key Informant) ทำการสอบถามจากคนในชุมชนว่าครอบครัวใดมีความเข้มข้นในการประกอบพิธีกรรม และผู้วิจัยจะทำการสัมภาษณ์ทุกคนในครอบครัว เพื่อดูความหมาย การประกอบพิธีกรรม การถ่ายทอดวัฒนธรรมของพิธีกรรม การรักษาพิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลงโดยมีการเปรียบเทียบระหว่างรุ่น และทำการเปรียบเทียบระหว่างครอบครัว
จากการคัดเลือกครอบครัวกลุ่มตัวอย่างภายในชุมชนวานิชสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วยครัวเรือนทั้งสิ้น 45 ครัวเรือน สามารถจำแนกครอบครัวกลุ่มตัวอย่างที่ได้ตามเกณฑ์ลักษณะของโครงสร้างครอบครัวมาดังนี้
กลุ่มตัวอย่างครอบครัวขยายที่มีสมาชิก 3 รุ่น คือ จีนรุ่นที่ 1 คนจีนอพยพ, รุ่นที่ 2 รุ่นลูกคนจีนอพยพ และรุ่นที่ 3 รุ่นหลานคนจีนอพยพ และอาศัยในบ้านเดียวกัน มีทั้งสิ้น 3 ครอบครัว
กลุ่มตัวอย่างครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกประกอบด้วย รุ่นที่ 2 รุ่นลูกคนจีนอพยพ และรุ่นที่ 3 ที่เป็นรุ่นหลานคนจีนอพยพ อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีทั้งสิ้น 17 ครอบครัว
กลุ่มตัวอย่างครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกประกอบด้วย รุ่นที่ 3 รนหลานคนจีนที่อพยพ และรุ่นที่ 4 รุ่นเหลนคนจีนที่อพยพ ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีทั้งสิ้น 9 ครอบครัว
และที่เหลืออีก 16 ครัวเรือน เป็นครอบครัวที่ไม่ใช่ลูกหลานคนจีนโดยสมบูรณ์ คือ มีการแต่งงานกับคนไทย 11 ครัวเรือน และเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นรุ่นที่ 4 คือรุ่นเหลน และรนที่ 5 รุ่นโหลน 5 ครัวเรือน
สามารถสรุปว่าได้กลุ่มตัวอย่างที่ตรงตามเกณฑ์โครงสร้างครอบครัวจำนวน 29 ครอบครัว และผ ู ้วิจัยได้อาศัยผู้ให้ข้อมูล (Key Informant) คือ ผู้นำชุมชน คณะกรรมการชุมชน ผู้เฒ่าในชุมชน และคนในชุมชนส่วนหนึ่ง คัดเลือกเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างตามเงื่อนไขในในเรื่องการเคร่งครัดเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม และมีความสมัครใจในการเป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่องานวิจัย
4 1
โดยทำการคัดเลือกครอบครัวกลุ่มตัวอย่างมาอย่างละ 1 กลุ่มตามโครงสร้างครอบครัว ซึ่งได้ทั้งหมด 3 กลุ่มโดยทำการสัมภาษณ์สมาชิกทุกคนในครอบครัว
การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ได้มีความสอดคล้องกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างหัวข้อและกำหนดกรอบของคำถามแบบกว้างเพื่อใช้เป็นแนวทางการสัมภาษณ์ (Interview Guide) สำหรับสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพื่อความเที่ยงตรงของข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรม และลักษณะของการเปลี่ยนแปลง ของการปฏิบัติพิธีกรรมเช็งเม้งในปัจจุบัน โดยขั้นตอนในการสร้างแนวคำถามคือ
1. การศึกษากรอบแนวคิดเพื่อตั้งประเด็นคำถามที่ใช้ในการออกแบบสัมภาษณ์
2. การศึกษาเอกสาร หรือทบทวนวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเช็งเม้งทั้งความหมาย และพิธีกรรม
3. การศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง
4. สร้างประเด็นคำถามให้เป็นไปตามกรอบแนวความคิดเพื่อนำไปออกแบบสัมภาษณ์และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง
โดยแนวทางการสัมภาษณ์ (Interview Guide) เป็นหัวข้อสัมภาษณ์ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนอันเป็นข้อมูลสอดคล้องกับกรอบแนวความคิด
ส่วนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับครอบครัว แนวคิด และโครงสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ที่มีในครอบครัว
ส่วนที่ 2 ข้อมูลของรูปแบบในการถ่ายทอด รับรู้ เกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง และรูปแบบของวัฒนธรรมที่มีผลต่อพิธีกรรมเช็งเม้ง
ส่วนที่ 3 ข้อมูลของผลความเจริญของสังคมของโลกในปัจจุบันต่อพิธีกรรมเช็งเม้ง
ส่วนที่ 4 ข้อมูลเกี่ยวกับความหมาย การเปลี่ยนแปลงของความหมาย การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรม การการรักษาไว้ของพิธีกรรมเช็งเม้ง
วิธีการหาคุณภาพของเครื่องมือ
การกำหนดหัวข้อในการสัมภาษณ์ (Interview Guide) สามารถเปิดกว้างให้ผู้ถูกวิจัยตอบคำถามได้อย่างอิสระ และไม่เกิดความลำเอียงหรือความไม่เข้าใจต่อการตอบคำถามของผู้ที่
4 2
ถูกวิจัย โดยสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบความคล้ายคลึงหรือความแตกต่างกันซึ่งเป็นการทดสอบแบบ 3 เส้า คือการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง หากข้อมูลเหมือนกัน 2 ใน 3 ของข้อมูลที่ได้ย่อมมีข้อเท็จจริงคล้ายกัน
การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิจัยเรื่อง เช็งเม้ง : ความหมาย พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง ได้อาศัยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ส่วนการเก็บข้อมูลใช้ทั้งข้อมูลเอกสาร การสังเกตการณ์ภาคสนามอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
1. การสำรวจข้อมูลจากเอกสาร เพื่อหาข้อมูลในเรื่องความหมายหรอความเป็นมาของพิธีกรรมเช็งเม้ง
2. การสัมภาษณ์ทั่วๆ ไป ในช่วงเริ่มเพื่อเป็น Guide Line สำหรับการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview)
3. การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key –informant interview) เพื่อให้ได้มาถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล มีความรู้จริงเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง ซงทำการสัมภาษณ์จากผู้นำชุมชน ผู้เฒ่าที่ดูแลศาลเจ้า และผู้สูงอายุที่มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง
4. การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
4.1 การสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาความหมายและความเป็นมาของพิธีกรรมเช็งเม้งจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และบุคคลที่รับทำพิธีกรรมต่างๆ ของจีน
4.2 การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ประวัติชีวิตและรายละเอียดโครงสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ และประเด็นเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง ความเชื่อ ความรู้ ความสัมพันธ์ และประเด็นเกี่ยวกับพิธีกรรมเช็งเม้ง ความเชื่อ ความรู้ และการประกอบพิธี
5. การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัวกลุ่มตัวอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานและจำทำการเก็บข้อมูลภาคพิธีกรรม (Participant Observation) เพื่อสังเกตลักษณะการประกอบพิธีกรรม ขั้นตอนต่างๆ รายละเอียดของพิธีการ สภาพแวดล้อมโดยรวม และพฤติกรรมของบุคคลที่เกิดขึ้นในพิธีกรรม
6. การเก็บข้อมูลหลังพิธีกรรม เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจเก็บไม่หมดหรือเกิดข้อสงสัยช่วงแรกของการเข้าไปมีส่วนร่วมในครอบครัวกลุ่มตัวอย่างซึ่งยังไม่คุ้นเคยกับผู้วิจัยจึงอาศัยหลักการจำแล้วรีบกลับมาบันทึก การทำไดอะแกรมทางเครือญาติ (Genealogy) ซึ่งการเก็บข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยทราบว่าใครมีสัมพันธ์อย่างไรกับใครบ้าง และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงองค์รวมต่างๆ ได้
4 3
7. การทำไดอะแกรมทางเครือญาติ (Genealogy) ซึ่งเป็นเทคนิควิจัยที่สำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยสามารถอธิบายระบบครอบครัว เครือญาติ และความเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเช็งเม้งของ กลุ่มตัวอย่าง
8. การจดบันทึกสนาม (Field Notes) ผู้วิจัยได้เลือกใช้เทคนิคการจดบันทึกสนามในระยะแรกเพื่อสร้างความคุ้นเคย และสร้างความไว้วางใจระหว่างตัวผู้วิจัยและกลุ่มตัวอย่าง เพื่อไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เกิดความแคลงใจในการที่จะตอบคำถาม ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจเป็นข้อมูลส่วนตัว ดังนั้นผู้วิจัยต้องอาศัยความจำในการรับรู้ข้อมูล และรีบกลับมาจดบันทึก
การจัดกระทำและวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลที่ได้จากการเขาไปศึกษาอย่างเจาะลึกจะนำมารวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลแบบต่อเนื่องตามลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและผู้ถูกวิจัย ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอธิบายของข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การศึกษากลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับความหมาย รูปแบบพิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลง ร่วมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง และการตีความหมาย
การนำเสนอข้อมูล
การนำเสนอข้อมูลที่ได้จะอยู่ในรูปแบบการเขียนรายงานเชิงพรรณนา (Descriptive Report) โดยอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบภาพ ตารางเปรียบเทียบ และไดอะแกรมประกอบตามหลักการวิจัยเชิงคุณภาพของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น