วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น (ตอนที่ 1)




วิทยานิพนธ์ การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น
โดย นาวาเอก วิษณุสรรค์ ศรีแก่นจันทร์
สาขาวิชา สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
ประธานกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข
กรรมการ ดร.ทวิช บุญธิรัศมี
กรรมการ ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อนุมัติให้วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ
การศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
……………………………………………… คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
(ดร.สรายุทธ์ เศรษฐขจร)
คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
……………..…………….………………….….. ประธานกรรมการ
(ศาสตราจารย์ ดร.สายหยุด จำปาทอง)
……………………………….…………………. กรรมการ
(รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข)
…………………….……………………………. กรรมการ
(ดร.ทวิช บุญธิรัศมี)
……………….…………………………...…….. กรรมการ
(ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม)
………………….………………………...…….. กรรมการ
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี คุโณปการ)
…………………………………………………. กรรมการและเลขานุการ
(รองศาสตราจารย์สมชาย พรหมสุวรรณ)
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
THE TRANSFER OF BUDDHIST PRACTICAL WAY
TO TEENAGERS
Captain Wisanusun Srikaenjandra
A thesis Submitted in Partial fulfillment of the Requirements
for the Master of Arts (Social Sciences for Development)
Bansomdejchaopraya Rajabhat University
Academic Year 2004
ISBN : 974-373-395-7
การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น
นาวาเอก วิษณุสรรค์ ศรีแก่นจันทร์
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
ปีการศึกษา 2547
ISBN 974-373-395-7
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

วิษณุสรรค์ ศรีแก่นจันทร์. (2547) การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต.
กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. คณะกรรมการควบคุม :
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ดร.ทวิช บุญธิรัศมี ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม.
การศึกษา การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และชุมชน ที่ส่งผลให้วัยรุ่นมีคุณธรรมจริยธรรม
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ ซึ่งเป็นนักเรียนที่พระอาจารย์โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ คัดสรรแล้วว่าเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมเด่น จำนวน 10 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์ บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ พระอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ ผู้นำชุมชน สมาชิกชุมชน เพื่อนสนิท และการสังเกตสภาพแวดล้อมรอบ ๆ กลุ่มนักเรียนตัวอย่าง
ผลจากการวิจัย พบว่า
1. บ้านหรือครอบครัว มีวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติ ด้วยการสอนให้เด็กทำบุญ
ใส่บาตร และบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ปฏิบัติตามศีลห้าเป็นตัวอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม
2. โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติ โดยให้เด็กเข้าร่วมพิธี
ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ และสอนให้ประพฤติปฏิบัติตนตามศีลห้า และทำกิจกรรมเสริม
3. ชุมชุมมีวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติ ด้วยการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำบุญ และ
ทำกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาที่ชุมชนจัดขึ้น โดยสมาชิกชุมชนปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง

Visanusan Srikaenjandra.(2004). The methods of the transfer of Buddhist practical way to
teenagers: Graduate School, Bansomdejchaopraya Rajaphat University.
Advisor committee : Associate Professor Dr. Somsak srisontisuk Dr.Tawit
Bunthirasami Dr.Waraporn Panwongklom.
The study of the methods of the transfer of Buddhist practical way to teenagers is a qualitative research. The purpose of the study is to investigate The methods of the transfer of Buddhist practical way at home, Buddhism Sunday schools and community which effect the teenagers morals and ethics of the teenagers.
The sample group was the students of Wat Thapra Buddhism Sunday School which the monks had selected 10 students who had distinguished moral and ethic behavior. The data collection used the interview of parents or grand relatives, the instructed monk at Wat Thapra Buddhism Sunday School, community leaders, members of community, closed friends and the observation of the environment around the sample group.
Results of the study are
1. The methods of the transfer of Buddhist practical way to teenagers at home had taught to make merit by putting food into the bowl of a mendicant Buddhist priest in the morning and parents or grand relatives were practical model with the five commands of the Buddha for the child to follow.
2. The methods of the transfer of Buddhist practical way to teenagers of the Buddhist Sunday School had taught with the Buddhist Laity Participation and followed the five commands of the Buddha and additional activities.
3. The methods of the transfer of Buddhist practical way to teenagers of community are to permit children to participate to make merit by putting food into the bowl of a mendicant Buddhist priest in the morning and Buddhist activities in special days which the community organizes. The community members were practical themselves as the good models.

ประกาศคุณูปการ
การทำวิจัยครั้งนี้ได้รับความกรุณาทั้งทางตรงและทางอ้อมจากผู้เป็นที่เคารพนับถือ อาจารย์ที่เป็นห่วงเป็นใย แรงใจจากพี่ ๆ และน้อง ๆ รวมทั้งเสียงกระตุ้นเตือนให้ก้าวเดิน จนในที่สุดด้วยแรงแห่งความอดทน มุ่งมั่น ผสมผสานกับกาลเวลาที่มีค่าทำให้งานวิจัยฉบับนี้ผ่านไปได้ด้วยดี
ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สายหยุด จำปาทอง รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ดร.ทวิช บุญธิรัศมี ดร.วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี คุโณปการ และ รองศาสตราจารย์ สมชาย พรหมสุวรรณ และคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 2 ทุกท่านที่ได้ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้โอกาส ความเมตตาเหล่านี้จะติดตรึงอยู่ในดวงใจของผู้ทำวิจัยตลอดไป
ขอบคุณพี่น้องสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ที่เอื้ออาทรคอยกระตุ้นเตือน และช่วยเหลือให้กำลังใจ ตลอดเวลา
ขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัชมน ศรีแก่นจันทร์ และ ด.ช.กฤติธี ศรีแก่นจันทร์ ที่ให้โอกาส เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลา และเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้า....ในที่สุดถึงที่หมายจนได้ สุดท้ายอยากบอกว่า “พ่อรักแม่และลูกมากนะ”
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สอนให้รู้ว่า สะพานพระราม 9 ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว และสะพานพระราม 9 ก็ไม่ได้สร้างเสร็จโดยคนคนเดียว ขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยสร้างสะพานพระราม 9
วิษณุสรรค์ ศรีแก่นจันทร์
พฤศจิกายน 2547

สารบัญ
หน้า
ประกาศคุณูปการ ………………………………………………………………….... ง
บทคัดย่อภาษาไทย …………………………………………………..………………..จ
บทคัดย่อภาษาอังกฤษ ……………………….……………………………………......ฉ
สารบัญ ……………………………………………………………….……………... ช
สารบัญแผนภาพ..………………… …………….………………………….………...ฌ
บทที่ 1 บทนำ……..……………………………………………………..……..……..1
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา……………………………………... 1
วัตถุประสงค์ของการวิจัย …………………………………………..…….2
ขอบเขตการวิจัย …………………………………………………..…….. 2
นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ..…….……………………………………………....3
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย…………………….……………….. 5
กรอบความคิดในการทำวิจัย………………………………………………….5
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ……………..………………………………. 7
แนวคิดการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากบ้าน...............................…………….. 7
แนวคิดการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์.........13
แนวคิดการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากชุมชน................................................ 27
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง…………………………………………….…………….30
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ……………………………………………………………36
กลุ่มตัวอย่าง…..……………………………………………..........................36
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย…..……………………………………………….. 36
การเก็บรวบรวมข้อมูล …………………………………………………….. 37
การวิเคราะห์ข้อมูล………..………………………………………………... 38

สารบัญ (ต่อ)
หน้า
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล......………………………………………………….. 39
ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล.....................................................................39
ข้อมูลชุมชน………………………………………………………………... 41
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ…………………………………. 46
ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล...…………………….………….57
บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ…………………………………….......100
สรุปผลการวิจัย…………………………………………………………….100
การอภิปรายผลการวิจัย…………………..……………………..………….101
ข้อเสนอแนะ ………………………………….…………………………...103
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป ……………………………………….. 104
บรรณานุกรม …………………………………………………………….. 105
ภาคผนวก…………………………….……………………………………………. 114
แบบสัมภาษณ์กรณีศึกษา………..…………………………………………115
แบบสัมภาษณ์พระอาจารย์……………………………………….. ……….116
ประวัติพระอาจารย์………………………………………………………. 117
ประวัติผู้วิจัย ……………………………………….………………………………..124

สารบัญแผนภาพ
หน้า
แผนภาพที่ 1 กรอบแนวคิด………………………………………………………… 6
แผนภาพที่ 2 หลักการสื่อสารเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแมคไกว..12
แผนภาพที่ 3 แสดงป้ายทางเข้าชุมชนวัดท่าพระ……….………………………….. 41
แผนภาพที่ 4 แสดงทางเข้าวัดท่าพระ .......................................................................43
แผนภาพที่ 5 แสดงบริเวณวัดท่าพระ ……………………………..………..……... 44
แผนภาพที่ 6 แผนที่ชุมชนวัดท่าพระ……………………………………………… 45
แผนภาพที่ 7 แสดงโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ.................................. 46
บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้สภาวการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตในครอบครัวเกิดความอ่อนแอ และแปลกแยก เป็นเหตุนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ของวัยรุ่นที่หลงไปตามกระแส เพราะภาวะทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ทำให้มีจำนวนวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเพิ่มมากขึ้น เพราะพ่อแม่สร้างครอบครัวอย่างง่าย ๆ และรวดเร็ว ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กได้ เด็กจึงไปหาคำตอบและพึ่งพิงเพื่อนและบุคคลอื่น (รัชนีกร เศรษโฐ 2532: 96) ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ติดตามมา เช่น การมั่วสุมของเด็ก การยกพวกตีกัน เสพยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การเสื่อมทางศีลธรรมจริยธรรมและค่านิยมอันดีงาม เพราะการขัดเกลาทางสังคม การอบรมสั่งสอน การปลูกฝังค่านิยม ความเชื่อ ถูกละเลย
เพิกเฉยและบั่นทอนลดน้อยถอยลงไป ภายใต้สังคมและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ในขณะที่วัยรุ่น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นบุคคลที่ต้องการการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นบุคคลคุณภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างรวดเร็วเพื่อการปรับเปลี่ยน
รูปแบบและพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสังคม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น สถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง คือ บรรทัดฐานและจุดเริ่มต้นของการสร้างค่านิยม และรากฐานของการปลูกจิตสำนึกให้วัยรุ่น (พวงเพชร สุรัตนกวีกุล 2541 : 203) ซงเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนให้กับปัจเจกชนทุกคนมีค่านิยมอันดีงาม การพัฒนาประเทศต้องอาศัยกำลังคนที่มีคุณภาพประกอบด้วย ความสมบูรณ์ทางร่างกาย สติปัญญา ความรู้และจิตใจ (สมพร เทพสิทธา 2541 : 68) จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือในการพัฒนาทั้งครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่จะร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ให้เด็กทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรมที่เพียงพอ สำหรับการดำรงชีวิตเป็นรากฐานของการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีของสังคม และประเทศชาติในอนาคต (เสาวนีย์ เทพหัตถี 2534 : 10) การขัดเกลาทางสังคมหรือศาสนา ทำให้วัยรุ่นมีทัศนคติที่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติตนเป็นคนดีเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย และควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก (งามตา วนินทานนท์ 2536 : 3)
2
จากประสบการณ์ที่ผู้วิจัยได้คลุกคลีอยู่กับเขตบางกอกใหญ่มาเป็นเวลาที่ยาวนาน ได้สังเกตและพบว่า วัยรุ่นในเขตบางกอกใหญ่มีปัญหาเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น แต่ขณะเดียวกันก็พบว่ามีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ เป็นวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมแสดงออกน่าชื่นชม มีคุณธรรมจริยธรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดความสนใจและต้องการศึกษาว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้ได้รับวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติอย่างไร จาก 3 สถาบัน ซึ่งได้แก่ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และ ชุมชน ผู้วิจัยคาดหวังว่า จะนำผลการวิจัยมาเป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาและพัฒนาวัยรุ่นให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม อันเป็นพื้นฐานของคนที่มีคุณภาพ คือ คนเก่ง คนดี และคนมีความสุข ซึ่งวัยรุ่นดังกล่าวจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และชุมชน ที่ส่งผลให้วัยรุ่นมีคุณธรรมจริยธรรม
ขอบเขตของการวิจัย
ด้านพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวัยรุ่นในชุมชนวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ด้านเนื้อหา เพื่อศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และชุมชน ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาดังนี้
1. บ้าน
- สัมพันธภาพในครอบครัว
- การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา
- วิถีชีวิตแบบพุทธ
2. โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
- การถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรม
- การส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ
- การเรียนรู้
3
3. ชุมชน
- บริบทชุมชน
- กลุ่มเพื่อน การคบเพื่อน
- การทำกิจกรรมและการบำเพ็ญประโยชน์
นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ
การถ่ายทอด หมายถึง การส่งผ่านรูปแบบ การปฏิบัติตนตามแนวพุทธศาสนาจาก บ้าน วัด (โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์) และชุมชน แก่วัยรุ่น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันพึงประสงค์
วัยรุ่น หมายถึง ผู้มีอายุระหว่าง 10-19 ปี
พฤติกรรม หมายถึง การกระทำและการแสดงออกของบุคคลที่เป็นปกตินิสัย ได้แก่ การสนใจศึกษาเล่าเรียน มีความประพฤติดี ช่วยเหลือครอบครัวในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ติดยาเสพติด และไม่เที่ยวกลางคืน
สัมพันธภาพในครอบครัว หมายถึง บรรยากาศภายในครอบครัว ซึ่งได้แก่ ช่วงระยะเวลา จำนวนครั้งและโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือ หรือทำกิจกรรมทางศาสนา ร่วมกัน เช่น ให้การแนะนำ สั่งสอน พาไปทำบุญตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ ถือศีลในวันพระ ส่งเสริมและสนับสนุนเมื่อทำความดี
การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธ หมายถึง วิธีการการปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อฝึกอบรมให้บุตรเกิดความรู้ ความเชื่อ และยอมรับการปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การบริจาคทาน การรักษาศีลห้า และการปฏิบัติธรรม
วิถีชีวิตแบบพุทธ หมายถึง การดำเนินชีวิตของบุคคลตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมทางพุทธศาสนา
คุณธรรมจริยธรรม หมายถึง เกณฑ์ตัดสินความดีความชั่วอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ คือ การมีเบญจศีล หรือศีลห้า ได้แก่ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำความชั่ว 5 ประการ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากการดื่มน้ำ
4
เมา ศีลห้าเป็นมนุษยธรรม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับทำให้คนเป็นมนุษย์ และความประพฤติที่ดีตามสุจริต 3 อย่าง คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย ความประพฤติชอบด้วยวาจา ความประพฤติชอบด้วยใจ เป็นเกณฑ์วัดความประพฤติดีของมนุษย์
การส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ หมายถึง การที่วัยรุ่นได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดามารดา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และยอมปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา โดยการชักจูงจากบิดามารดาให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ให้บุตรได้รับรู้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ธรรมปฏิบัติ การเอาใจใส่ แนะนำชี้ให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของพุทธศาสนาตลอดจนให้บุตรเห็นแบบอย่างที่ดีจากการปฏิบัติธรรมของบิดามารดา
การเรียนรู้ หมายถึง การที่วัยรุ่นได้รับการถ่ายทอดการปฏิบัติตามแนวพุทธจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถนำไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้
การยึดหลักเบญจศีล หมายถึง การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ฆราวาสนำไปประพฤติ ปฏิบัติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนเป็นคนดี ซึ่งทางศาสนามุ่งสอนคนให้มีพฤติกรรมในสังคมที่พึงประสงค์สามารถอยู่ร่วมกันและดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากการดื่มน้ำเมา
การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากบ้าน หมายถึง วิธีการถ่ายทอดการปฏิบัติต่าง ๆ ตามแนวพุทธ ตลอดจนวิธีการถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ให้กับบุตรหลาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยมีบิดามารดา ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่เป็นตัวแบบ
การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หมายถึง วิธีการถ่ายทอดหลักธรรม คติธรรม คุณธรรม จริยธรรมจากพระอาจารย์ ซึ่งใช้การถ่ายทอดด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ หลักการเรียนรู้ หลักธรรม หลักความเมตตากรุณา และการใช้นิทานชาดกจากพุทธศาสนา สอดแทรกแนวคิดให้เด็กรู้จักคิด ใช้เหตุผล และนำข้อดีไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม
การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากชุมชน หมายถึง วิธีการถ่ายทอดการปฏิบัติตามแนวพุทธจากกลุ่มเพื่อน ผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีความคิด ความเชื่อความศรัทธา ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันซึ่งส่งผลให้วัยรุ่นใช้เป็นแบบอย่างและแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม
5
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
1. เพื่อทราบวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และชุมชน ที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมจริยธรรม
2. เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหา ส่งเสริมและพัฒนาจิตใจวัยรุ่น ในการปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม
กรอบความคิดในการทำวิจัย
การศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาภายใต้แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. แนวคิดสัมพันธภาพในครอบครัว ของสปิลก้า และ คณะ (Spilka and others 1975 : 79) ที่อธิบายถึง ปริมาณเวลาและโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาต่อบุตรที่สามารถทำนายลักษณะทางศาสนาของเด็กได้
2. แนวคิดวิถีชีวิตแบบพุทธ ของ เฟเดอริคโก และ สจ๊วร์ต (Federicol and Schwartz 1935 : 245) ที่อธิบายถึง การเลือกดำเนินวิถีชีวิตตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือแบบแผนพฤติกรรมตามแบบพุทธศาสนิกชน
3. แนวคิดการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา ของ แมคไกว (งามตา วนินทานนท์ 2536 : 42 อ้างถึง McGuire 1969) ที่อธิบายถึง การปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรในการดำเนินชีวิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้บุตรเกิดความเชื่อ และการยอมรับการปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน
4. แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ของ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2533) ที่อธิบายถึง ความดีความชั่วอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งด้านความคิด และการปฏิบัติ
5. แนวคิดการส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ ของ งามตา วนินทานนท์ (2534 : 55) ที่อธิบายถึง การอบรมสั่งสอนจากบิดามารดา ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อ และยอมปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา โดยการชักจูงจากบิดามารดา ให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาด้วยวิธีต่าง ๆ การเอาใจใส่ แนะนำชี้ให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างที่ดีจากการปฏิบัติธรรมของบิดามารดาแก่บุตร
6. การเรียนรู้ ของ สุมน อมรวิวัฒน์ (2533 : 151-171) ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ได้แก่ การฝึกหัดอบรม การควบคุมกายและวาจา การฝึกหัดคิดและการอบรมจิตใจ การฝึกหัดอบรมเพื่อความรู้ระดับสูง และเสนอระบบการสอนตามแนวพุทธวิธี
6
จากแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นได้นำมาศึกษา และพิจารณาร่วมกับหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น ส่งผลให้เป็นเด็กดีมีคุณธรรมจริยธรรมของสังคม โดยนำมาทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์สร้างเป็นกรอบความคิดในการทำวิจัย ดังแผนภาพที่ 1
แผนภาพที่ 1 กรอบความคิดในการทำวิจัย (Conceptual Framework)
บ้าน - สัมพันธภาพในครอบครัว - การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนว พุทธศาสนา - วิถีชีวิตแบบพุทธ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ - การถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรม - การส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ - การเรียนรู้ พฤติกรรมของวัยรุ่น ที่มีคุณธรรมจริยธรรม ชุมชน - บริบทของชุมชน - กลุ่มเพื่อน การคบเพื่อน - การทำกิจกรรมและบำเพ็ญ ประโยชน์
บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาค้นคว้า ทบทวนเอกสารต่างๆ และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามลำดับได้นำเสนอดังนี้
1. การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากบ้าน
1.1 แนวคิดสัมพันธภาพในครอบครัว
1.2 แนวคิดการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา
1.3 แนวคิดวิถีชีวิตแนวพุทธ
2. การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากจากโรงเรียนพุทธศาสนา
2.1 แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
2.2 แนวคิดการส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะ
2.3 ทฤษฎีการเรียนรู้
3. การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากชุมชน
3.1 บริบทชุมชนวัดท่าพระ
3.2 กลุ่มเพื่อน การคบเพื่อน
3.3 การทำกิจกรรมและบำเพ็ญประโยชน์
4. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. แนวคิดการการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากบ้าน
การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องประสบตลอดชีวิต ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตที่ตนเป็นสมาชิก เป็นการรับเอาคุณค่าของกลุ่มที่เราร่วมด้วยในฐานะเป็นสมาชิกของกลุ่ม ทำให้มนุษย์เกิดเป็นตัวตน (Self) คือ ความรู้สึกที่ตนเป็นมนุษย์แตกต่างจากคนอื่น สามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิด ความประพฤติให้เหมาะสมกับวาระและโอกาสต่างๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การขัดเกลาจึงเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมยุคหนึ่งไปยังสังคมอีกยุคหนึ่งเป็นกระบวนการที่สมาชิกแรกเกิดถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของสังคมที่เป็นระเบียบ เพื่อให้เรียนรู้บทบาทของสังคม (Social Roles) รวมตลอดถึงทักษะ (Skills) ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และการบำบัดความต้องการของมนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเราไม่อาจอาศัยลักษณะทางชีวภาพเท่านั้น แต่เรายังต้องอาศัยการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยอาศัยตัวแทนช่วยขัดเกลา เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โรงเรียน กลุ่มอาชีพ ศาสนา สื่อมวลชน เป็นต้น
8
มีผู้ให้ความหมายของการขัดเกลาทางสังคมไว้ดังนี้ สุพัตรา สุภาพ (2537 : 38) ได้ให้ความหมายว่า การขัดเกลาทางสังคมเป็นการเรียนรู้ทางตรงและทางอ้อมก็ได้
“ทางตรง” เป็นการสอนหรือบอกกันโดยตรง เช่น พ่อแม่สอนลูก ครูสอนนักเรียน เพื่อนบอกเพื่อน ฯลฯ
“ทางอ้อม” เป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตเลียนแบบ เช่น แม่พูดคำหยาบ ลูกก็จะพูดคำหยาบทั้ง ๆ ที่แม่ไม่ได้สอนลูกให้พูด หรือเราไปงานเลี้ยงอาหารแบบดินเนอร์ แล้วเราไม่รู้ว่าจะรับประทานอย่างไร หยิบอะไรก่อนอะไรหลัง เราก็อาศัยดูจากคนที่เขาทำถูกต้องเป็นแบบฉบับ เป็นต้น
การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการทั้งทางตรงและทางอ้อมของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆเพื่อที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองด้วย
ดังนั้นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมจึงหมายถึง กระบวนการฝึกฝนอบรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ บทบาททางสังคมด้วยการสั่งสอนและการเป็นแบบอย่างด้านการทำความดีให้สังคมเพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรม ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อในสังคมนั้นๆ
ตัวแทนการขัดเกลาทางสังคม (Agencies of Socialization) (สงวน สุทธิเลิศอรุณ 2529 : 19) ที่มีส่วนในการหล่อหลอมบุคลิกภาพของเยาวชนให้เป็นบุคคลที่สังคมต้องการเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไปได้แก่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โรงเรียน กลุ่มอาชีพ ตัวแทนทางศาสนาและสื่อมวลชน
ครอบครัว เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่ประกอบด้วยคนต่างเพศ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการสมรสและการสืบทอดสายโลหิต ครอบครัวเป็นสถาบันสังคมที่เก่าแก่มีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ และจัดว่าเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อสังคม เป็นแหล่งสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมที่ก่อให้เกิดความผูกพันกัน สร้างบรรทัดฐานของสังคมทั้งในด้านการอยู่ร่วมกันและการทำมาหาเลี้ยงชีพ รวมทั้งสร้างสมาชิกใหม่เพื่อทดแทนสมาชิกเก่าทดแทนสมาชิกเดิมที่ตายจากไป อบรมให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม ซึ่งทำให้สังคมดำรงอยู่ต่อไป ครอบครัวมีหน้าที่ในการรักษาสภาพของสังคมและสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (ณรงค์ เส็งประชา 2541 : 36) การอบรมเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นหน้าที่หลักของครอบครัว การอบรมเลี้ยงดูจึงแตกต่างกันไปแต่ละสภาพของสังคม และการนับถือ
ศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม โดยมีแนวคิดที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องดังนี้
9
กลุ่มเพื่อน เป็นกลุ่มที่มีอายุระดับเดียวกัน โดยอาจรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อนธรรมดาจนถึงชมรม สมาคมที่ตนสนใจ เช่น เพื่อนร่วมชั้น ชมรมฟุตบอล เนตบอล สมาคมนักเรียนเก่าเป็นต้น กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อทัศนคติของวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่งเพราะเด็กวัยนี้มีแนวโน้มต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะในด้านการแต่งกายหรือแบบของการแสดงออกเพื่อให้เพื่อนยอมรับตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม เช่น เพื่อนไว้ผมยาว ก็ยาวตามเพื่อน จะได้ไม่รู้สึกเชยหรือผิดแผกไปจากกลุ่ม เพื่อนจึงสอนเด็กให้ทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมต้องการ หรือในทางตรงกันข้ามสอนเด็กให้ทำอะไรฝืนกฏเกณฑ์ของสังคมเพราะวัยนี้ชอบลองดูว่าผู้ใหญ่จะเอาจริงแค่ไหน
โรงเรียน เปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็กในการที่จะได้รับความรู้ความคิดต่างๆ และวิชาการต่างๆ อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในเรื่องการขัดเกลาแก่เด็กตลอดจนทำให้เด็กมีโอกาสพบปะสมาคมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน โรงเรียนจึงมีอิทธิพลและมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กเพราะสมัยใหม่มักจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะลูกหลานของชนชั้นกลางและมั่งมีซึ่งนิยมให้ลูกหลานเล่าเรียนในระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อความก้าวหน้าของชีวิต โรงเรียนมีโอกาสหลอหลอมทัศนคตินิสัยใจคอของเด็กได้ไม่ยาก เนื่องจากเด็กต้องศึกษาเล่าเรียนหลายปีในระดับชั้นต่าง ๆ ทำให้เด็กได้รับคุณค่า และความรู้บางอย่างทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขัดเกลาของโรงเรียนอาจจะออกมาในรูปที่
1. ไม่ตรงกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กก็เลยสับสน ไม่ทราบว่าของใครถูกกว่ากัน เช่น แม่ว่าอย่างครูว่าอีกอย่าง ครูว่าผิด แม่ว่าถูก ครูว่าไม่ดี แม่ว่าดี เป็นต้น
2. สอนในลักษณะที่เป็นทฤษฎีหรืออุดมคติจนเกินไป อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ปฏิบัติในชีวิตจริง เช่น ทำดีได้ดี แต่เด็กเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เด็กอาจจะเสื่อมศรัทธาได้
กลุ่มอาชีพต่างๆ ในสังคมซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพ จะมีคุณค่าหรือกฎระเบียบกฎเกณฑ์ไปตาม
อาชีพของตนเอง เช่น ครูต้องสอนลูกศิษย์ด้วยความเมตตา นักสังคมสงเคราะห์ไม่เปิดเผยความลับของผู้มารับการสงเคราะห์ แพทย์รักษาคนไข้ด้วยจรรยาบรรณ ไม่เห็นแก่เงิน เป็นต้น แต่ละอาชีพจึงมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป เช่นตำรวจก็แตกต่างจากแพทย์ นางพยาบาลก็แตกต่างจากพ่อค้า ครูแตกต่างจากวิศวกร
ตัวแทนศาสนา เป็นตัวแทนที่ขัดเกลาคนหรือแนะแนวทางให้คนยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อเป็นเป้าหมายในการกระทำโดยเฉพาะศาสนาพุทธได้สอนให้คนเราไม่ตั้งอยู่ในความประมาทเพราะหลายสิ่งในโลกไม่มีความแน่นอนจึงต้องยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม มีศีลธรรม จริยธรรม และความประพฤติในทางที่
10
ถูกที่ควร ศาสนาจึงควรสร้างเจตคติที่ดี มีจิตใจงดงาม มีพฤติกรรมดีประกอบด้วยคุณธรรม ความสุจริต ซึ่งช่วยให้บุคคลเข้าใจความจริงแห่งชีวิตและสามารถระงับความตึงเครียดหรือขจัดความฟุ้งซ่านหรือทุกข์ได้ซึ่งเป็นตัวแทนทางศาสนาได้แก่ วัดอาราม พระนักบวช ผู้สอนศาสนาหรือผู้เผยแพร่ศาสนาพยายามที่จะช่วยขัดเกลาให้ผู้อื่นได้เป็นไปตามครรลองที่มุ่งหมายไว้ แนวความคิดของศาสนาจึงเป้นพลังให้บุคคลยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ คุณค่าหรือที่มาจากศาสนา จึงเป็นเสมือนเครื่องกลั่นกรองความรู้สึกของบุคคลโดยเฉพาะวัด มีอิทธิพลต่อบุคคลไม่น้อยถ้าบุคคลใกล้ชิดวัดมากเท่าไร ก็จะได้รับเจตคติและแนวความคิดมากขึ้นเท่านั้น วัดและพระสงฆ์จึงช่วยขัดเกลาแนวความประพฤติของบุคคล เช่นการกระทำที่บุคคลคิดว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เกิดจากความเชื่อในศาสนาที่ยึดถือ และสิ่งนี้เองเป็นอิทธิพลทางจิตวิทยาซึ่งได้ช่วยสร้างบุคคลิกภาพของบุคคล สำหรับบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างใกล้ชิด ศาสนาก็ได้มีอิทธิพลไม่น้อยเพราะหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมของโลกมาจากศาสนา หลักจริยธรรมต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นหลักกฏหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาทุกคนจึงต้องปฏิบัติตาม เป็นข้อห้ามที่ยับยั้งการกระทำของบุคคลสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปขนบธรรมเนียมประเพณี มารยาท ฯลฯ ที่ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน
สื่อมวลชน มีหลายประเภท เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ นวนิยาย วรรณคดี เป็นต้น ซึ่งมีส่วนในการขัดเกลาสังคมแก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ความคิด ความเชื่อ แบบของความประพฤติ เพราะสื่อมวลชนมีทั้งการให้ความรู้และความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะอิทธิพลของสื่อมวลชนที่สำคัญคือการให้ข่าวสาร ข่าวสารนี้มักเป็นลายลักษณ์อักษรและผู้ที่เกียวข้องกับข่าวสารนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการและผู้จัดทำ มีส่วนช่วยครอบครัวโรงเรียนในการขัดเกลาเด็ก เช่น หนังสื่อพิมพ์เสนอข่าวเด็กเรียนดี พ่อแม่อาจสั่งให้ลูกอ่านเพื่อเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หรือครูปัจจุบันก็สั่งให้นักเรียนตัดข่าวดีเก็บมารายงานหน้าชั้น หรือติดบอร์ดหน้าห้องเรียน หรือกลุ่มเพื่อนเห็นแฟชั่นแปลกๆใหม่ ๆ อาจจะลอกเรียนแบบไปก็ได้เพื่อให้เข้ากับสมัยนิยม อิทธิพลสื่อมวลชนนี้จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของครอบครัวว่าได้สอนลูกมาให้รู้จักเหตุผลและผลหรือเลือกแฟ้นข่าวสารต่างๆ ได้แค่ไหนหรือขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละบุคคลต่อสิ่งที่ตนได้รับ
1.1 แนวคิดสัมพันธภาพในครอบครัว
สปิลกา และ คณะ (Spilka and others 1975) ได้อธิบายถึง สัมพันธภาพในครอบครัวไว้ว่า สัมพันธภาพในครอบครัว หมายถึง ปริมาณเวลาและโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือกัน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาต่อบุตรที่สามารถทำนายลักษณะทางศาสนาของเด็กได้ แบ่งวัดได้ 3 แบบ คือ
11
1. จำนวนเวลาเป็นชั่วโมง นาที โดยประมาณที่บิดามารดาใช้อยู่กับบุตรในแต่ละวัน
2. ความใกล้ชิดกับบุตร
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา
ดังนั้น สัมพันธภาพในครอบครัว หมายถึง ปริมาณเวลาและโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะพูดคุยกับบุตร การปฏิสัมพันธ์กันในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ และสัมพันธภาพที่สมาชิกในครอบครัวมีต่อกัน จำนวนเวลาเป็นชั่วโมง นาที โดยประมาณที่บิดามารดาใช้อยู่กับบุตรในแต่ละวัน ความใกล้ชิดบุตร และความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับมารดา
ลักษณะทั่วไปของบิดามารดาและครอบครัว ได้แก่ ลักษณะทางชีวภาพ ชีวสังคม และภูมิหลังของครอบครัว และสังคมของประชากรที่จะศึกษา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่ อายุ อาชีพ
สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ระดับเศรษฐกิจของครอบครัว และประสบการณ์ทางศาสนา ได้แก่ ประสบการณ์ที่ถือศีล เข้ารับการฝึกปฏิบัติธรรม และรับฟังการบรรยายธรรมะ
สัมพันธภาพในครอบครัว ของ สปิลก้า และ คณะ (Spika and others 1975) ชี้ให้เห็นถึงสัมพันธภาพในครอบครัว ได้แก่ ปริมาณเวลาและโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือกันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาต่อบุตรตามแนวคิดนี้สามารถทำนายลักษณะทางศาสนาของเด็กได้ว่า เด็กมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรม และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนที่ส่งผลให้มีพฤติกรรมดี ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาครั้งนี้ ผิจัยจึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการศึกษา
1.2 แนวคิดการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา
งามตา วนินทานนท์ (2536 : 41-42) ได้อธิบายถึง การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา ไว้ว่า การปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพื่อฝึกอบรมให้บุตรเกิดความรู้ ความเชื่อ และยอมรับการปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานในระบบบุญสิกขา 3 ประการได้แก่ การบริจาคทาน การรักษาศีลห้า ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสุดในการประพฤติของมนุษย์ และการปฏิบัติธรรม หลักปฏิบัติ 3 ประการนี้ ถูกจัดไว้ให้เหมาะสมสำหรับสอนคฤหัสถ์ หรือชาวบ้านทั่วไป ในการวัดการปฏิบัติของบิดามารดาสำหรับอบรมสั่งสอนบุตรตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน กระบวนการสื่อสารเพื่อชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทัศนคติ ซึ่งผลการเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่การชักจูงให้บุตรเกิดความสนใจทางศาสนา อธิบายให้บุตร
12
เข้าใจเนื้อหาตามหลักพุทธศาสนาทำให้บุตรเกิดการยอมรับ และเปลี่ยนตามหลักเบื้องต้นของพุทธศาสนา
แผนภาพที่ 2 หลักการสื่อสารเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแมคไกว
วิธีการอบรมเลี้ยงดูตามแนวพุทธ
ของบิดามารดา
ผลที่เกิดต่อจิตใจของเด็กในด้านที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
1.นำศาสนาเข้ามาใกล้เด็กหรือนำเด็กไปรู้จักศาสนา
2. อธิบาย ยกตัวอย่าง ตอบคำถาม เพื่อให้เด็กเกิด
ความเข้าใจในศาสนา
3. ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กทำตามหลักศาสนา
ทำตัวเป็นแบบอย่างในการยอมรับและปฏิบัติ
ตามหลักศาสนา
1. สนใจรับทราบเกี่ยวกับศาสนา
2. เข้าใจในเนื้อหาของศาสนา
3. ยอมรับที่จะทำตามหลักศาสนา
ที่มา : งามตา วนินทานนท์ 2536 : 43.
งามตา วนินทานนท์ (2536 : 43-44) ได้อธิบายขั้นตอนการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธประกอบด้วย
1. ขั้นสร้างความสนใจ และเปิดโอกาสให้ทราบหลักปฏิบัติเบื้องต้นของศาสนา เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคคล
2. ขั้นสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของศาสนา ตามหลักการเรียนรู้ เมื่อบุคคลเกิดความสนใจในเนื้อหาของข่าวสารที่ส่งออกไปแล้ว จึงสามารถเข้าใจความหมายของเนื้อความนั้น ปริมาณการเข้าใจเนื้อความของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปได้มาก
3. ขั้นสร้างความยอมรับและเปลี่ยนตาม แม้นจะมีความสนใจรับทราบและเข้าใจเนื้อหาเกิดขึ้นแล้ว การจูงใจให้เปลี่ยนตามจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้รับสื่อ การเกิดการยอมรับขึ้นอยู่กับสิ่งจูงใจในภายหลัง
สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคม มีหน้าที่หลักในการอบรมเลี้ยงดูสมาชิก ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรในการดำเนินชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้บุตรเกิดความเชื่อ และการยอมรับการปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน จากแนวคิดการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนาของ แมคไกว ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน ได้แก่
13
การปฏิบัติตามเบญจศีลหรือศีลห้า อันเป็นแนวทางให้คนเป็นคนดี ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงได้นำแนวคิดของแมคไกว มาเป็นแนวทางในการศึกษาการปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรโดยใช้หลักพุทธศาสนาในการอบรมเลี้ยงดูให้บุตรเป็นคนดี
1.3 แนวคิดวิถีชีวิตแบบพุทธ
งามตา วนินทานนท์ (2536 : 27-30) ได้อธิบายถึง วิถีชีวิตไว้ว่า วิถีชีวิต หมายถึง การที่บุคคลเลือกดำเนินชีวิตประจำวันตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือแบบแผนพฤติกรรม อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่ นักวิชาการมักใช้วิถีชีวิตของบุคคลเป็นเครื่องชี้วัดระดับชั้นทางสังคมของบุคคลในกรณีที่ไม่อาจทราบถึงระดับรายได้ หรือระดับการศึกษาที่แน่นอน
การที่บุคคลเลือกดำเนินวิถีชีวิตตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือแบบแผนพฤติกรรมตามแบบพุทธศาสนิกชน และ แนวคิดของ งามตา วนินทานนท์ (2536 : 27-30) ที่อธิบายถึง วิถีการดำเนินชีวิตแบบพุทธ เป็นการประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความสอดคล้องตามหลักความเชื่อ และการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจ เลือกอาชีพ เลือกคบเพื่อน เลือกกระทำกิจกรรมในยามว่าง เลือกวิธีพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำพฤติกรรมผิดศีลธรรมในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติผู้วิจัยจึงนำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษาครั้งนี้
2. แนวคิดการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ศาสนา (พจนานุกรมนักเรียนฉบับปรับปรุง 2541 : 481) หมายถึง ลัทธิความเชื่อของมนุษย์และลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือทำตามคำสั่งสอนในความเชื่อนั้น ๆ ซึ่งองค์ประกอบของศาสนา มี 5 ประการ คือ 1. ศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนา 2. หลักคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ของศาสนา 3. ทายาทผู้สืบศาสนา 4. พิธีกรรมประจำศาสนา 5. ศาสนสถานและสัญลักษณ์ ของศาสนา (พุทธปรัชญาเบื้องต้น, 2544 :1) ศาสนามีความเกี่ยวพันธ์กับวิธีชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะศาสนาพุทธถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามุ่งในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริง ๆ โดยมีแนวคิดที่เกี่ยวข้องได้แก่
2.1 แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
14
คุณธรรมจริยธรรม เป็นการทำความดี วิทย์ วิศทเวทย์ (2530 : 137) กล่าวถึง ความดี ตามนิยามของอภิจริยศาสตร์ นิยามว่า เป็นสิ่งที่ดีคือสิ่งที่ควรทำ หรือ การกระทำที่ดี คือการกระทำตามหน้าที่
ความดี เป็นคุณธรรมที่มีประจำตัวของแต่ละบุคคลไม่มากก็น้อยสุดแล้วแต่ว่าใครจะได้สั่งสมกันมาอย่างไร คนที่มีคุณธรรมเรื่องความดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เป็นเครื่องรักษาความดีที่ตนมีอยู่นั้นให้มั่นคงดำรงอยู่ ถ้าปราศจากความรู้เสียแล้วความดีของบุคคลนั้นอาจจะหดหายไปเพราะขาดปัญญาความรอบรู้สิ่งที่ควรและไม่ควร สิ่งมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ เพราะว่ามีความดี อยู่ 2 ชนิด คือ
1. ความดี (บุญ) ที่เราเคยกระทำมาแต่อดีตมีผลส่งให้เราได้รับความสุขกาย สบายใจ
(บุญนำพาหรือบุญบันดาล)
2. ความดีที่เราสร้างไว้ในชีวิตปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ง่ายและมีผลทำให้ได้รับความสุข ความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความขยันหมั่นเพียรในการศึกษา ตลอดจนถึงการแสวงหาทรัพย์สมบัติ ฯลฯ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์ 2534 : 80-81) ความดีจึงเป็นลักษณะทาง คุณธรรมอย่างหนึ่ง
ไทตัส (Titus 1936: 200) ได้ให้ความหมายของ คุณธรรมว่า เป็นลักษณะที่ดีของอุปนิสัย คุณภาพหรือนิสัยของมนุษย์ซึ่งคนทั่วไปชมเชยและเห็นคุณค่า เป็นเจตคติที่แสดงออกถึงคุณความดีทางศีลธรรม ซึ่งสอดคล้องกับความหมายในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education 1973 : 641) คำว่า คุณธรรม หมายถึง ความดีงามของลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่กระทำตามความคิด ตามมาตรฐานของสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับความประพฤติและหลักศีลธรรม
พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ 2530 (2530:16) หมายถึง สภาพคุณงามความดี ซึ่งคุณความดีที่ สุมน อมรวิวัฒน์ (2534 : 238) ได้กล่าวว่า เป็นคุณลักษณะที่สำคัญ ถือว่ามีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ นั่นคือ จะต้องคิดและกระทำสิ่งที่ก่อให้เกิดผลอันเป็นคุณแก่ส่วนรวมและตนเอง ได้แก่
1. การเสียสละ แบ่งปัน เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่อยากได้ของผู้อื่นทำให้ประพฤติ สุจริต สันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนมี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ฯลฯ
2. เมตตา กรุณา เป็นต้นเหตุทำให้เกิด ความไม่คิดประทุษร้าย ผูกโกรธทำให้ประพฤติผิด เสียสละ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่าฟัน ไม่ถือโทษโกรธตอบ มีความสามัคคี ฯลฯ
15
3. ปัญญา และความเห็นถูกต้อง เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความมีเหตุผล ไม่งมงาย ทำให้
ประพฤติดี มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ มีความคิดรอบคอบ มีสติ ไม่ประมาท ฯลฯ (พระมหาปรีชา มหาปัญโญและคนอื่น ๆ 2532:29)
ดังนั้นความดีในที่นี้ หมายถึง ลักษณะความดีงามที่ปรากฏทางกาย วาจาและใจ การ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญให้ทาน มีจิตใจเมตตากรุณา
การทำความดี เป็น คุณธรรมของมนุษย์ ข้อปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความประพฤติที่ดีเหมาะสม
สำหรับความเป็นมนุษย์ตามหลักพุทธจริยธรรมได้ระบุไว้ดังนี้ ความประพฤติชอบ 3 ประการ คือ กาย วาจาและใจ ทำตนเป็นคนมีศีลธรรม สร้างความดีอยู่เสมอ และปฏิบัติตามกุศลกรรมบท 10 ประการ
การทำความดี ในที่นี้จึงหมายถึง การประพฤติปฏิบัติถูกต้องดีงาม ทั้งทางกาย วาจา ใจ การเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญให้ทาน มีจิตใจเมตตากรุณา ให้ตนเองมีความสุข ความเจริญ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้าง
หลักการทำความดี
การทำความดี พระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี ป.ธ. 9) ได้กล่าวว่าการทำความดีของคน
เรามีอยู่ 3 อย่างคือ
1. ทำดี เพราะเห็นแก่ตัวเอง (อัตตาธิปไตย)
2. ทำดีเพราะเห็นแก่คนอื่น เช่น เห็นแก่พวกพ้องของตัว (โลกาธิปไตย)
3. ทำดีเพราะเห็นว่าเป็นความดีที่ควรทำ โดยไม่เห็นแก่ตัวหรือพวกพ้อง ถือเหตุผล ถือธรรมเป็นสำคัญ (ธรรมาธิปไตย)
การทำความดีเพราะเห็นว่าเป็นความดีที่ควรทำ เชื่อว่าเป็นการทำความดีที่แท้จริง
เกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว
เกณฑ์ตัดสินความดีหรือชั่ว ผิดหรือถูกนั้นมีนักปรัชญาสาขาต่าง ๆ ได้กำหนดหลักหรือมาตรการที่ใช้ตัดสินพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ซึ่งสรุปสาระสำคัญจากความคิดเห็นของนักปรัชญากลุ่มต่าง ๆ ได้ดังนี้ คือ
1. เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามทัศนะของกลุ่มสัมพัทธนิยม
16
1.1 ดีชั่วขึ้นอยู่กับการตัดสินของบุคคล
1.2 ดีชั่วขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
2. เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามทัศนะของกลุ่มประโยชน์นิยม
2.1 เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์สุขยาวนาน
2.2 ถ้าไม่มีสิ่งดี ก็ให้เลือกสิ่งที่เลวน้อยที่สุด
2.3 สิ่งที่มีประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากเป็นหลักสำคัญ
2.4 ยึดไม่ลดตัวเองให้น้อยกว่าคนอื่นและไม่ลดของผู้อื่นให้น้อยกว่าคนทุกฝ่ายมีประโยชน์เท่าเทียมกัน
2.5 เจตนาในการกระทำไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำ
3. เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามทัศนะของกลุ่มปฏิบัตินิยม
การตัดสินค่าทางศีลธรรมว่า ดี ชั่ว ถูกผิด ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการกระทำ คือการใช้ประโยชน์ได้จริง และถือว่าสิ่งที่ดี ก็คือสิ่งดีสำหรับส่วนรวมและความดีนั้นเป็นความดีของส่วนรวม
4. เกณฑ์การตัดสินจริยธรรมตามทัศนะของกลุ่มบริสุทธิ์นิยม
5. เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามทัศนะของกลุ่มสมบูรณนิยม
5.1 มโนธรรมเป็นมาตรฐานตายตัวในการตัดสินจริยธรรม
5.2 คุณค่าทางศีลธรรมเป็นกฎตายตัว
6. เกณฑ์การตัดสินความดี ความชั่วในพระพุทธศาสนา
เกณฑ์การตัดสินความดี ความชั่วในพระพุทธศาสนา นั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ
1. ระดับศีลธรรม จริยธรรมระดับมีศีลธรรม มีเกณฑ์ตัดสินความดีความชั่วพื้นฐานของมนุษย์ คือ เบญจศีล หรือศีลห้า ได้แก่ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำความชั่ว 5 ประการ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากการดื่มน้ำเมา ศีลห้าเป็นมนุษยธรรม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับทำให้คนเป็นมนุษย์ (พระราชวรมุนี 2520 : 143-144 ) นอกจากนี้ความประพฤติที่ดีตามสุจริต 3 อย่าง คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย ความประพฤติชอบด้วยวาจา ความประพฤติชอบด้วยใจ เป็นเกณฑ์วัดความประพฤติดีของมนุษย์
2. ระดับสัจธรรม เกณฑ์มาตรฐานสำหรับชี้วัดความประพฤติ หรือ การปฏิบัติธรรมระดับสัจธรรม เพื่อการครองชีวิตที่ประเสริฐและเพื่อความพ้นทุกข์ พระวรศักดิ์ วรธัมโม (2526 : 93) กล่าวว่า หลักตัดสิน ความดี ความชั่ว ซึ่งเป็นทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำทางกายชอบ การดำรงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การ
17
ระลึกชอบ และการตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคมีองค์แปดเป็นความดีงาม ทุกขั้นตอนของความถูกต้องดีงามทั้งตัวความรู้ ตัวการปฏิบัติ และผลการปฏิบัติ สามารถแก้ปัญหาได้ทุกขั้นตอน
การตัดสินพฤติกรรมความดีในที่นี้ยึดหลักพุทธศาสนา คือ
1. เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักเบญจศีล คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
2. เป็นผู้ประพฤติดีตามสุจริต 3 คือ มีสัมมาคารวะ พูดจาไพเราะเสนาะหู มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น
3. ไม่มีพฤติกรรมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
4. ไม่โลภ โกรธ หลง
5. ทำประโยชน์เกื้อกูล ช่วยเหลือส่วนรวม
6. มีความจริงใจ ไม่เสแสร้งหรือทำเพื่อหวังสิ่งตอบแทน
7. คนส่วนใหญ่ยอมรับ หรือยกย่อง หรือให้เกียรติ
การทำความดีเพื่อสังคม
เพียเจท์(Piaget 1967) พบว่า การพัฒนาจริยธรรมของมนุษย์นั้นไม่ได้พัฒนาถึงจุดสมบูรณ์เพียงอายุ 10 ปี แต่มนุษย์ในสภาพปกติจะมีการพัฒนาทางจริยธรรมอีกหลายขั้นตอน จากอายุ 11 ปี ถึง 25 ปี และโคล์เบอร์กได้ใช้เวลาอันยาวนานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องพัฒนาการของจริยธรรมในตัวเด็กและวัยรุ่นจริงจังและพบว่าคนเรานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน ประเทศใดก็ตาม จะมีรูปแบบ (Pattern) ของการพัฒนาจริยธรรมตามลำดับเป็นขั้นตอนที่แน่นอนเหมือน ๆ กัน 6 ขั้นตอน ได้จัดเป็น 3 ระดับ ดังนี้ (ศุภวัฒน์ ดีสงคราม 2540 : 19)
ระดับที่ 1 ระดับก่อนกฏเกณฑ์ (Preconventional) เป็นระดับที่เด็กยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินการกระทำ เลือกกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดแก่ผู้อื่น ระดับนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นที่ 1 หลักการเชื่อฟังคำสั่งและหลบหลีกการลงโทษ (Obedience and Punishment) ตัดสินการกระทำว่าดีเลวจากการพิจารณาที่ผลการกระทำ ยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจทางกายเหนือตน จริยธรรมขั้นนี้จะเกิดในบุคคลอายุตั้งแต่ 2 – 7 ปี
ขั้นที่ 2 หลักการแสวงหารางวัล (Naively Egoistic Orientation) เริ่มคิดถึงคนอื่นบ้าง แต่เป็นไปในลักษณะแลกเปลี่ยน เด็กถือว่าการกระทำที่ถูกต้อง คือการกระทำที่สนองความต้องการและนำมาซึ่งความพอใจของตน ขั้นนี้จะเกิดกับบุคคลอายุตั้งแต่ 7-10 ปี
18
ระดับที่ 2 ระดับตามกฎเกณฑ์ (Conventional) ในขั้นนี้เรียนรู้ที่จะกระทำตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มย่อยของตน กระทำตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ของศาสนา รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ระดับนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นที่ 3 หลักการทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ (Good-boy Orientation) หรือความคิดเห็นของผู้อื่นเข้ามาพิจารณา จะเกิดในบุคคลอายุตั้งแต่ 10-13 ปี บุคคลจะกระทำพฤติกรรมที่ดีเพื่อจะเป็นที่ยกย่องชมเชย ไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบคล้อยตามคนอื่นโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน
ขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ทางสังคม (Authority and Social Order Maintaining Orientation) เด็กจะเริ่มมองเห็นความสำคัญของกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ เห็นความสำคัญที่จะทำตามหน้าที่ของตน แสดงการยอมรับ เคารพในอำนาจและมุ่งรักษาไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ทางสังคม จะเกิดในบุคคลอายุตั้งแต่ 13-16 ปี
ระดับที่ 3 ระดับเหนือกฎเกณฑ์ (Postconventional) การตัดสินพฤติกรรมใด ๆ เป็นไปตามความคิดและเหตุผลของตนเอง ระดับนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นที่ 5 หลักการทำตามคำมั่นสัญญา (Contractual Legatistic Orientation) ยึดประโยชน์และความถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำที่ถูกต้องคือ การกระทำที่ทำไปตามข้อตกลงในสังคม สามารถควบคุมตนเองได้ จะเกิดในบุคคลอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป
ขั้นที่ 6 หลักการยึดอุดมคติสากล (Conscience Orientation) สิ่งที่ถือว่าถูกต้องจะเป็นเรื่องของสำนึกของแต่ละบุคคล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมนำไปใช้ได้กับทุกคน มีลักษณะแสดงถึงการมีความเป็นสากลนอกเหนือจากกฎเกณฑ์ในสังคมของตน จริยธรรมนี้จะเกิดอย่างสมบูรณ์ในผู้ใหญ่
การพัฒนาการจากขั้นต่ำสุดไปยังขั้นสูงสุดมีกระบวนการดังนี้ คือ
1. พัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลจะผ่านไปตามลำดับขั้น (Sequential stages) โดยมีพื้นฐานมาจากการให้เหตุผลเชิงตรรกศาสตร์ 4 ขั้น ตามที่เพียเจท์ศึกษาไว้จะเห็นได้ชัดว่าการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นสูง ๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์ขั้นสูงด้วย โดยจะพัฒนาคู่กันไป
2. การที่บุคคลได้มีโอกาสรับรู้ทางสังคม (Social perceptions) หรือการมีบทบาทในสังคม (Role taking) จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพัฒนาการทางจริยธรรม
3. บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นที่สูง เขาจะต้องมีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงตรรกศาสตร์และความสามารถในการรับรู้ทางสังคมในระดับที่สูงเสียก่อน และมีการแบ่งขั้นพัฒนาการการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมออกเป็น 6 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 การยอมเชื่อฟังและการหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ (The obedience and punishment orientation) ยอมทำตามคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ
19
ขั้นที่ 2 การแสวงหารางวัลและการแลกเปลี่ยน (Instrumental hedonism and exchange) ในขั้นนี้จะไม่มีการยินยอมตามเป็นรองใครแต่หันมาตอบแทนกันในลักษณะที่เท่าเทียมกันโดยทั้งสองฝ่ายพึงพอใจและความดีขึ้นอยู่กับค่าทางวัตถุ
ขั้นที่ 3 การให้ผู้อื่นยอมรับตน (Orientation to approval and personal concordance) ในขั้นนี้การช่วยเหลือไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนที่ตอบแทนเท่าเทียมกัน แต่ขยายขอบเขตออกไปเพื่อรักษา
สัมพันธภาพอันดีต่อกัน การได้รับสิ่งตอบแทนไม่สำคัญเท่ากับเรื่องการรักษาความพึงพอใจต่อกันและความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และความสัมพันธ์นี้เริ่มขยายออกไปสู่คนหมู่มาก
ขั้นที่ 4 การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของสังคม (The law and order orientation) สัมพันธภาพในขั้นนี้ไม่ใช่เป็นสัมพันธภาพที่คงไว้ระหว่างบุคคล แต่ขยายขอบเขตไปถึงชุมชนและชาติ ทั้งนี้สมาชิกในสังคมต้องละเว้นการทำร้าย การขโมยผู้อื่น และแต่ละคนทำงานตามหน้าที่ของตนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานส่วนรวม ให้ความร่วมมือกับผู้นำและผู้มีอำนาจในกลุ่ม การตอบแทนกันอยู่ในลักษณะการติดต่อกับสังคมหรือสถาบันสังคมที่จะจัดระบบดีแล้ว เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในสังคม
ขั้นที่ 5 ใช้หลักความคิดทางจริยธรรมขั้นสูง (Principled moral thing) การตอบแทนกันเกิดจากความจำเป็นของโครงสร้างทางสังคม ทำให้ความคาดหวังระหว่างบุคคลในสังคมเกิดความ
สมดุลย์ มีความซาบซึ้งว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสามารถจัดได้หลายวิธี แบ่งเป็น 2 ขั้น ย่อยดังนี้
ก. ขั้น 5 เอ เป็นการเห็นชอบและเข้าใจหลักเกณฑ์ทางสังคมด้วยวิธีการประชาธิปไตย
ข. ขั้น 5 บี เริ่มมีอุดมคติในการสร้างสรรค์เพื่อให้สังคมอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความรักสันติภาพ ไม่มีชนชั้นในสังคม มีอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน
ขั้นที่ 6 ใช้หลักเกณฑ์ขั้นสูงสุด (Organized principle) พัฒนาการในขั้นนี้เป็นอิสระจากความไม่แน่นอนของสภาพการณ์ในสังคม เช่น ไม่ว่าโครงสร้างของสังคมจะเป็นอย่างไร ประเพณีที่ยึดถือกันในสังคมเขาต้องสามารถสร้างขอบเขตของพันธะสิทธิที่ยึดถือเป็นหลักสากล สามารถแก้ไขปัญหาทางจริยธรรมที่ซับซ้อนได้มากกว่าขั้นก่อน ๆ
การศึกษางานการพัฒนาพฤติกรรม ทางจริยธรรมในประเทศไทย จากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของคนไทยทางด้านจิตวิทยาโดย ดวงเดือน พันธุมนาวิน และคณะ (2529: 1) พบว่า คนไทยที่มีการกระทำที่จัดได้ว่าเป็นคนดีและคนเก่งนั้น มีลักษณะทางจิตใจที่สำคัญ 8 ประการ โดยมีส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดอกและผลไม้บนต้น ลำต้นและราก โดยพฤติกรรมของคนดีและคนเก่งเปรียบเสมือนผลผลิตที่น่าพอใจและมีประโยชน์คือดอกไม้และผลไม้ จิตลักษณะประการที่หนึ่งถึงห้าเปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ ต้นไม้จะออกดอกสมบูรณ์ได้ต้องมีลำต้นหรือสาเหตุที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วย คือ 1. เหตุผลเชิงจริยธรรม 2. ความสามารถในการควบคุมตนเอง (มุ่งอนาคต) 3. ความเชื่อในอำนาจตน 4.
20
แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 5. ทัศนคติ คุณธรรมและค่านิยม ส่วนจิตลักษณะอีก 3 ด้าน คือ ความเฉลียวฉลาด สุขภาพจิตและมีประสบการณ์ทางสังคม เปรียบเสมือนรากของต้นไม้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเจริญทางจิตใจ และจิตลักษณะทั้งแปดประการนี้ร่วมกันเป็นสาเหตุของพฤติกรรมการทำดี ละเว้นชั่วและทำงานอย่างขยันขันแข็งตามหน้าที่ งานมีคุณภาพและทำเพื่อส่วนรวม
กรมวิชาการ (2523 : 64) ได้กำหนดการแบ่งระดับของจริยธรรมออกเป็น 2 มิติ คือ
1. มิติระดับของจริยธรรม ในจริยธรรมแต่ละประการได้จำแนกพฤติกรรมออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามลักษณะผลที่กระทบถึงบุคคลโดยแบ่งระดับจากต่ำไปหาสูงดังนี้
1.1 ระดับด้อยหรือขาดคุณสมบัติทางจริยธรรม
1.2 ระดับมีจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
1.3 ระดับมีจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นในหมู่คณะเล็ก ๆ
1.4 ระดับมีจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
2. มิติระดับของผู้ปฏิบัติ ในจริยธรรมแต่ละประการได้จำแนกสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือพฤติกรรมออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามลักษณะวัย ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ แบ่งได้ดังนี้
2.1 ระดับของผู้ปฏิบัติวัยประถมศึกษาตอนต้น
2.2 ระดับของผู้ปฏิบัติวัยประถมศึกษาตอนปลาย
2.3 ระดับของผู้ปฏิบัติวัยมัธยมศึกษา
2.4 ระดับของผู้ปฏิบัติวัยอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป
ปริศนา คำชื่น (2540 : 35) กล่าวถึงการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมว่า หมายถึง การแสดงออกในพฤติกรรมของการให้ปัน ช่วยเหลือหรือให้ผู้อื่นด้านทรัพย์สิน สิ่งของ ความรู้ และแรงงาน การอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม รู้จักร่วมมือช่วยกันรักษาสมบัติส่วนรวม ไม่ทำลายสมบัติส่วนรวม
ความเสียสละ
ความเสียสละ บางท่านเรียกว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งทั้งสองคำน่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า Altruism หมายถึง ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น หรือผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น มีผู้ให้ความหมายของความเสียสละไว้หลายท่านดังนี้
21
เทอร์เนอร์ (Turner 1942 : 502-516 อ้างถึงในพระราชพิพัฒน์ โกศล 2539 52) ได้กล่าวถึงความเสียสละว่าเป็นผลรวมของความไวของบุคคลต่อความต้องการของคนอื่น ผู้ที่มีคุณธรรมแบบเสียสละจะมีความเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น หรือสนองความต้องการของผู้อื่นโดยการให้ปันทรัพย์สิน หรือสิ่งของ การกระทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจ และเป็นผู้ที่มีทัศนคติแบบการให้และการรับ
ดาเลย์ และแลทาเนย์ (บรรทม มณีโชติ 2530 : 24 อ้างถึง Darley and Latane 1963 : 377-383) ได้กล่าวถึงความเสียสละว่า เป็นพฤติกรรมที่แสดงว่าบุคคลคำนึงถึงและให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งด้านทรัพย์สิน สิ่งของ แรงกาย การพูด และการกระทำ รวมทั้งความสามารถทุก ๆ ด้านที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงความสุขหรือความทุกข์ของตนเอง อันเนื่องมาจากการช่วยเหลือผู้อื่น
กรมวิชาการ (2528 : 161-166) ได้สรุปลักษณะพฤติกรรมของผู้ที่มีความเสียสละไว้ดังนี้
การให้ทางกาย เช่น ช่วยเหลือผู้อื่นทำธุระการงานที่ไม่มีโทษ ไม่นิ่งดูดายช่วยเหลืองานสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น
1. การให้ทางวาจา เช่น ช่วยเหลือให้คำแนะนำทั้งในทางโลกและทางธรรมช่วยเจรจาเอาเป็นธุระให้สำเร็จประโยชน์
2. การให้ทางสติปัญญา เช่น ช่วยแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนแก่คนที่ไม่ทำผิด ช่วยคิดหาแนวทางที่ถูกที่ชอบ ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ผู้อื่นตามกำลังสติปัญญา
3. การให้ด้วยกำลังทรัพย์ เช่น แบ่งปันเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ที่สมควรให้ แบ่งปันเงินทองให้แก่ผู้ที่สมควรให้ การสละทรัพย์เพื่อสาธารณะกุศล เป็นต้น
4. การให้ทางใจ เช่น ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข ไม่อาฆาตจองเวร ให้อภัยในความผิดของผู้อื่นเมื่อเพลี่ยงพล้ำ ไม่นึกสมน้ำหน้าผู้อื่น ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
จากลักษณะดังกล่าวพอสรุปได้ว่า การเสียสละ คือ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ความเอื้อเฟื้อมีลักษณะที่เป็นการกระทำเพื่อผู้อื่น และยังเป็นการเสียสละ ใจกว้าง โอบอ้อมอารี เห็นใจ และเข้าใจถึงสภาพจิตใจผู้อื่น การเกิดและพัฒนาการของความเอื้อเฟื้อ นักจิตวิเคราะห์ (Psychoanalyst) อธิบายว่า ความเอื้อเฟื้อเกิดจากแรงกระตุ้นของ อีโก้ (Ego) ที่พยายามจะทำความดี เพื่อชดเชยการกระทำที่ไม่ดี(เห็นแก่ตัว) ในวัยเด็ก แต่นักทฤษฎีพัฒนาการ (Developmental Psychologist) โดยเฉพาะ เพียเจท์ (Piaget, 1972) ได้อธิบายว่าความเอื้อเฟื้อเกิดจากการเรียนรู้จาก
22
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หมายถึง การแบ่งปันทรัพย์ สิ่งของ มีน้ำใจให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ความเมตตา กรุณา
ความเมตตา กรุณา มีความหมายหลายประการ ดังนี้ (กรมวิชาการ 2528 : 75-82)
เมตตา หมายถึง ความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข เมื่อตนมีความสุขแล้วก็อยากให้ผู้อื่นมีบ้าง คุณธรรมข้อนี้เป็นเหตุให้มนุษย์รักใคร่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไม่เจือปนด้วยราคะ เป็นความรักที่ประกอบด้วยไมตรีจิต คิดอยากให้ผู้อื่นมีความสุขสำราญ เช่น ความรักของบิดามารดาที่มีต่อบุตรธิดา เป็นต้น
กรุณา หมายถึง ความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เมื่อเห็นผู้ใดมีความทุกข์ก็รู้สึกสงสารและเห็นใจ อยากช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ยากนั้นๆ และลงมือกระทำให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เป็นพลังแห่งเมตตา
เมตตากรุณาเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความรักผูกพันต่อกัน มีความเห็นใจในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด และตระหนักชัดว่าทุกชีวิตอยากเป็นสุข ไม่ต้องการความทุกข์ เมตตากับกรุณาเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นคู่กันอยู่เสมอ
พฤติกรรมของผู้ที่มีความเมตตากรุณา สามารถแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิต และร่างกายของบุคคลและสัตว์ หมายถึง การไม่ทำร้ายร่างกายคน และสัตว์ให้ได้รับความเจ็บปวด หรือได้รับอันตรายถึงชีวิต ไม่ทรมานสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์โดยไม่มีประโยชน์
2. ให้ความคุ้มครองและช่วยผู้ที่อ่อนแอกว่า ผู้ที่มีกำลังแข็งแรงกว่าควรให้ความคุ้มครอง และช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่าในการข้ามถนน ยกของหนัก และช่วยให้พ้นจากอันตราย
3. แบ่งปันสิ่งของ เครื่องใช้และอาหารให้แก่ผู้ที่สมควรได้รับ ผู้ที่สมควรได้รับการแบ่งปัน ได้แก่ คนที่มีความเป็นอยู่อย่างขัดสน แร้นแค้น คนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ และสัตว์เลี้ยง
4. ให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ ไม่ซ้ำเติมเยาะเย้ยสมน้ำหน้าผู้ที่มีทุกข์ เพราะจะทำให้เขาอาย ควรแสดงความเสียใจ ปลอบใจ ปลอบขวัญให้คลายทุกข์คลายความเศร้าโศกเสียใจ
5. ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ได้แก่ ไม่ทำให้ผู้อื่นหมดเปลืองเงินทอง หมดความสุข เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
23
6. ช่วยประกอบกิจกรรมของส่วนรวม ได้แก่ การสละแรงงาน และทรัพย์เพื่อทำความเจริญหรือร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น
7. ให้อภัยผู้อื่น เมื่อผู้ใดกระทำอะไรล่วงเกิน จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราไม่ควรผูกใจเจ็บ คิดพยาบาท อาฆาต จองเวร หรือหาทางแก้แค้น
8. สุภาพอ่อนโยน ได้แก่ การแต่งกายสุภาพอ่อนน้อม และวาจาอ่อนหวาน ถือเป็นการแสดงเมตตากรุณาอย่างหนึ่ง กล่าวคือ กายสุภาพอ่อนน้อม และวาจาอ่อนหวานไม่เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่ผู้พบเห็น
9. ไม่ยอมรับส่วนแบ่งในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้วและไม่จำเป็น สละสิทธิ์ในส่วนแบ่งของตนให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นกว่า
จากแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า ความเมตตากรุณา หมายถึง ความสงสารและเห็นใจ มีความ
ปรารถนาที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2539 : 2-4) ได้อธิบายถึง ลักษณะทางจิตซึ่งเป็นปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนำเสนอ ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม ที่แสดงถึงสาเหตุของพฤติกรรมการเป็นคนดี ไว้ว่า ต้นไม้จริยธรรมมีส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. ส่วนที่เป็นดอกไม้และผลไม้บนต้น เปรียบเสมือนผลผลิต
2. ส่วนที่เป็นลำต้น เป็นส่วนของจิตใจที่ประกอบไปด้วยลักษณะทางจิต 5 ด้าน ประกอบด้วย การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม การมุ่งอนาคต ความเชื่ออำนาจในตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติ คุณธรรม และค่านิยม
3. ส่วนที่เป็นราก เป็นส่วนที่เป็นพื้นฐานทางจิตใจมี 3 ลักษณะได้แก่ ความเฉลียวฉลาด สามารถเข้าใจและคิดในลักษณะนามธรรมได้
ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมนี้ เป็นการวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่มีผลทางด้านจิตใจที่ส่งผลถึง
พฤติกรรมต่าง ๆ
การเป็นคนดี คือ การที่คนทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือสังคม เป็นคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้เกิดจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น การแบ่งปัน ทรัพย์ สิ่งของ น้ำใจให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความเมตตา กรุณา ความสงสารและเห็นใจ มีความปรารถนาที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ มีความสุขกายและสุขใจ แนวคิดคุณธรรมจริยธรรม เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งบิดามารดาเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการถ่ายทอดต่อบุตรเพื่อให้เป็น
24
คนดีของสังคม แนวคิดของ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2539) เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม สามารถนำมาใช้ในการศึกษาคุณธรรมจริยธรรมของเด็กวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมดีได้ ผู้วิจัยจึงได้นำมาเป็นกรอบความคิดในการศึกษาครั้งนี้
2.2 แนวคิดการส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ
พุทธมามะกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา (พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 2530-2531 : 384) ต้องเป็นผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) เป็นผู้ที่ถึงพร้อมในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนเป็นผู้ปฏิบัติตนอยู่ในศีลสำหรับคฤหัสถ์
งามตา วนินทานนท์ (2536 : 55-59) การส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะจากครอบครัว หมายถึง ปริมาณที่เยาวชนได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดามารดา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และยอมรับการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา โดยที่บุตรได้รับการชักจูงจากบิดามารดาให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ให้บุตรได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้รับการเอาใจใส่ และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของพุทธศาสนา อบรมสั่งสอนให้เข้าใจเนื้อหาของพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เปิดโอกาสให้บุตรแสดงความคิดเห็น และชี้ให้เห็นความสำคัญของพุทธศาสนา ตลอดจนให้บุตรเห็นแบบอย่างที่ดีของบิดามารดา นอกจากนี้ บิดามารดา อาจจะถ่ายทอดโดยการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อและการปฏิบัติของเด็กด้วยวิธีการสื่อสาร แบบจูงใจตามหลักการเปลี่ยนทัศนคติมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นก่อให้เกิดความสนใจรับทราบ
2. ขั้นการเข้าใจเนื้อความ
3. ขั้นการยอมรับหรือเปลี่ยนตาม
คอร์นวอลล์ (Cornwall 1989 : 77 อ้างถึงใน วรรณะ บรรจง 2537 : 29 ) ได้ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมให้บุตรเป็นพุทธมามะกะนั้น กระทำได้โดยอาศัยตัวแทนในการถ่ายทอด ซึ่งจากการวิจัยในต่างประเทศที่เน้นการศึกษาตัวแทนในการถ่ายทอดทางศาสนา 3 ประเภทได้แก่
1. ครอบครัว
2. สถาบันทางศาสนา
3. กลุ่มเพื่อน
คอร์นวอลล์ ได้สรุปไว้ว่า ครอบครัวเป็นตัวแทนของสังคมในการถ่ายทอดทางศาสนาที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนกลุ่มเพื่อนและสถาบันทางศาสนาเป็นอันดับรอง
25
ครอบครัวเป็นสถาบันที่ส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะที่สำคัญ สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีทางพุทธศาสนาต่อบุคคลในครอบครัว แนวคิด ของ งามตา วนินทานนท์ (2536 : 55-59) ชี้ให้เห็นถึง การส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะมาจากครอบครัว ลูกได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดามารดา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และยอมรับการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา โดยที่ลูกได้รับการชักจูงจากบิดามารดาให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่าง ๆ และชี้ให้เห็นความสำคัญของพุทธศาสนา ตลอดจนให้ลูกเห็นแบบอย่างที่ดีของบิดามารดา ซึ่งบิดามารดาอาจจะถ่ายทอดโดยการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติของเด็กด้วยวิธีการสื่อสาร แบบจูงใจตามหลักการเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการศึกษาพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู โดยมีการส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะจากครอบครัว ซึ่งมีผลให้วัยรุ่นนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ผู้วิจัยจึงนำมาเป็นกรอบความคิดในการศึกษาครั้งนี้
2.3 ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory)
ทฤษฎีนี้ได้อธิบายถึง การเรียนรู้ของคนในชุมชนต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นการที่คนได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้นจำนวนมากพอ และสามารถรวบรวมสิ่งที่รู้ทั้งหมดเข้ามาเป็นระเบียบระบบ ทำให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ เกิดการหยั่งเห็นในการแก้ปัญหา และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ ทักษะการคิด การทำงาน และทัศนคติของเขา
สนธยา พลศรี (2533 : 195) ได้กล่าวถึง การเรียนรู้ไว้ว่า เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น ความพร้อมของบุคคล ความแตกต่างระหว่างบุคคล การฝึกหัด การเสริมแรง การจูงใจ สิ่งเร้าและการตอบสนอง ทฤษฎีการเรียนรู้ ที่จำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มทฤษฎีความรู้ความเข้าใจหรือทฤษฎีสนาม (Cognitive or Field Theories) มีแนวคิด
เกี่ยวกับการเรียนรู้ว่าเป็นการที่มนุษย์รวบรวมการรับรู้และแนวความคิดต่าง ๆ เข้าเป็นระเบียบแบบแผน
ที่มีความหมายก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจลักษณะส่วนรวมของเหตุการณ์ และเกิดการหยั่งเห็น (Insight) ในการแก้ปัญหา
2. กลุ่มทฤษฎีความสัมพันธ์ (Associationistic Theories) มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงทักษะในการคิด การทำงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วย
26
สุมน อมรวิวัฒน์ (2533 : 151-171) ได้เสนอแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขาที่ประกอบด้วย การฝึกหัดอบรม การควบคุมกายและวาจา การฝึกหัดคิดและการอบรมจิตใจ และการฝึกหัดอบรมเพื่อความรู้ระดับสูง และเสนอระบบการสอนตามแนวพุทธวิธีประกอบด้วย กระบวนการเรียนรู้ตามหลักพหูสูตร ซึ่งมี 3 ขั้นตอน คือ
1.ขั้นการสร้างศรัทธา
2.ขั้นการสอนตามหลักพหูสูตร ได้แก่ การฝึกหัด ฟัง พูด อ่าน เขียน การฝึกปรือ เพื่อจับประเด็นสาระและจดจำ การฝึกฝน ลงมือปฏิบัติจนคล่องแคล่ว การฝึกคิด และพิจารณาจนแจ่มแจ้ง การฝึกสรุปสาระความรู้ และนำไปใชัในชีวิตจริง
3.ขั้นการมองตนและการมองของกัลยาณมิตร
การเรียนรู้ที่แท้จริงย่อมสอดคล้องกับความเป็นจริงของวิถีชีวิต การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงต้องช่วยสร้างสมรรถภาพให้ผู้เรียนสามารถเผชิญ ผจญ ผสม ผสาน และเผด็จปัญหาได้
กระบวนการเผชิญสถานการณ์ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
1. การรวบรวมข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และหลักการ
2. การประเมินค่าและประโยชน์
3. การเลือกและตัดสินใจ
4. การฝึกปฏิบัติ
กระบวนการสอนโดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนัสิการ ประกอบด้วย
1.ขั้นการสร้างศรัทธา
2.ขั้นการศึกษาข้อมูลและฝึกทักษะการคิด
3.ขั้นสรุป
แนวคิดใหม่ 2 แนวคือ
1. กระบวนการเรียนรู้แบบซึมซับ เป็นกระบวนการเรียนรู้ ความจริงของชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้รับรู้ลักษณะที่ดีงามและเลวร้ายของธรรมชาติของมนุษย์ ได้เผชิญสถานการณ์และปัญหา ได้ฝึกทักษะการคิดและการปฏิบัติจนสามารถแก้ปัญหานั้นได้ การเรียนรู้นี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้ง ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่ต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน และเน้นการฝึกคิดและพิจารณาสิ่งแวดล้อมที่ได้พบเห็นสัมผัสและสัมพันธ์ เน้นการคิดวิเคราะห์หลักธรรม ได้แก่ความไม่เห็นแก่ตัวเป็น
27
พื้นฐาน ความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ ความตระหนักที่เกิดจากการเรียนรู้ เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นทีละน้อย สะสมและซึมลึกลงเป็นนิสัยสันดาน
2. กระบวนการกัลยาณมิตร เป็นกระบวนการประสานสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อจุดหมาย 2 ประการ คือ ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์ โดยทุกคนต่างมีเมตตาธรรม พร้อมจะชี้แนะและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กระบวนการกัลยาณมิตร จะช่วยให้บุคคลแก้ปัญหาได้ โดยจัดขั้นตอนตามหลักอริยสัจสี่ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
การเรียนรู้ตามแนวคิดของ สุมน อมรวิวัฒน์ (2533 : 151-171) ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ที่ประกอบด้วย การฝึกหัดอบรม การควบคุมกายและวาจา การฝึกหัดคิดและการอบรมจิตใจ และการฝึกหัดอบรมเพื่อความรู้ระดับสูง และเสนอระบบการสอนตามแนวพุทธวิธี ซึ่งใช้เป็นการศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติที่ส่งผลต่อพฤติกรรมวัยรุ่นได้ ผู้วิจัยจึงนำมาเป็นกรอบความคิดในการศึกษาครั้งนี้
3. แนวคิดการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจากชุมชน
ตัวแทนการขัดเกลาทางสังคม (สงวน สุทธิเลิศอรุณ 2529 : 19) เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ในการหล่อหลอมบุคลิกภาพของวัยรุ่นให้เป็นบุคคลที่สังคมต้องการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป
ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร (2545 : 96-98) กล่าวถึง อิทธิพลของการรับรู้ทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมของบุคคล เป็นความพยายามของบุคคลที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลอื่น ๆ เพื่อต้องการที่จะค้นหาว่าบุคคลมีเจตนา หรือความต้องการอะไรอยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมนั้น เป็นการควบคุมความสัมพันธ์ให้คงอยู่ในขอบเขตที่บุคคลต้องการ ดังนั้น สภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น และมีผลต่อการปลูกฝังพฤติกรรมจริยธรรมในช่วงวัยต่าง ๆ ของชีวิต ทั้งนี้เพราะบรรยากาศของชุมชน กิจกรรม สถานที่ การประกอบอาชีพ รายได้ การดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างยิ่งต่อความคิดและพฤติกรรมของวัยรุ่นและคนในสังคมนั้น ๆ จึงได้นำเสนอลักษณะทั่วไปของสถานที่ตั้ง สภาพเศรษฐกิจ สังคมประเพณี วัฒนธรรม ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตและส่วนประกอบที่มีส่งผลในการถ่ายวิถีพุทธปฏิบัติต่อพฤติกรรมวัยรุ่น ดังนี้
28
3.1 บริบทชุมชนวัดท่าพระ
เขตที่ตั้ง
ชุมชนวัดท่าพระ ตั้งอยู่ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีบ้านเรือนของประชาชน 125 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากร 526 คน
สภาพเดิมของชุมชนเป็นพื้นที่สวนผลไม้ ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ก็มีประชาชนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามา โดยการแบ่งซื้อที่บ้าง เช่า เช่าซื้อบ้าง เพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย จนเกิดสภาพแออัดขึ้นมา เนื่องจากชุมชนบริเวณนี้มีความสะดวกในการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ มีถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างในเมืองหลวงและนอกเมือง ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจส่วนตัว รฐวิสาหกิจ รับราชการ พนักงานลูกจ้างตามร้านอาหารและสถานบันเทิงในย่านนั้น เช่น นักแสดงตลก ขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ทำตุ๊กตา พนักงานรักษาความปลอดภัย และแม่บ้าน ฐานะของประชาชนอยู่ในระดับพอกินพอใช้ ประมาณร้อยละ 70 ค่อนข้างยากจนประมาณร้อยละ 30 ประชาชนมีความสัมพันธ์กันโดยทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำบุญร่วมกันตามเทศกาล การร่วมมือกันพัฒนาชุมชน ให้ความช่วยเหลือกัน เช่น เมื่อมีงานประจำปีหลวงพ่อเกษร งานบวช งานแต่ง และงานศพ ปัญหาในชุมชน ได้แก่ การขโมย การพนัน ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่น มีการมั่วสุมกัน การยกพวกตีกัน พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ การประกอบอาชีพเป็นหญิงบริการ พฤติกรรมของวัยวัย ส่วนใหญ่จะร่วมกลุ่มกันเพื่อเที่ยวเล่น หรือรวมกันเป็นคณะสิงโตไปเล่นตามงานต่าง ๆ ที่สำคัญ ลักษณะด้านภูมิศาสตร์ทั่วไป ด้านหลังของชุมชนเป็นสวน ซึ่งเป็นที่มั่วสุมของเด็กวัยรุ่นและยาเสพติด ด้านหน้าชุมชนติดวัดท่าพระ ซึ่งเป็นสถานที่ประชาชนทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โรงเรียนเทศบาลวัดท่าพระ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลบางไผ่ โรงพยาบาลพญาไท 3 มีสวนอาหาร ร้านคาราโอเกะหลายแห่ง จึงนับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความพร้อมแต่แออัดและอยู่ใกล้กับแหล่งอบายมุข
3.2 กลุ่มเพื่อน การคบเพื่อน
กลุ่มเพื่อน เป็นกลุ่มที่มีอายุระดับเดียวกัน โดยอาจรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อนธรรมดาจนถึงชมรม สมาคมที่ตนสนใจ เช่น เพื่อนร่วมชั้น ชมรมฟุตบอล บาสเก็ตบอล สมาคมนักเรียนเก่า เป็นต้น กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อทัศนคติของวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กวัยนี้ มีแนวโน้มต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะในด้านการแต่งกายหรือแบบของการแสดงออกเพื่อให้เพื่อนยอมรับตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม เช่น เพื่อนไว้ผมยาว ก็ยาวตามเพื่อน จะได้ไม่รู้สึกเชยหรือ
29
ผิดแผกไปจากกลุ่ม เพื่อนจึงสอนให้ทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมต้องการ หรือในทางตรงกันข้ามสอนให้ทำอะไรฝืนกฏเกณฑ์ของสังคม เพราะวัยนี้ชอบลองดูว่าผู้ใหญ่จะเอาจริงแค่ไหน
3.3 กิจกรรมและการบำเพ็ญประโยชน์
ประเพณีวัฒนธรรม
ความเชื่อความศรัทธาของชาวชุมชนแห่งนี้และพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ วัดท่าพระ ทั้งนี้เพราะมีวิหารเก่าเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเกษร ซึ่งเป็นพระปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญหลักใจของชาวธนบุรีและใกล้เคียง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อเกษร” บางกลุ่มก็เรียกว่า “หลวงพ่อทิพย์เกษร” ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะคล้าย ๆ สมัยสุโขทัยยุคปลายผสมกับสมัยอยุธยายุคต้นและศิลปะสมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธลักษณะงดงามมาก มีเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนใคร หน้าตักกว้าง 40 นิ้วฟุต ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์ 3 ชั้น บังหงาย 5 ชั้น มีผ้าทิพย์ที่ฐาน (ฐานเป็นปูนปั้นผ้าทิพย์เนื้อเกลี้ยง) องค์หลวงพ่อเกษรหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง ส่วนสูงจากปลายรัศมีถึงทับเกษร 63 นิ้ว วงพักตร์กลมมนมีเค้าแบบเรียกว่า “หน้าเจ้าพรหม” พระเมาลีแบบโอค่ำพระรัศมีเปลวแบบสุโขทัย มีพระอุณาโลมที่หน้าพระรัศมี พระโขนงโค้งคม พระเนตรแบบเนตรเนื้อ เม็ดพระศกแบบหนามขนุน พระกรรณทั้งสองห้อยยาวเกือบจรดพระอังสา ลำคอกลมมน ปรากฏสร้อยพระคอชัดเจน พระอุระมนนูน ถันปรากฏชัด พระอังสาทั้งสองกว้างสมส่วน พระองสกุลทั้งสองข้างตั้งตรงไม่ลู่ลง รูปองค์สะสวยโปร่งงาม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หาประวัติการสร้างไม่พบ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏ มีเพียงคำบอกเล่า กันมาว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อโสธรและหลวงพ่อบ้านแหลม ซึ่งเรียงลำดับ คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อเกษรและหลวงพ่อโสธร โดยมีเรื่องเล่าประกอบว่า เดิมที่บริเวณวัดท่าพระนี้เป็นเกาะใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นลำคลองใหญ่มาก ปัจจุบันเรียกว่าคลองวัดท่าพระ หลวงพ่อเกษรได้ลอยน้ำมาขึ้นที่ท่าน้ำ (ปัจจุบันที่บริเวณนี้ถมแล้วอยู่ตรงกุฏิสามัคคี 1) ชาวบ้านช่วยนิมนต์ขึ้นจากน้ำแล้วแห่ไปประดิษฐานที่วิหาร เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ ซึ่งถือเป็นประเพณีแห่ผ้าไตรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และมีการเล่ามาอีกนัยหนึ่งว่า บริเวณนี้เดิมเป็นเกาะใหญ่มีน้ำล้อมรอบ เป็นที่พักร้อน พักเหนื่อยของชาวบ้าน ชาวเรือทั้งหลาย ต่อมามีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นที่พักที่รวมของชาวบ้าน มีศรัทธาเกิดขึ้น จึงได้ชักชวนกันร่วมสร้างวัดและหล่อรูปหลวงพ่อเกษรขึ้นเป็นพระประธาน ณ สถานที่นี้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาและบำเพ็ญศาสนกิจของชาวพุทธทั้งหลายตามคตินิยมของคนในสมัยนั้น “คตินิยมของคนสมัยโบราณ คือนิยมในการสร้างวัด พระ กันมากเพราะถือว่า เป็นการบำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา”
30
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ
สืบเนื่องจากความเคารพศรัทธาและเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาของชนชาวชุมชนที่มีต่อวัดท่าพระตลอดมาเป็นเวลานาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาเกิดเพิ่มมากขึ้น เจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ในวัดท่าพระ จึงได้ให้การสนับสนุนและผลักดันให้มีโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้กับลูกหลานของชาวชุมชนขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา กล่อมเกลาและฝึกฝนให้เด็กมีจิตใจตั้งมั่นในการพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดีช่วยเหลือพ่อแม่ มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองครอบครัวและสังคม มีจิตใจที่เข้มแข็งไม่ไปเรียนแบบหลงงมงายกับอบายมุขทั้งหลายที่อยู่รายรอบ ดังนั้นโรงเรียนพระพุทธศาสนาแห่งนี้จึงเป็นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการวางรากฐานและสร้างเกราะปราการอันแข็งแกร่งให้กับวัยรุ่นจำนวนหนึ่งในชุมชนแห่งนี้ให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตทางสังคมได้
4. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ชัยยุทธ ดาผา (2534 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่องปัจจัยของการขัดเกลาทางสังคมของพ่อแม่ที่กระทบต่อพฤติกรรมการดื่มอัลกอฮอล์ของวัย พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมอัลกอฮอล์ของวัยรุ่น คือ ปัจจัยภูมิหลังทางครอบครัว ขนาดของครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมอัลกอฮอล์ การสนับสนุนจากพ่อแม่ให้ลูกดื่มมีอิทธิพลต่อการดื่มของลูกการอบรมเลี้ยงดูแบบใกล้ชิดจากแม่ จะมีความสัมพันธ์ในเชิงลบต่อพฤติกรรมการดื่มของลูก การอบรมเลี้ยงดูโดยการควบคุมอย่างเข้มงวดจากพ่อในเรื่องเกี่ยวกับการดื่มมีความสัมพันธ์เชิงลบกับพฤติกรรมการดื่มของลูก
พจนา ทรัพย์สกุลเจริญ (2541 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติของวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต่อสถาบันครอบครัวไทย ผลการศึกษาพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีทัศนคติรวมต่อครอบครัวในเชิงบวก ลักษณะข้อมูลทางด้านครอบครัวร้อยละ 73 อยู่ร่วมกับบิดามารดาและญาติพี่น้อง การศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือสูงกว่า อาชีพบิดามารดารับจ้างเอกชนร้อยละ 50 และ 60 ความสัมพันธ์ในครอบครัว มีเวลาอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 5 ชั่วโมงขึ้นไป ทำงานร่วมกับผู้ปกครองระดับปานกลาง มากกว่าร้อยละ 50 ได้รับประทานอาหารร่วมกับผู้ปกครองวันละ 1 มื้อ ร้อยละ 39 ความถี่ไปหาญาติผู้ใหญ่ในระดับมาก และร้อยละ 60.2 ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย
31
จาริณี ฮวบนรินทร์ (2542 : บทคัดย่อ) พบว่า นักเรียนที่ได้รับสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวสูงจะบรรลุงานตามขั้นพัฒนาการมากกว่านักเรียนที่ได้รับสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวต่ำ ซึ่งสิ่งแวดล้อมทางครอบครัว ได้แก่ ประสบการณ์ต่าง ๆ จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้แบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตน คำชี้แนะตักเตือน การส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาหาความรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่า การขัดเกลาทางสังคม ครอบครัว ศาสนา มีผลต่อทัศนคติ ค่านิยมทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งแต่ละบุคคลจะต้องเรียนรู้ นำไปปรับตัวเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคมอย่างมีระเบียบวินัยนั้น จะต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะ การซึมซับรับเอาตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต
การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีผลต่อการปรับตัวของเด็ก สมาน กำเนิด (2520: บทคัดย่อ) ได้ศึกษาแล้วพบว่า วิธีการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กปรับตัวแตกต่างกัน และเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยปรับตัวได้ดีกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย และ
แบบเข้มงวดกวดขัน ด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกับสุขภาพจิตและจริยธรรมของวัยรุ่น
ดวงเดือน พันธุมนาวินและ เพ็ญแข ประจนปัจจนึก (2524 : บทคัดย่อ) พบว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมาก แบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ มีทัศนคติที่ดีต่อบิดามารดาและส่งผลต่อสุขภาพจิตดี และการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ด้านความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดู กับการสนับสนุนทางสังคม การบรรลุงานตามขั้นพัฒนาการและพฤติกรรมพลเมืองดีของวัยรุ่น
จากการศึกษาของ วัฒนา อัติโชติ (2540 : บทคัดย่อ) พบว่า นักเรียนวัยรุ่นได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนในระดับมาก แบบใช้เหตุผล ระดับมาก และแบบควบคุม ระดับปานกลาง นักเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมพลเมืองดีระดับมาก นักเรียนวัยรุ่นที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมต่างกันจะบรรลุตามขั้นพัฒนาการแตกต่างกัน และจะมีพฤติกรรมพลเมืองดีแตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ฉันทนา มุติ (2541 : 118-119) ชลบุษย์ เจริญสุข (2541 : 90-92) ปิยะธิดา เหลืองอรุณ (2541 : 109-111) และ ปริศนา คำชื่น (2540 : 65-67) พบว่า นักเรียนวัยเด็กตอนต้นที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูต่างกันจะบรรลุงานตามขั้นพัฒนาการต่างกัน โดยนักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนสูงจะมีค่าคะแนนเฉลี่ยการบรรลุงานตามขั้นพัฒนาการมากกว่านักเรียนวัยเด็กตอนต้นที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนต่ำ
สุชิรา บุญทัน( 2541 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านครอบครัวกับจริยธรรมด้านความกตัญญูกตเวที ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในจังหวัดขอนแก่น พบว่า ปัจจัย
32
ทางครอบครัวที่สัมพันธ์กับจริยธรรมด้านความกตัญญูกตเวที คือ ลักษณะครอบครัวและอาชีพผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์กับจริยธรรมด้านความกตัญญูกตเวที ส่วนประเภทของครอบครัวมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และปัจจัยทางด้านครอบครัวทั้ง 3 ด้าน คือ ลักษณะการอบรมเลี้ยงดู อาชีพของผู้ปกครอง และประเภทของครอบครัว สามารถพยากรณ์จริยธรรมด้านความกตัญญูกตเวทีได้ทั้งหมดโดยปัจจัยด้านลักษณะการเลี้ยงดูสามารถพยากรณ์จริยธรรมด้านความกตัญญูกตเวทีได้ดีที่สุด
และจุฑามณี จาบตะขบ ( 2542 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาปัจจัยที่ทำให้คนทำดีเพื่อสังคม ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำความดีเพื่อสังคมมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
1. การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งทุกกรณีศึกษาจะได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล การอบรมเลี้ยงดูแบบลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย การอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุมและการอบรมเลี้ยงดูแบบให้พึ่งตนเองเร็วจากคนในครอบครัว
2. ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดมาจากครอบครัว การได้มีโอกาสบวชเรียนในบวรพุทธศาสนาหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีผลทำให้เกิดค่านิยม ทัศนคติต่อการกระทำความดี นอกจากนี้ยังพบปัจจัยส่งเสริมให้กรณีศึกษากระทำความดีเพื่อสังคมอีก คือ ลักษณะของครอบครัวที่มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อาชีพทางการเกษตร ตำแหน่งทางราชการที่อยู่ในชุมชน ด้านลักษณะที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเยาวชน
วรรณะ บรรจง (2541 : 33) ได้ศึกษาลักษณะทางศานาและพฤติกรรมศาสตร์ของเยาวชนไทยจากชุมชนแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองในภาคใต้ พบว่า 1) เยาวชนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมากหรือได้รับการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะจากครอบครัวมาก หรือมาจากชุมชนที่มีคุณภาพสูงมีความเชื่อทางพุทธศาสนา การปฏิบัติทางพุทธศาสนา ความเชื่ออำนาจภายในตน การคบเพื่อนอย่างเหมาะสมมากกว่า และมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่าเยาวชนที่มีลักษณะดังกล่าว 2) การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนเป็นตัวทำนายที่สำคัญเด่นชัดในการทำนายลักษณะทางศาสนาสองด้าน (เชื่อและปฏิบัติ) และลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์สามด้านของเยาวชน (ความเชื่ออำนาจภายในตน คบเพื่อนอย่างเหมาะสม พฤติกรรมก้าวร้าว) รองลงมา คือ การส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ จากครอบครัวและการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสองด้าน ร่วมกับการร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนา ศาสนาในชุมชนสามารถร่วมกันทำนายความเชื่อทางพุทธ ศาสนาของเยาวชนในครอบครัวเศรษฐกิจต่ำ การปฏิบัติทางพุทธศาสนาความเชื่ออำนาจภายในตน พฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่าในเยาวชนอายุมาก และการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมในกลุ่มเยาวชนครอบครัวขยาย 3) เยาวชนในครอบครัวขยายที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาในปริมาณที่สูง เป็นผู้ที่มีความเชื่ออำนาจภายในตน การคบเพื่อนอย่างเหมาะสมมากและมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อย
33
ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร และ ทัศนา ทองภักดี (2543 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษารูปแบบแสดงความรักของมารดาที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและพัฒนาการทางอารมณ์สังคมของเด็ก ผลการศึกษาพบว่าการแสดงความรักของมารดาแบบที่มารดาแสดงความรักทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจในระดับมาก และแบบที่มารดาแสดงความรักด้านวัตถุระดับมาก แต่ด้านจิตใจระดับน้อย ส่งผลต่อบุคลิกภาพแสดงตัว ความเป็นผู้นำ สุขภาพจิต โดยรวมซึ่งแยกด้านย่อยคือ ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความก้าวร้าวมากกว่า นักเรียนที่ได้รับแบบแสดงความรักทั้งด้านวัตถุและจิตใจในระดับน้อย
ความสัมพันธ์ในครอบครัว
ความสัมพันธ์ในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู และปัจจัยต่าง ๆ ทางครอบครัว เช่น ภูมิหลัง ขนาด การสนับสนุน อาชีพ ประเภทของครอบครัว รูปแบบการแสดงความรัก ทัศนคติและความเชื่อ ล้วนแต่มีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนตามลักษณะการแสดงออก ถ้าเลี้ยงดูด้วยความรักสนับสนุนเด็ก และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเด็กจะมีพฤติกรรมในทางที่ดีด้วย ดังนั้นสภาพแวดล้อมทางครอบครัวจึงเป็นมูลเหตุที่มีอิทธิพลต่อการทำความดีเพื่อสังคม การอบรมเลี้ยงดูบุตรมีวิธีการเลี้ยงดูแบบต่าง ๆ และการเลี้ยงดูที่น่าศึกษาได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนา เพื่อให้บุตรนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในอนาคต
สรุปได้ว่า การศึกษาด้านการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวพบว่า มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ดังผลการศึกษาของ สมาน กำเนิด (2520) ดวงเดือน พันธุมนาวินและ เพ็ญแข ประจนปัจจนึก (2524)
การศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวพุทธ ในประเทศไทยยังขาดหลักฐานการวิจัยที่ชัดเจนว่า คนไทยที่มีความเชื่อและการปฏิบัติตามศาสนามากน้อยต่างกัน จะประพฤติปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
การศึกษาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว
สปิลก้า (Spilka 1985) ได้ทำการศึกษา การถ่ายทอดทางศาสนาในครอบครัว พบว่า บิดามารดามีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางศาสนาของบุตร
การศึกษาด้านศาสนา
ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจจนึก (2520 : บทคัดย่อ) ศึกษาจริยธรรมของเยาวชนไทย โดยศึกษาลักษณะมุ่งอนาคตต่างกันจะมีพฤติกรรมการโกงไม่ต่างกัน หากมีสถานการณ์ยั่วยุให้มีการโกง ผู้วิจัยสรุปว่าผลการทดลองนี้อาจจะสะท้อนให้เข้าใจลักษณะของผู้ที่กระทำผิดกฏหมายว่า
34
ส่วนใหญ่แล้วการกระทำของคนเหล่านี้อาจอยู่ภายใต้อิทธิพลของสถานการณ์มากกว่าจะอยู่กับลักษณะอันดีงามซึ่งบุคคลนั้นได้รับในการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
ประภาศรี แจ้งศิริ (2527 : บทคัดย่อ) ศึกษาผลของการฝึกการควบคุมตนเองของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาพบว่า เด็กที่ถูกฝึกได้ควบคุมตนเองจะลดพฤติกรรมการก่อกวนในห้องเรียนได้
งามตา วนินทานนท์ (2534 : 30) ศึกษาเรื่องการส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ จากครอบครัว กับลักษณะทางศาสนากับเยาวชน พบว่า เยาวชนที่ได้รับการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะจากบิดามารดาในปริมาณมาก จะเป็นผู้ที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนามากกว่าเยาวชนที่ได้รับการส่งเสริมความเป็นพุทธมามะกะจากบิดามารดาในปริมาณน้อย
วรรณะ บรรจง (2537 : 67-68) ศึกษา เรื่อง การได้รับการเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและการได้รับการส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะจากครอบครัวกับความเชื่อทางพุทธศาสนาของเยาวชน พบว่า ความเชื่อทางพุทธพิจารณาตามเพศ การได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และการได้รับการส่งเสริมการเป็นพุทธมามะกะจากครอบครัว พบว่า ความเชื่อทางพุทธแปรปรวนไปตามการได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และการได้รับการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ จากครอบครัว แต่ละตัวแปรแยกกันอย่างเด่นชัด แต่ไม่แปรปรวนไปตามปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระทีละตัวสองตัว หรือสามตัวแต่ประการใด
สรุปจากการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ พบว่า วิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจาก บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนา และ ชุมชน ส่งผลต่อวัยรุ่นให้มีพฤติกรรมดี
การพัฒนากรอบแนวคิด
ผลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง แนวคิดทฤษฎีและผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำมาทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัวแปรต่าง ๆ ที่ประกอบด้วย บ้าน ได้แก่ สัมพันธ์ภาพในครอบครัวระหว่างบิดามารดา ที่เป็นต้นแบบของการนำหลักพุทธปฏิบัติมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติให้บุตรเป็นเด็กดี การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธศาสนาที่บิดามารดาถ่ายทอดต่อบุตร การมีวิถีชีวิตแบบพุทธ ซึ่งยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน และด้านโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ได้แก่ การถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้วัยรุ่นรู้จักเสียสละ มีเมตตา กรุณา ประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง การส่งเสริมการเป็นพุทธมามกะ ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพุทธศาสนา โดยมีหลักว่าละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ ที่ทำให้เด็กเกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ได้รับการฝึกอบรม
35
และจดจำไว้เป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ด้าน ชุมชน ได้แก่ บริบทชุมชน โดยสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรคอยแนะนำและตักเตือนให้ทำแต่สิ่งที่ดี การเข้าร่วมกิจกรรมและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่างที่ดีมีส่วนช่วยให้วัยรุ่นมีจิตใจที่จะรักษาประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชุมชนให้ดำรงอยู่ตลอดไป ผวิจัยได้นำแนวคิด ทฤษฎีเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่ส่งผลให้ทราบวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น โดยนำมาพัฒนาเป็นกรอบความคิดในการศึกษาครั้งนี้
บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
การศึกษา เรื่อง การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ใช้ประสบการณ์จริงที่พบเห็นและการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ งานวิจัยและเอกสารต่าง ๆ มากำหนดเป็นแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Interview) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ( In-depth Interview ) กับกรณีศึกษาและบุคคลแวดล้อม ได้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่พระอาจารย์และเพื่อน ทั้ง 10 กรณีศึกษา โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลการศึกษา และข้อเสนอแนะ มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ จำนวน 10 คน ซึ่งพระอาจารย์โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ เป็นผู้คัดสรรว่าเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมจริยธรรม อีกทั้งได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน และผู้คนในละแวกบ้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) โดยทำความคุ้นเคยกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้เล่าลักษณะข้อมูล ประวัติส่วนตัวและครอบครัว การดำเนินชีวิต กิจกรรม และการปฏิบัติตน พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมในระหว่างการสนทนาและระหว่างที่ผู้วิจัยเข้าร่วมฟังการสอนบางชั่วโมง
แนวทางการสัมภาษณ์ (Interview Guide)
1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวนักเรียน โดยไปแนะนำตัวกับบิดามารดา ผู้ปกครองเพื่อขอสัมภาษณ์ และสังเกตพฤติกรรมของเด็กในขณะที่อยู่ที่บ้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้มากที่สุด
37
2. วิถีชีวิตของนักเรียน สัมพันธภาพในครอบครัว ทำการสอบถามจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และญาติพี่น้อง เพื่อศึกษาถึงสัมพันธภาพของเด็กและครอบครัว
3. วิธีการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว สัมภาษณ์บิดามารดาหรือผู้ปกครองถึงวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กทั้งก่อนและหลังการไปเรียนที่โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
4. กิจกรรมที่นักเรียนปฏิบัติที่บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และในชุมชน ใช้วิธีการสัมภาษณ์บิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ พระอาจารย์ กลุ่มเพื่อนเพื่อให้ทราบถึงกิจกรรม การมีส่วนร่วมทั้งที่บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และชุมชน ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเด็ก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาพฤติกรรมของเด็ก
5. กลุ่มเพื่อน การคบเพื่อนและเพื่อนที่สนิท ใช้การสัมภาษณ์ สังเกต การคบเพื่อนของเด็ก โดยสอบถามถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การคบเพื่อน แรงจูงใจในการคบเพื่อน สัมภาษณ์ พระอาจารย์ เพื่อศึกษาพฤติกรรม
6. พฤติกรรมของเด็กที่อยู่ในชุมชน กิจกรรมที่เด็กมีส่วนร่วมและบำเพ็ญประโยชน์ การวางตนและความมีระเบียบวินัยของเด็ก
7. วิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจาก บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และชุมชน โดยศึกษาจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ พระอาจารย์ เพื่อน ๆ และผู้นำชุมชน ในการถ่ายทอดพุทธปฏิบัติแก่เด็กโดยการสัมภาษณ์ และสอบถามวิธีการสอนของบุคคลดังกล่าวจากเด็กแต่ละคน
แนวทางการสัมภาษณ์พระอาจารย์
1. ประวัติ
- ชื่อ – สกุล - ฉายา
- อายุ พรรษา วุฒิการศึกษา
2. อุดมการณ์และแนวทางในการถ่ายทอดความรู้/ความคิดเห็นเกี่ยวกับวัยรุ่น
การเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นที่หนึ่ง สร้างความคุ้นเคยกับชุมชน และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระตลอดจนสังเกตดูสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ในส่วนที่เป็นตัวแปรต้นด้านชุมชนและโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ ทำการจดบันทึกและถ่ายภาพ
ขั้นที่สอง ทำความสนิทสนมกับเด็กในกลุ่มตัวอย่าง โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟังคำบรรยายของพระอาจารย์ในโรงเรียนพุทธศาสนาทุกวันอาทิตย์ เพื่อสร้างความไว้วางใจและสังเกตในส่วนตัวแปรต้น และเก็บข้อมูลด้วยการจดบันทึก
38
ขั้นที่สาม พุดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง ตามแนวทางการสัมภาษณ์และจดบันทึก
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล
ระหว่างเดือน พฤษภาคม 2546 ถึง เดือนสิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นระยะเวลาเรียนครบรอบปีการศึกษา
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและเขียนรายงานเชิงพรรณนา โดยบรรยายถึงวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติจาก 3 สถาบัน ได้แก่ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ และชุมชนวัดท่าพระ
บทที่ 4
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
การศึกษาเรื่อง การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น เป็นการศึกษาว่า วิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และชุมชน มีบทบาทต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นอย่างไร การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีที่ชุมชนวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาวิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติของบ้าน โรงเรียน และชุมชนที่ส่งผลให้วัยรุ่นมีคุณธรรมจริยธรรม
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมุ่งที่จะหาคำตอบว่าองค์ประกอบใดและบุคคลใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติให้กับวัยรุ่น โดยศึกษาจากองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัยรุ่น ได้แก่ บ้าน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ และชุมชน ตามแนวทางการศึกษา ดังต่อไปนี้
1) บ้าน ศึกษาสัมพันธภาพภายในครอบครัว การอบรมสั่งสอนตามแนวพุทธ และการดำเนินชีวิตวิถีพุทธ
2) โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศึกษาเกี่ยวกับการอบรมคุณธรรมจริยธรรม การส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ และการสั่งสอนหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา
3) ชุมชน ศึกษาบริบทชุมชน ความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน การคบเพื่อน การทำกิจกรรมและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม
ผู้วิจัยจะเสนอผลการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิดการขัดเกลาทางสังคม ดังต่อไปนี้
ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล
จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของวัยรุ่น จำนวน 10 คน ในชุมชนวัดท่าพระ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ เป็นรายบุคคลโดยผู้วิจัยบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ตามแนวคำถามที่กำหนดไว้ จากนั้นนำมาถอดเทปคำสัมภาษณ์ และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการ Taxonomy เพื่อหาคำสำคัญ (Key Word) ที่บ่งชี้ถึงวิธีถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แสดง (Actors) หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติให้วัยรุ่น สถานที่ (Place) หมายถึง สถานที่ที่วัยรุ่นได้รับการขัดเกลาให้ปฏิบัติตนตามวิถีพุทธ และกิจกรรม หมายถึง กิจกรรมที่วัยรุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมหรือพบเห็นซึ่งเป็นกิจกรรมที่
4 0
มีส่วนในการขัดเกลาให้วัยรุ่นนำมาเป็นแบบอย่างและนำไปสู่การปฏิบัติตนตามวิถีพุทธ เพื่อศึกษาว่าบุคคลใดบ้างมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติให้กับวัยรุ่น วิธีการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติเป็นอย่างไร และพุทธธรรมข้อใดที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในการปลูกฝังให้วัยรุ่นปฏิบัติตนเป็นคนดี
การเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่วิจัย ได้แก่ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ และบริเวณชุมชนวัดท่าพระ ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษา ดังนี้
1. บ้าน หมายถึง ครอบครัวของวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มตัวอย่างของการศึกษา ผู้วิจัยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ เพื่อสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียนตั้งแต่ เดือน กรกฎาคม 2546 ถึง กรกฎาคม 2547 จากนั้นเลือกกลุ่มตัวอย่างจากนักเรียนที่มีความประพฤติดี มีลักษณะเป็นผู้นำ และมีผลการเรียนดี มา 10 ตัวอย่าง แล้วจึงสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับสภาพครอบครัวของแต่ละคน ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว จากนั้นผู้วิจัยได้เข้าไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มตัวอย่างแต่ละคน และสัมภาษณ์บุคคลที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าเป็นบุคคลในครอบครัว โดยเลือกจากผู้ที่กลุ่มตัวอย่างมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุด ในช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล
2. โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ ซึ่งเป็นสถาบันที่ฝึกอบรมให้วัยรุ่นได้รู้จักหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา และมีบทบาทโดยตรงในการขัดเกลาให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมตามวิถีพุทธ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทุกวันอาทิตย์ เป็นเวลา 40 สัปดาห์ เพื่อศึกษากระบวนการเรียนการสอน ความสัมพันธ์ระหว่างพระอาจารย์ผู้สอนกับนักเรียนที่เข้ารับการอบรม หัวข้อเรื่องที่สอนเพื่อศึกษาถึงหลักธรรมที่นำมาใช้ในการถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติและสัมภาษณ์พระอาจารย์ผู้สอน 7 รูป
3. ชุมชน หมายถึง ชุมชนวัดท่าพระ ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเข้าไปในชุมชนเพื่อศึกษาสภาพโดยทั่วไปของชุมชน สถานที่ตั้ง สภาพบ้านเรือน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน สถานที่สำคัญของชุมชน ความสัมพันธ์ภายในชุมชน สภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของชุมชน และองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
4 1
ข้อมูลชุมชน
แผนภาพที่ 3 ป้ายหน้าทางเข้าชุมชนวัดท่าพระ
ชุมชนวัดท่าพระ เป็นชุมชนเมือง ตั้งอยู่ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 6 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
สภาพทางกายภาพ แขวงวัดท่าพระ เป็นแขวงหนึ่งในจำนวน 2 แขวงของเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 5.320 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม สภาพเดิมเป็นสวน มีคูและลำประโดงซึ่งอยู่ติดกับวัด วัดท่าพระเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นที่เคารพนับถือของชาวธนบุรี คือ หลวงพ่อเกษร ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงวัดท่าพระ จึงให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อเกษร ทุกปีจะมีงานประจำปีที่สำคัญ คือ ประเพณีการแห่ผ้าไตรหลวงพ่อเกษร ในราวต้นเดือน 5 ของทุกปี ในงานดังกล่าวมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานและร่วมขบวนแห่ผ้าไตรเพื่อนำมาถวายหลวงพ่อเกษรเป็นพุทธบูชา ภายในขบวนแห่ผ้าไตรมีการละเล่นต่าง ๆ เป็นระยะทางตั้งแต่วงเวียนใหญ่มาตามถนนเพชรเกษมจนถึงวัดท่าพระ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 9 วัน 9 คืน เป็นประจำทุกปี ประชาชนจากทั่วสารทิศและชาวบ้านในละแวกฝั่งธนบุรีร่วมแรงร่วมใจกันมาทำบุญ
4 2
มีการออกร้านและการละเล่นถวายหลวงพ่อเกษร งานนี้จัดได้ว่าเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของเขตบางกอกใหญ่
ชุมชนวัดท่าพระ เป็นชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ติดกับวัดด้านวิหารหลวงพ่อเกษร ซึ่งเป็นวิหารที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2540 วิหารหลังนี้สร้างครอบวิหารหลังเดิมซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ทุกวันมีพุทธศาสนิกชนมาสักการะบูชาเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและชุมชนวัดท่าพระส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย การศึกษาระดับปานกลาง
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน เดิมทีชุมชนวัดท่าพระเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ประชากรมีอาชีพทำสวน สร้างบ้านเรือนอยู่กันอย่างแออัด ลักษณะเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีคูและลำประโดงเป็นทางระบายน้ำ ปัจจุบันมีผู้ย้ายถิ่นจากที่อื่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเช่าที่ของวัดสร้างบ้านเรือนอยู่อย่างถาวรเป็นชุมชนเมืองที่มีความเจริญเกือบทุกด้าน
การคมนาคมขนส่ง ปากทางวัดท่าพระมีถนนสายหลักคือ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ใกล้กับสามแยกท่าพระ ปัจจุบันมีอุโมงค์ทางลอดให้รถผ่านจากถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปยังถนนรัชดาภิเษก ตัดข้ามถนนเพชรเกษมเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่แออัด ทำให้การเดินทางมีความสะดวกอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ชุมชนวัดท่าพระมิได้มีพื้นที่ติดถนนใหญ่โดยตรง ทางเข้าชุมชนต้องผ่านวัดท่าพระซึ่งอยู่ในซอยลึกห่างจากถนนใหญ่
การสาธารณูปโภค บริเวณใกล้เคียงวัดท่าพระมีโรงพยาบาลใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางไผ่ และโรงพยาบาลพญาไท 3 คลินิกแพทย์ 3 แห่ง โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 2 โรง ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลวัดท่าพระ โรงเรียนเทศบาลวัดเจ้ามูล โรงเรียนเอกชน 3 แห่งได้แก่ โรงเรียนเสสะเวชวิทยา โรงเรียนสายประสิทธิ์วิทยา โรงเรียนภาษานุสรณ์ โรงเรียนระดับอาชีวศึกษา 1 แห่ง คือ เทคโนโลยีสยาม นอกจากนี้ยังมี สถาบันภาษาเอ ยู เอ สาขาท่าพระ ที่ทำการไปรษณีย์ 1 แห่ง สถานีตำรวจนครบาล 1 แห่ง บนถนนรัชดาภิเษกมีห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ท่าพระ สถานบันเทิงขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ ธนบุรีพลาซ่า และสถานบันเทิงขนาดเล็กอีกหลายแห่ง
สภาพทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนวัดท่าพระ มีอาชีพค้าขาย รับจ้าง ธุรกิจส่วนตัว รัฐวิสาหกิจ และรับราชการ ตามลำดับ ฐานะของประชาชนอยู่ในระดับพอมีพอกิน ประชาชนมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำบุญในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ การร่วมมือกันพัฒนาชุมชน ให้ความช่วยเหลือกัน เช่น เมื่อมีงานประจำปีหลวงพ่อเกษร งานบวช งานแต่ง และงานอื่น ๆ ชุมชนแห่งนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง การลักขโมย การพนัน และยาเสพติดอยู่บ้าง
4 3
แผนภาพที่ 4 แสดงทางเข้าวัดท่าพระ
4 4
แผนภาพที่ 5 แสดงบริเวณวัดท่าพระ
สภาพทางสังคม สมาชิกที่อาศัยในชุมชนวัดท่าพระ มีปฏิสัมพันธ์กันเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ แต่ละครอบครัวต่างให้ความสำคัญกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมากกว่าการชุมนุมสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม มีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนจัดกิจกรรมกันบ้างโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การจัดตั้งคณะสิงโตศิษย์วัด ท่าพระ รับงานแสดงตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยสภาพที่ตั้ง ซึ่งด้านหลังชุมชนเป็นสวนผลไม้ของชาวบ้าน ด้านหน้าของชุมชนเป็นวัดท่าพระ มีลานซีเมนต์เชื่อมระหว่างชุมชนกับโบสถ์หลวงพ่อเกษรเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนสำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ในบริเวณวัดท่าพระยังประกอบด้วย โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และโรงเรียนเทศบาลวัดท่าพระ อันเป็นแหล่งให้การศึกษาสำหรับลูกหลานของชาวชุมชน
บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงมีโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางไผ่ และโรงพยาบาลพญาไท 3 นับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความสะดวกสบายพอสมควร อยู่ใกล้ทั้งสถาบันการศึกษา สถานพยาบาล ศูนย์การค้า และสถานีตำรวจ อย่างไรก็ตามชุมชนแห่งนี้ยังจัดได้ว่าเป็นชุมชนแออัด อยู่ใกล้แหล่งอบายมุข และมีปัญหาเรื่องยาเสพติด เนื่องจากบริเวณหลังวัดท่าพระเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นที่ติดยาเสพติด พระสงฆ์ในวัดท่าพระจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสังคม โดยเฉพาะวัยรุ่นในชุมชนที่อยู่บริเวณรอบวัดให้ปฏิบัติตนเป็นคน
4 5
ดี จึงได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่อขัดเกลาให้วัยรุ่นมีคุณธรรมและจริยธรรมโดยใช้หลักพุทธธรรม
แผนภาพที่ 6 แผนที่ชุมชนวัดท่าพระ
สรุป บริบทชุมชนวัดท่าพระ พบว่า ชุมชนวัดท่าพระเป็นชุมชนที่เก่าแก่มีที่ตั้งติดกับวัดท่าพระ
ด้านวิหารหลวงพ่อเกษร ซึ่งเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนมากว่าร้อยปี ทุกวันจะมีผู้มาสักการบูชาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดอาชีพค้าขายของคนในชุมชนกับผู้ที่มาสักการบูชาหลวงพ่อเกษรทำให้เยาวชนพบเห็นการประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม การทำความดีของพุทธศาสนิกชนจนเกิดความเคยชิน และซึมซับเป็นนิสัยในการทำความดี ชุมชนวัดท่าพระมีความใกล้ชิดกับกิจกรรมทางพุทธศาสนาเนื่องจากมีสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด นอกจากนั้น ชาวชุมชนยังมีความภาคภูมิใจและศรัทธาในองค์หลวงพ่อเกษรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนับถือของคนย่านฝั่งธน เมื่อมีงานบุญที่ทางวัดจัดขึ้น ชาวชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจกันไปช่วยงานด้วยความศรัทธา งานประเพณีสำคัญที่พุทธศาสนิกชนในชุมชนแห่งนี้ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่ งานแห่ผ้าไตรหลวงพ่อเกษร ซึ่งจัดขึ้นเดือน 5 ของทุกปี ในงานประเพณีดังกล่าว ชาวชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมาช่วยงานเป็นประจำ ทำให้ลูกหลานได้จดจำไว้เป็นแบบอย่างและสืบทอดการทำความดี จากบริบทดังกล่าวมีผลให้เยาวชนกลุ่มตัวอย่างได้รับการ
4 6
ถ่ายทอดวิธีพุทธปฏิบัติจากชุมจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาดังรายละเอียดที่จะนำเสนอเป็นรายบุคคลต่อไป
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หมายถึง วัดหรือสถานศึกษาที่ทางวัดจัดตั้งขึ้นเพื่อสอนความรู้ทางพระพุทธศาสนา (พุทธประวัติ พุทธธรรม ศาสนพิธี ฯลฯ) และความรู้สามัญอื่น ๆ แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ (รร.พอ) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) มีระเบียบดำเนินการโดยเฉพาะ เปิดเรียนในวันอาทิตย์
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ ใช้สถานที่ของอาคารอเนกประสงค์วัดท่าพระ มีสภาพห้องเรียนเหมาะแก่การเรียนการสอน อากาศถ่ายเทสะดวก บริเวณที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนใหญ่จึงปราศจากการรบกวนจากเสียงยานพาหนะและควันพิษจากท่อไอเสีย
แผนภาพที่ 7 แสดงโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ
4 7
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนโดยไม่เก็บค่าบำรุงการศึกษา ด้านการเรียนการสอน จะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยยึดหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
วัตถุประสงค์การจัดการศึกษาของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดท่าพระ
1. เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ศาสนธรรมและรู้จักพระพุทธศาสนาตามสมควรแก่วัยของตน
2. เพื่อเสริมความรู้ และปลูกฝัง ศีลธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของไทยแก่เด็กและเยาวชน 3. เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา 4. เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม 5. เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษ 6. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
กระบวนการเรียนการสอนเน้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักพุทธธรรมเป็นหลัก วิชาที่เปิดสอนภาคทฤษฎีมี 3 วิชา คือ
1.วิชาธรรมะ ได้แก่ วิชาศีลธรรม ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หลักศาสนาต่าง ๆ และปรัชญาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
2. วิชาประวัติพระพุทธศาสนา
3. วิชาพระพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษ วิชาที่สอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ คือ
1. วิชาธรรมะ และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
2. วิชาศาสนพิธี
3. วิชามารยาทไทย
4 8
เนื้อหาหลักสูตร
หลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งด้านศีลธรรมและจริยธรรม นอกจากเนื้อหาจะครอบคลุมวิชาศีลธรรมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ดังกล่าวแล้ว ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับจริยธรรม อันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตนอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เนื้อหาหลักที่ใช้สอนประกอบด้วย เรื่อง ต่อไปนี้
1.บุคคลหาได้ยาก
1.1 บิดามารดาบังเกิดเกล้า คือบิดาตัวมารดาตัวที่แท้ มีสองคนเท่านั้น หาแทนไม่ได้ หาได้ยาก 1.2 บิดาตัวมารดาตัวที่แท้ ผู้พลีทำหน้าที่ของตนต่อลูกอย่างสมบูรณ์ ทำได้แสนยากหาได้ยาก 1.3 ลูกตั้งหลายคน แต่จะหาผู้เสียสละทำหน้าที่สนองคุณบิดามารดาสองคน โดยเต็มที่และ
จริงใจนั้นไม่ค่อยมี หาได้ยาก
บุพพการี คือ ผู้ทำอุปการะก่อน ได้แก่ 1. บิดามารดาบังเกิดเกล้า คือชายและหญิงผู้ให้กำเนิดและชีวิตใกล้ชิดกว่า ใครหมด 2. ผู้เสียสละ ทุ่มเทเลี้ยงแสนเหนื่อยยาก มิได้หวังตอบแทนอะไรเลย 3. บิดามารดาบุญธรรม คือ เพียงอุปถัมภ์ เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ พร้อมทั้งชุบชูชีวิตตลอดมา นอกจากนี้ ท่านยังได้กำหนดบุคคลผู้เป็นบุพการีไว้ คือ บิดามารดา, ครูอาจารย์, พระมหากษัตริย์ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 2. กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทนคุณท่าน ได้แก่ 2.1 บุตรธิดาที่เกิดสืบสายเลือดในอกแท้ ผู้เสมือนดวงใจโดยตรงของบิดามารดา คือลูกในไส้ 2.2 เด็กผู้อื่นยกให้ และได้รับอุปการะชุบเลี้ยง จนสามารถพึ่งตนเองได้ คือ ลูกบุญธรรม
2.3 คนภายใต้ปกครอง พักพิงอาศัยเรียนศิลปวิทยา และอบรมบ่มนิสัย คือ ลูกศิษย์ 2.4 บุคคลที่เป็นกตัญญูกตเวที ๔ ประเภท คือ บุตรธิดา ศิษยานุศิษย์ ประชาราษฎร์ และพุทธบริษัท
3. สายธารแห่งน้ำใจของบิดามารดา
3.1 ห่วงใยชีวิตลูกยิ่งกว่าตนเอง พยายามป้องกันมิให้ถูกชักจูงหลงผิดจนเสียคน 3.2 สร้างอนาคตสดใสให้ โดยการปลูกฝังให้มีนิสัยทำงาน มีสมบัติผู้ดีมีสกุล 3.3 เสียสละทุกสิ่งด้วยน้ำใจจริง ทุ่มเทสนับสนุนลูกให้มีความรู้และอาชีพเป็นหลักฐาน 3.4 รอบรู้ทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง กระทั่งยอมเป็นหนี้ ด้วยความยินดีกับความสำเร็จของลูก 3.5 ตัดลูกไม่ขาด ต้องอุปการะถึงที่สุด และยกทรัพย์มรดกให้ในสมัย
4 9
4. หน้าที่รับผิดชอบที่ลูกควรทำ
4.1 ลูกควรมีใจเมตตากรุณา ไม่เห็นแก่ตัว ควรบำรุงเลี้ยงบิดามารดาเมื่อท่านแก่เฒ่า 4.2 ตนเองคือเลือดเนื้อและที่รักของบิดามารดา จึงควรเอาอกเอาใจท่านให้ชื่นบานเสมอ 4.3 ทำตนเป็นคนว่าง่าย รักษาจารีตอันเป็นมรดกล้ำค่าของตระกูลไว้ให้มั่นคง 4.4 ประพฤติตนเป็นทายาทที่น่าไว้วางใจ สมกับที่ท่านรักและห่วงใย 4.5 เมื่อท่านสิ้นชีพ ก็กระทำบุญกุศลสนองความดีมีน้ำใจของท่าน
5. วัฒนธรรมด้านจิตใจ
5.1 การเลี้ยงดูบิดามารดาให้มีความสุข เป็นวัฒนธรรมอันดีของสังคมมนุษย์ 5.2 ให้รู้คุณค่าแห่งชีวิต เทิดทูนปูชนียบุคคลสำคัญประจำตระกูล 5.3 สงวนเอกลักษณ์ของครอบครัวไทย ให้คงอยู่เป็นแบบแผนที่น่ายกย่องคู่โลกสืบไป
6. วุฒิธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
จริยธรรมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในทางสร้างสรรค์ความรุ่งโรจน์ และสันติสุข แห่งชีวิต
ทุกสภาพ ได้แก่
6.1 สัปปุริสสังเสวะ ชั้นแรกเลือกคบสนิทเฉพาะกัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม และระเบียบวินัย 6.2 สัทธัมมัสสวนะ เชื่อฟังคำตักเตือนและคำแนะนำจากท่านสม่ำเสมอและจริงจัง 6.3 โยนิโสมนสิการ ฟังแล้วใช้ปัญญาไตร่ตรองเห็นโทษแห่งความชั่วและคุณประโยชน์
แห่งความดี 6.4 ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมงดเว้นจากบาปทุจริตเด็ดขาด ตั้งใจประพฤติ สุจริต
ธรรมอย่างจริงใจ
7. อคติ 4 คือ ความลำเอียง สัญชาตญาณถูกโน้มน้าวไปโดยไร้ความเที่ยงธรรม ความ
เอนเอียงแห่งอารมณ์ ผุดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และช่องว่างในสังคม มี ๔ คือ 7.1 ฉันทาคติ ลำเอียงโดยสนับสนุนญาติมิตรที่ชอบพอ หรือผู้จ่ายสินจ้างแก่ตน 7.2 โทสาคติ ลำเอียงเข้าข้างหรือลงโทษฝ่ายที่ตนเกลียดชังให้หนักกว่าฝ่ายที่ตนชอบพอ 7.3 โมหาคติ ลำเอียงเสียความยุติธรรมเพราะโฉดเขลา ไม่รู้ทันเหตุการณ์ที่ แท้จริง 7.4 ภยาคติ ขาดดุลยอมร่วมด้วยเพราะเกรงอำนาจอิทธิพลหรือกลัวจะขาดผลประโยชน์
8. อริยสัจ 4 เป็นอริยะ ธรรมชาติที่แท้จริง เป็นธาตุแท้ดีจริง ของพระอริยะ ซึ่งค้นพบโดย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณประเสริฐ ทำให้เป็นอริยะ สัจธรรมนำให้ผู้ปฏิบัติตามตรัสรู้และพ้นทุกข์ได้ มี ๔ คือ
5 0
8.1 ทุกข์ ความไม่สบายกาย เดือดร้อนใจ ทนได้ยาก ทุกข์เพราะเกิดดับ ไม่สมหวัง พลัดพรากจากคนรักและของชอบใจ และทุกข์เนื่องจากมีเบญจขันธ์
8.2 สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา = ความอยากได้กามคุณ , ภวตัณหา = อยากมี อยากเป็น วิภวตัณหา อยากให้ตัวเองไม่เป็น อย่างนั้น อย่างนี้ 8.3 นิโรธ ความดับทุกข์ กำจัดตัณหาให้สิ้นไป จิตสงบว่างจากกิเลสและนิวรณ์ 8.4 มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ทาง ๓ ขั้น หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
9. ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ความสำคัญและดีเด่น
9.1 อริยสัจธรรม นำไปสู่ที่สุดคือวิปัสสนาปัญญา ข้ามพ้นสังสารทุกข์ในวัฏฏะได้ 9.2 มัชฌิมาปฏิปทา แนวปฏิบัติเกี่ยวกับศีล สมาธิและปัญญา เหมาะแก่ทุกชั้น ทุกเพศ และไม่จำกัดเวลา 9.3 สามุกกังสิกา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ยกอริยสัจ ๔ ขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง โดยถือ ว่าเป็นเทศนาสำคัญ 9.4 พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหล่าอรหันตสาวกบรรลุธรรม ตาม เพราะอาศัยอริยสัจ 4
10. อปริหานิยธรรม ๗ หลักธรรมที่ป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญถ่ายเดียว มี 7 อย่าง คือ 10.1ร่วมประชุม ปรึกษากิจการด้วยความจริง และสม่ำเสมอ 10.2 พร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการประชุม และเลิกประชุม เพื่อช่วยทำกิจกรรม ของสงฆ์จนสำเร็จ 10.3 ไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม และไม่ละเมิดพุทธบัญญัติ เอาใจใส่ ประพฤติตนโดยเคร่งครัด 10.4 ให้เกียรติ เคารพนับถือ และเชื่อฟังพระเถระผู้เป็นอธิบดีปกครองสงฆ์ 10.5 รู้จักอดกลั้น หักห้ามใจ มิให้ตกเป็นทาสภายใต้อำนาจกิเลสตัณหา
10.6 ยินดีในเสนาสนะป่า โดยปลีกตนออกห่างชุมชน ใช้ชีวิตสงบ ณ สถานที่สงัด
ใฝ่ใจที่จะพบเห็นและสมาคมกับท่านผู้มีศีลและอาจารบริสุทธิ์ น่า เลื่อมใส
5 1
11. อริยทรัพย์ 7 คุณธรรมที่ปรุงแต่งอัธยาศัยและจิต ให้มีประสิทธิภาพและคุณค่า ดังทรัพย์อันประเสริฐ
11.1 สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ โดยปักใจเชื่อที่พิสูจน์ได้สมเหตุสมผล
11.2 ศีล รักษากาย วาจาให้เรียบร้อย มีสมบัติผู้ดี มารยาทสงบเสงี่ยม พูดจาสุภาพ 11.3 หิริ ละอายใจ ไม่กล้าทำบาปทุจริต ทั้งต่อหน้าและลับหลัง 11.4 โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อความชั่ว เกรงเวรภัย และเสื่อมศักดิ์ศรี จึงไม่เสี่ยงทำผิด 11.5 พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนรอบรู้ ชำนาญการ ทั้งคดีโลกคดีธรรม 11.6 จาคะ สละแบ่งปัน ไม่แล้งน้ำใจ เผื่อแผ่พัสดุสิ่งของ เพื่อความสุขของผู้อื่น 11.7 ปัญญา รอบรู้ทั้งคุณและโทษประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ มีความหลักแหลม แยบคายในอุบายชีวิต ทั้งผิดชอบ ควรมิควรอย่างไร
12. สัปปุริสธรรม 7 ธรรมสมบัติของสัตบุรุษคนดีผู้มีสกุล วางตนพอดี พอเหมาะแก่สมาคม สมแก่กาล และสถานที่ มี 7 อย่าง คือ 12.1 ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ได้แก่ รู้ชัดถึงเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนและ บ่อเกิดแห่งความผาสุก 12.2 อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล ได้แก่ รู้ซึ้งถึงความเจริญสุขเป็นผลของบุญ และ ทุกข์โทษสืบมาแต่บาปทุจริต
12.3 อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน ได้แก่ สำเหนียกความรู้ความสามารถ วางตนสม อัตภาพอย่างเจียมใจ 12.4 มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักใช้งบประมาณพอดีสมควรแก่ฐานะ 12.5 กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ได้แก่ จัดสรรกิจการให้ถูกจังหวะ 12.6 ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน ได้แก่ เข้าใจปรับบุคลิกภาพของตนให้สอดคล้อง
กับสมาคมทุกระดับ 12.7 ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล ได้แก่ อ่านอัธยาศัยคนออก ด้วยจิต ถ่อมต่อหรือยกย่องผู้อื่น
13. ทางดำเนินสายกลาง สำหรับชนทุกระดับ สร้างให้เป็นอริยชน (อริยบุคคล) มี 8 อย่าง คือ 13.1 สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ วิปัสสนาญาณ คือเห็นหรือตรัสรู้อริยสัจ 4 13.2 สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คิดหลีกจากกามารมณ์ อภัยไม่พยาบาทปองร้าย ไม่คิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
5 2
13.3 สัมมาวาจา เจรจาชอบ เว้นจากวจีทุจริต 4 พูดจริง อ่อนหวาน ผสานไมตรี พอเหมาะแก่กาลและเวลา
13.4 สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ เว้นจากกายทุจริต 3 เมตตาต่อสรรพสัตว์ เว้นจาก โจรกรรม สันโดษในกามประเวณี 13.5 สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ เว้นมิจฉาชีพ ทุจริต ผิดกฎหมายและศีลธรรม ประเพณี 13.6 สัมมาวายามะ เพียรชอบ พยายามละอบายอกุศล และบำเพ็ญบุญ เป็นต้น 13.7 สัมมาสติ ระลึกชอบ คุมสติสำรวมอารมณ์ คือระลึกในสติปัฏฐาน 4 13.8 สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌาน
ความสำคัญ และดีเด่น
1. อริยมรรค ๘ นี้ นำไปสู่ที่สุดทาง คือวิปัสสนาญาณ พอข้ามพ้นสังสารวัฏได้
2. มัชฌิมาปฏิปทา แนวปฏิบัติเกี่ยวกับศีล สมาธิ และปัญญา เป็นข้อปฏิบัติสายกลาง
ไม่จำกัดเพศ วัย วรรณะ และเวลา
3. ด้วยอริยมรรคนี้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหล่าอริยสาวกบรรลุ เป็นอรหันตขีณาสพ
พุทธศาสนิกชน มีหลักปฏิบัติที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย
ก.เกื้อกูลพระ โดยปฏิบัติต่อพระสงฆ์เสมือนเป็น ทิศเบื้องบน ดังนี้
1. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา 2. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา 3. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา 4. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ 5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
ข. การทำบุญ คือ ทำความดีด้วยวิธีการต่าง ๆที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ (เรื่องที่จัดว่าเป็นการทำบุญ) 3 อย่าง คือ
5 3
1.ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันทรัพย์สิ่งของ
2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติปฏิบัติชอบ 3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจและควรเจาะจงทำบุญบางอย่างที่เป็นส่วนรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก 7 ข้อ รวมเป็น 10 อย่าง ดังต่อไปนี้ 4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติสุภาพอ่อนน้อม 5. ไวยาวัจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ ให้บริการ บำเพ็ญประโยชน์ 6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี 7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการพลอยยินดี ในการทำความดีของผู้อื่น 8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ที่ปราศจากโทษ 9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ 10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง
ค. คุ้นพระศาสนา ถ้าจะปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ถึงขั้นเป็นอุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้ใกล้ชิดพระ ศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกธรรม 7 ประการ คือ
1.ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ 2. ไม่ละเลยการฟังธรรม 3. ศึกษาในอธิศีล คือ ฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป 4. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ 5. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิดหาช่องที่จะติเตียน 6. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสดงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา 7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นที่ต้น คือ เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา
ง. เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ อุบาสก อุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่เรียกว่า อุบาสกธรรม 5 ประการ คือ
1.มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย
2. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล 5
3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่า ขลังศักดิ์สิทธิ์
5 4
4. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้ 5. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา
จ. หมั่นสำรวจความก้าวหน้า กล่าวคือ โดยสรุป ให้ถือธรรมที่เรียกว่า อารยวัฒิ 5 ประการ เป็นหลักวัดความเจริญในพระศาสนา
1. ศรัทธา เชื่อถูกหลักพระศาสนา ไม่งมงายไขว้เขว 2. ศีล ประพฤติและเลี้ยงชีพสุจริต เป็นแบบอย่างได้ 3. สุตะ รู้เข้าใจหลักพระศาสนาพอแก่การปฏิบัติและแนะนำผู้อื่น 4. จาคะ เผื่อแผ่เสียสละ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ซึ่งพึงช่วย 5. ปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระ
วิชาประวัติพระพุทธศาสนา
เนื้อหาวิชาประวัติพระพุทธศาสนาประกอบด้วย พระพุทธประวัติ มีเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับพระพุทธประวัติด้าน ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา โปรดพุทธบิดา โปรดพุทธมารดา ปรินิพพาน
5 5

การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น (ตอนที่ 1)
การถ่ายทอดวิถีพุทธปฏิบัติต่อวัยรุ่น (ตอนที่ 2)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น