ศึกษาและโหลดฟรีเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับงานวิจัย all free download research
วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552
การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม (ตอนที่ 1)
การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม
นางสาวสุนิจจา ทัพศาสตร์
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาการบริหารการศึกษา
ปีการศึกษา 2546
ISBN : 974-373-293-4
ลิขสิทธิ์ของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
A STUDY OF READINESS OF SCHOOL-BASED
MANAGEMENT FOR PRIMARY SCHOOLS,
PRIMARY EDUCATION OFFICE,
SAMUTSONGKHRAM
MS SUNITJA TABSAT
A Thesis Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements
for the Master of Education (Education Administration)
at Rajabhat Institute Bansomdej Chao Praya
Academic Year 2003
ISBN : 974-373-293-4
วิทยานิพนธ์ การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียน
ประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
โดย นางสาวสุนิจจา ทัพศาสตร์
สาขา การบริหารการศึกษา
ประธานกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ ดร. รังสรรค์ มณีเล็ก
กรรมการ รองศาสตราจารย์ เกริก วยัคฆานนท์
กรรมการ อาจารย์ ทวีศักดิ์ จงประดับเกียรติ
บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อนุมัติให้วิทยานิพนธ์นี้
เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
....................................................................... คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
(ดร.สรายุทธ์ เศรษฐขจร)
คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
....................................................................... ประธานกรรมการ
(ศาสตราจารย์ ดร. สายหยุด จำปาทอง)
....................................................................... กรรมการ
(ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก)
....................................................................... กรรมการ
(รองศาสตราจารย์ เกริก วยัคฆานนท์)
....................................................................... กรรมการ
(อาจารย์ทวีศักดิ์ จงประดับเกียรติ)
....................................................................... กรรมการ
(ดร.เปรมสุรีย์ เชื่อมทอง)
....................................................................... กรรมการและเลขานุการ
(รองศาสตราจารย์ สมชาย พรหมสุวรรณ)
ลิขสิทธิ์ของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สุนิจจา ทัพศาสตร์. (2546). การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฎ
บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, คณะกรรมการควบคุม : ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
รองศาสตราจารย์ เกริก วยัคฆานนท์ อาจารย์ทวีศักดิ์ จงประดับเกียรติ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารสถานศึกษา
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ
ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน
ด้านการบริหารตนเอง และด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและ
ครูผู้สอนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 292 คน
ได้มาจากการสุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับ
ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงาน
การประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงครามของผู้บริหารและครูผู้สอน ลักษณะเป็น
แบบมาตรประมาณค่า โดยแบบสอบถามทั้งฉบับมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98 วิเคราะห์ข้อมูล
ด้วยโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างด้วย t-test และ
ANOVA
ผลการวิจัยพบว่า
1. ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัด
สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม ของผู้บริหารและครูผู้สอน
โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีความพร้อมมากคือ ด้านการตรวจสอบและ
ถ่วงดุล ด้านการบริหารตนเอง และด้านการมีส่วนร่วม ส่วนด้านที่มีความพร้อมในระดับ
ปานกลาง คือ ด้านการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน และด้านการกระจายอำนาจ
2. ผลการเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียน
ประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม ของผู้บริหารและครูผู้สอน
พบว่า
2.1 ผู้บริหารและครูผู้สอนที่มีตำแหน่งหน้าที่ต่างกัน มีความพร้อมในการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไม่แตกต่างกัน
2.2 ผู้บริหารและครูผู้สอนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน มีความพร้อมใน
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไม่แตกต่างกัน
SUNITJA TABSAT. (2003). A STUDY OF READINESS OF SCHOOL-BASED
MANAGEMENT FOR PRIMARY SCHOOLS, PRIMARY EDUCATION OFFICE,
SAMUTSONGKHRAM. MASTER DEGREE DISSERTATION, BANGKOK:
GRADUATE SCHOOL RAJABHAT INSTITUTE BANSOMDEJ CHAO PRAYA,
ADVISOR COMMITTEE: DR. RANGSAN MANEELEK; ASSOC.PROF.KRERK
WAYAKANON; MR.THAWISAK CHONGPRADABKIAT.
The objectives of this research were to study and compare five methods of management
for primary school by using school-based management as a concept. The five management
methods composed compressed delegation of authority, participaratory management by staffs,
participation by the local community, self-management and checking and balance. The samples,
obtained by simple random sampling method, were school principals and teachers in the schools
under the office of the primary school, Samutsongkhram province. Questionnaires were the
instrument to of collect data. The analytical methods were of percentage, means, standard
deviation t-test and ANOVA.
Findings of the study revealed the following:
1. The study found that the school principals and teachers, rated satisfaction of the
total and parts of the management methods. The highly rated methods were the checking and
balance, self-management and participation. Participation by the local community and
delegation of authority were rated at the moderate level.
2. The school principles and teachers were ready for school-based management.
However, it was found,
2.1 There was no statistical difference at 0.05 levels between the school principals
and teachers.
2.2 There was no statistical difference at 0.05 levels between the school principals
and teachers in different sized school.
ประกาศคุณูปการ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สำเร็จลุล่วงได้โดยดี ก็ด้วยการที่ได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจาก ดร.
รังสรรค์ มณีเล็ก อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รองศาสตราจารย์เกริก วยัคฆานนท์ และอาจารย์
ทวีศักดิ์ จงประดับเกียรติ กรรมการวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้เอาใจใส่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและ
ตรวจแก้ไขเพื่อให้วิทยานิพนธ์มีความถูกต้อง ผู้วิจัยขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบพระคุณคณาจารย์ สาขาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัยสถาบัน
ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทุกท่านที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ผู้วิจัย
ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์ ดร.สายหยุด จำปาทอง และดร.สรายุทธ์ เศรษฐขจร
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และรองศาสตราจารย์สมชาย
พรหมสุวรรณ กรรมการและเลขานุการ ในการสอบวิทยานิพนธ์ที่กรุณาให้คำแนะนำ และให้
ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงแก้ไขให้วิทยานิพนธ์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขอขอบพระคุณ ดร.เปรมสุรีย์ เชื่อมทอง กรรมการและผู้เชี่ยวชาญ นางพยอม สุขมาก
นางวันเพ็ญ เกตุสกุล นายสุนทร ป้านสกุล และนางสาวสายใจ เจียมสุวรรณ ซึ่งกรุณาเป็น
ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเครื่องมือและให้คำแนะนำ อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะใน
การสร้างเครื่องมือในการวิจัย และขอขอบพระคุณผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนในโรงเรียน
ประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมือง สำนักงานการประถมศึกษา
อำเภออัมพวา และสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบางคนที ซึ่งให้ความอนุเคราะห์ใน
การเก็บข้อมูล และเป็นกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถาม ขอขอบพระคุณอาจารย์ทวีศักดิ์
จงประดับเกียรติ สำหรับคำแนะนำในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS มาโดยตลอด
ขอกราบขอบพระคุณ คุณแม่ ซึ่งเป็นทำให้ผู้วิจัยได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน จนสามารถ
นำเอาความรู้ความสามารถมารับใช้ประเทศชาติ และขอขอบพระคุณญาติพี่น้องทุกคน
ตลอดจนเพื่อนๆ สาขาการบริหารการศึกษารุ่นที่ 2 ทุกคนที่คอยให้คำแนะนำ และยังเป็นกำลังใจ
ให้แก่ผู้วิจัยด้วยดีเสมอมา
คุณความดีของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ขอมอบให้บุพการี และคณาจารย์ทุกท่าน
สุนิจจา ทัพศาสตร์
สารบัญ
หน้า
บทคัดย่อภาษาไทย…………………………………………………………………………. ก
บทคัดย่อภาษาอังกฤษ……………………………………………………………………… ข
ประกาศคุณูปการ…………………………………………………………………………… ค
สารบัญ......…...…………………………………………………………………………….. ง
สารบัญตาราง…...…………………………………………………………………………… ช
สารบัญแผนภาพ…………………………………………………………………………….. ฌ
บทที่ 1 บทนำ
1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา………………..……………………. 1
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย……………………………………………………. 4
1.3 ประโยชน์ที่จะได้รับ............…………………………………………………... 4
1.4 ขอบเขตของการวิจัย…………………………………………………………. 4
1.5 ตัวแปรที่ศึกษา................................................................................................ 5
1.6 นิยามศัพท์เฉพาะ…………………………………………………………….. 5
1.7 สมมติฐานของการวิจัย……………………………………………………….. 6
1.8 กรอบแนวคิดในการวิจัย..…....………………………………………….......... 6
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
2.1 การบริหารโรงเรียน. ……………................................................................... 9
2.2 การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน. ……………........................................... 10
2.3 ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน........................................ 26
2.4 การกระจายอำนาจ.……………..................................................................... 29
2.5 การมีส่วนร่วม.……………...................................................................…… 31
2.6 การคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน..........................................…… 34
2.7 การบริหารตนเอง........................................………………………………… 34
2.8 การตรวจสอบและถ่วงดุล............................................................................... 35
2.9 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง......................................................................................... 36
5
สารบัญ (ต่อ)
หน้า
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย
3.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง.............................................................................. 42
3.2 ตัวแปรที่ศึกษา............................................................................................... 44
3.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย................................................................................... 44
3.4 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล................................................................................ 46
3.5 การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิจัย.................................................. 46
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล............................................................................................. 47
4.1 ตอนที่ 1 สถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม..................................... 48
4.2 ตอนที่ 2 การศึกษาความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกเป็นรายด้านและรวมทุกด้าน............................................... 49
4.3 ตอนที่ 3 การเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่และขนาดโรงเรียน................................ 58
บทที่ 5 สรุปผล อภิปราย และข้อเสนอแนะ
5.1 วัตถุประสงค์ของการวิจัย.................................................................................... 60
5.2 สมมติฐานของการวิจัย................................................................................….. 60
5.3 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง............................................................................... 61
5.4 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย.................................................................................... 61
5.5 การเก็บรวบรวมข้อมูล...................................................................................... 61
5.6 การวิเคราะห์ข้อมูล.......................................................................................... 61
5.7 สรุปผลการวิจัย................................................................................................ 62
6
สารบัญ (ต่อ)
หน้า
5.8 การอภิปรายผลของการวิจัย............................................................................ 63
5.9 ข้อเสนอแนะ.................................................................................................. 68
บรรณานุกรม………………………………………………………………………………… 70
ภาคผนวก
ภาคผนวก ก แบบสอบถามเพื่อการวิจัย………………………………………….. 77
ภาคผนวก ข รายนามผู้ทรงคุณวุฒิและหนังสือราชการที่เกี่ยวข้อง……………… 82
ภาคผนวก ค ตารางที่มาของกลุ่มตัวอย่าง………………………………………... 90
ภาคผนวก ง ประวัติผู้วิจัย……………………………………………………….. 95
7
สารบัญตาราง
ตารางที่ หน้า
1 แสดงจำนวนประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกตามอำเภอและขนาดโรงเรียน………………………………………….. 43
2 แสดงจำนวนประชากรและกลุ่มตัวอย่างครูผู้สอนโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกตามอำเภอและขนาดโรงเรียน………………………………………….. 43
3 แสดงสถานภาพส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม……………………… 48
4 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม.………………………. 49
5 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านการกระจายอำนาจ………………………………………………………… 50
6 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านการมีส่วนร่วม…………………………………………………………..… 52
7 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน……………………………… 54
8 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านการบริหารตนเอง…………………………………………………………. 55
8
สารบัญตาราง (ต่อ)
ตารางที่ หน้า
9 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านหลักการตรวจสอบ และถ่วงดุล……………………………………………. 56
10 แสดงการเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่…………………………………………………….. 58
11 แสดงการเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
จำแนกตามขนาดโรงเรียน……………………………………………………… 59
9
สารบัญแผนภาพ
หน้า
แผนภาพที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย……………………………… 7
แผนภาพที่ 2 แสดงระบบการบริหารโดยใช้วงจรเดมมิ่ง (Deming).……………………….. 20
แผนภาพที่ 3 แสดงการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ……………………………………..……. 22
บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาเป็นการบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
ซึ่งมีการวางรูปแบบในการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยทรงสถาปนากรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน
พ.ศ. 2435 ต่อมาภายหลังได้พัฒนาเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (รุ่ง แก้วแดง, 2542 : 285)
การศึกษาในโรงเรียนของไทยยุคนั้นถือได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาตามแบบตะวันตก
ที่เข้ามาในสังคมไทยเพื่อที่จะรองรับการพัฒนาประเทศ ตามแนวอุตสาหกรรม ภาพของการศึกษา
ตามรูปแบบนี้ศูนย์การเรียนอยู่ในโรงเรียนมีลักษณะเด่นคือโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
แห่งเดียวเป็นสำคัญ หลวงเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียน จึงเป็นส่วนราชการที่มีลักษณะเป็น
การรวมศูนย์ การตัดสินใจสั่งการ รูปแบบและกระบวนการรวมทั้งหลักเกณฑ์ต่างๆ จะใช้
มาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรเดียวกัน ครูของหลวง
ได้รับการฝึกฝนสาระเนื้อหาจากเมืองหลวง และพื้นฐานส่วนใหญ่ก็จะเป็นสาระที่ได้รับการพัฒนา
จากประเทศตะวันตกเป็นหลักสำคัญ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2542 : 15-16)
การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะด้านปริมาณ ภายใต้บริบทหรือสภาวะแวดล้อมในขณะนั้นแต่ก็มีปัญหาที่
สั่งสมอยู่หลายประการและเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เริ่มพัฒนาในเวลาใกล้เคียงกัน
หรือภายหลังพบว่าการศึกษาไทยมีการพัฒนาการที่ด้อยกว่าหลายประเทศทั้งปริมาณและคุณภาพ
(รุ่ง แก้วแดง, 2542 : 245-250) สำหรับปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษามีอยู่หลายประการ คือ
1. การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทำให้มีการกระจายอำนาจทั้งในด้านวิชาการ
งบประมาณการบริหารงานบุคคลและกาบริหารทั่วไปสู่ระดับโรงเรียนน้อย ทำให้เกิดความล่าช้า
ในการบริหารจัดการ
2. การขาดการมีส่วนร่วมของครู-อาจารย์ ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นในการบริหารและการจัดการศึกษา
3. คุณภาพของการจัดการศึกษาค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของ
นักเรียนในรายวิชาต่าง ๆ
2
4. ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตร คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนยังไม่สามารถ
ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนซึ่งมีหลากหลายได้การวัดและประเมินผลเน้นที่การวัดความรู้
ความจำมากกว่าการวัดความรู้ ความสามารถที่เกิดจากการปฏิบัติจริง
5. ปัญหาเกี่ยวกับครู และบุคลากรทางการศึกษาบางส่วนยังขาดความรู้ความสามารถ
และทักษะในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนขาดจิตสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครู
6. ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ และทรัพยากรทางการศึกษาทั้งนี้เพราะปัญหา
เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่
7. ความเข้าใจผิดในบทบาทหน้าที่การจัดการศึกษาที่เคยให้ความสำคัญกับ
สถานศึกษามากกว่าผู้ปกครองและชุมชน (อุทัย บุญประเสริฐ, 2543 : 101-102; สำนักงาน
คณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2544 : 10)
จากสภาพปัญหาด้านการบริหารจัดการและความล้มเหลวในคุณภาพของผลผลิตทางการ
ศึกษาประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ก่อให้
เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมนานัปการ อันเป็นภาระผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมือง และ
การปฏิรูปการศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้รัฐจัด
การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้ทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (มาตรา 43) และให้จัดการศึกษาให้
เกิดความรู้คู่คุณธรรม มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ (มาตรา 81) และให้องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 289) จึงมีการตราพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิด
กระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารจัดการศึกษาดังปรากฏตามหมวด 5 ด้าน การบริหารและ
การจัดการศึกษาที่เป็นการปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารการศึกษาใหม่ให้เกิดความเป็น
เอกภาพและมีคุณภาพ ในการบริหารจัดการศึกษาและยังได้กำหนดให้มีการกระจายอำนาจ
การบริหารการศึกษางานด้านวิชาการงบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหาร
งานทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่การศึกษา
และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง (มาตรา 39) ซึ่งหมายความว่าเขตพื้นที่การศึกษา
และสถานศึกษาจะมีอำนาจ มีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของตนมากขึ้นตามที่
กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะสถานศึกษาจะมีอำนาจและความรับผิดชอบที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ
ตามแนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management : SBM) เป็น
การบริหารจัดการของโรงเรียนที่สอดคล้องกับคุณลักษณะและความต้องการของโรงเรียน
โดยสมาชิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดและพัฒนากิจกรรมด้านการศึกษา
(สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2544 : 2)
3
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ทำให้เพิ่มศักยภาพในการตัดสินใจในการบริหารการ
จัดการโรงเรียนในประเด็นต่างๆ อย่างมีคุณภาพ การปรับรื้อกระบวนการดำเนินงาน การวิเคราะห์
การสังเคราะห์ต่างๆ เช่นการทบทวนกระบวนการเรียนการสอนทบทวนโครงการหลักสูตร
การให้บริการ การจัดองค์การ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารภายในและภายนอกโรงเรียน เพราะการ
ปรับรื้อโครงสร้างก็เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ เกี่ยวกับนักเรียน และการเรียนรู้ หลักสูตรและ
การให้บริการ การจัดกระบวนการเรียนการสอนและการให้บริการ ระบบการบริหารจัดการ
โรงเรียน เรโนลล์ (Renold, 1997 : 25)
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาระดับประถม
ศึกษาได้ประกาศยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในปีงบประมาณ 2545 จำนวน 8 ยุทธศาสตร ์
และม ี 4 ยุทธศาสตร ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกำหนดให้โรงเรียนใน
สังกัด ดำเนินการศึกษาในลักษณะองค์รวม (Holistic) คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปฏิรูปหลักสูตร
สถานศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 3 การปฏิรูปการเรียนรู้ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การปฏิรูประบบบริหาร
จัดการ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพตามที่
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้การเตรียมความพร้อม
เพื่อสร้างความเข้มแข็งใน การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานตามผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งเป็น
จุดสูงสุด ตลอดจนสร้างสรรค์กระบวนการมีคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและ
ยั่งยืนตลอดไป (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2544 : 10)
จังหวัดสมุทรสงครามมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 83 โรงเรียน ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก กระจายอยู่ทั่วไป
ทั้งในเมืองและนอกเมืองนโยบายการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่
โรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การหรือแบบการทำงานของโรงเรียน จากการที่เคยรับ
หรือรอคำสั่งจากหน่วยงานระดับสูงกว่ามาเป็นการบริหารโดยการริเริ่มด้วยตนเอง
และสนองความจำเป็นชุมชนและโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนผู้ปกครองและ
ชุมชนจะเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารจัดการโรงเรียนโดยตรงมากขึ้น
บรรยากาศในการทำงานในโรงเรียนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาททั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษา
ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นอันมากและในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่
จะรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ด้วย
ผู้วิจัยในฐานะเป็นผู้ทำงานในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม จึงมีความสนใจที่จะศึกษาการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนใน
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
4
จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
2. เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ทำให้ทราบถึงความพร้อมสำหรับการบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
2. เป็นแนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานสำหรับผู้บริหารโรงเรียน
ประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม และสถานศึกษาอื่นๆ
ขอบเขตของการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้ดังนี้
1. ศึกษาจากประชากรที่ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงาน
การประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 83 คน และครูผู้สอนในโรงเรียน 1,084 คน
จาก 83 โรงเรียนจำแนกเป็น โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็ก
2. ศึกษาความพร้อมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัด
สมุทรสงคราม ที่มีต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน 5 ด้าน คือ
2.1 ด้านการกระจายอำนาจ
2.2 ด้านการมีส่วนร่วม
2.3 ด้านการคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน
2.4 ด้านการบริหารตนเอง
2.5 ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล
5
ตัวแปรที่ศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ
ตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน และขนาดของโรงเรียน
ได้แก่ โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็ก
2. ตัวแปรตาม
ความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ใน 5 ด้าน ได้แก่
ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน
ด้านการบริหารตนเอง และด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล
นิยามศัพท์เฉพาะ
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดนิยามศัพท์ดังต่อไปนี้ คือ
ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ในการบริหารโรงเรียนโดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา ทำหน้าที่ดูแล
รับผิดชอบในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยให้เป็นไปตามความต้องการของนักเรียน
ผู้ปกครองและชุมชนในบางเรื่อง โดยการจำแนกได้ 5 ด้าน คือ ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการมี
ส่วนร่วม ด้านการคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน ด้านการบริหารตนเอง และ ด้านการ
ตรวจสอบและถ่วงดุล
การกระจายอำนาจ หมายถึง การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ และ
การตัดสินใจจากส่วนกลางหรือศูนย์รวมอำนาจไปสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กร
การมีส่วนร่วม หมายถึง กระบวนการที่ชุมชนได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการพัฒนาโรงเรียน
โดยร่วมแสดงความคิด การกระทำตลอดจนร่วมพิจารณากำหนดปัญหาความต้องการของโรงเรียน
และหาแนวทางในการพัฒนา
การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน หมายถึง รัฐให้อำนาจชุมชนกับโรงเรียนใน
แต่ละท้องถิ่น ร่วมกันจัดการศึกษา
การบริหารตนเอง หมายถึง การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการบริหารโรงเรียนโดยสนอง
นโยบายและเป้าหมายให้สอดคล้องกับส่วนกลาง
การตรวจสอบและถ่วงดุล หมายถึง องค์กรหรือโรงเรียนได้มีจัดการบริหารองค์กร
หรือโรงเรียนและการจัดการศึกษา โดยมีองค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารและ
การจัดการศึกษา
6
โรงเรียนประถมศึกษา หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่สังกัดสำนักงานการประถม
ศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
ขนาดโรงเรียน หมายถึง ขนาดของโรงเรียนประถมศึกษาที่ปรับปรุงจากเกณฑ์
ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542 : 25) กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแบ่ง
ออกได้เป็น 3 ขนาด คือ
โรงเรียนขนาดใหญ่ มีจำนวนมีนักเรียนตั้งแต่ 301 คนขึ้นไป
โรงเรียนขนาดกลาง มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121-300 คน
โรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1-120 คนลงมา
ผู้บริหารโรงเรียน หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกสำนักงานการประถมศึกษา
แห่งชาติให้ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถม
ศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2545
ครูผู้สอน หมายถึง ผู้ที่ทำการสอนในโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด
สมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2545
สมมติฐานของการวิจัย
1. ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานตามทัศนะผู้บริหารกับครู
แตกต่างกัน
2. โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
ที่มีขนาดต่างกัน มีความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานต่างกัน
กรอบแนวคิดในการวิจัย
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
ในมาตรา 43, มาตรา 81 และมาตรา 289 ประกอบกับการศึกษาจากพระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 39 (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2544 : 2)
ซึ่งผู้วิจัยได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาสร้างเป็นความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาวิจัย
ในครั้งนี้ ดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 1
7
ตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม
แผนภาพที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
ความพร้อม
1. ด้านการกระจายอำนาจ
2. ด้านการมีส่วนร่วม
3. ด้านการคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้
ประชาชน
4. ด้านการบริหารตนเอง
5. ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล
ตำแหน่งหน้าที่
- ผู้บริหาร
- ครูผู้สอน
ขนาดของโรงเรียน
- โรงเรียนขนาดเล็ก
- โรงเรียนขนาดกลาง
- โรงเรียนขนาดใหญ่
บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งได้นำเสนอไว้ดังนี้
1. การบริหารโรงเรียน
1.1 หลักการบริหารโรงเรียน
1.2 การบริหารโรงเรียน
2. การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.1 ความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.2 ลักษณะการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.3 หลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.4 รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.5 กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.6 การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
3. ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
3.1 ความหมายของความพร้อม
3.2 ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
4. การกระจายอำนาจ
5. การมีส่วนร่วม
5.1 การบริหารแบบมีส่วนร่วม
5.2 การมีส่วนร่วม
6. การคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน
7. การบริหารตนเอง
8. การตรวจสอบและถ่วงดุล
9. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
9
การบริหารโรงเรียน
1. หลักการบริหารโรงเรียน
นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ (2534 : 39) กล่าวว่า หลักการบริหารโรงเรียนที่ใช้กันอยู่
นั้น ผู้บริหารได้นำหลักของกระบวนการ การบริหารการศึกษามาใช้ตั้งแต่ การวางแผน
การจัดองค์การ การบริหารงานบุคคล การอำนวยการหรือการสั่งงาน การประสานงาน
การรายงาน และการจัดทำงบประมาณทั้งสิ้น
วิโรจน์ สารรัตนะ (2542 :4) ได้กล่าวอ้างถึง ทฤษฎีการบริหารจัดการของ
สถานศึกษาที่ได้พัฒนามาจากแนวคิดของคราลเวลล์ สปริงค์ (Caldwell and Spink 1996)
ซึ่งกล่าวว่า การบริหารจัดการสถานศึกษา มีเป้าหมายการศึกษาที่ตั้งสมมติฐาน
อยู่บนความหลากหลายตามสภาพของสถานศึกษาที่มีความซับซ้อนและเเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ เน้นความยืดหยุ่นและบริหารจัดการด้วยตนเอง
ตามเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อให้สถานศึกษามีความคล่องตัวในการพัฒนาและดำเนินงาน
ตามยุทธศาสตร์เฉพาะตน เพื่อการสอนและการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
สรุปว่า หลักการบริหารโรงเรียน หมายถึง การนำทฤษฎีทางและกระบวนการ
บริหารการศึกษามาใช้ในการบริหารโรงเรียน เพื่อให้งานของโรงเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่
กำหนดไว้ และสามารถบริหารและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
2. การบริหารโรงเรียน
แคมพ์เบลล์ (Campbell, 1971 : 22) กล่าวว่า การบริหารโรงเรียน หมายถึง
การจัดแผนยุทธศาสตร์ในสถาบันการศึกษา เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์
และเป้าหมายอย่างแท้จริง
เช็ง (Cheng, 1996 : 45) กล่าวว่า การบริหารจัดการที่สถานศึกษามี 2 ด้าน
คือ (1) ด้านที่ 1 ความเป็นอิสระในการตัดสินใจในสถานศึกษา โดยสถานศึกษาเป็น
หน่วยตัดสินใจภายใต้ขอบเขตหน้าที่ของสถานศึกษา สถานศึกษาจะมีอิสระในเรื่อง งบประมาณ
และการบริหารเพิ่มขึ้นและลดการควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลางลง (2) ด้านที่ 2 ความรู้สึก
เป็นเจ้าของการปฏิรูปที่เกิดผล มิได้อาศัยแต่กระบวนการภายนอกเท่านั้น แต่ต้องการให้การมี
ส่วนร่วมของสมาชิกเป็นหลัก โดยให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
นิรันดร์ ช่วยเจริญ (2543 : 12) กล่าวว่า การบริหารโรงเรียนก็คือการดำเนิน
กิจกรรมการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่ายทั้งในและ
นอกโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนได้ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาตามวัตถุประสงค์
และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
10
สรุปได้ว่า การบริหารโรงเรียน หมายถึง การบริหารจัดการในสถานศึกษา เพื่อให้
บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ซึ่งใช้รูปแบบต่างๆ เช่น การบริหารแบบประชาธิปไตย
การบริหารที่ครูใหญ่เป็นผู้ชี้นำ การบริหารโดยคณะผู้ปกครอง การบริหารโดยคณะกรรมการใน
พื้นที่สถานศึกษา
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
1. ความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 13) กล่าวถึงความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานว่า ปัจจุบันการบริหารและจัดการโรงเรียนที่ดีจะต้องกระทำเพื่อให้สอดคล้องกับ
คุณลักษณะและความต้องการของโรงเรียนนั่นก็คือสมาชิกของโรงเรียนอันได้แก่ คณะกรรมการ
บริหารโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครู-อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน ตลอดจนสมาชิก
ชุมชน และองค์กรอื่นๆ มารวมพลังการอย่างเต็มที่รับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรและแก้ปัญหา
ตลอดจนดำเนินการเพื่อพัฒนากิจกรรมด้านการจัดการศึกษาของโรงเรียนในระยะสั้นและ
ระยะยาว
ถวิล มาตรเลี่ยม (2544 : 52) กล่าวถึง ความสำคัญของการบริหารโดยใช้
โรงเรียนเป็นฐานว่า เป็นการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร
ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยี อำนาจหน้าที่ วัสดุครุภัณฑ์ บุคลากร เวลา และงบประมาณ
เป็นการกระจายอำนาจทางการบริหารจัดการมากกว่าจะเป็นอำนาจการเมือง และให้
เกิดการตัดสินใจในระดับโรงเรียนภายใต้กรอบนโยบายของท้องถิ่นของรัฐในขณะเดียวกัน
โรงเรียนยังมีความรับผิดชอบที่จะตรวจสอบได้ในการใช้ทรัพยากรที่จัดสรรให้
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (ม.ป.ป. : 1) กล่าวถึง
ความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานว่า ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำ
ไปสู่ความสำเร็จนั้น จะต้องบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) ซึ่งมี
การกระจายอำนาจทั้งด้านวิชาการ การบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณและการบริหารทั่วไป
เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ โดยคำนึงถึง
การบริหารจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-Based Management) และจัดการเรียนรู้ที่มุ่งคุณภาพ
ผู้เรียนเป็นสำคัญ
ดิเรก วรรณเศียร (ม.ป.ป. : 8) กล่าวว่า ความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานนั้น จัดได้ว่าเป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา
โดยตรง เพื่อให้สถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ การบริหารงานด้านวิชาการ การเงิน
11
บุคลากรและการบริหารทั่วไป โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร
สถานศึกษา ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชน ตัวแทนครูผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันบริหารสถานศึกษา
ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชนให้มากที่สุด
ดังนั้น ความสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จึงพอสรุปได้ว่า เป็นการ
กระจายอำนาจไปยังโรงเรียนโดยให้มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารในด้าน
การบริหารจัดการทรัพยากรด้านวัตถุและบุคคลได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
2. ลักษณะการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2543 : 97-98) กล่าวว่า
ลักษณะการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น เน้นที่การบริหารจัดการ และเน้นการพัฒนา
นักเรียนและครูรวมทั้งโรงเรียน และรวมทั้งระบบบนพื้นฐานข้อเท็จจริงโรงเรียน ดังนั้น
บทบาทของโรงเรียนจึงเป็นแบบริเริ่มพัฒนา ใช้กระบวนการการแก้ปัญหา สำรวจความเป็น
ไปได้ อำนวยความสะดวกสนับสนุนให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และ
ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิผล
ก้องเกียรติ บุดดาเจริญ (2544 : เอกสารอัดสำเนา) กล่าวว่า ลักษณะการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง หลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School– Based
Management) เป็นการบริหารที่คำนึงถึงประสิทธิภาพ ในการจัดการของสถานศึกษา
เช่น การดำเนินงาน การจัดทรัพยากร งบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน
ประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา สามารถตอบสนองความต้องการ การเรียนรู้ของนักเรียน
มีนวัตกรรมใหม่เพิ่มมากขึ้นและนักเรียนมีคุณธรรมและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
ประสิทธิภาพของการมีส่วนร่วม คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของสถานศึกษา และสามารถ
ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในการพัฒนากิจกรรมทางการศึกษาได้ ซึ่งลักษณะ
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นมีรายละเอียดพอสรุปดังต่อไปนี้
2.1 หลักการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการศึกษาจากกระทรวงและ
ส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุดโดยมีความเชื่อว่าโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญใน
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก
2.2 หลักการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย ในการมี
ส่วนร่วมในการบริหารตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษา ทั้งครู ผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน
ตัวแทนศิษย์เก่า และตัวแทนนักเรียน การที่บุคคลมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจะเกิดความรู้สึก
เป็นเจ้าของและจะรับผิดชอบในการศึกษามากขึ้น
12
2.3 หลักการคืนอำนาจการศึกษาให้ประชาชน ในอดีตการจัดการศึกษาจะทำกัน
หลากหลายบางแห่งก็ให้วัดหรือองค์กรในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมามีการรวบรวมการจัดการ
ศึกษาไปให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐานทางการศึกษา แต่เมื่อ
ประชากรเพิ่มขึ้น ความเจริญต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาโดยส่วนกลาง
เริ่มมีข้อจำกัดเกิดความล่าช้าและไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชนอย่างแท้จริง
จึงต้องมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเองอีกครั้ง
2.4 หลักการบริการตนเอง ในระบบการศึกษาทั่วไป มักจะกำหนดให้โรงเรียนเป็น
หน่วยปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลาง โรงเรียนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง สำหรับการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย และนโยบายของ
ส่วนรวม แต่มีความเชื่อว่าวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นทำได้หลายวิธี การที่ส่วนกลางทำ
หน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและเป้าหมาย และปล่อยให้โรงเรียนมีระบบการบริหารด้วยตนเอง
โดยให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งอาจดำเนินการได้
หลากหลาย ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความพร้อมและสถานการณ์ของโรงเรียน ผลที่ได้รับ
น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ที่ทุกอย่างถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าโดยทางตรง
หรือทางอ้อม
2.5 หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุม
มาตรฐานมีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพและ
มาตรฐานเป็นไปตามกำหนด และเป็นไปตามนโยบายของชาติ
สรุปว่า ลักษณะการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง การนำ
หลักการบริหารโรงเรียนมาใช้ภายในโรงเรียน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ในการจัดการของ
โรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนได้รับความเชื่อมั่นว่า สามารถบริหารงานภายในโรงเรียนได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากกว่ารูปแบบการจัดการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา
3. รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2543 : จ) ได้สรุปถึงรูปแบบการ
บริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานว่ามี 4 รูปแบบได้แก่
3.1 รูปแบบที่มีผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก ผู้บริหารเป็นประธานคณะกรรมการ
ส่วนกรรมการอื่นๆ ได้มาจากการเลือกตั้งหรือการคัดเลือกจากกลุ่มผู้ปกครอง ครู และชุมชน
คณะกรรมการมีบทบาทให้คำปรึกษา แต่อำนาจตัดสินใจยังคงอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน
3.2 รูปแบบที่มีครูเป็นหลักเกิดจากแนวคิดที่ว่า ครูเป็นผู้ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด
ย่อมรู้ปัญหาได้ดีกว่าและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตัวแทนคณะครูจะมีส่วนร่วมมากที่สุด
13
ในคณะกรรมการโรงเรียน ผู้บริหารยังคงเป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียน บทบาท
ของคณะกรรมการโรงเรียนและเลขานุการ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียน
เป็นคณะกรรมการบริหาร
3.3 รูปแบบที่มีชุมชนมีบทบาทหลัก แนวคิดสำคัญคือ การจัดการศึกษา
ควรตอบสนองความต้องการและค่านิยมของผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด ตัวแทนของผู้ปกครอง
และชุมชนจึงมีส่วนร่วมในคณะกรรมการโรงเรียนมากที่สุด ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชนเป็น
ประธานคณะกรรมการโดยมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นกรรมการและเลขานุการ บทบาทหน้าที่ของ
คณะกรรมการโรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร
3.4 รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทหลัก แนวคิดเรื่องนี้เชื่อว่า ทั้งครู และ
ผู้ปกครองต่างมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างอยู่ใกล้ชิด
นักเรียนมากที่สุด รับรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีที่สุดสัดส่วนของครูและผู้ปกครอง (ชุมชน)
ในคณะกรรมการโรงเรียนจะมีเท่าๆ กัน แต่มากกว่าตัวแทนกลุ่มอื่น ผู้บริหารโรงเรียนเป็น
ประธานบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหารมีการประชาสัมพนั ธ์
ที่ดี มีระบบการสื่อสารที่มีคุณภาพเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลสารสนเทศตรงกัน
วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์ และเฉลิมชัย หาญกล้า (2546 : 19) กล่าวว่า รูปแบบการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง การเพิ่มอำนาจให้กับบุคลากรในโรงเรียนในการที่จะปรับปรุง
และพัฒนาในส่วนที่ตนเองเห็นว่าจะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาให้ดีขึ้น และในการปรับปรุง
โรงเรียนประสิทธิผลของโรงเรียนนั้นจะต้องเกิดจากความคิดของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งจะเกิดขึ้น
ได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนเป็นสำคัญ
ดังนั้น รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จึงพอสรุปได้ว่า เป็นรูปแบบ
การบริหารโรงเรียนโดยคณะผู้ที่รับผิดชอบในโรงเรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็มีส่วนร่วมใน
การดำเนินงาน เพื่อให้สถานศึกษาบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และทำให้การดำเนินมี
ประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล อันก่อให้เกิดคุณภาพกับนักเรียนเป็นมากที่สุด นอกจากนี้ใน
การบริหารโรงเรียนยังเป็นการบริหารที่สถานศึกษาสามารถกำหนดความต้องการของสถานศึกษา
ขึ้นเอง โดยกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอำนวยการ ผู้ตรวจการบริหาร
สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยมีอิสระและความรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรใน
การแก้ปัญหาต่างมากขึ้น และทำให้กิจกรรมการศึกษาบังเกิดการพัฒนาสถานศึกษาใน
ระยะยาว
14
4. กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
กลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จให้โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา สามารถใช้
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีดังนี้ (กรมสามัญศึกษา, 2542 :
16) คือ
4.1 การสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานนั้น เป็นเรื่องที่บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนโดยเฉพาะคณะกรรมการสถานศึกษา
ต้องมีความรู้ ความตระหนักในความรับผิดชอบและขอบเขตของอำนาจหน้าที่โดยมีการตัดสินใจ
ร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนัก
ให้บุคลากรทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่าและมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน จึงจำเป็นต้องปรับความคิด
ของบุคลากรฝ่ายต่างๆ ให้อยู่ในระดับเดียวกัน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543
ข : 14-15) โดยมีแนวดำเนินการดังนี้
4.1.1 สถานศึกษามีบุคลากรแกนนำที่มีความพร้อมในด้านความรู้และ
ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ จัดประชุมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับบุคลากร
โดยใช้วิทยากรของสถานศึกษาเอง เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้บริหารและครูด้านการเป็น
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และศักยภาพของสถานศึกษาที่สามารถพึ่งตนเองได้
4.1.2 ในกรณีที่มีการมอบหมายให้บุคลากรแกนนำ มีบทบาทในการขี้แจงทำ
ความเข้าใจกับทีมงานยังไม่ประสบความสำเร็จก็จำเป็นต้องจัดหาวิทยากรมืออาชีพมา
สร้างความเข้าใจ
4.1.3 การชี้แจงทำความเข้าใจไว้ ว่าจะดำเนินการโดยบุคลากรภายในหรือ
วิทยากรภายนอก ควรให้บุคลากรทุกคนเข้าใจหลักการ แนวปฏิบัติได้ตรงกัน และเกิด
ความร่วมมือ ร่วมใจในการปฏิบัติงานในบทบาทใหม่ต่อไป
4.2 การพัฒนาวิชาชีพผู้บริหาร โดยเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการบริหารเป็น
ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ว่าเป็นศาสตร์ก็เพราะการบริหารเป็นวิชาการ มีโครงสร้างของตนเอง
มีคำจำกัดความหรือศัพท์เฉพาะ มีระบบระเบียบวิธีการเรียนรู้และการถ่ายทอด ซึ่งเป็นเหตุ
เป็นผล เรียนรู้กันได้โดยทั่วไป ส่วนที่ว่าเป็นศิลป์นั้นก็เพราะศาสตร์หรือวิชาความรู้ที่ได้เรียน
มานั้นจะต้องนำไปดัดแปลงแก้ไข ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล
สถานที่ เวลา บรรยากาศ ค่านิยม คตินิยม ซึ่งจะใช้ศาสตร์ใด ความรู้ใด ผู้บริหารย่อมต้อง
อาศัยส่วนที่พอเหมาะ พอควร เข้ากันได้กับวัฒนธรรมและวัตถุประสงค์ขององค์การ
ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าวิชาชีพบริหารนั้นเป็นวิชาชีพครู ผู้บริหารมืออาชีพจะต้องมีมาตรฐาน
คุณภาพ โดยคุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครู มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพครูให้
15
เป็นมืออาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี จึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา พ.ศ.
2540 เพื่อให้ผู้บริหารได้นำไปปฏิบัติและพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการ
ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานดังต่อไปนี้คือ
4.2.1 มาตรฐานที่1 ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับกับพัฒนาวิชาชีพ
การบริหารการศึกษา
4.2.2 มาตรฐานที่ 2 ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงผลที่จะเกิดขึ้น
กับการพัฒนาบุคลากร ผู้เรียน และชุมชน
4.2.3 มาตรฐานที่ 3 มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้
เต็มศักยภาพ
4.2.4 มาตรฐานที่ 4 พัฒนาแผนงานขององค์กรให้สามารถปฏิบัติ
ได้เกิดผลจริง
4.2.5 มาตรฐานที่ 5 พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มี
คุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
4.2.6 มาตรฐานที่ 6 ปฏิบัติงานขององค์กรโดยเน้นผลถาวร
4.2.7 มาตรฐานที่ 7 รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
4.2.8 มาตรฐานที่ 8 ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
4.2.9 มาตรฐานที่ 9 ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์
4.2.10 มาตรฐานที่ 10 แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
4.2.11 มาตรฐานที่ 11 เป็นผู้นำและสร้างผู้นำ
4.2.12 มาตรฐานที่ 12 สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ทุกสถานการณ์
4.3 การพัฒนาวิชาชีพครู อาชีพครูได้รับการยอมรับว่าเป็นวิชาชีพ หรืออาชีพ
ชั้นสูง เพราะเข้าหลักการที่เป็นลักษณะเฉพาะของวิชาชีพ ดังต่อไปนี้
4.3.1 มีจรรยาบรรณ ชีพที่มีจรรยาบรรณเป็นของตัวเองต้องมีการกำหนด
ข้อบังคับ ระเบียบในการปฏิบัติวิชาชีพของผู้ประกอบอาชีพ เป็นการเฉพาะนอกเหนือจาก
กฎเกณฑ์ของหน่วยงานที่ปฏิบัติกันอยู่แล้ว
4.3.2 เวลาของการศึกษาอบรม ผู้ที่จะออกไปประกอบอาชีพที่จัดว่า
เป็นวิชาชีพ จะต้องได้รับการศึกษาในสถาบันระดับอุดมศึกษาเป็นการเฉพาะต่อจาก
ชั้นมัธยมศึกษา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านสติปัญญา คือวิชาความรู้ในสาขา และ
ฝึกทักษะสำหรับความชำนาญในการประกอบอาชีพโดยตรง
16
4.3.3 เป็นอิสระในการประกอบอาชีพ ที่จะออกไปประกอบอาชีพ จะมี
ความเป็นอิสระในการประกอบอาชีพ โดยสามารถใช้ความรู้ทางวิชาการที่เรียนมาโดยตรงและ
ใช้ดุลยพินิจในการประกอบอาชีพของตนได้
4.3.4 การพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิก ผู้ที่ประกอบอาชีพ จะมีองค์การ
คอยพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก ทั้งในด้านการป้องกันและบำรุงรักษาสิทธิผลประโยชน์
และการปฏิบัติงาน
4.3.5 มีการให้บริการแก่สังคม ผู้ที่ประกอบวิชาชีพจะต้องจัดบริการทาง
วิชาชีพให้แก่สังคมด้วยโดยนำความรู้ในวิชาชีพของตนมาเผยแพร่และบริการสังคมในลักษณะของ
การบริการทางวิชาการไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางหนึ่งทางใด
4.3.6 มีระเบียบวิธีการศึกษาทางวิชาการ ผู้ที่จะศึกษาในกลุ่มวิชาชีพจะต้องมี
ระเบียบวิธีใช้ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และสร้างความรู้ใหม่ขึ้นด้วย เป็นความรู้ที่พัฒนาทาง
สติปัญญาจากกระบวนการคิดค้น ทดลอง มิใช่จากทักษะประสบการณ และความชำนาญจากการ
ปฏิบัติเท่านั้น
ดังนั้นในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 53 จึงได้
ระบุไว้ว่า ต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่เหมาะกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
ประกอบกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชนต้องมีใบอนุญาต
ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา มีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของ
สภาวิชาชีพ ในกำกับของกระทรวงมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานตามมาตรฐานและ
จรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหาร
การศึกษา
4.4 การมีวิสัยทัศน์ โรงเรียนในฐานะหน่วยงาน ที่มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนา
เยาวชนของชาติให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพตามความคาดหวังของสังคม จะต้องตระหนักดีกว่า
สภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อการบริหารและ
พัฒนางานของโรงเรียนมากมายวิธีการบริหาร และกระบวนการในการปฏิบัติงานในปัจจุบัน
จะต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะโรงเรียน
เป็นองค์กรที่มีบุคลากรหลายระดับเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่นักเรียนครู-อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องได้มี
ส่วนร่วมและปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสังคมที่
เปลี่ยนแปลงไป (กรมสามัญศึกษา, 2543 : 23)
แนวคิดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์มีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนยุทธศาสตร์ของ
องค์กร สำหรับสถานศึกษานั้น การกำหนดวิสัยทัศน์เป็นกระบวนการที่เกิดจากผู้บริหารและ
17
บุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความมุ่งหวัง ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการนำข้อมูลจากการสำรวจปัจจัยภายในและภายนอกมาวิเคราะห์ ด้วยวิธีการระดมสมอง
การประชุมอภิปรายกลุ่ม เทคนิค สุชวนะ หรือ Normal Group Technique (NGT) โดยเน้น
ความคิดที่เป็นจริงและค้นหาจุดสำคัญได้ ทั้งนี้ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำร่วมกับบุคคลทุกขั้นตอน
เพราะมติของกลุ่มภายใต้การยอมรับจากทุกคน
การกำหนดวิสัยทัศน์เป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งของผู้บริหารโรงเรียน
ในการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสภาพปัจจัยภายนอก และสภาพปัจจัยภายในทุกด้านมา
วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปร่วมกับคณะกรรมการ หัวหน้าฝ่าย/หมวดวิชา/งาน และครู อาจารย์
ที่เกี่ยวข้อง นำมากำหนดวิสัยทัศน์ที่มีความครอบคลุม ชัดเจน กว้างไกล สามารถ
แก้ปัญหา พัฒนา ปรับปรุงสภาพที่ไม่ต้องการ ข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของโรงเรียนได้
(กรมสามัญศึกษา, 2542 : 24 -29)
4.5 การบริหารจัดการที่เป็นระบบ
ธร สุนทรยุทธ (ม.ป.ป. : 14) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ระบบ” (Systems)
เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในธรรมชาติ เช่น ระบบนิเวศ ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ เป็นต้น
ปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีระบบระเบียบเสมอ มนุษย์เอง
ยึดระบบเพื่อการดำเนินงาน เช่น การปลูกบ้าน เจ้าของบ้าน ช่างหรือสถาปนิกต่างก็พยายามที่จะ
คิดให้องค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน ประกอบกันขึ้นเป็นบ้านที่มีความสวยงาม คงทนถาวรเป็นที่
อยู่อาศัยที่ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพียงแต่ว่าข้อสังเกตหรือการกระทำ
ของมนุษย์ ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีการเก็บรวบรวม จัดหมวดหมู่และนำมาศึกษาอย่างจริงจังเท่านั้น
การบริหารในลักษณะที่เป็นระบบก็เช่นกัน นับว่ามีมานานแล้ว ได้รับการพัฒนา
เรื่อยมาจนสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานต่างๆ จนก่อให้เกิดผลงานมากมาย
อุบล เรียงสุวรรณ (2538 : บทนำ) ได้ให้ความหมายของ “ระบบ” ว่าหมายถึง
สิ่งต่างๆ ที่อยู่รวมกันและต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีระบบโดยส่วนประกอบหรือปัจจัยต่างๆ
ของระบบ มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
และจากความหมายดังกล่าว อาจแบ่งระบบออกได้เป็น 2 ลักษณะ และองค์ประกอบของระบบ
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
4.5.1 ระบบลักษณะที่ 1 คือระบบที่มีหมายถึงหน่วยทำงาน มีทั้งประเภท
ระบบที่มีชีวิต เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบหัวใจ ระบบขับถ่าย ระบบที่ไม่มีชีวิต เช่น ระบบ
รถยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องฉายข้ามศีรษะ พัดลม รวมทั้งระบบที่ไม่มีตัวตนให้เห็นหรือเห็น
เพียงบางส่วน เช่นระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งระบบเป็น
หน่วยทำงานนี้จะประกอบด้วย
18
(1) เป้าหมาย คือความสำเร็จที่ต้องเกิดจากการทำงานของระบบนี้
(2) องค์ประกอบพื้นฐานและบทบาทหน้าที่ คือ ส่วนประกอบที่สำคัญ
อันเป็นส่วนย่อยในระบบ ที่มีหน้าที่หรือประโยชน์ใช้งานต่างๆ เพื่อร่วมทำกิจกรรมของระบบ
ทำให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย
(3) การประสานงาน คือแนวทางความร่วมมือระหว่างองค์ประกอบ
พื้นฐานภายในระบบและบทบาทหน้าที่ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนและเป็นปัจจุบัน
(4) กิจกรรม ระบบที่เป็นหน่วยทำงานจะต้องมีกิจกรรมเพื่อให้เกิดความ
สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งกิจกรรมจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบของระบบ อันได้แก่ ปัจจัย
(Input) เช่น วัตถุดิบต่างๆ มีกระบวนการ (Process) คือวิธีการทำงานแล้วเกิดผลผลิต (Products)
แล้วก่อให้เกิดผลกระทบ ซึ่งผลผลิตและผลกระทบนี้รวมกันคือ เป้าหมายของระบบนั้นๆ
4.5.2 ระบบลักษณะที่ 2 ระบบที่หมายถึงกระบวนการทำงานคือขั้นตอน
การทำงาน ที่อาจเรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น วิธีการเชิงระบบ การทำงานเชิงระบบ หรือการทำงาน
เป็นกระบวนการ ซึ่งระบบดังกล่าวนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำงานของระบบที่เป็น
หน่วยที่ทำงานนั่นเอง ลักษณะสำคัญของการทำงานที่เป็นกระบวนการ หรือวิธีการเชิงระบบที่เป็น
หน่วยทำงานนั่นเองลักษณะสำคัญของการทำงานที่เป็นกระบวนการนั้นได้มีผู้เสนอ
และแบ่งขั้นตอนไว้หลายๆ แบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น กระบวนการบริหารที่นิยมใช้
กันมาก และสอดคล้องเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูได้กำหนดไว้คือ
(1) การกำหนดปัญหาและความต้องการจำเป็น
(2) การวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา
(3) การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมและวางแผนการแก้ปัญหา
(4) การดำเนินงานตามแผน/โครงการ
(5) การประเมินผล
4.5.3 องค์ประกอบของระบบและโครงสร้างของระบบซึ่งประกอบไปด้วย
ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และ ผลงาน หรือ ผลผลิต และมีความหมายดังต่อไปนี้
(1) ปัจจัยนำเข้า หมายถึง ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่
รอบข้างระบบที่ถูกป้อนที่ถือว่าเป็นปัจจัยนำเข้าคือ ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ชนิดต่างๆ และ
พนักงานในโรงแรม ถ้าเป็นระบบทางการศึกษาในโรงเรียน ตัวป้อนได้แก่ โรงเรียน
ครู นักเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนของนักเรียนเอง
เป็นต้น
(2) กระบวนการ หมายถึง วิธีการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ทำให้สิ่งที่ป้อน
เข้าไปเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ผลงาน หรือ ผลผลิตของระบบ ซึ่งนับได้ว่าเป็น
19
องค์ประกอบที่สองของระบบ เช่น ในระบบอุตสาหกรรม กระบวนการได้แก่ กรรมวิธี
ในการผลิตในลักษณะต่างๆ และในระบบการศึกษากระบวยการได้แก่ วิธีการสอน หรือ
การบริหารการเรียนการสอนต่างๆ เป็นต้น
(3) ปัจจัยผลงาน หรือ ผลผลิต เป็นองค์ประกอบสุดท้ายหมายถึง
ผลสัมฤทธิ์ในลักษณะต่างๆ ทั้งที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดจากการดำเนินงานใน
ระบบกระบวนการ เช่น ในระบบอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าสำเร็จรูปต่างๆ เช่น รถยนต์
เครื่องบิน เสื้อผ้า และอื่นๆ ในระบบทางการศึกษา ได้แก่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนใน
ลักษณะต่างๆ เป็นต้น
กล่าวได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 3 ของระบบจะมีการดำเนินงาน
ไปตามลำดับและต่างมีการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมเดียวกันด้วย ส่วนการควบคุมหรือ
การตรวจสอบแก้ไข อาจเกิดจากกระบวนการที่ควรปรับปรุงเฉพาะตัวป้อน เป็นต้น
การตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขจะต้องอาศัยข้อมูลย้อนกลับด้วย
4.5.4 กระบวนการบริหารงานเชิงระบบ ไว้ว่า เนื่องจากความหมายของระบบ
มี 2 ลักษณะคือ ระบบในความหมายที่เป็นหน่วยทำงาน และระบบในความหมายที่เป็น
กระบวนการทำงาน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งระบบทั้ง 2 ลักษณะจะต้องดำเนินการอย่าง
ประสานสอดคล้องควบคู่กันไป กล่าวคือ ระบบในความหมายที่เป็นหน่วยทำงานจะมีหน้าที่ใน
การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน โครงสร้างการบริหาร กำหนดบทบาท หน้าที่
การประสานงาน และกิจกรรมการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียน ตามองค์ประกอบของระบบทั้ง 3
องค์ประกอบ คือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้บริหารโรงเรียน
จะต้องสนับสนุนส่งเสริม กำกับติดตาม ประเมินการดำเนินงานของฝ่ายงานและหมวดวิชาต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องให้เกิดกระบวนการทำงานเชิงระบบตามความหมายของระบบในลักษณะกระบวนการ
ทำงานอย่างสอดคล้องกัน
จะเห็นได้ว่า การบริหารเชิงระบบ ในความหมายของระบบที่เป็น
กระบวนการนั้น ได้มีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างมากมาย แต่ที่ได้รับความนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน
ก็คือ ระบบการบริหารโดยใช้วงจร เดมมิ่ง (Deming) ดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 2
20
P D
A C
แผนภาพที่ 2 แสดงระบบการบริหารโดยใช้วงจร เดมมิ่ง (Deming)
ที่มา : วรภัทร์ ภู่เจริญ (2541 : ปก)
4.6 การพัฒนาการมีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารหลักสูตร จากบทบัญญัติ
ในรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับ
การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บ
ค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาอบรมของรัฐ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่น
และชุมชน ประกอบกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้การศึกษา
เป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้
การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ
การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคล
เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็น
มนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและ
วัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การกำหนดให้สังคมมี
ส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาสาระ และกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการจัด
ทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
จัดทำสาระของหลักสูตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชน และสังคม ภูมิปัญญา
21
ท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและ
ประเทศชาติ
4.7 การพัฒนาหลักสูตร จากแนวการดำเนินการที่หลักสูตรกำหนดให้สถานศึกษา
สามารถปรับรายละเอียดเนื้อหาของรายวิชาสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นได้
นั้นการวิจัยในระหว่างพ.ศ. 2534 –2535 พบว่า หน่วยศึกษานิเทศก์ประจำเขตการศึกษาจะ
เป็นแกนนำร่วมกับโรงเรียนร่วมพัฒนาหลักสูตร ดำเนินการ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นระดับ
มัธยมศึกษาขึ้น ทั้งในลักษณะของการทำสื่อเสริม การเพิ่มเติมรายละเอียดและจัดกิจกรรม
เสริมเนื้อหาวิชาที่มีอยู่แล้วในหลักสูตร และจากการสาํ รวจแนวคดิ ของผบู้ รหิ ารและครผู สู้ อน
ในปี พ.ศ. 2542 พบว่า โรงเรียนมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมพัฒนาหลักสูตร
และจัดการเรียนการสอน ในลักษณะเชิญมาร่วมพัฒนาหลักสูตร เชิญผู้รู้มาสอนนักเรียน
ส่งนักเรียนไปฝึกงานที่บ้านหรือสถานประกอบการของผู้รู้ให้นักเรียนสำรวจข้อมูลท้องถิ่นและนำ
สิ่งที่เป็นองค์ความรู้มาจัดการเรียนการสอน และโรงเรียนจัดพิพิธภัณฑ์หรืออุทยานการศึกษา
ด้วยการรวบรวมความรู้ในท้องถิ่น ไว้ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า (รวีวัตร์ สิริภูบาลและคณะ, 2545 :
42 ) ขั้นตอนในการออกแบบและการพัฒนาหลักสูตร
4.8 ขั้นตอนในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร
ทาบา (Taba, 1962 : 12) ได้ให้ขั้นตอนในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร
เพื่อให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพไว้ 7 ขั้นตอนดังนี้
4.8.1 การวิเคราะห์ความต้องการ
4.8.2 ตั้งวัตถุประสงค์
4.8.3 เลือกเนื้อหาวิชา
4.8.4 รวบรวมเนื้อหาให้เป็นระบบ
4.8.5 จัดระบบประสบการณ์ในการเรียนรู้
4.8.6 ตั้งเกณฑ์ประเมินผล
สุมน อมรวิวัฒน์ (2542 : 12-16) กล่าวถึง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ว่าเป็น
การนำหลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บทมาปรับลดหรือเพิ่มเนื้อหาสาระและแผนการสอนที่
เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต ทรัพยากรของท้องถิ่น
ความต้องการอื่นๆ ของท้องถิ่น หรือเป็นการจัดทำหลักสูตรของท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ใน
กรณีที่เป็นความจำเป็นของท้องถิ่นที่หลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บทไม่ได้กำหนดไว้เพื่อ
ให้ผู้บริหารและครูนำไปใช้ในโรงเรียนต่อไป ซึ่งดำเนินการได้ทั้งในระดับเขตการศึกษา ระดับ
จังหวัด ระดับอำเภอ หรือระดับโรงเรียนก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่าหลักสูตรท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งของ
22
หลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บทโดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนา
หลักสูตรด้วย
4.9 การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ
เกรยี งศกั ด์ิ พราวศร ี (2544 : 1-2) ได้ให้ความหมายของข้อมูลและสารสนเทศ
ไว้ดังนี้
4.9.1 ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นตัวเลข สัญญาลักษณ์และ
ตัวหนังสือแทนปริมาณหรือการกระทำต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ผ่านการประมวลผล หรือการวิเคราะห์
4.9.2 สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผลหรือการวิเคราะห์
แล้วอยู่ในรูปแบบที่มีความหมายสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ได้ตามวัตถุประสงค์
4.9.3 ระบบสารสนเทศ หมายถึง ระบบที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมจัดเก็บ และ
การใช้สารสนเทศสนองความต้องการของหน่วยงาน ทั้งนี้โดยมีการจัดเก็บอย่างมีระบบ ดังแสดง
ไว้ในแผนภาพที่ 3
แผนภาพที่ 3 แสดงการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ
ที่มา : เกรยี งศกั ด์ิ พราวศร ี (2544 : 1-2)
จากแผนภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้า เมื่อผ่าน
กระบวนการการประมวลผลหรือการวิเคราะห์แล้ว จะนำไปประกอบในการตัดสินใจและ
ผลลัพธ์ ซึ่งผู้ใช้สารสนเทศหรือผู้บริหาร จะนำไปประกอบในการตัดสินใจและผลลัพธ์
จากการตัดสินใจ ยังสามารถเป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจต่อไป
ความเข้มแข็งในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง
อาศัยฐานข้อมูลที่มีคุณภาพเป็นปัจจุบันสามารถเรียกใช้และปรับปรุงได้ตลอดเวลาฐานข้อมูลที่มี
ปัจจัยนำเข้า
ข้อมูล
การประมวลผล
การวิเคราะห์
ผลลัพธ์
ข้อมูล
ผลลัพธ์
การใช้สารสนเทศ
ผู้ใช้
การ
ตัดสินใจ
23
คุณภาพ จะทำให้การบริหารและตัดสินใจ ในการจัดกิจกรรมการศึกษา หรือการแก้ปัญหา
การดำเนินงานของโรงเรียนเป็นไปอย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โรงเรียน
ควรสร้างฐานข้อมูล หรือระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ซึ่งข้อมูลจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของโรงเรียนอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน บุคลากร
ทรัพยากร อาคารสถานที่ ฯลฯ และโรงเรียนควรจะต้องสำรวจ วิจัยข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น
ความต้องการจำเป็นต่างๆ ควรมีประสิทธิภาพของการบริหารหรือการจัดการเรียนการสอน
ระบบสารสนเทศยึดหลักการที่เน้นการออกแบบและการนำเอาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยอาศัย
คอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการบริหารผลิตข้อมูล และสารสนเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร
ทุกระดับอย่างกว้างขวางและหลากหลายวิธี เช่นระบบฐานข้อมูลในองค์การทางการศึกษา
ซึ่งมักจะประกอบด้วย ฐานข้อมูลวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านอาคารสถานที่ ด้านนักเรียน
ด้านการเงินและงบประมาณ ด้านชุมชน และด้านวัสดุอุปกรณ์ ที่ผู้บริหารสามารถจัดให้เป็น
ระบบฐานข้อมูลในทุกด้านอย่างครอบคลุม ทันสมัย และสะดวกต่อการนำไปใช้ประกอบ
การตัดสินใจทางการบริหารได้ทุกเวลา
4.10 การมีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติงานที่เป็นระบบ
กรมสามัญศึกษา (2543 : 6) กล่าวว่า สำหรับการทำงานเชิงระบบ คือ
การทำงานทุกขั้นตอน หรือวิธีการเชิงระบบก็คือ การทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ
ที่เรียกว่า การทำงานครบวงจร ก็จะส่งผลให้งานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอน
การทำงานที่เป็นกระบวนการนั้นได้มีผู้เสนอและแบ่งขั้นตอนไว้หลายๆ แบบแล้วแต่วัตถุประสงค์
ที่ตั้งไว้ เช่น กระบวนการบริหาร กระบวนการนิเทศ กระบวนการทางวิทยาศาสตร เปน็ ตน้
ในที่นี้จะนำเสนอกระบวนการเชิงระบบที่นิยมใช้กันมากและสอดคล้องกับเกณฑ์ของสำนักงาน
คณะกรรมการข้าราชการครู คือ
4.10.1 การกำหนดปัญหาและความจำเป็น
4.10.2 การวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา
4.10.3 การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมและวางแผนการแก้ปัญหา
4.10.4 การดำเนินงานตามแผน/โครงการ
4.10.5 การประเมินผล
และในการบริหารงานและการทำงานในโรงเรียนของผู้บริหาร ผู้ช่วยผู้บริหาร
หัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้างาน และครูอาจารย์ตามภารกิจที่รับผิดชอบไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด
ทุกคนจะต้องตกลงร่วมมือกันดำเนินการตามกระบวนการบริหารเชิงระบบ ดังต่อไปนี้
4.10.6 การวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น เป็นการค้นหาสภาพ
ปัญหาที่ได้มาจากช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับสภาพที่คาดหวัง โดยการวิเคราะห์ประเมิน
24
จัดลำดับ ความสำคัญของปัญหา จากความแตกต่างระหว่างสภาพที่คาดหวังที่เป็นความต้องการ
กับสภาพที่ทำได้จริง ถ้ามีความแตกต่างมากก็เป็นปัญหาความต้องการมาก การวิเคราะห์ปัญหานี้
ควรยึดหลัก “ร่วมคิด ร่วมทำ” โดยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้
เกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป
4.10.7 การวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหาเป็นกระบวนการทำงาน
เชิงระบบ ที่ต่อเนื่องจากการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น เมื่อผู้บริหารประกาศนโยบาย
เป้าหมาย และมาตรการที่ได้จากการวิเคราะห์ความต้องจำเป็นและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ฝ่าย งาน หมวดวิชาต่าง ๆ ก็นำมาวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น และ
กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาต่อไป ดังนั้นการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา
ของบุคลากรในแต่ระดับนั้น ต้องวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา โดยกำหนดทางเลือกไว้
อย่างหลากหลายและที่สำคัญ คือ ควรเลือกที่มีความสร้างสรรค์ เป็นกลวิธีที่แยบยล เป็นวิธี
ที่แก้ปัญหาที่ยังไม่มีใครคิดหรือเคยทำมาก่อน หรือเป็นการต่อยอดความคิดของคนอื่นให้ดี
ให้ใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
4.10.8 การเลือกทางเลือกที่เหมาะสมและการวางแผนแก้ปัญหา เมื่อวิเคราะห์
ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลายได้แล้ว บุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินทางเลือกแต่ละ
ทางเลือก เพื่อจัดลำดับความสำคัญของแต่ละทางเลือก โดยพิจารณาจากทรัพยากร ข้อจำกัด
และเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
(1) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือเป็นกลวิธีที่แยบยล
(2) ความสามารถที่จะทำให้สภาพปัญหานั้น ๆ หมดไปได้
(3) การที่จะทำให้บรรลุผลตามนโยบายเป้าหมายและมาตรการที่
กำหนด
(4) ความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียน
(5) ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เช่น คน เงิน เวลา
วัสดุอุปกรณ์
(6) ปัญหา อุปสรรค ผลลัพธ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการ
ปฏิบัติ
4.10.9 การดำเนินการตามแผน/โครงการ เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานตามแผน/
โครงการ บทบาทหน้าที่ของบุคลากรแต่ละระดับ เช่น
(1) ระดับโรงเรียน ผู้บริหารซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำหนด
เป้าหมาย มาตรการ กรอบแผนงาน/โครงการของโรงเรียน กำหนดผู้รับผิดชอบงาน/โครงการ
25
ก็จะต้องคอยกระตุ้นผลักดัน เร่งรัด นิเทศ กำกับ เฝ้าระวังติดตาม สร้างขวัญกำลังใจ
แก่บุคลากรทุกฝ่าย ทุกหมวดวิชาและทุกงานอย่างเป็นระบบและอย่างต่อเนื่อง
(2) ระดับฝ่าย ผู้ช่วยผู้บริหารก็จะกระตุ้นผลักดัน เร่งรัด นิเทศ กำกับ
เฝ้าระวังติดตาม สร้างขวัญกำลังใจใจ แก่บุคลากรทุกฝ่าย ทุกหมวดวิชาและทุกงานอย่างเป็น
ระบบและอย่างต่อเนื่อง
(3) ระดับหมวดวิชา หัวหน้าหมวดวิชาและหัวหน้างานก็ทำหน้าที่
เช่นเดียวกับผู้บริหารและผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนในหมวดวิชาและงานของตนเอง
4.10.10 การประเมินผลการดำเนินงาน การประเมินผลนับว่าเป็นขั้นตอน
ที่สำคัญขั้นหนึ่งของการบริหารงานหรือการทำงานเชิงระบบ มีหลายหน่วยงานที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ
และให้ความสำคัญในขั้นตอนอย่างจริงจังทำให้ภาพและผลของการทำงานออกมาไม่ชัดเจน
เท่าที่ควรส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานหรือการบริหารงาน
ดังนั้น กลยุทธ์สู่ความสาํ เร็จในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จึงหมายถึง
การนำเอาวิธีการวางแผนงานและกำหนดเป้าหมายร่วมกันของชุมชนมาใช้ในการบริหารโรงเรียน
เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และเป็นไปตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
5. การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ก้องเกียรติ บุดดาเจริญ (2544 : เอกสารอัดสำเนา) และสำเนา เลียบมา (2544 : 4)
ได้อธิบายไว้ว่า การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นได้รับอิทธิพลมาจากกระแสการ
เปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จจากหลักการ วิธีการ และกลยุทธ์ใน
การทำให้องค์การมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ผลการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ สร้างกำไร
และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง จากความสำเร็จดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นนั้นต้องปรับกระบวนและวิธีการที่เคยเน้นเรื่อง การเรียน
การสอน ไปสู่การบริหาร โดยการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติ และให้
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง
อนันต์ เพียรพานิชย์ (2545 : 5) และสุทธิพงษ์ จุรุเทียบ (2545 : 6) กล่าวว่า การบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง การบริหารโดยให้สถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบมี
ความเป็นอิสระและคล่องตัวในการตัดสินใจ ในการบริหาร จัดการในการสั่งการเกี่ยวกับ
การบริหารโรงเรียนทั้งด้านหลักสูตร การเงิน การบริหารบุคคล และการบริหารทั่วไป โดยมี
คณะกรรมการโรงเรียนประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน ตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชน
26
ร่วมกันบริหารโรงเรียนให้สอดคล้อง และเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนของผู้ปกครอง
และชุมชนมากที่สุด
สรุปว่า การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง การบริหารโดยให้อำนาจหน้าที่
แก่สถานศึกษาในการรับผิดชอบตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารและสั่งการ ซึ่งเป็นหลักการของ
การกระจายอำนาจ ที่ทำให้เกิดความคล่องตัว และมีความเป็นอิสระทั้งในด้านหลักสูตร การเงิน
การบริหารบุคคล และการบริหารทั่วไป แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการโรงเรียน
ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชน
ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
1. ความหมายของความพร้อม
เลอฟรองซ์ (Lefrancois, 1988 : 88) กล่าวว่า ความพร้อม หมายถึง วุฒิภาวะทาง
กายภาพ ภาษาอังกฤษ (Physical Maturation) วุฒิภาวะทางปัญญา ความรู้พื้นฐานหรือ
ประสบการณ์เดิมและสภาพจูงใจ ในที่นี้สถานศึกษาจะต้องมีความพร้อม เพื่อการประกัน
คุณภาพการศึกษา ในด้านต่างๆ เช่น ด้านอาคารสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ และ
ด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงาน ถ้าสิ่งเหล่านี้มีไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย แต่มี
ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานตามนโยบายของหน่วยเหนือก็ควรพิจารณาหาทางอื่นๆ เช่น
การขอความร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กลุ่มโรงเรียน สถานประกอบการของ
เอกชน ฯลฯ หรือ ด้วยการขอบริจาคจากชุมชนหรือ ประชาชนในท้องถิ่นก็ได้ถ้าหากว่า
แนวนโยบายที่จะกำหนดนั้นตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริง
หลังจากได้ข้อมูลแล้วก็ปฏิบัติตามนโยบายคือ เนื้อหาสาระสำคัญโดยมีมาตรการ (พรรณี
ช. เชนจิต, 2538 : 47) ดังนี้คือ
1.1 จัดระบบข้อมูลและข้อสนเทศให้เชื่อมต่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
1.2 เร่งรัดนักเรียน
1.3 สนับสนุนให้นักเรียนหาประสบการณ์และรายได้ระหว่างเรียน
1.4 เร่งรัดคุณภาพและประสิทธิภาพ ของการให้บริการของโรงเรียน
1.5 ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรม
1.6 ส่งเสริมพัฒนาด้านจริยธรรม
1.7 ส่งเสริมด้านสุขภาพ อนามัย
1.8 ประสานงานและขอความร่วมมือ จากหน่วยงานต่าง ๆ
1.9 จัดระบบการประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้แพร่หลาย
27
ศศิธร ชูอินทร์ (2545 : 6) ความพร้อม หมายถึง ความสามารถในการนำเอานโยบาย
ปรัชญา แนวคิด ของการจัดการเพื่อนำไปสู่การวางแผน และการปฏิบัติ ได้จริง
ดังนั้นความหมายของความพร้อม จึงหมายถึง สภาวะความพร้อมขององค์การหรือ
บุคคลที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกับองค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลให้ลุล่วง
ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตามที่ผู้บริหารมุ่งหวัง
2. ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ก้องเกียรติ บุดดาเจริญ (2538 : 56) กล่าวว่า ความพร้อมในการบริหารโดยใช้
โรงเรียนเป็นฐานนั้น โรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านการทำความเข้าใจและศึกษาถึง
ลักษณะของโรงเรียนว่า โรงเรียนมีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาเอกชนกำหนดไว้หรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ มาตรฐาน
บุคลากรที่รับผิดชอบ การจัดเตรียมเครื่องมือเอกสารต่างๆ การจัดทำปฏิทินงาน การวางแผนและ
จัดทำโครงการเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์ และเฉลิมชัย หาญกล้า (2546 : 21-23) กล่าวว่า ความพร้อมใน
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น จำเป็นต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารเพื่อ
ความสำเร็จของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 การเตรียมการของโรงเรียนในการดำเนินการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.1.1 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของ
โรงเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาและบุคลากรหลักของโรงเรียน
2.1.2 มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาและบุคลากร
ในโรงเรียนในการดำเนินการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานอย่างชัดเจน
2.1.3 มีการกำหนดปฏิทินการดำเนินการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ที่ชัดเจน
2.2 การให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานแก่
คณะกรรมการสถานศึกษาและบุคลากรในโรงเรียน โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ จัดประชุมให้
ความรู้เรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และบทบาทในการมีส่วนร่วม
2.3 การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาและบุคลากรในโรงเรียนใน
การบริหารและจัดการการศึกษา
2.3.1 มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของโรงเรียน
2.3.2 มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์
28
2.3.3 มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการบริหารจัดการด้านวิชาการ
งบประมาณ บุคลากร และบริหารทั่วไป
2.3.4 มีส่วนร่วมในการประเมิน กำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนงานของ
โรงเรียน
2.3.5 มีส่วนร่วมในการพิจารณาผลการประเมิน กำกับ ติดตาม
2.3.6 มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ รายงานผลการประเมิน
ตนเองของโรงเรียนต่อสาธารณะ
2.4 โรงเรียนมีการปรับปรุง พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาให้เป็นไปตาม
แนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.4.1 สนับสนุนให้บุคลากรร่วมปฏิบัติงานกับคณะกรรมการสถานศึกษา
2.4.2 มีการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือธรรมนูญโรงเรียน
2.4.3 มีการปรับหรือทบทวนระบบโครงสร้างการบริหารโรงเรียน ปรับเปลี่ยน
บุคลากร กรรมการสถานศึกษา ให้เหมาะสมกับงานในความรับผิดชอบ
2.4.4 จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสถานศึกษาและ
บุคลากร
2.4.5 มีการพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาและพัฒนาวิชาชีพของบุคลากรใน
โรงเรียน
2.4.6 มีการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและพัฒนา
การเรียนการสอน
2.4.7 มีการปรับปรุง พัฒนาระบบบริหารงบประมาณ/วิชาการ/บุคลากร/บริหาร
ทั่วไป
2.5 การดำเนินการเรื่องต่างๆ ของโรงเรียน โดยมีกิจกรรมและผลงานที่มุ่งเน้น
นักเรียนเป็นสำคัญ
2.6 ผู้บริหารมีพฤติกรรมการบริหารที่สนับสนุนให้การบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานประสบความสำเร็จ
2.6.1 เน้นการมีส่วนร่วม
2.6.2 เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
2.6.3 เป็นผู้นำทางวิชาการ
2.6.4 เป็นผู้นำทางจริยธรรม
2.7 บรรยากาศการทำงานขององค์กรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
29
2.7.1 ขวัญ กำลังใจของบุคลากร
2.7.2 ความพึงพอใจของชุมชน
2.7.3 ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ
2.8 โรงเรียนมีการปรับ พัฒนาระบบบริหารให้เป็นไปตามแนวคิดของการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2.8.1 มีการปรับเปลี่ยนแผนภูมิการบริหารโรงเรียนใหม่
2.8.2 มีการจัดทำพรรณนางานในความรับผิดชอบตามโครงสร้างองค์การใหม่
2.8.3 มีการจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นในระดับ
โรงเรียน
2.8.4 มีการแต่งตั้งบุคลากร คณะกรรมการคณะทำงานตามโครงสร้างใหม่
2.8.5 มีการดำเนินงานตามโครงสร้างและระบบบริหารใหม่
2.8.6 มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
สรุปได้ว่า ความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึง
การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการบริหารโรงเรียนโดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของ
สถานศึกษา ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยให้เป็นไป
ตามความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนในบางเรื่อง โดยการจำแนกได้ 5 ด้าน
คือ ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน
ด้านการบริหารตนเอง และ ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล
การกระจายอำนาจ
แฮนสัน (Hanson, 1979 : 41) กล่าวว่า การกระจายอำนาจในองค์การเป็นการ
มอบอำนาจในการตัดสินใจเฉพาะเรื่องไปให้หน่วยงานย่อย
มินท์ซเบิร์ก (Mintzberg, 1979 : 88) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นการที่อำนาจ
กระจายไปยังบุคคลต่างๆ ซึ่งในการกระจายอำนาจนั้นเป็นการแพร่กระจายของอำนาจใน
การตัดสินใจเมื่ออำนาจทั้งหมดอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งขององค์การ องค์การนั้นก็มีโครงสร้าง
แบบรวมอำนาจ ถ้าอำนาจกระจายไปยังบุคคลต่างๆ องค์การนั้นก็กระจายอำนาจ
โคเชน และดอยซ์ (Kochen & Deutsch, 1980 : 11) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็น
วิธีการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นคุณภาพของ
การให้บริการ และการลดค่าใช้จ่าย
30
สก๊อตและคณะ (Scott และคณะ, 1981 : 45) กล่าวว่า เมื่อผู้บริหารระดับล่างหรือ
ล่างสุดขององค์การมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ และมีข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจ องค์การ
นั้นก็จะมีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจ เมื่ออำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจมีศูนย์รวมอยู่ที่ผู้บริหาร
ระดับสูงขององค์การ องค์การนั้นจะมีลักษณะเป็นการรวมอำนาจ
ดาฟท์ (Daft, 1983 : 65) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นการที่ผู้บริหารในแต่ละระดับ
ในสายบังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ ในองค์การแบบรวมอำนาจผู้บริหารระดับสูง
จะตัดสินใจ ในองค์การแบบกระจายอำนาจ การตัดสินใจในเรื่องคล้ายกันนั้นจะกระทำ
ในระดับล่าง
บราวน์ (Brown, 1990 : 42) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นการที่อำนาจหน้าที่ใน
การตัดสินใจถูกแบ่งหรือจัดสรรให้มีผู้ออกบทบาทต่างๆ ในองค์การ
คิมเมอร์เรอร์ (Kemmerer, 1994 : 8) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นการถ่ายโอนอำนาจ
หน้าที่และความรับผิดชอบจากส่วนกลางหรือศูนย์รวมอำนาจไปสู่ส่วนต่างๆ ขององค์การ
บรู๊ค (Brooke ,1984 : 54) ได้จำแนกการกระจายอำนาจเป็น 2 มิติ คือ การกระจาย
อำนาจตามแนวนอน และการกระจายอำนาจตามแนวตั้ง โดยการกระจายอำนาจตามแนวนอนมี
ความหมายเช่นเดียวกับการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมหรือการกระจายอำนาจทางการเมือง
สำหรับการกระจายอำนาจแบบแนวตั้งนั้น มีความหมายเหมือนกับการกระจายอำนาจตามลำดับขั้น
ของการบังคับบัญชา หรือการกระจายอำนาจในองค์การ
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และคณะ (2541 : 17) กล่าวถึงแนวคิดของ มินท์ซเบิร์ก
เกี่ยวกับการรกระจายอำนาจว่า เป็นลักษณะการแพร่กระจายอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งถือว่า
ลักษณะดังกล่าวเป็นการรวมอำนาจ แต่ถ้าอำนาจในการตัดสินใจได้แพร่กระจายไปยังบุคคลต่างๆ
ในองค์การหรือในหน่วยงานก็ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ มินท์ซเบิร์ก ยังได้กล่าวถึง
ลักษณะของจำแนกการกระจายอำนาจออกเป็น 2 มิติ ดังนี้ มิติที่หนึ่ง คือ การกระจายอำนาจ
ตามแนวตั้งหรือตามแนวนอน การกระจายอำนาจตามแนวตั้ง ได้แก่ การบริหารที่ให้อำนาจหน้า
ที่ในการตัดสินใจถูกแบ่งลงมาให้ตามลำดับชั้นของการบริหารหรือตามลำดับชั้นของ
การบังคับบัญชาที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกระจายอำนาจในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับบุคคล
ในสายบังคับบัญชา ตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดจนถึงผู้ใต้บังคับบัญชาระดับต่ำสุด ซึ่งการกระจาย
อำนาจตามแนวตั้ง ได้แก่ การบริหารที่อำนาจหน้าที่การตัดสินใจถูกแบ่งจากกรมมาถึงโรงเรียน
และครู สำหรับการกระจายอำนาจตามแนวตั้งเป็นการถ่ายโอนอำนาจที่เป็นทางการ ประเด็นใน
การตัดสินใจที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ประการคือ (1) จะกระจายอำนาจการตัดสินใจเรื่องอะไรลงไป
ตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา (2) จะกระจายอำนาจลงไปไกลแค่ไหนหรือจะกระจายอำนาจ
ลงไปถึงระดับของสายการบังคับบัญชา และ (3) จะประสานหรือควบคุม การใช้อำนาจที่จะ
31
กระจายไปให้อย่างไร และสำหรับการกระจายอำนาจตามแนวนอนนั้น เป็นการกระจายอำนาจ
หน้าที่ให้แก่ สายอำนวยการ สายวิชาการหรือมิใช่สายบังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งในระดับใดๆ
ภายในองค์กร ทั้งนี้เพราะในองค์กรนั้นมีนักวิชาการที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ไม่ได้
อยู่ในสายบังคับบัญชา และมิติที่สอง ของการกระจายอำนาจ คือ การกระจายอำนาจ
โดยคัดเลือกอำนาจที่กระจายหรือโดยการกำหนดความเท่าเทียมกันของอำนาจที่จะกระจาย
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 154-156) กล่าวว่า การกระจายอำนาจ เป็นการ
กระอำนาจการจัดการศึกษาจากกระทรวงและส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยมีความ
เชื่อว่าโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก
สรุปได้ว่า การกระจายอำนาจ หมายถึง การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ
และการตัดสินใจจากส่วนกลางหรือศูนย์รวมอำนาจไปสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กร
การมีส่วนร่วม
1. การบริหารแบบมีส่วนร่วม
ปรัชญา เวสารัชช์ (2528 : 10-12) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมเป็นการบริหารที่
เน้นการระดมกำลังความคิดจิตใจให้เกิดพลังในทางการบริหาร และเป็นการบริหารที่จัดกิจกรรม
ให้ผู้ปฏิบัติร่วมกันคิด ร่วมกันทำตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนเป็นกลุ่มใหญ่นอกจากนี้แล้วยังหมายถึง
กระบวนการให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์
และความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาในลักษณะของการมอบอำนาจหน้าที่เพื่อการตัดสินใจใน
ปัญหาที่สำคัญขององค์การ
ปรัชญา เวสารัชช์ (2528 : 1–2) ปธาน สุวรรณมงคล (2537 : 82–83) และ ธรรมรส
โชติกุญชร (2536 : 185) กล่าวถึงการบริหารแบบมีส่วนร่วมไว้สอดคล้องกันดังนี้
คือ (1) การบริหารแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ (2) การบริหารแบบการมีส่วน
ร่วมของชุมชนในกิจกรรมการพัฒนา และ (3) การบริหารแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนใน
ผลประโยชน์
ประยุทธ สุวรรณโกตา (2536 : 17) กล่าวถึง การบริหารแบบมีส่วนร่วมว่า เป็น
การบริหารที่ให้โอกาสทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชนกับข้าราชการที่อยู่
ในองค์กร หรือทีมงานได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านความคิด จิตใจ อารมณ์ ซึ่งจะมีผลให้บุคคล
หรือผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นทุ่มเทความสามารถให้งานบรรลุเป้าหมาย และการกระทำของ
องค์การ และทีมงานด้วยจิตใจอย่างแท้จริง
32
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542 : 10) ได้กล่าวถึงระเบียบ
กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้การดำเนินการเรียน
การสอนสอดคล้องกับความต้องการของบุคคลในชุมชนรวมทั้งจากแนวคิดการปฏิรูปการจัด
การศึกษาที่เน้นให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการจัดการศึกษามากขึ้น และแนวคิด
เกี่ยวกับความเสมอภาคของชายหญิงในการทำงาน ทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ใน
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ประกาศใช้ระเบียบ
กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 23
พฤษภาคม พ.ศ. 2543 โดยให้ความหมายของคำว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเฉพาะทาง ดังนั้น
สถานศึกษาจึงหมายถึง โรงเรียนที่จัดการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
ซึ่งในกระทรวงศึกษาธิการมีโรงเรียนในสังกัดกรมต่างๆ ที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานหลาย
หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกรมสามัญศึกษา สำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อร่วมกับ
โรงเรียนในการจัดการศึกษาต่อไป
จากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2543 ดังกล่าว จะเห็นว่า ได้มีการกำหนดบทบาทของคณะกรรมการให้เข้ามามี
ส่วนร่วมกับโรงเรียนในเรื่องใหม่ๆ หลายประการ เช่น การให้ความเห็นชอบในการจัดทำ
สาระหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น การกำกับติดตามการดำเนินงาน
ตามแผนของสถานศึกษา การพิทักษ์สิทธิเด็ก การดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และเด็ก
ที่มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2543 ก. :33) ได้ให้รายละเอียด
เกี่ยวกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม ว่าเป็นการบริหารโดยคณะบุคคลหรือการบริหาร
โดยคณะกรรมการนั้น มีรูปแบบและวิธีการแบบเดียวกันคือ มีคณะบุคคลหรือคณะกรรมการ
เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจวางแนวทางในการบริหารและร่วมปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย การที่สมาชิก
ในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจกับผู้บริหารนั้นเป็นไป
ตามความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการมีส่วนร่วมในองค์การหรือสังคม เช่น
การกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย การวินิจฉัย สั่งการ การมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
ต่อผลที่เกิดขึ้นในองค์การ การบริหารลักษณะนี้เรียกว่าการบริหารงาน โดยองค์คณะบุคคลหรือ
การบริหารงานในรูปของคณะกรรมการ
ดังนั้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม จึงหมายถึง การบริหารที่มีรูปของการบริหาร
ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อบุคคล และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมได้เข้ามากำหนด
33
เป้าหมายร่วมกัน เพื่อสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมใน
การบริหารและจัดการ และสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. การมีส่วนร่วม
ปรัชญา เวสารัชช์ (2528 : 227) ได้กล่าวถึง แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมว่าจะต้อง
มีขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ขั้นการร่วม วางแผนโครงการ การร่วมมือ การใช้ยุทธศาสตร์เพื่อระดมกำลัง
ความคิด จิตใจ การเสียสละ กำลัง แรงงาน วัสดุ กำลังเงิน หรือทรัพยากรใดที่มีอยู่ทำให้เกิดพลัง
ทางการบริหาร โดยมีความเชื่ออันเป็นหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องของเป้าหมายของกิจกรรมที่ปฏิบัติ
การร่วมมือกันจึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 8 วรรค 2 ระบุไว้ว่า ให้สังคม
มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และมาตรา 9 วรรค 6 ระบุ ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน
องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันทาง
ศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 154-156) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาส
ให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษา
ทั้งครู ผู้ปกครอง ตัวแทนจากชุมชน ตัวแทนศิษย์เก่า และตัวแทนนักเรียน การที่บุคคลมีส่วนร่วม
ในการจัดการศึกษา จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษามากขึ้น
ฉลุวิทย์ ดีวงศ์ (2545 : 5) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมหมายถึง การให้คณะกรรมการ
สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมาย การตัดสินใจ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ตามเป้าหมายตลอดจนการติดตามประเมินผลและปรับปรุง
สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วม หมายถึง กระบวนการที่ชุมชนได้เข้าไปเกี่ยวข้องใน
การพัฒนาโรงเรียนโดยร่วมแสดงความคิด การกระทำตลอดจนร่วมพิจารณากำหนดปัญหา
ความต้องการของโรงเรียนและหาแนวทางในการพัฒนา
34
การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2542 : 2) กล่าวถึง การคืนอำนาจ การจัด
การศึกษาแก่ผู้เรียนและทุกกลุ่มในสังคม โดยส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา
สถานประกอบการและส่วนต่างๆ ของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้คนไทยมี
ทางเลือกและโอกาสที่จะรับการศึกษาได้หลายรูปแบบอย่างทั่วถึง
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 154-156) กล่าวว่า การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้
ประชาชนในอดีตการจัดการศึกษาจะทำกันหลากหลาย บางแห่งก็ให้วัดหรือองค์กรในท้องถิ่นเป็น
ผู้ดำเนินการ ต่อมามีการรวมการจัดการศึกษาไปให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้เกิดเอกภาพและ
มาตรฐานทางการศึกษา แต่เมื่อประชาชนเพิ่มขึ้น ความเจริญต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
การจัดการศึกษาเริ่มมีข้อจำกัด เกิดความล่าช้าและไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและ
ชุมชนอย่างแท้จริง จึงต้องมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเอง
สรุปได้ว่า การคืนอำนาจ การจัดการศึกษาให้ประชาชน หมายถึง รัฐให้อำนาจชุมชน
กับโรงเรียนและหาแนวทางในการพัฒนา
การบริหารตนเอง
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 154-156) กล่าวว่า การบริหารตนเองในระบบการศึกษา
ทั่วไป มักจะกำหนดให้โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลาง โรงเรียนไม่มี
อำนาจอย่างแท้จริง สำหรับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น ไม่ได้ปฏิเสธ
เรื่องการทำงานให้บรรลุเป้าหมายและนโยบายของส่วนรวม แต่มีความเชื่อว่าวิธีการทำงานให้
บรรลุเป้าหมายนั้นได้หลายวิธี การที่ส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและเป้าหมายแล้ว
ปล่อยให้โรงเรียนมีระบบการบริหารด้วยตนเอง โดยให้โรงเรียนมีอำนาจ หน้าที่ และความ
รับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งอาจดำเนินการได้หลากหลาย ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
แล้วแต่ความพร้อมและสถานการณ์ของโรงเรียน ผลที่ได้น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม
ที่ทุกอย่างถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 39-40 ยังได้ระบุว่า สำหรับ
การบริหารตนเองของโรงเรียนตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น หน่วยงาน
ต้นสังกัดจากส่วนกลางมีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ
งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไป ไปยังสถานศึกษาในเขตพื้นที่
การศึกษาโดยตรง โดยให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นองค์คณะบุคคล ประกอบ
ด้วยผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์
35
เก่าสถานศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่กำกับ และส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถาน
ศึกษา โดยใช้หลักการบริหารตนเอง ที่โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ คิดเอง ทำเอง แก้
ปัญหาเองอย่างมีระบบ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เสาวนิตย์ ชัยมุกสิก (2544 : 83) ได้ให้หลักการ
ไว้ดังนี้ (1) กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดคุณภาพของตนเอง (2) สำรวจสภาพตนเองเพื่อทราบ
จุดเด่นและจุดที่จะต้องพิจารณาเข้าสู่มาตรฐาน (3) กำหนดเป้าหมายดำเนินงานและเป้าหมายความ
สำเร็จ (4) กำหนดวิธีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบโดยใช้วงจรคุณภาพเดมมิ่ง (Plan-Do-Check-
Action : P-D-C-A) (5) กำหนดหลักเกณฑ์ในการทำงานของบุคลากรของโรงเรียนให้เป็นทิศ
ทางเดียวกัน เช่น การจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานของโรงเรียนใน 3 ระดับคือ ระดับโรง
เรียน ฝ่าย/หมวดงานและบุคคล และ(6) กำหนดวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน/ปฏิบัติงาน
ของตนเอง เป็นต้น
สรุปได้ว่า การบริหารตนเอง หมายถึง โรงเรียนมีการบริหารเชิงระบบโดยสนอง
นโยบายในแต่ละท้องถิ่น ร่วมกันจัดการศึกษา
การตรวจสอบและถ่วงดุล
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2542 : 156) กล่าวว่า การตรวจสอบและ
ถ่วงดุลนั้นส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมมาตรฐาน มีองค์กรอิสระทำหน้าที่
ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อให้มีคุณภาพและมาตร
ฐานเป็นไปตามกำหนดและเป็นไปตามนโยบายของชาติ สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้
ปรากฏตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 47 ที่กำหนดให้มีระบบการ
ประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย
ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก โดยให้หน่วยงานต้น
สังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน และให้ถือว่าประกันคุณภาพภาย
ในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการจัดทำราย
งานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน
(มาตรา 48) นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลการจัด
การศึกษา (สมศ.) เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา สำหรับการประเมินคุณภาพ
ภายนอกของสถานศึกษานั้น กำหนดให้มีการประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งให้ทุกๆ ห้าปีนับตั้งแต่
การประเมินครั้งสุดท้าย พร้อมทั้งให้มีการเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และสาธารณชน (มาตรา 49) จึงกล่าวได้ว่าการตรวจสอบและถ่วงดุลนั้นเป็นหลักการสำคัญ
อย่างยิ่งประการหนึ่งในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
36
อุทัย บุญประเสริฐ (2543 : 154-156) กล่าวว่า การตรวจสอบและถ่วงดุลกระทำ
โดยส่วนกลางเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและควบคุมมาตรฐาน โดยมีองค์กรอิสระทำหน้าที่
ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไป
ตามกำหนดและเป็นไปตามนโยบายของชาติ
สรุปได้ว่า การตรวจสอบและถ่วงดุล หมายถึง องค์กรหรือโรงเรียนได้มีจัดการบริหาร
องค์กรหรือโรงเรียนและการจัดการศึกษา โดยมีองค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหาร
และการจัดการศึกษา
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. งานวิจัยในประเทศ
ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ สำหรับผลงานวิจัยซึ่งตรงกับเรื่องที่ศึกษา
โดยตรงนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ศึกษาไว้ ดังนั้นในส่วนที่จะนำมาเสนอครั้งนี้มีเฉพาะที่เห็นว่า
ใกล้เคียงกับเรื่องที่จะศึกษาเท่านั้น ได้แก่ เรื่องดังจะได้กล่าวเป็นลำดับไป
วัลลภา โล่ห์สุวรรณ (2537 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาความต้องการของผู้ปกครอง
นักเรียนเกี่ยวกับการรับบริการตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ขั้นพื้นฐานของโรงเรียน
ประถมศึกษาสังกัดเทศบาลและเมืองพัทยาเขตการศึกษา 1 พบว่า ผู้ปกครองนำบุตรหลานมา
เข้ารับการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ส่วนการบริการที่ผู้ปกครองต้องการจากโรงเรียน คือ การแจ้งรายละเอียดของวิชาเลือกต่างๆ
ให้ทราบและจัดการแนะแนวแก่เด็กและผู้ปกครอง การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
การอนุญาตให้ประชาชนมาใช้สถานที่ของโรงเรียนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ การบำเพ็ญ
ประโยชน์ร่วมกับชุมชน และด้านมาตรฐานการศึกษา ผู้ปกครองต้องการใช้เป็นพื้นฐานใน
การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และให้มีโอกาสประกอบอาชีพ
วีระพงศ์ เดชบุญ (2540 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาความพร้อมในการมีส่วนร่วมจัดการ
ศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีขององค์การบริหารส่วนตำบล เขตการศึกษา 10 พบว่า องค์การบริหาร
ส่วนตำบลมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ด้านการเห็นประโยชน์
ของการศึกษาอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการมีความรู้เรื่องการศึกษา ด้านการมีส่วนร่วมจัด
การศึกษา ด้านความพร้อมในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี อยู่ในระดับปานกลาง
มนตรี นาคสมบูรณ์ (2540 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของ
ประชาชนในด้านการเมืองการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษากรณีจังหวัดปทุมธานี
ผลการวิจัย พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมืองการบริหารองค์การบริหารส่วน
37
ตำบลอยู่ในระดับน้อย ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบล อยู่ใน
ระดับมาก ประชาชนมีความคาดหวังในประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานของ
องค์การบริหารส่วนตำบล อยู่ในระดับปานกลาง และพบว่าปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ
ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบล การเป็นสมาชิกกลุ่ม หรือองค์กร และการได้รับความรู้เกี่ยวกับ
องค์การบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล
สกาวรัตน์ ชุ่มเชย (2543 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง การนำเสนอรูปแบบการ
วิจัยปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาครูประถมศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ผลการวิจัยพบว่า
ในสภาพปัจจุบันลักษณะการทำวิจัยปฏิบัติการมีทั้งแบบทำคนเดียว และทำเป็นทีม ทั้งภายใน
โรงเรียนและกับบุคคลภายนอกโรงเรียน ประเด็นการวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับทักษะการคิดใน
วิชาคณิตศาสตร์ ทักษะการสื่อสารในภาษาไทยและปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน วิธีการวิจัย
ที่ครูใช้ คือ การสำรวจ การศึกษารายกรณี การวิจัยแบบกึ่งทดลองและการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
ปัญหาในการทำวิจัย คือ ครู ยังขาดความรู้ ความเข้าใจและการช่วยเหลือจากหน่วยงาน ครูมองวิจัย
เป็นเรื่องยาก ไม่มีเวลาและภาระงานครูมาก ครูต้องการการสนับสนุนด้าน (1) การอบรม
(2) ตัวอย่างผลงานการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่หลากหลาย (3) ที่ปรึกษาและผู้นิเทศติดตาม
ด้านการวิจัย และ (4) การสนับสนุนด้านปัจจัยจากโรงเรียนโดยเฉพาะเรื่อง นโยบาย การจัดเวลา
สื่อ วัสดุอุปกรณ์และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการวิจัย สำหรับ รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการสำหรับ
การพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ควรเป็นโปรแกรมการวิจัย ที่มีคำถาม กิจกรรมการวิจัย
ต่อเนื่องเรียบร้อยไปเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้และการสร้างความรู้อย่างต่อเนื่องของครูโปรแกรม
การวิจัยควรประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิจัยปฏิบัติการเพื่อการรู้จักนักเรียน
เป็นรายบุคคลระยะที่ 2 การวิจัยปฏิบัติการเพ่อประเมินการสอนของครู ระยะที่ 3 การวิจัยปฏิบัติ
การเพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมในการสอน
อนันต์ เพียรพานิชย์ (2545 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานรูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทหลัก ตามความคิดเห็นของครูและผู้นำชุมชน
กลุ่มโรงเรียนขามใหญ่พัฒนา จังหวัดอุบลราชธานี ผลการวิจัยพบว่า ครูและผู้นำชุมชนเห็นด้วย
กับการนำรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานรูปแบบครูและชุมชนมีบทบาทหลัก อยู่ใน
ระดับมาก ได้แก่ ด้านบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ และด้านบุคลากร ตามลำดับ ส่วนด้าน
งบประมาณ อยู่ในระดับปานกลาง และครูและผู้นำชุมชนมีความคิดเห็นต่อปัญหาที่คาดว่าจะเกิด
ขึ้นในการนำรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานรูปแบบครูและผู้นำชุมชนมีบทบาทหลัก
ในการบริหารทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านวิชาการ ครูและผู้นำชุมชนเห็นว่า บุคลากรในท้องถิ่นขาด
ความพร้อมโดยเฉพาะด้านความรู้ และความแตกต่างด้านการศึกษาของครูและผู้นำชุมชน
การจำกัดสิทธิ์ในการเลือกแบบเรียน อาจจะทำให้โรงเรียนไม่สามารถเลือกหนังสือเรียนตาม
38
ความต้องการของโรงเรียนได้ มีแหล่งความรู้ไม่เพียงพอต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย
(2) ด้านงบประมาณ ครูและผู้นำชุมชนเห็นว่า มีปัญหาในการจัดหางบประมาณเข้าอุดหนุน
โรงเรียนและจัดการงบประมาณให้โปร่งใสเป็นรูปธรรม ปัญหาการขาดการสนับสนุนงบประมาณ
จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาการจัดสรรงบประมาณตามความเป็นจริงและเพียงพอ
(3) ด้านบุคลากร ครูและผู้นำชุมชนเห็นว่า มีปัญหาบุคลากรและผู้นำชุมชนขาดความรู้ความ
เข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ปัญหาการบรรจุแต่งตั้งครูและลูกจ้างประจำ ปัญหาการ
พิจารณาคุณและโทษโดยสถานศึกษา (4) ด้านการบริหารทั่วไป ครูและผู้นำชุมชนเห็นว่า มีปัญหา
เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจระหว่างคณะกรรมการสถานศึกษากับผู้บริหารสถานศึกษา ปัญหาแนวการ
ปฏิบัติของการบริหารสถานศึกษา และปัญหาการมีส่วนร่วมในการกำหนดธรรมนูญโรงเรียน
คารม ช่วยสุข (2545 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความเป็นไปได้ในการนำรูป
แบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดอุบลราชธานี
ผลการวิจัยพบว่า (1) ข้าราชการครูมีความคิดเห็นต่อระดับความเป็นไปได้ในการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดอุบลราชธานี ในระดับปานกลาง
เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านบริหารทั่วไปอยู่ในระดับมาก ด้านบริหารงานวิชาการ ด้านบริหาร
งบประมาณและด้านบริหารงานบุคคลอยู่ในระดับปานกลาง (2) ข้าราชการครูที่มีตำแหน่ง
ต่างกันมีความคิดเห็นต่อความเป็นไปได้ในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐานโดยรวม ด้านบริหารงานวิชาการ ด้านบริหารงบประมาณและด้านบริหารทั่วไป
แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนด้านบริหารงานบุคคลไม่แตกต่างกัน
(3) ข้าราชการครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกันมีความคิดเห็นต่อความเป็นไปได้ใน
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกด้านไม่แตกต่างกัน และ
(4) ข้าราชการครูมีความคิดเห็นต่อสภาพปัจจุบันในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานใน
สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อยู่ในระดับปานกลาง โดยรวมไม่แตกต่างกัน เมื่อจำแนกรายด้าน
พบว่าด้านบริหารทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนด้านอื่น
ไม่แตกต่างกัน
สุทธิพงษ์ จุรุเทียบ (2545 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง การบริหารโดยใช้
โรงเรียนเป็นฐานรูปแบบครูและชุมชนมีบทบาทหลักตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ
สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเขมราฐ
จังหวัดอุบลราชธานี ผลการวิจัยพบว่า (1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความคิดเห็น
ความเป็นไปได้ต่อการนำรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน รูปแบบครูและชุมชน
มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการศึกษาในภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้าน มี
ความเป็นไปได้เรียงจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด คือ ด้านบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ
39
ด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร (2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีสถานะต่างกัน
วุฒิการศึกษาต่างกัน และเพศต่างกัน มีความคิดเห็นความเป็นไปได้ในการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐาน รูปแบบครูและชุมชนมีบทบาทหลักในการบริหารจัดการศึกษาไม่แตกต่างกัน
2. งานวิจัยต่างประเทศ
ดอนเดโร (Dondero, 1993 : 1607) ทำการวิจัยเรื่อง การบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของครู ประสิทธิผลของโรงเรียน และความ
พึงพอใจในการทำงาน วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เรื่องที่ตัดสินใจ ประสิทธิผลของโรงเรียน ระดับความพึงพอใจในการทำงานของครู
ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและไม่มีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานในการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐาน โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครู 6 โรงเรียน ในเขตพื้นที่การศึกษา
เคลฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการนำร่องการบริหารต้องการมีส่วนร่วมใน
การตัดสินใจเรื่องการบริหารโรงเรียน กลุ่มครูที่เป็นคณะทำงานและมีส่วนร่วมโดยตรงใน
การบริหาร จะมีระดับความพึงพอใจในการทำงานและประสิทธิผลของโรงเรียนสูงกว่ากลุ่มครูที่
ไม่ได้เป็นคณะทำงาน
เคลย์บาร์ (Claybar, 1994 : 1431) ทำการวิจัยเรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐาน การศึกษาการเปลี่ยนแปลงองค์การในการตัดสินใจ และปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวน
การบริหารโรงเรียน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษษผลกระทบของการบริหารโดยใช้
โรงเรียนเป็นฐานที่มีต่อการตัดสินใจและปัจจัยที่ผลต่อกระบวนการบริหารโรงเรียน
โดยการศึกษารายกรณีโรงเรียนที่ใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 5 โรงเรียน
โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่าง 42 คน และการสังเกต ผลการวิจัยพบว่า
การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบการเป็นแบบพัฒนาการ มีการเพิ่มขึ้นทีละน้อย ปัจจัยสำคัญใน
การบริหาร ได้แก่ การสื่อสาร ภาวะผู้นำ การแนะนำ การสนับสนุน การร่วมมือของ
ผู้เกี่ยวข้อง ความไว้วางใจ ความกล้าเสี่ยง
กูด (Goode, 1994 : 816) ทำการวิจัยเรื่อง การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานใน
โรงเรียนรัฐบาล : ความท้าทายต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลง วัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษา
รายกรณีโรงเรียนมัธยมศึกษา 2 โรงเรียน ในรัฐเคนตักกี้ที่บริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานซึ่งเกิด
ขึ้นตามกฎหมายปฏิรูปการศึกษาของเคนตักกี้ ปี ค.ศ.1990 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต
การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์คณะกรรมการโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลการวิจัยพบว่า
การที่ผู้บริหารโรงเรียนทำการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการบริหาร
แบบการใช้โรงเรียนเป็นฐาน ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จได้แก่ การปรับโครงสร้างการบริหาร
40
โรงเรียน การกระจายอำนาจสู่โรงเรียนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และวิชาการ การได้รับ
ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากผู้เกี่ยวข้อง ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของ
บุคลากร การกำหนดกฎ ระเบียบ แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
แมคไควร์ (Maquire, 1994 : 434) ทำการวิจัยเรื่อง การบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐาน : เงื่อนไขสำหรับการปฏิบัติ การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของ
ผู้บริหารโรงเรียนและครู เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยการใช้แบบสัมภาษณ์แบบมี
โครงสร้างและปลายเปิด ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนที่สุ่มมาจำนวน 5 คน และใช้แบบ
สอบถามส่งถึงคร ู จาํ นวน 216 คน โดยมีแบบสอบถามส่งกลับมาร้อยละ 53 ผลการวิจัยพบว่า
ปัจจัยสำคัญ 6 ประการในการนำนโยบายการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไปปฏิบัติ ได้แก่
งบประมาณ ความไว้วางใจ การฝึกอบรม การตรวจสอบได้ ความร่วมมือในการตัดสินใจและ
ความร่วมมือจากสหภาพครูนอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนต่างมี
ความต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณบุคลากรและหลักสูตร
บราวน์ (Brown, 1998 : 153) ทำการวิจัยเรื่อง การประเมินผลของการบริหาร
โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เกี่ยวกับประสิทธิผลของโรงเรียนมัธยมศึกษาและการรับรู้ของผู้บริหาร
ใช้วิธีวิจัยแบบเปรียบเทียบก่อนและหลังในกลุ่มเดียวกัน ผู้วิจัยวัดการรับรู้ของผู้บริหารโรงเรียน
และประสิทธิผลของโรงเรียน ตามตัวแปรที่กำหนดก่อนนำการบริหารโดยใช้โรงเรียนมาใช้
บริหารโรงเรียน เมื่อครบ 1 ปี ทำการวัดซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วเปรียบเทียบผลการวัดก่อน
และหลัง ผลการวิจัยพบว่า มีสหสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานกับ
การรับรู้ของผู้บริหารโรงเรียน และประสิทธิผลของโรงเรียนการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนได้รับรู้หรือเรียนรู้การบริหารโรงเรียนเพิ่มขึ้น
บราวน์ (Brown, 1998 : 237) ทำการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ประสิทธิผลของ
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานตามการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโรงเรียนและชุมชน
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อการศึกษาการนำการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไปใช้ใน
โรงเรียนแห่งหนึ่งในอิลินนอย โดยอาศัยความสัมพันธ์ของตัวแปร 4 ตัว คือภาวะผู้นำ
บรรยากาศ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและการมีส่วนร่วมของชุมชน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้
แบบสอบถาม การสัมภาษณ์รายบุคคลและสัมภาษณ์กลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือการศึกษา
ความแปรปรวนทางเดียวและสองทาง ผลการวิจัยพบว่ามีปฎิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 4 ตัว และ
การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องจะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
จากผลการศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า การบริหารโดย
ใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นมีปัจจัยสำคัญหลักที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร ภาวะผู้นำ การแนะนำ การ
สนับสนุน การร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง ความไว้วางใจ ความกล้าเสี่ยง มีบรรยากาศ
41
ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อก่อให้เกิดการรับรู้ของผู้บริหาร
โรงเรียน โดยประสิทธิผลของโรงเรียนการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานทำให้ผู้บริหาร
โรงเรียนได้รับรู้หรือเรียนรู้การบริหารโรงเรียนเพิ่มขึ้น และการบริหารโรงเรียนนั้นเมื่อมีการนำ
ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ในการจัดการบริหารโรงเรียนเพื่อให้เป็นระบบ และเพื่อให้
บรรลุตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 43
มาตรา 81 และมาตรา 289 และตอบสนองกับความต้องการตามพระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 39 ด้านความต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางด้าน
การจัดการ งบประมาณ การติดตามการประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไข จึงเป็นที่มีของ
กรอบแนวคิดในการวิจัยของเรื่อง “การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม” ในครั้งนี้
บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความพร้อมใน
การบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจำแนกตามขนาดของโรงเรียน และทัศนคติของผู้บริหารกับครู
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการวิจัยเป็นขั้นตอนดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. ตัวแปรที่ศึกษา
3. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
4. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1. ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนประถม
ศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงครามใน 3 สำนักงานประถมศึกษา
คือ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมือง สำนักงานการประถมศึกษาอำเภออัมพวา และ
สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบางคนที โดยโรงเรียนในแต่ละสำนักงานการประถมศึกษา
แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 83 โรงเรียน จำนวน
ทั้งสิ้น 83 คน
ครูผู้สอนโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัด
สมุทรสงครามใน 3 สำนักงานประถมศึกษา คือ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมือง
สำนักงานการประถมศึกษาอำเภออัมพวา และสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบางคนที
โดยโรงเรียนในแต่ละสำนักงานการประถมศึกษาแบ่งเป็น 3 ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง
และขนาดเล็ก รวม 83 โรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 1,084 คน
43
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มาจากกลุ่มประชากร โดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง
แบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) โดยอาศัยตารางการกำหนดกลุ่มตัวอย่างของ
เครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan อ้างถึงในพวงรัตน์ ทวีรัตน์, 2540 : 303) ทำให้ได้
กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ ผู้บริหาร 64 คน ครูผู้สอน 228 คน ดังรายละเอียดที่ปรากฏใน
ตารางที่ 1 และตารางที่ 2
ตารางที่ 1 แสดงจำนวนประชากรและกลุ่มตัวอย่างผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงาน
การประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกตามอำเภอและขนาดโรงเรียน
ประชากรโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างโรงเรียน
อำเภอ เล็ก กลาง ใหญ่ รวม เล็ก กลาง ใหญ่ รวม
1. เมือง 6 19 9 34 5 13 9 23
2. อัมพวา 10 15 3 28 9 11 2 20
3. บางคนที 11 7 3 21 11 7 3 21
รวม 27 41 15 83 24 36 10 64
ตารางที่ 2 แสดงจำนวนประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ครูผู้สอนโรงเรียนสังกัดสำนักงาน
การประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกตามอำเภอและขนาดโรงเรียน
ประชากร กลุ่มตัวอย่าง
อำเภอ เล็ก กลาง ใหญ่ รวม เล็ก กลาง ใหญ่ รวม
1. เมือง 47 219 276 542 6 42 70 118
2. อัมพวา 75 181 67 323 38 9 16 66
3. บางคนที 84 75 60 219 9 18 14 44
รวม 206 475 403 1,084 53 69 100 228
44
ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดตัวแปรที่ศึกษาไว้ดังนี้
1. ตัวแปรอิสระ ได้แก่
1.1 ตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ผู้บริหาร และครูผู้สอน
1.2 ขนาดโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และ
โรงเรียนขนาดเล็ก
2. ตัวแปรตาม ได้แก่
ความพร้อมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัด
สมุทรสงคราม ที่มีต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน 5 ด้าน คือ
2.1 ด้านการกระจายอำนาจ
2.2 ด้านการมีส่วนร่วม
2.3 ด้านการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน
2.4 ด้านการบริหารตนเอง
2.5 ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. การสร้างเครื่องมือและการหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ
1.1 การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามความพร้อมในการ
บริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1.1.1 ศึกษาเอกสารตำรา วารสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่างๆ และผลงาน
การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการการเตรียมความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อเป็น
แนวทางในการสร้างเครื่องมือ
1.1.2 สร้างแบบสอบถามแล้วนำเสนอคณะกรรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
เพื่อตรวจสอบเนื้อหา และภาษาที่ใช้ในแบบสอบถาม แล้วนำมาแก้ไขตามข้อเสนอแนะของ
คณะกรรมการที่ปรึกษา
45
1.1.3 นำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยไปให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน
5 ท่าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและเที่ยงตรง ดังรายละเอียดที่ปรากฏในภาคผนวก ข
1.1.4 ปรับปรุงแบบสอบถามและนำเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำเสนอแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้วกับคณะกรรมที่ปรึกษา
1.1.5 นำแบบสอบถามที่ได้รับการปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับผู้บริหารและ
ครูโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง 30 คน เพื่อหาความเชื่อมั่น
ของแบบสอบถามโดยวิธีมาคำนวณหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ด้วยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟา
(Alpha Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach อ้างถึงในพวงรัตน์ ทวีรัตน์, 2540 : 125) โดยใช้
คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป ค่าของความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.98
2. ลักษณะของเครื่องมือ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้
จัดทำขึ้นมาโดยการวิเคราะห์จากเนื้อหา ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ต้องการศึกษา
ซึ่งอาศัยกรอบแนวคิดในการทำวิจัยมาทำการออกแบบเครื่องมือ โดยเป็นแบบสอบถามจำนวน 2
ตอน คือ
ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะ
เป็นแบบให้เลือกตอบ รายการเกี่ยวกับ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่งปัจจุบัน และขนาด
โรงเรียน
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
จำนวน 47 ข้อคำถาม ลักษณะแบบสอบถามเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
ตามแบบของลิเกิร์ต (Likert) ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับความพร้อมในการบริหารโดยใช้
โรงเรียนเป็นฐานไว้ดังนี้
5 หมายถึง มีความพร้อมมากที่สุด
4 หมายถึง มีความพร้อมมาก
3 หมายถึง มีความพร้อมปานกลาง
2 หมายถึง มีความพร้อมน้อย
1 หมายถึง มีความพร้อมน้อยที่สุด
สำหรับการแปลความค่าเฉลี่ยระดับความพร้อมกำหนดเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยไว้ดังนี้
(ประคอง กรรณสูตร, 2540 : 70)
46
คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 4.50 - 5.00 หมายถึง มีความพร้อมมากที่สุด
คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.50 - 4.49 หมายถึง มีความพร้อมมาก
คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 2.50 - 3.49 หมายถึง มีความพร้อมปานกลาง
คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 1.50 - 2.49 หมายถึง มีความพร้อมน้อย
คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 1.00 - 1.49 หมายถึง มีความพร้อมน้อยที่สุด
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลดังนี้
1. นำหนังสือจากคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ถึงผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเก็บข้อมูล
2. ส่งแบบสอบถามและหนังสือขอความร่วมมือถึงผู้บริหารโรงเรียนเพื่อเก็บข้อมูล
3. ผู้ตอบแบบสอบถามส่งแบบกลับมายังผู้วิจัย 292 ชุด คิดเป็นร้อยละ 100
4. ระยะเวลาในการเก็บรวบรวม ประมาณ 5 สัปดาห์
5. ตรวจดูความสมบูรณ์ของแบบสอบถาม
6. นำข้อมูลมาลงรหัสในแบบลงรหัส โดยให้ค่าคะแนนตามความต้องการ
7. พิมพ์ข้อมูลลงบนคอมพิวเตอร์โปรแกรม Microsoft Word โดยจัดเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูล
8. วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิจัย
ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป ดังนี้
1. การวิเคราะห์แบบสอบถามตอนที่ 1 ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
โดยหาค่าร้อยละ (Percentage)
2. การวิเคราะห์แบบสอบถามตอนที่ 2 วิเคราะห์ในลักษณะภาพรวม จำแนกตาม
ตำแหน่งหน้าที่และขนาดโรงเรียนโดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard
Deviation) วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่าง โดยใช้สถิติทดสอบ t-test และวิเคราะห์ความ
แปรปรวนทางเดียว (ANOVA) หากพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจะทำการ
ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ โดยใช้วิธีของเชฟเฟ่ (Seheffe’ s test)
บทที่ 4
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยได้กำหนดสัญลักษณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อความเข้าใจตรงกันใน
การแปลความหมายของข้อมูล ดังต่อไปนี้
n แทน จำนวนคนในกลุ่มตัวอย่าง
X _
_ แทน ค่าคะแนนเฉลี่ย
S.D. แทน ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
t แทน ค่าสถิติที่ใช้ในการพิจารณาใน t – distribution
F แทน ค่าสถิติที่ใช้ในการพิจารณาใน F – distribution
SS แทน ผลบวกกำลังสองของคะแนน (Sum of Squares)
MS แทน ค่าเฉลี่ยของผลบวกกำลังสองของคะแนน (Mean Squares)
df แทน ระดับชั้นแห่งความเป็นอิสระ (Degrees of Freedom)
p แทน ความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญ (Non Significance)
* แทน มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
** แทน มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับ ดังนี้
ตอนที่ 1 สถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตอนที่ 2 การศึกษาความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของ
โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกเป็นรายด้าน
และรวมทุกด้าน
ตอนที่ 3 การเปรียบเทียบความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกตาม
ตำแหน่งหน้าที่ และขนาดโรงเรียน
48
ตอนที่ 1 สถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม
สถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถามจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา
ตำแหน่งหน้าที่ และขนาดโรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ และนำเสนอข้อมูลใน
ตารางประกอบการบรรยาย ดังนี้
ตารางที่ 3 แสดงสถานภาพส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสมุทรสงคราม
สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน ร้อยละ
เพศ ชาย 97 33.22
หญิง 195 66.78
รวม 292 100.00
อายุ ต่ำกว่า 30 ปี 6 2.05
30 – 40 ปี 8 2.75
41 – 50 ปี 139 47.60
51 – 60 ปี 139 47.60
รวม 292 100.00
ระดับการศึกษา ต่ำกว่าปริญญาตรี 8 2.74
ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 265 90.75
สูงกว่าปริญญาตรี 19 6.51
รวม 292 100.00
ตำแหน่งหน้าที่ ผู้บริหาร/ผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่ 64 21.92
ครูผู้สอน 19 78.08
รวม 292 100.00
ขนาดของโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็ก 59 20.21
โรงเรียนขนาดกลาง 127 43.49
โรงเรียนขนาดใหญ่ 106 36.30
รวม 292 100.00
49
จากตารางที่ 3 พบว่า ครูโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็น
เพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 66.78 มีอายุ 51 - 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 47.60 จบการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี หรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 90.75 มีตำแหน่งหน้าที่เป็นครูผู้สอน คิดเป็นร้อยละ
78.08 และเป็นครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนขนาดกลาง คิดเป็นร้อยละ 43.49
ตอนที่ 2 การศึกษาความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกเป็นรายด้านและรวมทุกด้าน
ตารางที่ 4 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพร้อมในการบริหาร
สถานศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงาน
การประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ความพร้อมในการบริหารสถานศึกษา X S.D. การแปลผล
1. ด้านการกระจายอำนาจ 3.44 0.96 ปานกลาง
2. ด้านการมีส่วนร่วม 3.60 0.90 มาก
3. ด้านการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้ประชาชน 3.49 0.88 ปานกลาง
4. ด้านการบริหารตนเอง 3.64 0.85 มาก
5. ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุล 3.68 0.86 มาก
รวม 3.58 0.90 มาก
จากตารางที่ 4 พบว่า ความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงครามโดยรวมอยู่ใน
ระดับมาก ( X = 3.58, S.D. = 0.90) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ปรากฏว่า ความพร้อมในการ
บริหาร ด้านการตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่ในระดับสูงสุด ( X = 3.68, = 0.86) รองลงมา
คือ ด้านการบริหารตนเอง (
S.D.
X = 3.64, S.D. = 0.85) และด้านการมีส่วนร่วม ( X = 3.60,
S.D. = 0.90) ตามลำดับ ส่วนด้านอื่นๆ มีความพร้อมในการบริหารอยู่ในระดับปานกลาง
50
การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม (ตอนที่ 1)
การศึกษาความพร้อมในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม (ตอนที่ 2)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น